ปัจจุบัน 20 สโมสรของพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ลงเตะกันไปแล้ว 29 นัด จากทั้งหมดที่ต้องลงแข่งขัน 38 นัด แต่แล้วทุกอย่างได้หยุดชะงักลงจากคำสั่ง Lockdown (ล็อกดาวน์) ของรัฐบาลอังกฤษ เพื่อหวังหยุดยั้งวิกฤติการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 (Covid-19)
คำถามคาใจของทุกคน ณ วินาทีนี้ คงไม่มีอะไรมากไปกว่า "จะแข่งต่อ" หรือ "รอต่อไป" หรือไม่ก็จะ "ตัดจบฤดูกาล" ยก "แชมป์ให้ทีมนำ" หรือให้ "ฤดูกาลนี้โมฆะ" ถือเสียว่าไม่มีการแข่งขัน
ซึ่งหากเป็นประเด็นหลัง... เชื่อว่า "สาวก" ของ "สโมสรผู้เฝ้ารอคอย" มาเกือบ 30 ปี ที่ฤดูกาลที่แล้วเพิ่งเฉียดแชมป์ไปแบบเส้นยาแดงผ่าแปด และฤดูกาลนี้ก็สู้อุตส่าห์ทำคะแนนนำโด่ง ชนิดถ้วยใบโตอยู่ห่างแค่ปลายนิ้วก้อยเอื้อมถึง... คงได้กอดคอกันร่ำไห้ แทนที่จะได้ออกแห่แหนแชมป์ พร้อมกู่ก้องตะโกนร้องเพลง You never walk alone เป็นแน่แท้!
หากแต่... เป็นกรณีได้รับอนุญาตให้ฟาดแข้งต่อไปได้ ตามที่สื่อหลายสำนักคาดการณ์ว่า มันน่าจะเกิดขึ้นในวันที่ 8 มิถุนายน เพื่อให้สามารถจบฤดูกาลลงอย่างสมบูรณ์ในวันที่ 27 กรกฎาคม
จะได้ไม่ต้องเกิด "ดราม่า" สร้างตะกอนในใจให้เกาะกินทั้งกองเชียร์และกองแช่ง "สโมสรผู้รอคอย"
...
ณ วันเวลานั้น การแข่งขันฟุตบอลของ "อิงลิชชน" มันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร?
เพื่อให้เตะไปด้วย ปลอดภัยไปด้วย และทำให้พลพรรค The kop ทั้งผอง หายใจได้คล่องๆ แบบไม่ต้องลุ้นให้เสียวไส้อีกต่อไป
วันนี้เรามีสารพัดวิธีการที่สื่อต่างประเทศวิเคราะห์ว่า มันน่าจะเกิดขึ้นในกรณีที่ "ฟุตบอลพรีเมียร์" กลับมาฟาดแข้งกันได้ต่อจริงๆ ลองไปวิเคราะห์กันดูว่ามันมีอะไรที่น่าจะเป็นความจริงได้
ทำไมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษจึงต้องกลับมาเตะให้ครบตามโปรแกรมการแข่งขัน?
