สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทย กำลังดีวันดีคืน แต่..สิ่งที่ไม่น่าไว้วางใจคือ “ไวรัสตัวร้าย” ตัวนี้นั้น สามารถติดต่อกันได้ง่าย ที่สำคัญคือ คนทั่วโลกเองก็กำลังวิตกเพราะไม่รู้ว่าวิกฤตินี้จะจบลงเมื่อไร..

หากมองย้อนกลับไปราว 16 ปี ได้เกิดการแพร่ระบาดของ “ไข้หวัดนก” ซึ่งตอนนั้นเป็นข่าวใหญ่ในรัฐบาลของ “ทักษิณ ชินวัตร” นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น

3 นาทีคดีดัง โดยทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะขอย้อนเหตุการณ์ไข้หวัดนกระบาดในไทย โดยจุดเริ่มต้นตั้งแต่ปลายปี 2546 จู่ๆ พบไก่ตายอย่างปริศนานับหมื่นตัว ภายในฟาร์มแห่งหนึ่ง จังหวัดนครสวรรค์ จากนั้นก็เริ่มลุกลามไปหลายจังหวัด

ต่อมา นสพ.จิโรจ ศศิปรียจันทร์ นักวิชาการจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นคนแรกที่ลงพื้นที่ตรวจโรค ได้เตือนไปยังกรมปศุสัตว์ว่า “ต้องทำลาย เพื่อควบคุมการระบาด”

เวลาผ่านไปจนเข้าสู่ปี 2547 รัฐบาลขณะนั้นเริ่มขยับตัว...

วันที่ 14 มกราคม 2547 นายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรและสหกรณ์ ขณะนั้น แถลงว่า สาเหตุไก่ไทยตายไม่ได้เกิดจากโรคไข้หวัดนก แต่เกิดจากโรค 2 ชนิด คือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ หรือโรคที่จะส่งผลให้ไก่มีปัญหาด้านหลอดลมอักเสบจนล้มตาย และโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหารหรือเชื้ออหิวาต์ ซึ่งโรคทั้งสองอยู่ในการควบคุมของทางการแล้ว

...

“ขอยืนยันว่าไม่มีการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวแน่นอน และรัฐไม่ได้ปิดข่าว“ นายยุคล ลิ้มแหลมทอง อธิบดีกรมปศุสัตว์ ได้กล่าวอย่างหนักแน่น

17 มกราคม 2547 ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้กล่าวผ่านรายการวิทยุ ว่า มี เชื้อโรคที่แพร่ระบาดในฟาร์มไก่ไม่ใช่เป็นเชื้อไข้หวัดนก เป็นเชื้อทางเดินอาหารและทางเดินหายใจ มีไก่ตายประมาณ 1.5 ล้านตัวเท่านั้น พร้อมเรียกร้องให้ทุกคนอย่าพูดเกินเหตุ เนื่องจากจะทำให้การส่งออกเนื้อไก่ได้รับความเสียหาย

ต่อมา ตัวแทนสมาคมคุ้มครองผู้บริโภคไทย ยื่นหนังสือถึงรัฐบาลให้ตรวจสอบข้อเท็จจริง ว่าประเทศไทยมีไข้หวัดนกระบาดหรือไม่

ขณะเดียวกัน ก็พบผู้ป่วยรายแรก ที่สงสัยว่าจะเป็นไข้หวัดนก โดยมีอาชีพรับจ้างเชือดไก่ ใน จ.นครสวรรค์ ถูกส่งมารักษาตัวด้วยอาการป่วยโรคปอด

20 ม.ค. 2547 นายทักษิณ พร้อมคณะรัฐมนตรี ร่วมรับประทานอาหารกลางวัน โดยเมนูทั้งหมดล้วนทำด้วยไก่ เพื่อเรียกความมั่นใจให้ประชาชนว่า “ไก่ไทยปลอดไข้หวัดนก”

คล้อยหลังเพียง 2 วัน 22 มกราคม 2547 ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ ทองเจริญ คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลศิริราช และที่ปรึกษาด้านไวรัสขององค์การอนามัยโลก ให้ความเห็นว่า “หลังดูผลการตรวจสอบเชื้อโรคระบาดในไก่ในระดับห้องปฏิบัติการ มีผลการทดลองออกมาว่าเชื้อที่ระบาดในไก่ขณะนี้คือ “เชื้อโรคของไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1”

