ข้อเท็จจริงหนึ่งของหลายๆ ครอบครัวที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 (COVID-19) หลังต้องอยู่พร้อมหน้าพร้อมตาในบ้าน พ่อ แม่ ลูกให้มากที่สุดตามมาตรการ “อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ” ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 นั่นคือ ความไม่เข้าใจ และทะเลาะกัน

ปัญหาเหล่านี้ สาเหตุเพราะอะไร มีวิธีแก้ไขอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์มีคำตอบจาก นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ชำนาญการและโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข เพื่อช่วยลดความตึงเครียดภายในครอบครัว

การที่ครอบครัวอยู่กันพร้อมหน้าในสถานการณ์เช่นนี้ บางคนมองว่าเป็นช่วงเวลามีค่าที่ได้ใช้เวลาร่วมกัน จากเดิมที่พ่อหรือแม่อาจไม่มีเวลาให้ลูก สามีไม่มีเวลาให้ภรรยาเพราะทำงานหนัก และเลิกงานกว่าจะเดินทางกลับถึงบ้านก็ดึกดื่น แต่พอมีเวลาอยู่ร่วมกันมากๆ กลับกลายเป็นทะเลาะกับคนในครอบครัวมากขึ้น สาเหตุนั้น นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ในภาวะที่มีการแพร่ระบาดของโรคใดๆ เป็นธรรมดาที่คนจะรู้สึกเครียดหรือกังวล เนื่องจากเกิดการเปลี่ยนแปลงความเคยชินอีกทั้งคนไทยไม่เคยเจอสถานการณ์โรคระบาดมาก่อน

...

 เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงจากพ่อแม่เคยทำงานนอกบ้านต้องมาทำงานในบ้าน ส่วนลูกๆ ต้องอยู่ในบ้านเพื่อเรียนออนไลน์แทนการไปโรงเรียน เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่อันจำกัด หรือจำกัดเวลาในการอยู่ข้างนอกทำให้ไม่คุ้นชินจนเกิดความเครียดทั้งที่รู้ตัวและไม่รู้ตัว หรือบางคนเกิดความเครียดจากนอกบ้าน เช่น ตกงาน ปัญหาเศรษฐกิจ สุขภาพ เมื่อต่างคนต่างมีความเครียดคนละแบบ แต่มาอยู่ด้วยกัน จึงมีเรื่องของอารมณ์มาเกี่ยวข้อง

การอยู่ดูแลลูกเกือบ 24 ชั่วโมง ก็มีส่วนทำให้พ่อแม่เหนื่อยเพิ่มขึ้น และจากที่เคยออกไปกินอาหารกันนอกบ้าน ต้องมาทำกินเองทุกมื้อก็จะเหนื่อยกับการคิดเมนูต่างๆ ในแต่ละมื้อ นอกจากนี้การสื่อสารกันภายในครอบครัวที่ไม่ชัดเจน บางครั้งพ่อ แม่ สามี หรือภรรยา พูดเพื่อความหวังดี แต่อีกฝ่ายกลับรู้สึกมีความคิดเห็นที่ต่างกัน หรือสื่อสารกันผิดก็ทำให้ไม่เข้าใจ หรือทะเลาะกันได้

“เมื่อเกิดความเครียด ร่างกายจะหลั่งฮอร์โมนมากกว่าปกติ ทำให้ระบบร่างกายผิดปกติ มีอาการคอ บ่า ไหล่ เริ่มปวดตึงเร็วกว่าบริเวณอื่น ปวดตามตัว ลำไส้แปรปรวน ท้องผูก ท้องเสียในบางราย มีปัญหาในการขับถ่ายร่วมด้วย หรือบางคนกินมาก หรือนอนมากผิดปกติ” นพ.อภิชาติเผยอาการ