คำถามที่ว่า ทำไมฟุตบอลพรีเมียร์ลีกจำเป็นต้องกลับมาลงเตะให้ครบตามจำนวนที่เหลือรวมทั้งหมด 92 นัด ซึ่งตามที่หลายฝ่ายๆ คาดการณ์กันว่า ฟุตบอลเมืองผู้ดีน่าจะกลับมาลงฟาดแข้งกันได้อีกครั้ง คือ วันที่ 12 มิถุนายนที่จะถึงนี้
ทั้งๆ ที่สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 (Covid-19) ที่ยังหนักหนาเอาการบนแผ่นดินเมืองผู้ดี ซึ่งล่าสุดมีผู้ติดเชื้อสะสมแล้ว 220,449 คน เสียชีวิตสะสม 31,930 ศพ ข้อมูลจาก มหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ ณ วันที่ 11 พ.ค. 2563
คำตอบนั้นง่ายมากเลย นั่นเป็นเพราะรายได้ก้อนมหาศาล 762 ล้านปอนด์ หรือ 3 หมื่นล้านบาท จากค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่ 20 สโมสรในพรีเมียร์ลีก จะได้รับการจัดสรรปันส่วนแบบสุขเกษมเปรมปรีดิ์หากพวกเขากัดฟันลงฟาดแข้งกันจนครบได้สำเร็จ แต่กลับกัน หากลงเตะไม่ครบ เงินก้อนโตที่ควรได้ก็มีความเสี่ยงสูงมากว่า อาจจะต้อง "ชวด" เพราะไม่ได้ลงเตะให้ครบตามสัญญาที่ทำไว้กับเจ้าของลิขสิทธิ์นั่นเอง
เป็นไปได้ไหม พรีเมียร์ลีกจะถูก "ตัดจบฤดูกาล" หรือ "ยกเลิกผลการแข่งขัน" เพื่อป้องกันความเสี่ยงจากการแพร่ระบาด?
คำตอบ คือ มีความเป็นไปได้!
เพราะฟุตบอลลีกฮอลแลนด์ใช้วิธี "ยกเลิกผลการแข่งขัน" ไม่มีทีมไหนได้แชมป์หรือตกชั้นมาแล้ว ในขณะที่ ฟุตบอลลีกฝรั่งเศสใช้วิธี "ตัดจบฤดูกาล" ยกแชมป์ให้ทีมจ่าฝูงอย่าง ‘ปารีส แซงต์ แชร์กแมง’ ไปเลย เพื่อ "ลดความเสี่ยง" ที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกประเด็น
นอกจากนี้ นาย Michel D’Hooghe ประธานคณะกรรมการด้านการแพทย์ของสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ‘ฟีฟ่า’ ได้เคยให้ความเห็นกับทางสำนักข่าวเทเลกราฟถึงเรื่องนี้แล้วว่า วงการฟุตบอลในเวลานี้ควรโฟกัสไปที่การเตรียมความพร้อมสำหรับฤดูกาลหน้า และมุ่งหาทางออกในแง่ "การกีฬา" สำหรับการจบฤดูกาล 2019-2020 ลงได้แล้ว
...
หนำซ้ำ! เขายังมีมุมมองต่อการที่สโมสรในพรีเมียร์ลีกพยายามเข้าหารือกับ "รัฐบาลอังกฤษ" เพื่อหาทางสำหรับการกลับมาลงฟาดแข้งกันอีกครั้งหลังการ Lockdown ว่า มันคือการต่อสู้กันระหว่าง "เรื่องสุขภาพชีวิต" กับ "เรื่องเงินๆ ทองๆ" อีกด้วย
อย่างไรก็ดี แฟนๆ ผู้รอคอย "อาจไม่จำเป็น" ต้องประหวั่นพรั่นพรึงกันให้มากจนเกินพอดี เพราะคนใหญ่คนโตในรัฐบาลอังกฤษเองก็เคยมีความเห็นในประเด็น "ยกเลิก" หรือ "ตัดจบ" เอาไว้เช่นกันว่า ต้องการให้ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกกลับมาลงเตะกันให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพื่อสนับสนุนภาพรวมของวงการฟุตบอลต่อไป ในขณะที่ สหพันธ์ฟุตบอลยุโรป หรือ 'ยูฟ่า' ก็ได้แสดงเจตนาที่ต้องการจะทราบถึงรายละเอียดเกี่ยวกับแผนการกลับมาลงฟาดแข้งกันใหม่ของพรีเมียร์ลีก ภายในวันที่ 25 พฤษภาคมนี้เช่นกัน
เมื่อต้อง Social Distancing แล้ว "บรรดานักฟุตบอล" จะลงมาเตะกันเข้าไปได้อย่างไร?
