อยู่ดีๆ ‘รัสเซีย’ ก็มีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อ ‘โควิด-19’ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว กระโดดเข้าสู่ Top 10 แซงหน้า ‘จีน’ จนต้องงัดมาตรการ ‘ปิดเมือง’ มาสกัด การใช้ชีวิตต้องปรับเปลี่ยน ไม่เว้นแม้แต่ดินแดนอันหนาวเหน็บอย่าง ‘ไซบีเรีย’

เดือนเมษายน 2563 นับเป็นจุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของ ‘รัสเซีย’ หลังตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อ ‘โควิด-19’ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องอย่างรวดเร็ว จากตัวเลขหลักพันต้นๆ สะสมรวม 1,836 รายในวันที่ 30 พฤษภาคม เพียง 1 เดือน ทะลุแสนราย และในวันนี้ (3 พ.ค.) มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 สะสมรวม 134,687 ราย แค่วันเดียวผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มถึง 10,633 ราย และมีเสียชีวิตสะสม 1,280 ราย กลายเป็นอันดับ 7 ประเทศที่มีผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ยืนยันสะสมมากที่สุดในโลก แซงหน้าจีน, ตุรกี และอิหร่านไปแล้ว

แน่นอนว่า เมื่อตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ยังคงเพิ่มขึ้นสูง มาตรการ ‘ปิดเมือง’ หรือ ‘ล็อกดาวน์’ (Lockdown) จึงมีความจำเป็นที่จะต้องคงไว้ ประธานาธิบดี ‘วลาดิเมียร์ ปูติน’ แห่งรัสเซีย ประกาศขยายมาตรการล็อกดาวน์ต่อไปจนถึงวันที่ 11 พฤษภาคม และหลังจากนั้นจะค่อยๆ ทยอยผ่อนปรน แต่หากว่าประชาชนไม่ยอม "โดดเดี่ยวตัวเอง" หรือ Self-Isolation ในช่วงวันหยุด หรือไม่ปฏิบัติตามมาตรการอย่างเคร่งครัด ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะขยายมาตรการต่อไปอีก

...

การอยู่ภายใต้มาตรการล็อกดาวน์ของชาวเมืองรัสเซียเป็นอย่างไร? และอะไรคือเหตุผลที่ทำให้ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว?

เปิดมุมมองและชีวิตช่วงปิดเมืองผ่าน ‘ยลรดี ธุววงศ์’ นักศึกษาไทยในรัสเซีย ที่มักจะเล่าเรื่องราวในแง่มุมต่างๆ ผ่านเพจ ‘ข้ามอัลไตไปไซบีเรีย’ แต่ในวันนี้มาเล่าผ่าน ‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’

‘ยลรดี’ เริ่มต้นบทสนทนาจากดินแดนอันหนาวเหน็บ ‘ไซบีเรีย’ ว่า ช่วงนี้อากาศที่รัสเซียเริ่มอุ่นๆ แล้ว ซึ่งที่ไซบีเรียอากาศค่อนข้างเหวี่ยงๆ บางวัน 10 องศาเซลเซียส และบางวันก็ 20 องศาเซลเซียส

ภาพโดย ยลรดี ธุววงศ์ นักศึกษาไทยในรัสเซีย
ภาพโดย ยลรดี ธุววงศ์ นักศึกษาไทยในรัสเซีย

แต่หากถามถึงสถานการณ์การแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ ในรัสเซีย ณ เวลานี้ ‘ยลรดี’ ยอมรับว่า ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาสถานการณ์ยังคงไม่ดีขึ้น มีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในเมืองที่เธออาศัยอยู่นั้น มีผู้ป่วยติดเชื้อราวๆ 400 ราย

จากตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อ ‘โควิด-19’ ดังกล่าว หากเป็นของจังหวัดในเมืองไทยคงเกิดความตึงเครียดกันทั่วหน้า แตกต่างกับชาวเมืองในดินแดนหนาวเหน็บแห่งนั้น ที่ ‘ยลรดี’ บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ไม่ค่อยตึงเครียดกันสักเท่าไร ยังคงใช้ชีวิตกันแบบชิลๆ และด้วยอากาศที่เริ่มอุ่น ก็ทำให้มีชาวเมืองออกมาเดินเล่นบนถนนกันเยอะพอสมควร ส่วนใหญ่ดูไม่ค่อยกังวลนัก เพราะมองว่าจุดสาหัสที่สุด คือ ‘มอสโก’ ซึ่งค่อนข้างห่างไกล

ถ้าย้อนกลับไปดูตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อ ‘โควิด-19’ ของรัสเซีย เห็นได้ว่า ในช่วงกลางเดือนเมษายนเป็นต้นมา มีตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นเฉลี่ยอยู่ที่ 4,000-6,000 รายต่อวัน ทำให้สะสมรวมทะลุแสนรายในวันสิ้นเดือน 30 เมษายนพอดิบพอดี

...

ทำไมตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ของรัสเซียถึงเพิ่มขึ้นรวดเร็วขนาดนั้น?

เหตุผลที่ "รัฐบาลรัสเซีย" ให้คำตอบกับชาวเมืองคืออะไร?

‘ยลรดี’ บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่าเป็นเพราะทางการรัสเซียมีการไล่ติดตามตรวจบุคคลที่เกี่ยวข้องหรือมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับผู้ป่วยติดเชื้อ ‘โควิด-19’ รายก่อนหน้านั่นเอง ที่สำคัญจากข้อมูลรายละเอียดผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ พบว่า หลายคนถูกตรวจพบตั้งแต่ยังไม่มีอาการ

ซึ่งจากมาตรการเชิงรุกของทางการรัสเซีย ทำให้ชาวเมืองหลายๆ คน รวมถึง ‘ยลรดี’ เองยังคงมั่นใจว่าจะสามารถรับมือการแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ นี้ได้

"ที่เห็นตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 เยอะ เป็นเพราะทางการรัสเซียกว้านตรวจเยอะมาก ถ้านับจำนวนการตรวจหาผู้ติดเชื้อทั้งหมด ณ เวลานี้ รัสเซียอยู่อันดับ 2 ของโลก แล้วทางการรัสเซียเองก็พยายามบอกว่า สาเหตุที่ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อเยอะ นั่นเพราะว่าตรวจผู้ที่เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยติดเชื้อทั้งหมด ซึ่งส่วนหนึ่งเจอตั้งแต่ยังไม่มีอาการ ที่น่าเป็นห่วงอาจมีแค่ที่มอสโกแห่งเดียว ที่อาจจะมีอุปกรณ์การแพทย์รองรับไม่พอ"

...

โดยรวมแล้ว ‘ยลรดี’ ถือว่าไม่น่าห่วง เพราะที่ผ่านมาทางการรัสเซียก็ดูรับมือจริงจังประมาณหนึ่ง

ซึ่งที่นอกเหนือจากมาตรการเชิงรุกที่ทางการรัสเซียลุยอย่างเต็มที่แล้ว อีกหนึ่งมาตรการอย่างการ ‘ปิดเมือง’ (Lockdown) ก็ถือเป็นสิ่งสำคัญในการสกัดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส ‘โควิด-19’ และแน่นอน เมื่อมีการปิดเมืองก็ย่อมกระทบต่อการใช้ชีวิตของชาวเมือง การใช้ชีวิตที่ต้องมีการเปลี่ยนแปลง หลายๆ อย่างอาจทำได้ยากขึ้น การไปใช้ชีวิตอยู่ในดินแดนอันหนาวเหน็บ ‘ไซบีเรีย’ ของ ‘ยลรดี’ ก็คงไม่เหมือนเดิม

ชีวิตที่นั่นเป็นอย่างไร?

ชาวเมืองมีการต่อต้านเหมือนอย่างประเทศอื่นๆ หรือไม่?

‘ยลรดี’ บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า เท่าที่เห็นยังไม่มีการต่อต้านอะไรจริงจัง เพราะแม้จะมีมาตรการล็อกดาวน์แต่ก็ไม่ได้เข้มข้นขนาดนั้น และโดยส่วนใหญ่ ชาวเมืองก็พอเข้าใจถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้น แต่อาจจะมีบ่นๆ ว่าเบื่อบ้าง หรืออยากให้จบไวๆ บ้าง

ภาพโดย ยลรดี ธุววงศ์ นักศึกษาไทยในรัสเซีย
ภาพโดย ยลรดี ธุววงศ์ นักศึกษาไทยในรัสเซีย

...

โดยส่วนตัว ‘ยลรดี’ แล้ว เธอยอมรับว่า ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากมาตรการล็อกดาวน์เท่าไรนัก เพราะปกติก็ไม่ค่อยได้ออกไปไหน แต่การใช้ชีวิตหลายๆ อย่างก็ต้องมีการปรับเปลี่ยนไป เช่น การเรียนเทอมสุดท้ายของการใช้ชีวิตในไซบีเรียก็ต้องเปลี่ยนมาเป็นเรียนแบบออนไลน์ หรือการออกไปซื้อของข้างนอกก็น้อยลง จากปกติที่มักจะนั่งรถออกไปซื้อของในห้างสรรพสินค้ากลางเมืองก็เปลี่ยนมาซื้อของแถวที่พักแทน