ใครอยู่บ้าน หยุดเชื้อเพื่อชาติ ป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด (COVID -19) และกำลังรู้สึกเครียดและมีอาการดังที่ นพ.อภิชาติ กล่าว ทางออกของปัญหาดังนี้

1. พูดคุยสื่อสารกันอย่างเป็นมิตร

2. รับฟังความคิดเห็นกันและกัน

3. งดการตำหนิหรือประชดประชัน

4. ปรับทัศนคตินึกถึงแต่สิ่งดีๆ เช่น การทำงานจากที่บ้านช่วยให้ไม่ต้องเสียเวลาออกไปเผชิญการจราจรที่ติดขัด ช่วยประหยัดเงินจากการทำอาหารกินเอง และไม่เสียค่าเดินทางออกไปทำงานนอกบ้าน

5. จัดระยะห่างให้แต่ละคนมีพื้นที่ส่วนตัวจะช่วยให้ไม่อึดอัด รู้สึกสบายใจ

 
6. แบ่งหน้าที่กิจวัตรประจำวันต่างๆ ให้ชัดเจน เหมาะสมและยุติธรรม 

7. เข้าใจ ยอมรับระดับความกังวลของสมาชิกแต่ละคนที่แตกต่างและไม่เหมือนกัน เพื่อลดการขัดแย้ง

8. โทรติดต่อเพื่อน ญาติที่ห่างไกล ช่วยคลายความเหงาหรือเครียด

9. หากรู้สึกเครียดมาก ควรหาวิธีผ่อนคลาย โดยปรึกษาคนในครอบครัวหรือขอความช่วยเหลือจากผู้นำชุมชน หรือองค์กรต่างๆ

10. ไม่ควรใช้ยาเสพติด แอลกอฮอล์ ภาวะซึมเศร้าจะมากขึ้น ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างพอเหมาะ

...

“การมีความเครียดไม่ผิด ไม่ใช่เรื่องแปลก การดูแลตัวเองเบื้องต้น คิดทบทวนว่าสาเหตุความเครียดเป็นเรื่องใดให้ไปแก้ที่ปัญหา หาทางป้องกัน หรือหลีกเลี่ยงปัญหานั้นๆ สิ่งที่ไม่ควรทำคือการใช้ยาเสพติด และแอลกอฮอล์ จะยิ่งทำให้ควบคุมอารมณ์ได้ยาก จะเกิดภาวะซึมเศร้ามากขึ้น” นพ.อภิชาติ อธิบาย

นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ชำนาญการและโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข
นพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ชำนาญการและโฆษกกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข

บางคนกังวลและไม่แน่ใจว่าตนเองนั้นมีความเครียดหรือไม่ เพื่อไม่ให้เกิดความวิตกจริตจนส่งผลเสียต่อสุขภาพจิต สามารถเข้าไปประเมินสุขภาพจิตเบื้องต้นผ่านแอป Mental Health Check up ของกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข โดยเลือกประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพจิต 1 ใน 6 รายการ ได้แก่ ความเครียด ซึมเศร้าฆ่าตัวตาย ภาวะสมองเสื่อม ความสุข ความฉลาดทางอารมณ์ และพลังสุขภาพจิต แล้วตอบคำถามตามความคิดของตัวเอง หลังตอบครบถ้วนแล้ว แอปจะสรุประดับความเครียด หรือระดับความเสี่ยงว่าอยู่ระดับใด หากอยู่ในระดับสูง ทางแอปจะแนะนำให้ไปพบหมอหรือโทรหาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ได้ 24 ชั่วโมง

...

“การดูแลตัวเองเบื้องต้น หากรู้สึกมีอารมณ์ด้านลบมากกว่าปกติ เมื่อไหร่ที่เครียดแล้วนึกถึงความตาย เป็นสัญญาณเตือนว่าเริ่มอันตรายแล้ว ควรรีบไปพบแพทย์ให้เร็วที่สุด” นพ.อภิชาติ กล่าว

ข่าวน่าสนใจ

...