1. เป็นไปได้สูงมากที่จะลงฟาดแข้งในสนามเป็นกลาง
ตามรายงานล่าสุด พรีเมียร์ลีกมีแผนจะให้ทุกทีมลงเตะกันใน "สนามเป็นกลาง" 8 ถึง 10 สนามทั่วประเทศ และเพื่อ "ไม่ให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบ" สนามที่ถูกเลือกใช้ในจำนวนนี้ ทีมที่เป็นเจ้าของสนามก็จะไม่ได้ลงเตะในบ้านของตัวเองด้วยเช่นกัน
...
และเพื่อเป็นการปฏิบัติตาม "มาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม" ซึ่งในอังกฤษอาจจะมีการห้ามการชุมนุมของกลุ่มคนจำนวนมากไปจนกระทั่งถึงปี 2021 เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด Covid-19 สนามทุกสนามที่ใช้จัดการแข่งขัน "จะเป็นสเตเดียมว่างเปล่า ไร้เสียงแฟนบอลตะโกนเชียร์" โดยมีเพียงแผ่นป้ายหน้าแฟนบอลให้กำลังใจนักเตะแทน
ซึ่งหากเป็นไปตามนี้จริงๆ ก็ดูแล้วช่างน่าสุดแสนหดหู่เสียเหลือเกิน!
2. แล้วมีสนามไหนบ้างที่อยู่ในข่ายถูกเลือก?
...
แม้ว่าในประเด็นนี้จะยังไม่มีการตัดสินใจที่ชัดเจนจากทางพรีเมียร์ลีก แต่เบื้องต้น ทางนักวิเคราะห์ของสำนักข่าวเทเลกราฟนำข้อมูลจากระบบการให้คะแนนด้านความปลอดภัยของ the Police and Sports Ground Safety Authority พบว่า สนามที่มีความเหมาะสมมากที่สุด ประกอบด้วย
1. สนามลอนดอนสเตเดียม ของเวสต์แฮม ยูไนเต็ด
2. สนามเอติฮัด สเตเดียม ของแมนเชสเตอร์ ซิตี้
3. สนาม AMEX สเตเดียม ของสโมสรไบร์ทตัน
4. สนามเซนต์แมร์รี่ ของสโมสรเซาแธมป์ตัน
5. สนามเอมิเรสต์ สเตเดียม ของสโมสรอาร์เซนอล
6. สนามคิง เพาเวอร์ สเตเดียม ของสโมสรเลสเตอร์ ซิตี้
7. วิลลา พาร์ค ของสโมสรแอสตัน วิลลา
8. สนามเวมบลีย์
ส่วนสนามที่อยู่ในเกณฑ์การพิจารณาในลำดับถัดมา คือ 1.สนามโอลด์ แทรฟฟอร์ด ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, 2.สนามโมลีนิวซ์ กราวน์ด ของสโมสรวูล์ฟแฮมป์ตัน วันเดอร์เรอร์, 3.สนามแฟรตตัน ปาร์ค ของสโมสรพอร์ทสมัธ, 4.สนามทอตแนม ฮอตสเปอร์ สเตเดียม ของสโมสรทอตแนม ฮอตสเปอร์, 5.สนามสแตมฟอร์ดบริดจ์ ของสโมสรเชลซี และ 6.สนามแคร์โรว์โรด ของสโมสรนอริช ซิตี้
โดยหลักเกณฑ์สำคัญในการพิจารณาเลือกสนามเหล่านั้น คือ สถานที่ตั้ง ความพร้อมสำหรับจัดการแข่งขัน และพื้นที่บริเวณด้านนอกสนามที่มีศักยภาพเพียงพอสำหรับการรองรับ "แฟนบอล" ที่อาจมารวมตัวกัน
