10 ปีแห่งความมุ่งมั่น ขยัน อดทน เปิดชีวิตนักธุรกิจไทยในสหรัฐอเมริกา จากเด็กล้างจานสู่เจ้าของ 2 ร้านอาหารไทยและธุรกิจให้เช่าบ้าน อาคารพาณิชย์ ในวัยเพียง 27 ปี เผยแนวทางปรับตัวร้านอาหารไทยในช่วงวิกฤติโควิดเพื่อความอยู่รอดและดำเนินธุรกิจต่อไปได้

การสร้างความเชื่อมั่นกับลูกค้าเพื่อความปลอดภัยและป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกา ประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิดสูงสุดของโลก ร้านอาหารไทยมีวิธีรับมือให้รอดจากวิกฤติในครั้งนี้ได้อย่างไทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ติดต่อพูดคุยกับ นายพงศกร ห่านจิตสุวรรณ์ หรือ จ๊อบ เจ้าของร้าน Best Thai 2 เมือง Bath และ ร้าน Racha Noodle Bar เมือง Damariscotta ในรัฐเมน (Maine) ตั้งอยู่ทางตะวันออกสุดของสหรัฐอเมริกา ติดกับประเทศแคนาดา

...

คุณจ๊อบ เล่าถึงสถานการณ์การระบาดโรคโควิด-19 เมืองที่อาศัยอยู่ว่าเป็นเมืองที่มีผู้สูงอายุค่อนข้างมาก จำนวนผู้ติดเชื้อโควิด ในรัฐเมน (Maine) ประมาณ 800 ราย แต่ถือว่าสถานการณ์ยังดีมากหากเปรียบเทียบกับรัฐใหญ่ๆ เช่น นิวยอร์ก หลังจากมีการระบาดโควิดในอเมริกา ผู้ว่ารัฐออกคำสั่งไม่ให้คนออกจากบ้านหากไม่จำเป็น พร้อมออกนโยบายสั่งปิด ธุรกิจ หรือร้านค้าที่ไม่จำเป็นต่อการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ร้านนวด, ร้านเสริมสวย, ร้าน gift shop. ร้านที่เปิดบริการได้คือ ร้านอาหาร super market

ร้าน Best Thai 2
ร้าน Best Thai 2

ร้านอาหารไทยหนึ่งในธุรกิจของคุณจ๊อบเองนั้น ในช่วงแรกๆ หลังเกิดการระบาดโควิด คุณจ๊อบกล่าวความรู้สึกว่ากังวลใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากไม่รู้ว่าเหตุการณ์จะไปทิศทางใด กระทั่งเมืองที่อยู่เริ่มมีคนติดโควิด ยอดขายตกลงอย่างเห็นได้ชัด แต่คุณจ๊อบยังให้พนักงานทำงานปกติ

“ทุกคนล้วนมีภาระที่ต้องรับผิดชอบ ในหัวผมตอนนั้นไม่ได้คิดอยากทำกำไร ขอแค่ขายได้พอจ่ายค่าพนักงาน ค่าใช้จ่ายในร้านก็พอ เราอยู่ได้เขาอยู่ได้ พนักงานบางส่วนเข้าใจและสมัครใจยอมลดตารางงาน” คุณจ๊อบ กล่าวเหตุผล

• แนวทางปรับตัว ร้านอาหารไทย รับมือวิกฤตโควิดระบาด

ต่อมารัฐบาลออกคำสั่งห้ามนั่งทานในร้าน สั่งกลับบ้านเท่านั้น วิธีการปรับตัวของคุณจ๊อบ คือ ทำโซนให้ลูกค้ามารับอาหาร ให้ลูกค้าเข้ามาในร้านทีละคน หรือวิ่งออกไปส่งอาหารให้ที่รถ โดยลูกค้าต้องโทรมาสั่งอาหารและจ่ายค่าอาหารผ่านบัตรเครดิตก่อนมารับอาหาร สำหรับพนักงานให้สวมใส่ถุงมือ หน้ากาก และมีแอลกอฮอล์ไว้ให้ลูกค้าและพนักงานทำความสะอาดมือ

วิธีรับมือโควิดของร้าน ในการส่งอาหารให้กับลูกค้า
วิธีรับมือโควิดของร้าน ในการส่งอาหารให้กับลูกค้า

มาตรการของสหรัฐฯ ในการเยียวยาประชาชน คุณจ๊อบเล่าว่า รัฐบาลออกนโยบายจ่ายเงินเยียวยาให้ผู้ที่มีรายได้ไม่เกินที่รัฐบาลจำกัดไว้ บางธนาคาร บริษัทประกันภัยมีมาตรการ ยกเว้นการชำระ หรือผ่อนผันไปก่อน และต้องมาชำระภายหลัง

ด้านการช่วยเหลือทางธุรกิจมีหน่วยงานชื่อ SBA (Small Business Administration) เป็นหน่วยงานที่ช่วยเหลือธุรกรรมทางการเงินของธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลาง ทางรัฐบาลได้อนุมัติจำนวนเงินมหาศาล ประมาณ 3 แสนกว่าล้าน US dollar เพื่อให้ SBA มาช่วยเหลือธุรกิจต่างๆ นำเงินส่วนที่กู้มาใช้จ่ายค่าแรงพนักงาน เพื่อป้องกันการตกงาน หรือ จ่ายค่าเช่าร้าน จำนวนเงินนี้อาจไม่ต้องชำระคืน

...