ที่สามารถแพร่กระจายสู่คนที่เกี่ยวข้องสัมผัสกับสัตว์ปีกเหล่านี้ได้ แต่เป็นเชื้อที่ไม่รุนแรงมากนัก แต่จำเป็นจะต้องควบคุมโรคกับประชาชนที่เป็นผู้เลี้ยงไก่ และเลี้ยงนก เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยง..ถึงเวลาที่ต้องเปิดเผยข้อมูลแล้ว เพื่อช่วยในการควบคุมโรค”

ในวันถัดมา 23 มกราคม นายกฯ ทักษิณ ก็ยอมรับว่า “มีการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทย”

โดยมีการแต่ตั้ง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานคณะกรรมการพิจารณาแก้ไขวิกฤติสถานการณ์ ไข้หวัดนกระบาดในไก่

ขณะที่ นางสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ รมว.สาธารณสุข ได้มีการลงนาม ในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 1 ระบุให้ไข้หวัดนกเป็นโรคติดต่อร้ายแรง ที่ต้องมีการรายงานตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งใช้มาตรการตามกฎหมายเขามาควบคุมในพื้นที่เสี่ยงในลักษณะเดียวกับโรคซาร์ส

...

นางสุดารัตน์ กล่าวว่า พบผู้ป่วยโรคไข้หวัดนก หรือ Avian Influenza ชนิด H5N1 จำนวน 2 ราย คือ ด.ช.อายุ 6 ขวบที่ จ.กาญจนบุรี ซึ่งขณะนี้รักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช ส่วนรายที่ 2 คือ ด.ช.อายุ 7 ขวบ ที่ จ.สุพรรณบุรี ส่วนผู้ป่วยที่ จ.นครสวรรค์ สามารถยืนยันได้แล้วว่าไม่ใช่ไข้หวัดนก นอกจากนี้ ยังพบผู้ต้องสงสัยอีก 3 รายคือ แฝดผู้น้องของผู้ป่วยไข้หวัดนกที่ จ.สุพรรณบุรี และผู้ป่วยจาก จ.ฉะเชิงเทรา และ จ.สุโขทัย

นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.เกษตรฯ เปิดเผยว่า มีการตรวจพบโรคไข้หวัดนกครั้งแรกในประเทศไทย จากการตรวจสอบตัวอย่างชิ้นเนื้อไก่ จากฟาร์มไก่ไข่ อ.บางปลาม้า จ.สุพรรณบุรี พบ ติดเชื้อโรคไข้หวัดนก H5N1 จึงได้มีการสั่งทำลายไก่ต้องสงสัยว่าพาหะของโรคจำนวน 7.1 ล้านตัว

“ยืนยันว่ากระทรวงเกษตรฯ ไม่ได้ปกปิดข่าวการแพร่ระบาด”

สิ่งที่รัฐบาลไทย ต้องเผชิญในเวลานั้น คือ หลายๆ ประเทศ โดยเฉพาะ สหภาพยุโรป ได้สั่งระงับนำเข้าไก่ไทยทันที

ส่วนมาตรการที่ใช้ควบคุมการแพร่ระบาด ได้แบ่งออกเป็น 2 ระดับ

...

ระดับที่ 1 จังหวัดที่ไม่ปรากฏการระบาด
ระดับที่ 2 จังหวัดที่ทำลายไก่แล้ว ซึ่งมีในกรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคอีสานรวม 15 จังหวัด

สิ่งที่เกิดขึ้น ส่งผลให้องค์การอนามัยโลก มีความกังวลที่ไทยปล่อยให้มีการระบาดของโรคไก่นานถึง 3 เดือน จากปกติที่ควรจะควบคุมได้ภายใน 15 วัน ถึง 1 เดือน

อย่างไรก็ตาม ในวันที่ 25 ม.ค. 2547 ก็มีผู้เสียชีวิตเป็นรายแรกจากไข้หวัดนก โดยเป็นเด็กชาย อายุ 6 ขวบ อีกสองวันต่อมา เด็กชายอีกคนวัย 6 ขวบ จาก จ.สุโขทัย ก็เสียชีวิต หลังรับประทานไก่ที่ติดเชื้อเข้าไป นอกจากนี้ ยังมีเด็กอีก 2 คนเสียชีวิตในเวลาต่อมา รวมเป็น 4 ศพ

ศ.เกียรติคุณ นพ.ประเสริฐ กล่าวว่า “ค่อนข้างแน่ใจว่าไข้หวัดนกไม่ติดจากคนสู่คน อย่างไรก็ตาม ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสไก่ สัมผัสสารคัดหลั่งจากไก่และมูลไก่โดยตรง”