ส่วนสนามที่ถูกตัดออกจากการพิจารณานั้น เป็นเพราะมีพื้นที่ภายในไม่เหมาะสม สำหรับมาตรการ Social Distancing เช่น มีทางเดินแคบเกินไป หรือมีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้าที่มีขนาดเล็กไป
ก็ฟังดูเข้าท่านะ แล้วทำไม "ไอเดียสนามเป็นกลาง" จึงยังถูกคัดค้าน
นั่นเป็นเพราะประเด็นแรก ฝ่ายที่มองเรื่องความปลอดภัยจากปัญหาการแพร่ระบาด มองว่า สนามฟุตบอลเหล่านั้นส่วนใหญ่อยู่ใจกลางเมืองและแหล่งชุมชน หากเปิดให้ทำการแข่งขันย่อมมีความเสี่ยงที่จะทำให้เกิดการรวมตัวกันของฝูงชนจำนวนมาก
นอกจากนี้ บรรดา 6 สโมสรท้ายตารางพรีเมียร์ลีกอังกฤษ ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการ "ตกชั้น" มองว่า การใช้สนามเป็นกลาง ทำให้ "ความได้เปรียบในฐานะเจ้าบ้าน" จาก "แมตช์การแข่งขันที่เหลืออยู่" โดยเฉพาะในยามที่ต้อง "เผชิญหน้า" กับบรรดาทีมยักษ์ใหญ่จะหมดสิ้นไป อีกทั้งจำนวนแมตช์การแข่งขันที่เหลืออยู่นี้ แต่ละทีมมีสถานะความเป็น "ทีมเหย้า" เหลือไม่เท่ากันอีกด้วย
เอ้า! แต่เตะกันใน "สนามเป็นกลาง" ที่ว่านี้ ไม่มีแฟนบอลเข้าไปเชียร์สักหน่อยไม่ใช่หรือ?
ถูกต้อง! แต่... 6 สโมสรเสี่ยงตกชั้นที่ว่านี้ ให้ "เหตุผลเพิ่มเติม" ว่า จริงอยู่ แม้จะไม่มีแฟนบอลเข้าไปเชียร์ในสนามได้ แต่แฟนบอลก็ยังอาจจะตามไปเชียร์ทีมโปรดของตัวเองที่บริเวณด้านนอกสนามเป็นกลางได้อยู่ดี โดยเฉพาะในนัดที่สำคัญๆ ชี้เป็นชี้ตาย และนัดที่ลงฟาดแข้งในศึกถ้วยฟุตบอลยุโรป ซึ่งนั่นจะเท่ากับว่า การลงแข่งใน "สนามเป็นกลาง" มันจะกลายเป็น "ไม่เป็นกลาง" ขึ้นมาได้ในทันที
โดย "สโมสร" ที่ถูกหมายหัว จากประเด็นอาจจะมีแฟนบอลตามไปเชียร์ในสนามเป็นกลางมากที่สุด ก็คือ "สโมสรผู้รอคอย" นั่นเอง เนื่องจากฤดูกาลนี้ "หงส์แดงตะแคงฟ้า" เอื้อมมือเข้าใกล้ถ้วยแชมป์ลีกมากที่สุดในรอบ 30 ปี จนทำให้เกิดคำถามตามมาในเวลานี้ว่า เจ้าหน้าที่จะสามารถหยุดยั้ง "เหล่าเดอะค็อป" ที่อยากจะจัดขบวนแห่แชมป์ให้สมอยากกับการรอคอยได้มากน้อยเพียงใด
เอาล่ะ! หากข้ามเรื่องนี้ไปได้ เมื่อนักเตะลงฟาดแข้งกันแล้ว ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรกันบ้าง?
ตรวจ ตรวจเพิ่ม แล้วก็ตรวจเพิ่มมากขึ้นไปอีก
สำหรับประเด็นการตรวจ Covid-19 ให้กับบรรดานักฟุตบอลและเจ้าหน้าที่ทั้งหมดที่อยู่ในการแข่งขันแต่ละนัด นี่แหละคือ "ความท้าทายที่ยิ่งใหญ่" นั่นเป็นเพราะจำนวนของบุคลากรสำหรับ "ปฏิบัติการที่ว่านี้" มันจะทำได้จริงๆ หรือเปล่า?
