ถอดบทเรียน “ไต้หวัน” 4 รหัสความสำเร็จที่เหลือเชื่อ สยบโควิด-19 ทั้งที่ไม่มีมาตรการ Lockdown ปิดเมือง เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนจำนวนมาก
ภายใต้พื้นที่ 36,188 ตารางกิโลเมตร จำนวนประชากร 23.3 ล้านคน แต่เพราะเหตุใดไต้หวันจึงสามารถหยุดยั้งหายนะการแพร่ระบาดโรค Covid-19 เอาไว้ได้ที่ตัวเลขมีผู้ติดเชื้อทั้งสิ้น 390 คน และเสียชีวิต 9 ศพ
และปัจจุบัน ไต้หวัน ไม่มีรายงานการพบผู้ติดเชื้อเพิ่มเติมอีก ทั้งๆ ที่ไม่มีมาตรการใดๆ เลย ที่มีความคล้ายคลึงกับมาตรการ Lockdown ปิดเมือง เพื่อหยุดยั้งการเคลื่อนไหวของกลุ่มคนจำนวนมาก ที่หลายๆ ประเทศนำมาใช้ แต่มิอาจหยุดยั้งให้จำนวนผู้ติดเชื้อ หรือทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตลดลงได้ภายในระยะเวลาอันสั้น
ในขณะที่...ไต้หวัน กำชับผู้คนเพียงให้เน้นเรื่อง Social distancing หรือ เว้นระยะห่างทางสังคม ที่อยู่ห่างกันเกิน 1.5 เมตร ในกรณีที่ต้องอยู่ด้วยกันภายในบ้าน และอยู่ห่างกันเกิน 1 เมตร ในเวลาที่ออกไปยังสถานที่สาธารณะ และต้องสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง
...
ไม่ต้องถึงขั้น Lockdown ปิดบ้าน ปิดเมือง ปิดประเทศ ปิดร้านรวง ปิดสถานศึกษา ปิดสถานบันเทิง จนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจในวงกว้าง
แต่แน่นอน Social distancing หาใช่เพียงปัจจัยเดียวที่ทำให้ ไต้หวัน สามารถสยบ Covid-19 ได้ อะไรคือองค์ประกอบอื่นๆ ที่นำมาใช้ควบคู่กันจนกระทั่งประสบความสำเร็จ
วันนี้ เราจะลองไปพิเคราะห์ความสำเร็จอันน่าเหลือเชื่อนี้กัน ว่าพวกเขาทำได้อย่างไร?
บทเรียนที่ 1 การเตรียมความพร้อม
หลังจากไต้หวันต้องเผชิญหน้ากับหายนะการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ของโรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรงที่ไม่ทราบสาเหตุ หรือ SARS ที่คร่าชีวิตผู้คนไปมากมายถึง 181 ศพ เมื่อปี 2003
ไต้หวัน มิได้เพียงทำให้หายนะภัยครั้งนั้นเป็นเพียงฝุ่นที่หายไปในอากาศ หากแต่พวกเขาสะกดคำว่า “ต้องเรียนรู้” เพื่อหาทางป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นได้อีก
และแทบจะในฉับพลันทันใด หลังวิกฤติผ่านพ้น ไต้หวัน จัดตั้งศูนย์อำนวยกลางการควบคุมโรคระบาดขึ้น เพื่อรวบรวมทุกสรรพกำลัง เพื่อรับมือกับการแพร่ระบาดโรคที่จะเกิดขึ้นบนเกาะเล็กๆ แห่งนี้ ด้วยเหตุนี้จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า เมื่อเริ่มมีเค้าลางของการแพร่ระบาด ศูนย์บัญชาการควบคุมโรคแห่งนี้ จึงเริ่มต้นการทำงานเพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือได้ตั้งแต่ก่อนที่จะมีรายงานยืนยันว่ามีผู้ติดเชื้อคนแรกบนเกาะไต้หวัน ในวันที่ 20 มกราคม เสียอีก
ด้วยเหตุนี้จึงมีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อบังคับใช้กับประชาชน รวมกันมากกว่า 120 Action ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 สัปดาห์ โดย “ไม่มีความจำเป็น” ต้องรอคอย กระบวนการอันแสนยุ่งยากชักช้าของฝ่ายการเมืองด้วย
อ่อ....และเผื่อใครยังไม่ทราบ ไต้หวัน เริ่มต้นการกักตุนชุดตรวจโรค Covid-19 อย่างขนานใหญ่ ก่อนที่จะมี ผู้เสียชีวิตคนแรกบนเกาะเสียด้วยซ้ำไป!
เห็นภาพกันแล้วใช่ไหม? “การเตรียมพร้อม” สำคัญอย่างไร?
บทเรียนที่ 2 เร็ว เร็วขึ้น และเร็วมากขึ้นไปอีก
และด้วย “การเตรียมพร้อม” นี้เอง ไต้หวัน จึงเริ่มออก Action ทั้งเรื่องการประกาศแจ้งเตือน และเดินหน้า สแกน “วัดไข้” และตรวจหาผู้มีปัญหาเรื่องระบบทางเดินหายใจ กับบรรดาผู้โดยสารจากสายการบินที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น ได้ก่อนที่จะมีการยืนยันการพบผู้ติดเชื้อรายแรกที่ไต้หวัน ในวันที่ 21 มกราคม หรือก่อนที่ รัฐบาลจีนจะแจ้งรายงานยืนยันการติดเชื้อ Covid-19 คนแรกต่อองค์การอนามัยโลก หรือ WHO เสียอีก!
