ผู้ป่วยโควิด-19 วัย 60 หัวใจแกร่ง ติดเชื้อจากสนามมวยเดียวกับแมทธิว ดีน ทนทรมานนานเกือบเดือนจนรอดปาฏิหาริย์ ลูกสาวเผยข้อดีโควิด-19 หลังพ่อหายป่วย เรื่องเล่าจากหมอปอด เตือนคนไทยอย่าประมาท หลังรัฐบาลผ่อนปรนล็อกดาวน์ ตั้งแต่ 3 พ.ค. 63

ประสบการณ์รักษาผู้ป่วยปอดติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ 'โควิด-19' จนหายรายนี้ นพ.วินัย โบเวจา อายุรแพทย์ คลินิกอายุรกรรมโรคระบบทางเดินหายใจและภาวะวิกฤติทางเดินหายใจ ผู้ดูแลเพจ หมอโรคปอด และทางเดินหายใจ: หมอวินัย และเป็นหนึ่งในทีมแพทย์ที่ประกอบด้วย แพทย์ติดเชื้อ ทีมเจ้าหน้าที่พยาบาลที่รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ขอแชร์เรื่องราวกับ "ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์" เตือนคนไทยถึงความทุกข์ทรมานจากการป่วยโควิด-19 ที่อาจเกิดขึ้นได้ หากคนไทยประมาท หลังจากที่รัฐบาลเริ่มผ่อนปรนล็อกดาวน์แล้วตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา

ไทม์ไลน์โควิดคุกคาม จากร่างกายปกติ แค่ 2 วันลุกลามปอด

การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 รายนี้ ตามจรรยาบรรณของแพทย์ไม่สามารถเปิดเผยชื่อผู้ป่วยได้ สำหรับสาเหตุที่ลุงวัย 60 ปีติดโควิด-19 นพ.วินัย ให้ข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ลุงเป็นคนไม่สูบบุหรี่ ไม่มีโรคประจำตัว แต่หลัง แมทธิว ดีน ออกมาประกาศว่าคิดโควิด-19 จึงมาเข้ารับการตรวจ เพราะลุงไปสนามมวยในวันเดียวกันกับแมทธิว ดีน แต่อยู่แถวหลัง

...

ผลการตรวจจากห้องแล็บยืนยันว่า ลุงติดเชื้อCovid-19 ต้องรักษาตัวใน โรงพยาบาลทันที นพ.วินัย กล่าวถึงอาการของลุงวัย 60 ปีที่ป่วยโควิด-19 ว่า ใน 7 วันแรก ไม่มีอาการใด ลุงสบายดีมาก ผลตรวจร่างกายปกติดี และให้การรักษาตามมาตรฐานยาที่ควรได้ในทุกวัน ต่อมาในวันที่ 8 ลุงสบายดีเหมือนเดิมทุกอย่าง ไม่มีไข้ แต่ผลตรวจเอกซเรย์ปอดพบว่าบริเวณปอดขวาล่างมีฝ้าเล็กๆ จึงเพิ่มยารักษาปอดติดเชื้อจาก COVID-19

หลังเชื้อโควิด-19 เริ่มบุกเข้าปอด แต่ลุงวัย 60 กลับไม่รู้สึกกังวลอะไร และในใจไม่เชื่อด้วยซ้ำ เพราะลุงเห็นสุขภาพของตัวเองปกติดีมากว่า 7 วันแล้ว อีกทั้งลุงยังพูดไปหัวเราะไปกับ นพ.วินัย “จริงหรือหมอ ปอดผมมีฝ้าด้วยเหรอ แต่ผมปกติดีเลยครับ”

กระทั่งเข้าสู่วันที่ 10 ในตอนเช้ามืด ขณะที่ลุงลุกเดินเข้าห้องน้ำ เริ่มสังเกตว่าเหนื่อยมากขึ้นผิดปกติ จึงรีบแจ้งพยาบาลและแพทย์ ตรวจพบค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในปอดลดต่ำลงเหลือ 92% ผลเอกซเรย์ปอดพบฝ้าขาวกระจายทั่วปอดทั้งสองข้าง ซึ่ง นพ.วินัยบอกเป็นการกระจายที่รวดเร็วมาก ลุงถูกนำตัวเข้ารักษาในห้องความดันลบ หรือ ห้องคลีนรูมแบบ Negative Pressure ซึ่งเป็นห้องพักสำหรับผู้ป่วยแบบแยกเดี่ยวทันที ในวันรุ่งขึ้นเอกซเรย์อีกครั้งพบปอดติดเชื้อและปอดอักเสบกระจายมากขึ้นเกือบทั้งหมดของปอดสองข้าง