นี่คือเครื่องหมายคำถามตัวโตๆ ณ เวลานี้
นั่นเป็นเพราะจนถึงตอนนี้ยังไม่เป็นที่ชัดเจนว่า จะมีจำนวนบุคลากร (ทางการแพทย์) และเครื่องมือที่จะมาสนับสนุนได้มากเพียงพอตามที่ต้องการหรือไม่?
เนื่องจากตามแผนเบื้องต้น นักฟุตบอลจะต้องถูกตรวจอย่างน้อยที่สุดสัปดาห์ละ 2 ครั้ง โดยไม่ต้องถูกกักตัว แต่สถานการณ์การแพร่ระบาดในประเทศอังกฤษ ลำพังเพียงแค่ให้รับมือกับจำนวนผู้ป่วยอย่างเดียว บุคลากรทางการแพทย์แต่ละคนก็ทำงานกันหนักหนาอยู่แล้ว และยังไม่นับรวมถึงความแม่นยำเรื่องผลการตรวจ และคิวรอรับผลการตรวจในแต่ละวันที่มีจำนวนมหาศาลอีก
แล้วจะเกิดอะไรขึ้น หากนักฟุตบอลถูกตรวจพบว่าติดเชื้อ Covid-19
ลองจินตนาการกันดูเล่นๆ ก็ได้ หากลงเล่นกันไปแล้ว 2 หรีอ 3 นัด แล้วเกิดมีผู้เล่นสักคนถูกตรวจพบว่า "ติดเชื้อ Covid-19" ก็แปลว่า ผู้เล่นทุกคนในทีมจะต้องถูกกักตัว ซึ่งนั่นจะเท่ากับการลงฟาดแข้งเพื่อชิงถ้วยพรีเมียร์ลีกต้องจบลงทันที ประธานคณะกรรมการด้านการแพทย์ของฟีฟ่า ให้ความเห็นเอาไว้สำหรับประเด็นนี้
แต่อย่างไรก็ดี ทางพรีเมียร์ลีกกลับ "มองโลกในแง่ดี" ว่า จะสามารถจัดการ "แยกแยะ" และนำตัวนักเตะที่ติดเชื้อ Covid-19 ไป "กักกันตัว" ได้ก่อนที่จะเป็นตัวการของการแพร่ระบาด หากกระบวนการตามแผนการ ตรวจสอบนักเตะที่กล่าวไว้ข้างต้นเป็นไปอย่างสมบูรณ์
แล้วเมื่อไรที่บรรดานักเตะทั้งหลายควรจะกลับมาซ้อมสำหรับการลงฟาดแข้งที่เหลือ?
ปัจจุบัน แม้จะต้องยึดมาตรการ Stay at Home แต่นักเตะส่วนใหญ่ก็ต้องลงซ้อม "แยกเดี่ยว" ตามโปรแกรมซ้อมของสโมสร อย่างไรก็ดี ทั้งหมดกำลังเริ่มเข้าสู่การซ้อมในระดับที่เพิ่มความเข้มข้นมากขึ้นแล้ว ทำให้มีการคาดการณ์ว่า นักเตะทุกคนน่าจะกลับไป "ซ้อมโหมดจริงจังสำหรับการแข่งขัน" โดยใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ของสโมสรได้ภายในวันที่ 18 พฤษภาคมนี้
แต่แน่นอนว่า "การซ้อมโหมดจริงจัง" ดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้มาตรการ Social Distancing อย่างเข้มงวดด้วย เช่น นักเตะจะต้องเดินทางและซ้อมที่สโมสรเป็นรายบุคคล ห้ามเปลี่ยนชุด และห้ามกินอาหาร ในสถานที่ฝึกซ้อมของสโมสรเด็ดขาด
ว่าแต่... แน่ใจได้มากน้อยแค่ไหนว่า บรรดานักเตะต้องการกลับมาลงฟาดแข้งท่ามกลางการแพร่ระบาดที่เสี่ยงต่อชีวิตเช่นนี้?