...
และ....เมื่อสามารถยืนยันผู้ติดเชื้อรายแรกในไต้หวันได้แล้ว ภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งสัปดาห์ต่อมา ไต้หวัน สามารถเริ่มอัปเดตจำนวนผู้ติดเชื้อรายวัน เพื่อแจ้งต่อสาธารณชนผ่านระบบเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งมีการประกาศควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยว และการเดินทางในรูปแบบต่างๆ เพื่อเข้าไปยังเกาะเล็กๆ แห่งนี้ได้ทันที ซึ่งแน่นอนว่ามาตรการการควบคุมนี้เล็งเป้าไปที่ผู้คนที่เดินทางมาจากเมืองอู่ฮั่น และจากมณฑลหูเป่ย เป็นกรณีพิเศษ
และนับจากวันนั้นเป็นต้นมา จนกระทั่งสิ้นสุดเดือนกุมภาพันธ์ ทางการไต้หวันยังผลิตมาตรการใหม่ๆ ออกมาเรื่อยๆ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดตลอดเวลา
และหากใครยังไม่รู้? ไต้หวัน มีจำนวนผู้ติดเชื้อสะสม 329 คน ณ วันที่มีการประกาศใช้มาตรการ Social distancing ในวันที่ 1 เมษายน ซึ่งแตกต่างอย่างเห็นได้ชัดกับสถานการณ์ใน สหราชอาณาจักร ที่การประกาศใช้ Lockdown ที่ส่งผลให้มีการปิดผับ บาร์ ร้านอาหาร และโรงเรียน ณ วันที่ 20 มีนาคม ที่กลับมี จำนวนผู้ติดเชื้อสะสมสูงถึง 3,000 คน และเสียชีวิตสะสมมากมายถึง 335 ศพ
...
บทเรียนที่ 3 ตรวจสอบ ติดตาม และกักกัน
ไต้หวัน ไม่ได้หยุดการดำเนินมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาดเพียงการวัดไข้ และคัดกรองกลุ่มเสี่ยงเท่านั้น สิ่งที่ทำต่อในลำดับต่อไป คือ มาตรการเชิงรุก ด้วยการตรวจสอบและติดตามกลุ่มคนที่เคยติดเชื้อ ที่แม้หายดี และผ่านการกักตัวมาแล้วก็ตามด้วย
เอากันชนิดที่เรียกว่า “ไม่ว่าใครก็ตาม” ที่ก้าวเท้าลงจากเรือ เพื่อเดินทางเข้า ไต้หวัน ที่ถึงแม้จะเคยผ่านการตรวจมาแล้วก่อนหน้านี้ จะต้องถูกตรวจซ้ำทุกคน โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีประวัติป่วยเป็นไข้หวัด หรือป่วยด้วยโรคระบบทางเดินหายใจ เพื่อ Make sure ว่า จะไม่เกิดความผิดพลาดจนทำให้มีเชื้อ Covid-19 สามารถเล็ดลอดเข้าไปยังเกาะเล็กๆ แห่งนี้ได้
บทเรียนที่ 4 Big Data และเทคโนโลยี
ไต้หวัน นำข้อมูลระบบประกันสุขภาพ เชื่อมโยงเข้ากับ Databases ระบบตรวจคนเข้าเมือง เพื่อสร้างการแจ้งเตือนแบบ real-time เพื่อช่วยระบุกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ด้วยเหตุนี้จึงสามารถค้นหา และติดตาม กลุ่ม Clusters ที่อาจจะเป็นตัวการไปสู่การแพร่ระบาดในวงกว้างได้เสียตั้งแต่เนิ่นๆ
...
และหากเพียงเท่านี้ คุณยัง Wow ไม่พอ!
Big Data สยบ Covid-19 ที่ว่านี้ ยังขยายขอบข่ายไปสู่การบังคับใช้ สิ่งที่อาจเรียกได้ว่า “คำสั่งออนไลน์” หลังการประกาศใช้มาตรการควบคุมและจำกัดการเดินทาง ที่จะอยู่ในรูปแบบของทั้ง การรายงานตัว และการเช็กอิน ของผู้คนที่ต้องอยู่ภายใต้มาตรการกักตัวเป็นระยะเวลา 14 วัน ซึ่งกลุ่มคนกลุ่มใหญ่ที่สุดและถูกจับตาใกล้ชิดมากที่สุด ที่มีจำนวนมากถึง 55,000 คน ซึ่งต้องอยู่ภายใต้ “กำแพงรั้วดิจิตอล” กักกันโรคนี้คือ บรรดา “กลุ่มลูกจ้าง” ทั้งหลายนั่นเอง
โดยหากใครที่คิด “อยากลองของ” ออกนอกพื้นที่กักกัน สิ่งที่คุณจะพบ คือ เสียงสัญญาณเตือนจะดังขึ้นจากโทรศัพท์มือถือทันที ที่เดินออกห่างจากบ้านของตัวเอง!
อ่อ และที่ต้องไม่ลืมคือ.....จำนวนเงิน “ค่าปรับ” สำหรับ “ผู้อยากลองของ” ฝ่ากำแพงระบบดิจิตอลอันแข็งแกร่งนี้ มีราคาค่างวดสูง 33,000 เหรียญสหรัฐฯ หรือคิดเป็นเงินบาทไทยแค่ 1,070,389 บาท เท่านั้นเอง!
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