ลุ้นระทึกวันต่อวัน 3 ปัจจัยสำคัญ หายป่วยโควิด 

นับตั้งแต่ลุงเข้ารับการรักษาใน “ห้องความดันลบ” นพ.วินัย เปิดเผยว่า ในแต่ละวันไม่มีความมั่นใจว่าลุงจะผ่านไปได้แค่ไหน ต้องลุ้นอาการและสู้ไปด้วยกันวันต่อวัน โดยแก้ปัญหาตามคาดการณ์ แต่ลุงมีหัวใจที่แข็งแกร่ง ต่อสู้และอดทนอย่างมากกับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย และสารโปรตีนไซโตไคน์ (cytokine) ที่ร่างกายสร้างขึ้นมาเป็นจำนวนมาก เพื่อช่วยให้เซลล์ภูมิคุ้มกันร่างกายของลุงเข้าไปต่อต้าน ต่อสู้เพื่อจะทำลายเชื้อไวรัสโควิด-19

การจะเอาชนะไวรัสโควิด-19 นั้น ร่างกายของลุงจะต้องทรมานกับการปวดเมื่อยทั่วร่างกาย หรือภาวะอักเสบรุนแรงในร่างกายจากภาวะที่เรียกว่า พายุไซโตไคน์ (cytokines storm) ที่สร้างสารโปรตีนไซโตไคน์มามากเกินไป

...

การรักษาเพื่อให้ลุงหายป่วยโควิด-19 ในทุกๆ วัน นพ.วินัย และลูกสาวของลุงต่างช่วยกันสวดมนต์ภาวนาให้ผ่านไปได้ด้วยดี ขอให้สภาพร่างกายของลุงอดทนต่อภาวะอักเสบรุนแรงในร่างกาย (cytokines storm) เพราะถึงแม้ทีมแพทย์จะให้ยาอย่างสุดความสามารถ แต่สุดท้ายแล้วการที่ลุงจะหายป่วยโควิด-19 ได้ขึ้นอยู่กับภาวะร่างกายด้วยว่าจะสามารถทนความทรมานและผ่านภาวะวิกฤตินี้ไปได้มากน้อยแค่ไหน เนื่องด้วยการจะหายป่วยโควิด-19 ขึ้นอยู่กับ 3 ปัจจัย คือ ยารักษา ปริมาณเชื้อโควิด และภูมิต้านทานของผู้ป่วย

“ผมเองก็ไม่มั่นใจว่าคุณลุงจะผ่านไปได้แค่ไหน แต่เราสู้กันวันต่อวัน แก้ปัญหาตามที่คาดการณ์ ลูกสาวลุงมักจะถามทุกวันว่าคุณพ่อเป็นอย่างไรบ้าง ดีขึ้นไหม ผมตอบได้แค่เพียงว่า วันนี้ดูดีขึ้นกว่าเมื่อวาน ต้องลุ้นกันต่อ”

ปาฏิหาริย์พ่อหายป่วย มุมมองลูกสาว แจงข้อดีโควิด  

เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้ป่วยโควิด-19 ผู้สูงอายุมีความเสี่ยงสูง โอกาสรอดชีวิตนั้นริบหรี่ แต่สำหรับลุงวัย 60 ปีรายนี้ นับว่าปาฏิหาริย์ หลังถูกรักษาตัวในห้องความดันลบนาน 12 วัน ในที่สุดลุงก็ผ่านระยะวิกฤติได้สำเร็จ และถูกย้ายจากห้องความดันลบไปพักที่หอผู้ป่วย ในระหว่างที่ลุงพักฟื้นก็ค่อยๆ ลุกขึ้นสู้จนกระทั่งสามารถกินและเดินได้ กลับมาหัวเราะได้เหมือนเดิม ในที่สุดแพทย์เจ้าของไข้จึงตัดสินใจให้กลับบ้าน

...