ประเด็นนี้จะว่าไปก็ยังคงเป็นที่น่าเคลือบแคลงสงสัย และควรมีการตั้งคำถามอย่างจริงจัง?
ว่า... แท้จริงแล้ว อารมณ์ความรู้สึกของพวกเขา มันพร้อมที่จะทนรับต่อ "สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป" สำหรับการกลับลงไปฟาดแข้งกันอีกครั้งได้จริงๆ หรือเปล่า?
เพราะสิ่งที่ "นักเตะเงินล้าน" ต้องเผชิญ คือ การถูกตรวจหาเชื้อ Covid-19 นานติดต่อกันหลายสัปดาห์ ไหนจะเรื่อง "ความค้างคาใจ" เรื่องค่าเหนื่อยที่อาจจะถูกปรับลดลงถึง 30% หรือถูกชะลอจ่ายเงินค่าจ้างออกไป และที่สำคัญที่สุด คือ ความรู้สึกถึง "ความไม่ปลอดภัย" ในการลงเตะแต่ละนัด
เพราะที่ผ่านมา บรรดา "สหภาพนักเตะ" ในหลายประเทศ ได้พยายามเรียกร้องมาโดยตลอดว่า ควรจะต้องมีการ "การันตีเรื่องความปลอดภัย" โดยเฉพาะควรมีคำแนะนำที่ชัดเจนจากองค์การอนามัยโลก หรือ WHO ก่อนที่จะกลับมาเปิดให้มีการฟาดแข้งกันอีกครั้ง
อะไร คือ "กฎใหม่" ที่จะมีการนำมาปรับใช้ในการฟาดแข้งบ้าง?
เท่าที่มีข้อเสนอ ณ ปัจจุบัน รวมมาได้เป็นข้อๆ แบบนี้!
1. นักเตะทุกคนจะต้องถูกตรวจสุขภาพ และอยู่ภายใต้มาตรการ Social Distancing อย่างเคร่งครัด ก่อนที่การแข่งขันจะเริ่มต้น
2. จะต้องมีห้องเปลี่ยนเสื้อผ้ามากกว่าหนึ่งห้องต่อทีม
3. ห้าม "จับมือ" ก่อนลงทำการแข่งขัน
4. ห้าม "เรียกเพื่อนร่วมทีม" มาแสดงความยินดีในกรณีที่ยิงประตูได้
5. ห้ามถ่มน้ำลายในสนาม
6. อนุญาตให้มีการเปลี่ยนตัวผู้เล่นได้ 5 คนในระหว่างการแข่งขัน จากแต่เดิมให้เพียง 3 คน เพื่อลดความเสี่ยงของผู้เล่น "จากการลงฟาดแข้งถี่ยิบ" ตามโปรแกรมที่เหลืออยู่ รวมทั้งเหลือเวลาสำหรับการฟิตซ้อมร่างกายเพียงเล็กน้อยก่อนจะกลับลงมาฟาดแข้งกันอีกครั้ง
ควรจะต้องมีผู้ชมกี่คนในแต่ละแมตช์การแข่งขัน?