ซึ่งสอดคล้องกับ องค์การอนามัยโลก ที่แถลงในเวลาต่อมาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ว่า ยังไม่มีข้อมูลยืนยันว่า เชื้อไวรัส H5N1 ติดต่อจากคนสู่คน

ในภาคการช่วยเหลือ รัฐบาลได้อนุมัติงบประมาณ เกือบ 3 พันล้านบาท แบ่งจ่ายให้เกษตรกร วงเงิน 2,499.20 ล้านบาท ส่วนหนึ่งนำใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการทำลายไก่

และมีการแต่งตั้งคณะกรรมการผู้เชี่ยวชาญพิจารณาผู้ป่วยไข้หวัดนกเพื่อแก้ปัญหา โดยมี นางเทเรซ่า แทม ผู้เชี่ยวชาญด้านระบาดวิทยาจากองค์การอนามัยโลก ร่วมด้วย

รศ.นสพ.ดร.จิโรจ ศศิปรียจันทร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคสัตว์ปีก ของสัตวแพทยสภา กล่าวว่า รัฐบาลไม่ได้มีเจตนาปกปิด แต่ที่เปิดเผยล่าช้าเพราะต้องใช้เวลาในการพิสูจน์  

ต่อมาได้พบสัตว์ประเภทอื่นได้เสียชีวิตเพราะไข้หวัดนก ได้แก่ เสือดาว เสือขาว และ แมว โดยผลยืนยันว่าติดเชื้อไวรัส H5N1

...

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การระบาดของไข้หวัดนกเริ่มดีขึ้นตามลำดับในช่วงเดือนมีนาคม

16 มีนาคม รัฐบาลได้เปิดเผยว่า มีผู้ป่วยที่ยืนยันเป็นไข้หวัดนกจำนวน 12 ราย รักษาหาย 4 ราย เสียชีวิต 8 ราย

และในวันที่ 14 พ.ค. 2547 นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รมว.เกษตรฯ ประกาศว่าประเทศไทยเป็นพื้นที่ปลอดไข้หวัดนกได้แล้ว โดยได้มีการจัดการกับไก่ต้องสงสัยว่าจะเป็นพาหะทั้งสิ้น 25,901,365 ตัว จาก 40,043 ฟาร์ม

ไข้หวัดนก H5N1 เป็นโรคติดต่อในสัตว์ปีก แต่คนสามารถรับเชื้อเข้าร่างกาย จากการสัมผัสสัตว์ป่วย เช่น สารคัดหลั่งจากสัตว์ อุจจาระ น้ำมูก น้ำตา น้ำลายสัตว์ป่วย

หากรับเชื้อไปแล้ว จะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ อ่อนเพลีย มีน้ำมูก ไอ เจ็บคอ อาการหนักก็ถึงขั้นเสียชีวิตได้

คำแนะนำ คือ

1.ให้หมั่นล้างมือบ่อยๆ ด้วยน้ำและสบู่
2.งดกินเนื้อไก่ที่กึ่งสุกกึ่งดิบ
3.เลือกซื้อไข่ไก่ที่สดใหม่ และไม่มีมูลสัตว์ปีกติดไข่
4.เนื้อไม่ควรมีสีคล้ำ
5.หากซื้อสัตว์เป็นๆ ไม่ควรซื้อสัตว์ปีกที่มีอาการหงอย ขนฟู หน้าหรือหงอนบวมคล้ำ มีน้ำมูก

อย่างไรก็ตาม กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค สรุปการแพร่ระบาดของไข้หวัดนก ตั้งแต่ปี 2547-2549 ว่า พบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนก 25 ราย มีผู้เสียชีวิต 17 ราย โดยหลังจากปี 2549 ก็ไม่พบผู้ป่วยไข้หวัดนกอีกเลยจนถึงปัจจุบัน

ส่วนสถานการณ์โลก วันที่ 14 มิถุนายน 2562 พบผู้ป่วยไข้หวัดนก H5N1 รวม 238 ราย เสียชีวิต 134 ราย หากนับรวบตั้งแต่เริ่มระบาดในปี 2546 พบผู้ป่วยทั้งหมด 861 ราย เสียชีวิต 452 ราย ใน 16 ประเทศ โดยครั้งล่าสุดที่พบคือเดือนกันยายน 2559 พบผู้ป่วย 10 ราย เสียชีวิต 3

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ชม 3 นาทีคดีดังที่น่าสนใจ