คำแนะนำและกำลังใจเพื่อให้คนไทยทั่วโลกผ่านช่วงวิกฤติการระบาดของโรคโควิด-19 คุณจ๊อบกล่าวด้วยน้ำเสียงห่วงใย ให้ควบคุมตัวเอง อย่าคิดวิตกกังวลมากเกินไป จนเป็นผลเสียต่อร่างกาย และอย่ายอมแพ้ต่ออุปสรรคต่างๆ

“ผมเชื่อมาเสมอ ไม่ว่าเราจะเจออุปสรรคหนักหนาแค่ไหน สุดท้ายพรุ่งนี้ก็เป็นแค่เรื่องเล่า ทุกๆ วิกฤติ ย่อมมีโอกาส แล้ววิกฤติโควิดนี้เป็นบททดสอบใหม่ของคนทั่วโลก ขอเพียงอย่ายอมแพ้ ขยันหาโอกาส แล้วก็ผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน”

รถคันแรกที่ใช้เมื่อมาอยู่สหรัฐอเมริกา
รถคันแรกที่ใช้เมื่อมาอยู่สหรัฐอเมริกา

...

• 10 ปี แห่งความพยายาม จากเด็กล้างจาน ครูพักลักจำจนเป็น Chef

การขยันหาโอกาสเพื่อความอยู่รอดและมีชีวิตที่ดีขึ้นดังที่คุณจ๊อบกล่าวไว้นั้น หากใครไม่ยอมแพ้ต่อโชคชะตาน้อยนักที่จะไม่ประสบความสำเร็จ เฉกเช่นเรื่องราวชีวิตของคุณจ๊อบเอง กว่าจะมาเป็นเจ้าของร้านอาหารไทย มีอสังหาริมทรัพย์ให้เช่า ที่แม้ไม่ใช่ธุรกิจใหญ่โต มากมาย แต่กว่าเขาจะมาถึงจุดนี้ได้ไม่ง่ายเลยและใช้ความพยายามถึง 10 ปี

ปีแรกที่คุณจ๋อบมาสหรัฐอเมริกา ขณะอายุย่าง 15 ปี
ปีแรกที่คุณจ๋อบมาสหรัฐอเมริกา ขณะอายุย่าง 15 ปี

คุณจ๊อบย้อนเล่าเรื่องราวชีวิตตนเองว่า เกิดที่จังหวัดเชียงใหม่ แต่ย้ายมาอยู่จังหวัดพิจิตร พออายุย่าง 15 พ่อได้ทำเรื่องให้เขาและพี่สาวมาอเมริกา มาอยู่ห้องเช่าเล็กๆ นอนเบียดๆ ร่วมกัน 6-7 คนกับน้องและหลานของพ่อ เพราะพ่อเป็นลูกจ้าง รายได้ไม่เยอะ

...

เนื่องจากพ่อมีรายได้ไม่มาก เขาจึงต้องเริ่มทำงานตั้งแต่อายุ 15 ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำงานมาก่อน งานแรกที่ทำคือล้างจาน ได้ค่าจ้าง $25 เขาบอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่าดีใจมากเพราะเป็นเงินก้อนแรกที่หามาได้ด้วยตัวเอง เมื่อหาเงินได้เองตั้งแต่นั้นมาคุณจ๊อบแทบจะไม่เคยขอเงินพ่อเลย

คุณจ๊อบถ่ายกับคุณพ่อ ขณะเรียนจบ high school
คุณจ๊อบถ่ายกับคุณพ่อ ขณะเรียนจบ high school

จากนั้นคุณจ๊อบก็ทำงานและเรียนไปด้วย เดิมทำแค่ร้านเดียว ก็เริ่มรับจ้างล้างจานร้านอาหารไทย ในละแวกใกล้ที่พักแทบทุกร้าน ต่อมาได้ไปทำงานล้างจานเฉพาะวันศุกร์กับวันเสาร์ที่ร้านอาหารญี่ปุ่น (Hibachi style) เจ้าของเป็นคนไทย เขาครูพักลักจำจนขยับตำแหน่งมาเป็น chef สมัครเล่น นอกจากล้างจานแล้วก็ยังรับจ้างส่ง delivery ด้วย