ตามข้อมูลล่าสุดได้มีการคาดการณ์เอาไว้ ดังนี้
1. จำนวนนักเตะรวมตัวสำรอง 2 ทีม รวมกัน 40 คน
2. สตาฟฟ์โค้ชและทีมแพทย์ประจำทีม 2 ทีม รวมกัน 32 คน
3. ผู้ตัดสิน 6 คน
4. เจ้าหน้าที่ประจำเทคโนโลยี Gold-line รวม 6 คน
5. เจ้าหน้าที่ประจำการแข่งขันของพรีเมียร์ลีก รวม 3 คน
6. แพทย์และคณะบุคลากรทางการแพทย์ประจำการแข่งขัน รวม 6-8 คน
7. เจ้าหน้าที่ควบคุมการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ รวม 12 คน
8. เจ้าหน้าที่ประจำสกอร์บอร์ดและป้ายโฆษณาในสนาม ยังไม่มีการระบุ
9. เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำสนาม ยังไม่มีการระบุ
10. เจ้าหน้าที่อำนวยความสะดวกประจำสนาม ยังไม่มีการระบุ
11. สื่อมวลชนสายทีวีและวิทยุที่จะเข้ามาทำหน้าที่รายงานสดการแข่งขัน ไม่เกิน 100 คน
12. สื่อมวลชนสายสิ่งพิมพ์ ไม่เกิน 28 คน
13. ช่างภาพ 2 คน
14. เจ้าหน้าที่แผนกประชาสัมพันธ์ของแต่ละสโมสร ยังไม่มีการระบุ
แล้วจะเหลืออีกกี่แมตช์ที่จะมีการถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์?
ปัจจุบัน ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษยังเหลือการแข่งขันที่จะมีการถ่ายทอดสดตามโปรแกรมรวม 92 นัด แต่อย่างไรก็ดี ทางรัฐบาลอังกฤษต้องการให้ "มีบางนัด" ในจำนวน 92 นัดนี้ มีการถ่ายทอดสดในรูปแบบ "ฟรีทีวี" บ้าง เนื่องจากเกรงว่าหากยังคงปล่อยให้มีการถ่ายทอดสดในรูปแบบเดิม คือ รับชมได้เฉพาะผู้เสียเงินให้กับเจ้าของลิขสิทธิ์ อาจเป็นการ "กระตุ้น" ให้คนไปรวมตัวกันจำนวนมากเพื่อรับชมการถ่ายทอดสด ซึ่งจะเท่ากับเป็นการฝ่าฝืนมาตรการ Social Distancing แต่อย่างไรก็ดี สำหรับประเด็นนี้ รัฐบาลอังกฤษคงต้องเข้าไปเจรจากับเจ้าของลิขสิทธิ์ คือ Sky Sports และ BT Sport ต่อไป
ซึ่งบางทีอาจจะเป็นเรื่องยาก เพราะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ทำให้การแข่งขันต้องหยุดชะงักลง ได้ทำให้ Sky Sports และ BT Sport สูญเสียทั้งเงินค่าโฆษณาและยอดผู้จ่ายค่าสมาชิกไปเป็นจำนวนมาก ซึ่งนั่นเท่ากับอาจจะไปกระทบกับรายได้ที่พรีเมียร์ลีกควรจะได้ และนำไปแบ่งปันต่อให้กับทุกสโมสรในฤดูกาลนี้ไปด้วย
จะเกิดอะไรขึ้น หากมีการ "ตัดจบ" ฤดูกาลนี้?
จากข้อมูล ณ ปัจจุบัน พรีเมียร์ลีกกำลังพยายามปรับปรุงรูปแบบและวิธีการต่างๆ เพื่อให้ฤดูกาล 2019-2020 จบลงภายในเดือนกรกฎาคม และสามารถเริ่มต้นฤดูกาล 2020-2021 ได้ในช่วงเดือนกันยายน รวมถึง หากเกิดกรณีที่ "คาดไม่ถึง" เช่นนี้ขึ้นมาอีก ก็จะต้องไม่กระทบต่อ "ตารางการแข่งขัน" ในอนาคตอีกด้วย
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ คุณคิดว่า "ฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ" ควรกลับมาเตะกันอีกครั้งในเดือนมิถุนายนที่จะถึงนี้หรือไม่ เราอยากฟังความเห็นของทุกท่าน
ร่วมแสดงความคิดเห็นกันได้ที่คอมเมนต์ด้านล่างนี้
เฟซบุ๊ก : ข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
ข่าวอื่นๆ :