ตอนนี้โควิด-19 ระบาดไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 3 ล้านคน และไม่รู้ว่าจะจบลงเมื่อไหร่..

หากมองย้อนกลับไปในอดีต ยังมีโรคระบาดอีกหลายๆ โรคที่ฆ่าคนไปมากมาย.. 

3 นาทีคดีดัง โดยทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ วันนี้ จะขอเล่าย้อนโรคร้ายที่กัดกินชีวิตมนุษย์ ที่มีชื่อว่า "กาฬโรค" หรือฉายา  “Black Death” 

ว่ากันว่า กาฬโรค มีการระบาดถึง 3 ระลอก ตั้งแต่สมัยคริสต์ศตวรรษที่ 6 เริ่มระบาดที่ประเทศอียิปต์ สู่ทวีปยุโรป มีคนตายวันละนับหมื่นคน

การระบาดครั้งที่ 2 ในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 เริ่มต้นที่ตอนใต้ของอินเดียและจีน ประมาณ ปีพุทธศักราช 1878 (ค.ศ.1335)

โรคระบาดเริ่มแพร่กระจาย และไปถึงยุโรป โดยมาจาก “เรือสินค้า”

จากบันทึกเก่าแก่โลกตะวันตกอ้างว่า เรือบรรทุกสินค้าที่กลับจากทะเลดำ ได้เข้าเทียบท่าที่เมืองเมสซีนา ประเทศอิตาลี ที่ใต้ท้องเรือนอกจากจะเต็มไปด้วยสินค้าแล้ว ยังมี “หนู” นับร้อยตัวเดินทางมาด้วย

ชาวยุโรปจึงขนานนามเรือบรรทุกสินค้าเหล่านั้นว่า “Black Death” หรือ “กาฬมรณะ”

ดังนั้น ในยุคที่กาฬโรคระบาด สิ่งที่ชาวอิตาลีทำคือ เมื่อเรือสินค้ามาถึงท่าแล้ว “คนเรือ” จะถูกกักตัวเอาไว้ ห้ามขึ้นฝั่งจนกว่าจะครบ 40 วัน ซึ่งตัวเลข “40” ภาษาอิตาลี เรียกว่า Quaranta จากรากศัพท์ดังกล่าว ถูกแปลเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษว่า “Quarantine” ที่แปลว่า “การกักกัน”

...

กลับมาดินแดนสยาม “กาฬโรค” เริ่มระบาดในระลอกที่ 3 ในช่วงสมัยรัชกาลที่ 5 บันทึกราชกิจจานุเบกษา ลงวันที่ 7 เมษายน รัตนโกสินทร์ ศก 117 ระบุไว้ตอนหนึ่งว่า

บัดนี้ไข้กาฬโรคอันเป็นโรคติดต่อได้เกิดขึ้นแล้วในเมืองฮ่องกง จึงมีพระราชประสงค์ที่จะจัดการป้องกันไม่ให้โรคเช่นนั้นแพร่หลายลามมาถึงพระราชอาณาจักรนี้ได้

จึงได้ออกมาตรการป้องกัน สรุปว่า ให้ “เกาะไผ่” เป็นด่านป้องกันโรคภยันตราย และเป็นที่ทำการตรวจโรค ให้เรือทุกลำ จากเมืองฮ่องกง และประเทศจีน ต้องจอดที่เกาะไผ่ และต้องรออยู่พักจนกว่าจะครบ 9 วัน ถึงจะได้รับใบอนุญาตของด่านป้องกันโรค

ห้ามไม่ให้คนบนเรือไปมาหาสู่ติดต่อกัน ยกเว้นแพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์

 

แพทย์และเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์มีสิทธิ์ตรวจเรือทุกลำ นายเรือและลูกเรือ ต้องตอบคำถามเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ หากมีอาการป่วยต้องแจ้งให้ทราบ

ห้ามเจ้าหน้าที่ศุลกากรที่อยู่เกาะสีชัง หรือเมืองสมุทรปราการ อนุญาตให้เรือลำใดลำหนึ่งจากฮ่องกง และจากเมืองใดๆ ในประเทศจีนเข้า ยกเว้นแสดงใบอนุญาตการตรวจโรคที่เกาะไผ่

หากผู้ใดละเมิดหรือทำการช่วยเหลือให้กระทำผิด จะถูกปรับเงิน 2,000 บาท หรือจำขังไม่เกิน 6 เดือน หรือรับโทษทั้งสองสถาน

มาตรการทั้งหมดที่เกิดขึ้น ก็คือ state Quarantine ที่เราเริ่มใช้มานับร้อยปีแล้ว

นายแพทย์ เอช แคมเบล ไฮเอ็ด เจ้ากรมแพทย์สุขาภิบาล ( Principal Medical officer of Bangkok City) ในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้รายงานการเกิดกาฬโรคครั้งแรกในประเทศไทย เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2447 เกิดขึ้นที่บริเวณตึกแดงและตึกขาว เป็นโกดังเก็บสินค้า จังหวัดธนบุรีเป็นที่อยู่ของพ่อค้าชาวอินเดีย แล้วระบาดเข้ามาฝั่งพระนคร จากนั้นกระจายไป ยังจังหวัดต่าง ๆ ที่มีการติดต่อค้าขายกับพระนคร ทางบก ทางเรือ และรถไฟ ไม่มีสถิติจํานวนผู้ป่วยตายที่แน่นอน

...

รายงานปรากฏก่อนปี พ.ศ. 2456 ที่จังหวัดนครปฐมมีคนตาย 300 ศพ ครั้งสุดท้ายเมื่อปี พ.ศ. 2495 มีรายงานผู้ป่วย 2 รายตาย 1 ศพ ที่ตลาดตาคลี จากนั้นไม่มีรายงานกาฬโรคเกิดขึ้นจวบจนถึงปัจจุบัน

กาฬโรค เกิดจากเชื้อแบคทีเรียแกรมลบรูปแท่ง ชื่อ Yersinia pestis (เยอร์ซิเนีย เปสติส) รังโรค คือ สัตว์ประเภทฟันแทะ เช่น หนู กระรอก โดยจะติดเชื้อหากถูกหนูกัด หรือหมัดหนูกัด เชื้อโรคจะเข้าทางบาดแผล

นอกจากนี้ ยังติดต่อจากคนสู่คน โดยการหายใจเอาละอองเสมหะ ของผู้ป่วยกาฬโรคปอดเข้าไป โดยมีระยะฟักตัว 2-8 วัน

...

กาฬโรค แบ่งเป็น 3 ประเภท คือ

1. กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง จะมีอาการไข้สูง หนาวสั่น เจ็บคอ ปวดศีรษะ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณขาหนีบ หรือ รักแร้โต มีหนอง หรือม้ามโต

2. กาฬโรคชนิดโลหิตเป็นพิษ มีอาการของโลหิตเป็นพิษ ไข้สูง ปวดศีรษะ อาเจียน คอหอยและทอนซิลอักเสบ อาจมีเยื่อหุ้มสมองอักเสบ และจ้ำเลือดตามผิวหนัง

3. กาฬโรคปอด มีอาการไข้สูง หนาวสั่น ไอ มีเสมหะปนเลือด หอบ เมื่อถ่ายภาพเอกซเรย์ที่ปอดจะพบลักษณะของปอดอักเสบ

ปัจจุบัน “กาฬโรค” ได้สิ้นสูญไปจากประเทศไทย ราว 70 ปี แล้ว แต่ในระดับโลก ยังพบการระบาดที่จีน และมาดากัสการ์ เมื่อปี 2562

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

ชม 3 นาทีคดีดังที่น่าสนใจ