แม้ว่ามาตรการล็อกดาวน์ของรัสเซียจะมีการประกาศใช้ทั่วประเทศ แต่ในบางเมืองก็มีการผ่อนปรนบ้าง ไม่ได้บังคับเข้มงวดจริงจัง เช่น ดินแดนอันหนาวเหน็บ ‘ไซบีเรีย’ เมืองที่ ‘ยลรดี’ อยู่ เธอบอกว่าที่นี่จะเป็นเชิงการรณรงค์มากกว่า โดยนายกเทศมนตรีประกาศให้ทุกคนสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้งที่ใช้ขนส่งสาธารณะ แต่ที่มีผลกระทบโดยตรงคือ โรงเรียน หรือหน่วยงานราชการต่างๆ

ภาพโดย ยลรดี ธุววงศ์ นักศึกษาไทยในรัสเซีย
ภาพโดย ยลรดี ธุววงศ์ นักศึกษาไทยในรัสเซีย

แตกต่างกับทาง ‘มอสโก’ ที่การแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ รุนแรง ทางการรัสเซียจะมีการใช้มาตรการล็อกดาวน์อย่างจริงจังและเข้มงวดมากเป็นพิเศษ

"การเดินทางข้ามเมืองยังคงทำได้ แต่รถโดยสารจะมีน้อยกว่าปกติ ซึ่งหากใครจะเดินทางด้วยรถโดยสารสาธารณะต้องสวมหน้ากากอนามัยหรือหน้ากากผ้าทุกครั้ง รัสเซียจะมีการเข้มงวดมากๆ ในเขตที่มีการแพร่ระบาดหนักๆ เช่น ‘มอสโก’ ที่หากจะออกจากบ้านต้องทำหนังสือขออนุญาตก่อน แต่บางเมืองไม่มีมาตรการนี้"

ในส่วนของร้านรวงหรือร้านอาหารต่างๆ ด้วยความเป็นดินแดนอันหนาวเหน็บที่ ‘ไซบีเรีย’ จึงไม่ค่อยมีร้านอาหารแบบนั่งกินสักเท่าไร และร้านขายของก็ยังคงเปิดเป็นปกติ แต่มีการนำมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม หรือ Social Distancing มาใช้ เช่น การขีดเส้นให้ยืนห่างกัน และเริ่มมีการนำขวดแอลกอฮอล์เจลมาตั้งให้ลูกค้าล้างมือก่อนเข้า-ออก

"ปกติถ้าไม่มี โควิด-19 แพร่ระบาด หากเป็นช่วงหน้าหนาวก็ไม่ค่อยมีคนออกมาเดินเล่นกันอยู่แล้ว แต่ถ้าอากาศเริ่มอุ่น คือ อุณหภูมิมากกว่า 0 องศาเซลเซียส หรือประมาณช่วงเดือนเมษายนเป็นต้นไป ก็จะเริ่มมีการออกมาเดินเล่นกันเยอะ"

ก่อนปิดท้ายการสนทนากับ ‘ยลรดี’ ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ จึงถามถึงแพลนที่จะกลับเมืองไทย หลังมีนักศึกษาที่อยู่ต่างประเทศทยอยกลับกันมากพอสมควร เธอบอกว่า ตามกำหนดเดิมจะกลับช่วงต้นเดือนกรกฎาคมอยู่แล้ว จึงตัดสินใจรอดูสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ก่อน แม้ว่าจะมีนักศึกษาไทยที่ไม่มั่นใจในสถานการณ์การแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ กลับไปตั้งแต่ช่วงเดือนมีนาคม

ซึ่ง ‘ยลรดี’ คาดว่าตัวเลขในรัสเซียน่าจะคุมได้ แต่ที่ยังไม่มั่นใจคือ เครื่องบินพาณิชย์จะบินได้ไหม หรือไทยจะเปิดให้เข้าโดยไม่ต้องใช้ Fit to Fly หรือไปกักตัวหรือยัง เพราะเมืองที่เธออาศัยอยู่การจะขอใบดังกล่าวต้องจองล่วงหน้า และต้องเจรจากับหมอว่าต้องการใบรับรองอย่างไร เพราะไม่ได้มีระบบแบบนี้มาก่อน

ถึงตอนสุดท้าย อีก 2 เดือนข้างหน้า สถานการณ์การแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ ในรัสเซียและเมืองไทยจะกลับสู่ภาวะปกติได้หรือไม่คงต้องติดตามอย่างใกล้ชิด รวมถึงการให้ความร่วมมือในมาตรการต่างๆ ของทางภาครัฐ เพื่อให้กลับมาใช้ชีวิตแบบปกติได้โดยเร็ว.