วินาทีคิดเปลี่ยนชีวิต แค่ 1 ปีมีเงินเก็บ คิดกล้าทำธุรกิจ ในวัยเพียง 18 ปี 

ชีวิตของคุณจ๊อบดำเนินไปเช่นนี้ ทุกวันสลับไปสลับมา ประมาน 3-4 ปี และแล้วเกิดจุดพลิกผัน เมื่อพ่อลาออกจากงานและไปกู้เงิน มาเปิดร้านอาหารเป็นของตัวเอง ประจวบกับเขาเรียนจบ High School จึงมาช่วยงานในร้านของพ่อทำให้เขาค้นพบตัวเองว่าชอบทำธุรกิจ

นายพงศกร ห่านจิตสุวรรณ์ หรือ จ๊อบ หนุ่มไทยผู้มีความมุ่งมั่น จากเด็กล้างจานสู่ เจ้าของ 2 ร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา
นายพงศกร ห่านจิตสุวรรณ์ หรือ จ๊อบ หนุ่มไทยผู้มีความมุ่งมั่น จากเด็กล้างจานสู่ เจ้าของ 2 ร้านอาหารไทยในสหรัฐอเมริกา

1 ปีต่อมา ด้วยนิสัยชอบทำอะไรด้วยตัวเอง และอยากพิสูจน์คนอื่นให้เห็นว่าทำได้ เขาจึงนำพลังด้านลบในอดีตของตนเองที่คิดว่าด้อยกว่าคนอื่นมาเป็นแรงผลักดันเพื่อให้ยืนในที่ที่สูงกว่าเดิม และเขาก็ทำได้จริง ในขณะอายุเพียงแค่ 18 ย่าง 19 ที่สามารถเก็บเงินได้ก้อนนึง และนำมาลงทุนเปิดธุรกิจเป็นของตัวเอง โดยมีทางบ้านคอยแนะนำ

สมัชญาญ์ ลิ่มวัฒนาเลิศ (ภรรยาคุณจ๊อบ) ถ่ายคู่รถหรูที่ช่วยกันหาเงินมาซื้อจากน้ำพักน้ำแรง หลังเปิดร้านอาหารไทย
สมัชญาญ์ ลิ่มวัฒนาเลิศ (ภรรยาคุณจ๊อบ) ถ่ายคู่รถหรูที่ช่วยกันหาเงินมาซื้อจากน้ำพักน้ำแรง หลังเปิดร้านอาหารไทย

ช่วงแรกๆ ร้านอาหารไทยขายไม่ดีเลย แต่เขาไม่ท้อ คิดอย่างเดียวว่า หากไม่ลงมือทำก็ไม่รวย และบอกตัวเองเสมอ ถึงไม่ได้เงินก็ได้ประสบการณ์ และเป็นโอกาสที่จะได้สร้างเครดิต แล้วสิ่งที่เขาคิดตั้งใจอย่างแน่วแน่ก็ไม่สูญเปล่า ด้วยความมุ่งมั่น ขยัน อดทน ไม่นานเท่าไหร่ร้านอาหารไทยมียอดขายดีขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มขยายสาขา และต่อยอดด้วยธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และ ธุรกิจอื่น

 ร้าน Racha Noodle Bar เมือง Damariscotta ในรัฐเมน (Maine)
ร้าน Racha Noodle Bar เมือง Damariscotta ในรัฐเมน (Maine)

ทุกวันนี้ธุรกิจของเขาไม่ได้ใหญ่โตมาก แต่เขาบอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ด้วยความภูมิใจ ถือว่าเดินมาไกลมาก 10 ปีที่ผ่านมา ชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมาก จากเด็กบ้านนอก พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ทำอะไรไม่เป็น รถไม่มี บ้านเช่าก็แทบไม่มีเงินจ่าย ปัจจุบันชีวิตพลิกผันจากหน้ามือเป็นหลังมือ มีร้านอาหาร 2 ร้าน มีธุรกิจบ้าน, อาคารพาณิชย์ให้เช่า มีรถสวยๆ ขับ

“ผมอยากฝากถึงคนไทยที่ย้ายมาอยู่อเมริกา หรือย้ายไปอยู่ประเทศอื่นๆ แล้วรู้สึกท้อแท้ หรือหมดหนทาง จงอย่ายอมแพ้ ผมเชื่อว่าหากเราไม่ยอมแพ้ ขยันหาโอกาส สักวันโอกาสจะเป็นของเรา ผมมีคติประจำใจนึง ไม่ว่าจะเจออุปสรรค หนักหนาแค่ไหน จงจำไว้พรุ่งนี้ก็เป็นแค่เรื่องเล่าครับ”

ข่าวน่าสนใจ