• "โควิด-19" ระบาดไปทั่วโลก หลายประเทศล็อกดาวน์ ฉุดเศรษฐกิจถดถอยรุนแรงในรอบ 70 ปี 
  • จีดีพีไทยติดลบกว่า 6% เอกชนเผยก่อนคลายล็อกดาวน์ตกงานกว่า 9 ล้านคน   
  • ลุ้นคลายล็อกดาวน์เฟส 2-3 แรงงานกว่าครึ่งได้กลับมาทำงาน  
  • เตือนแรงงานอายุมากกว่า 40 ปี ปรับตัวรับโลกเปลี่ยนแปลง

ดร.ธนิต โสรัตน์ รองประธานสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย วิเคราะห์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และสถานการณ์แรงงานไทย หลังเกิดวิกฤติไวรัส "โควิด-19" ว่า จะมีคนตกงานจำนวนมาก และเศรษฐกิจต้องใช้เวลาในการฟื้นตัว หลังจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปิดสนามบิน ปิดเมือง จนเศรษฐกิจวิกฤติรุนแรงที่สุดในรอบเกือบ 70 ปี

เฉพาะไตรมาสแรกของปี 2563 "จีดีพี" หรือ อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ ของประเทศที่เป็นคู่ค้าหลักของไทยอยู่ในสภาวะหดตัว เช่น ประเทศจีน -6.8%, อังกฤษ -6.5%, ฝรั่งเศส -5.8%, ญี่ปุ่น -5.2%, สหรัฐอเมริกา -4.8%, สิงคโปร์ -3.5% ประเทศในกลุ่มสหภาพยุโรปเศรษฐกิจ -7.5% โดยองค์กรการเงินระหว่างประเทศ หรือ "IMF" ประเมินว่า การเงินโลกจะมีการตึงตัว เศรษฐกิจโลกจะหดตัวมากกว่า 3%

...

นี่คือ แนวโน้มเศรษฐกิจโลกจะอยู่ในสภาวะถดถอยในครึ่งปีหลัง และหากยังไม่สามารถยับยั้งการแพร่ระบาดภายในเดือนพฤษภาคม 2563 จะยิ่งส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการฟื้นตัวที่ต้องใช้เวลา

จีดีพีไทยดิ่งติดลบ 6% เม็ดเงินท่องเที่ยวหายกว่าครึ่ง

สำหรับประเทศไทยจากการใช้ค่าเฉลี่ยประเมินว่าเศรษฐกิจปี 2563 อาจติดลบ 6% ขึ้นอยู่กับงบกระตุ้นเศรษฐกิจว่าจะมีมากน้อยเพียงใด และสามารถลงสู่เศรษฐกิจฐานรากได้เร็วแค่ไหน โดยภาคท่องเที่ยวถูกกระทบหนัก เพราะนักท่องเที่ยวลดลงจากปีที่แล้ว 39.8 ล้านคน ในปีนี้จะเหลือ 16 ล้านคน หรือลดลง 60% เม็ดเงินจะลดจาก 3.01 ล้านล้านบาท เหลือเพียง 1.12 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นลดลง 62.7% การเริ่มฟื้นตัวอาจอยู่ในช่วงไตรมาส 3 ไปถึงต้นไตรมาส 4 แต่ทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและมูลค่าจะไม่เหมือนเดิม

ช่วงล็อกดาวน์ตกงานกว่า 9.6 ล้านคน

ดร.ธนิต ได้สำรวจข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ และในกลุ่มของสภานายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย พบว่า ก่อนการคลายล็อกดาวน์เฟส 1 (ก่อน 3 พฤษภาคม) คาดว่า มีจำนวนผู้ที่ตกงานรวมกันประมาณ 9,523,411 คน กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด คือ กลุ่มแรงงานอิสระภาคท่องเที่ยว รองลงมาคือ กลุ่มก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์

จำนวนกว่า 9.5 ล้านคนนี้ คิดเป็นสัดส่วนการว่างงานประมาณ 24% ของแรงงาน แต่การประเมินว่า ในเฟส 1 ของมาตรการผ่อนคลายล็อกดาวน์ อาจทำให้การจ้างงานกลับคืนมาประมาณ 1 ล้านตำแหน่ง และในเฟส 2 และเฟส 3 ซึ่งกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณามีการเปิดศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและร้านค้าธุรกิจจะทำให้การจ้างงานกลับคืนมาได้อย่างน้อยครึ่งหนึ่ง

...