ในวันที่ลุงจะกลับบ้าน ลูกสาวของลุงเปิดใจกับ นพ.วินัย กว่า 1 ชั่วโมงว่า เธอรู้สึกโชคดีที่ครอบครัว ผ่านวิกฤติ COVID-19 ได้ และ COVID ได้เข้ามาช่วยปรับสมดุลชีวิต เกิดเรื่องราวดีๆ มากมาย ได้ครอบครัวใหม่กลับมา พ่อแม่รักกันมากขึ้น พี่น้องเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น

 นพ.วินัย โบเวจา
นพ.วินัย โบเวจา

นอกจากนี้เธอยังชื่นชมในความอดทนของพ่อมาก เพราะหลังถูกย้ายไปรักษาในห้องความดันลบ ได้ FaceTime คุยกันทุก 2 ชั่วโมงเพื่อให้กำลังใจ เธอเล่าว่าพ่อบอกปวดเมื่อยตัวมากๆ และรู้สึกถึงความตายที่ใกล้ตัวมากๆ แต่พ่อบอกจะอดทนอีก 2 วัน ถ้าหลังจากนี้อดทนไม่ไหวก็จะขอไปแล้ว พ่อเป็นคนรักลูกน้องทั้งๆ ที่ป่วยจนทนจะไม่ไหว แต่พ่อก็มีความห่วงใย ฝากเธอบอกแม่ว่าห้ามปิดโรงงาน ยังมีลูกน้องที่ต้องดูแลอีกหลายคน

เตือนไทยอย่าประมาท วัคซีน ภูมิต้านทานสยบ Covid-19 

...

เธอบอกความรู้สึกกับ นพ.วินัย ต่อด้วยน้ำเสียงสั่นเครืออีกว่า ปกติพ่อของเธอเป็นคนมีความอดทนสูงมาก ตอนพ่อพูดแบบนั้นเธอรู้เลยว่าพ่อคงจะไม่ไหวจริงๆ ทำให้เธอได้คิดว่าขนาดพ่อซึ่งร่างกายแข็งแรง ไม่มีโรคประจำตัว ยังเคยหมดความอดทน และป่วยหนักขนาดนี้ แล้วหากผู้สูงอายุคนอื่นที่มีโรคประจำตัว คงทรมานกว่าพ่ออีกหลายเท่า การมาอยู่ในห้องความดันลบต้องทุกข์ทรมานกายจากการป่วยแล้ว ยังต้องทรมานใจที่ไม่ได้เจอญาติพี่น้อง เป็นความทรมานยิ่งกว่าติดคุกเสียอีก

นั่นคือความรู้สึกลูกสาวของลุงวัย 60 ซึ่งหายป่วยจากโควิดหลังรักษาตัวในโรงพยาบาลเกือบหนึ่งเดือน นพ.วินัย กล่าวทิ้งท้ายว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีเหมือนลุงวัย 60 ปีรายนี้ และหลังรัฐบาลเริ่มๆ ผ่อนปรนมาตรการตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค. ที่ผ่านมา อยากให้คนไทยตั้งใจ ใส่ใจและอย่าประมาท เพราะไม่เช่นนั้นประเทศไทยอาจจะต้องเจอกับคลื่นลูกที่สอง (second wave ) เหมือนเช่นประเทศญี่ปุ่น

“ถ้าทุกคนช่วยกัน ไม่ประมาท ผมเชื่อว่าเราจะผ่านไปได้จนถึงวันที่มีโอกาสใช้วัคซีน ปีนี้ทั้งปี ต้องสวมหน้ากาก ใช้มืออย่างระมัดระวัง ยืนห่างจากคนไม่รู้จัก 1-2 เมตร เพื่อไม่ให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อกลับมาใหม่ Covid 19 จะจบต่อเมื่อมีวัคซีนที่ฉีดเพียงพอ หรือไม่เราทุกคนส่วนใหญ่เริ่มมีภูมิต้านทาน

ข่าวน่าสนใจ