ภาคอุตสาหกรรม 6 ล้านคนยังเสี่ยง

สำหรับภาคอุตสาหกรรมที่มีแรงงานประมาณ 6 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะที่อ่อนแอ ทั้งจากดีมานด์การบริโภคในประเทศที่ลดลงและการชะลอตัวการส่งออก ถึงแม้ในไตรมาสแรกปี 2563 จะยังขยายตัว 0.91% เพราะหากหักการส่งออกทองคำแท่งก็จะพบตัวเลขเป็นติดลบ 3.1% จึงคาดว่าทั้งปีการส่งออกของไทยอาจติดลบ 8.27%

สำหรับอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบเป็นอันดับต้นๆ เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์อาจหดตัวมากกว่า 30% เพราะค่ายรถยนต์ต่างๆ ปิดตัวชั่วคราวตั้งแต่เดือนเมษายน และจนถึงต้นเดือนพฤษภาคม ส่วนใหญ่ยังไม่เปิด และบางส่วนปรับลดเหลือ 1 กะ หรือสลับกันหยุด

อุตสาหกรรมสิ่งทอและเครื่องนุ่งห่มเป็นอีกอุตสาหกรรมหนึ่งที่มีความเสี่ยงจากดีมานด์และการส่งออกที่ติดลบ นอกจากนี้ อุตสาหกรรมที่ยังมีความอ่อนแอจากการที่ส่งออกไตรมาสแรกหดตัว เช่น อุตสาหกรรมยางพารา, ข้าวแปรรูปเพื่อการส่งออก, อาหารทะลกระป๋องและแปรรูป, เครื่องใช้ไฟฟ้า, เครื่องสำอาง, ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง, ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับไม้ ฯลฯ

...

ลุ้นไตรมาส 4 เศรษฐกิจเริ่มเห็นสัญญาณเศรษฐกิจฟื้น 

ดร.ธนิต คาดการณ์ว่า การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 จบ อาจต้องใช้เวลามากกว่าครึ่งปี นานกว่าวิกฤติต้มยำกุ้งเมื่อปี 2540 และมากกว่าทุกวิกฤติที่ประเทศไทยเคยประสบมา แม้คลายล็อกดาวน์แล้ว แต่กำลังซื้อยังไม่สูง เห็นได้จากเงินเฟ้อทั่วไปเดือนเมษายนที่ติดลบ 2.99% ต่ำสุดในรอบ 11 ปี คาดว่า ในไตรมาส 2 เงินเฟ้อจะยังคงติดลบ 2.28% ซึ่งจะทำให้ทั้งปีเงินเฟ้อทั่วไปคงติดลบไม่น้อยกว่า 1%

เงินเฟ้อติดลบ คือ การสะท้อนถึงอำนาจการจับจ่ายใช้สอยของประชาชนลดน้อยลง จะเห็นว่ารัฐได้นำเงินเข้ามาเยียวยาเศรษฐกิจในกลุ่มประชาชนที่ได้รับผลกระทบ เช่น โครงการ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ในกลุ่มแรงงานอิสระ 16 ล้านคน และเกษตรกร 10 ล้านคน โดยใช้เงิน 3.9 แสนล้านบาท หรือคิดเป็น 2.25% ของจีดีพี แต่อาจไม่พอที่จะทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัว จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในรูปแบบต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อทำให้เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจกลับมาทำงานได้ตามปกติ

...

แรงงานต้องปรับตัวรับ New Normal 

ในอนาคต แม้จะผ่านพ้นวิกฤติโควิด-19 เศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว แต่ ดร.ธนิต ได้เตือนถึงการมาของ "New Normal" ในภาคธุรกิจต่างๆ ที่ธุรกิจจะเดินอยู่บนดิจิทัลแพลตฟอร์ม ตลอดจนพฤติกรรมผู้บริโภคจะเปลี่ยนไป ที่ให้ความสำคัญกับมาตรการสุขอนามัย การท่องเที่ยวกับที่การเดินทางระหว่างประเทศจะมีความเข้มงวดด้านสุขภาพฟรีวีซ่า

อีกส่วนหนึ่งภาคแรงงานต้องปรับตัวครั้งใหญ่ จากก่อนหน้านี้ที่มีเทคโนโลยี เครื่องจักร หุ่นยนต์เข้ามาทดแทนบางส่วน โดยเฉพาะแรงงานสูงวัยอายุ 40-45 ปี ที่มีประสิทธิภาพสร้างผลผลิตในระดับต่ำ แรงงานเองจึงต้องปรับตัว ปรับเปลี่ยนทัศนคติการทำงาน พัฒนาทักษะ และเพิ่มทักษะใหม่ๆ เพื่อรับวิกฤติต่างๆ ที่ทำให้โลกเปลี่ยนแปลงไป.

ข่าวอื่นๆ :