เปิดใจ "ช่างผม" ร้านอดีตนักร้องดัง จากชื่นชอบซื้อของออนไลน์ ไม่ถนัด “ขายของ” กลายเป็น “พ่อค้าออนไลน์” จำเป็นเพราะพิษโควิด เย็บปักหน้ากากอนามัยผ้าหรูหรา ลิมิเต็ด ขายขนม เบเกอรี่ สู้ชีวิตทั้งที่ไม่มีความชำนาญ สุดซึ้งใจ เจอลูกค้าเซอร์ไพรส์
เป็นเวลา 1 เดือนเต็มแล้วที่ “ร้านทำผม” ทั่วประเทศถูกสั่งปิดชั่วคราว ตามนโยบาย Social Distancing หรือ เว้นระยะห่างทางสังคม เพราะเป็นสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ซึ่งแน่นอนว่า “ช่างผม” ได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะสูญเสียรายได้ประจำเดือนที่เคยได้หลายหมื่น
เมื่อไม่มีรายได้ ไม่มีอาชีพเสริม แต่มีค่าใช้จ่ายต่างๆ ที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าอาหาร ค่าโทรศัพท์ สถานการณ์เช่นนี้หากอยู่เฉยๆ รอรับเงินเยียวยาเดือนละ 5 พันบาทจากรัฐฯ คงอดตาย “การเอาตัวรอด” จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ นายณัฐวุฒิ จันทร์แก้ว หรือ หลง ช่างผมประจำ “สุโข ซาลอน” ร้านผมชื่อดังของ "ต้อม" ไกรวิทย์ พุ่มสุโข อดีตนักร้องชื่อดังของเมืองไทย ในห้าง เดอะสตรีท รัชดาภิเษก กทม. ก็ต้องคิดวิธีหาเงินมาประทังชีวิตเพื่อความอยู่รอดเช่นกัน
...
แอบทำใจ แต่เหวอ หลังร้านตัดผมถูกสั่งปิด สกัดระบาดโควิด
“ช่างหลง” วัย 35 ปี ชาว จ.นครศรีธรรมราช บอกเล่าถึงความลำบากหลังขาดรายได้มาหนึ่งเดือนว่า ก่อนจะประกาศให้ร้านทำผมปิด แอบทำใจไว้บ้าง เพราะก่อนหน้านั้นพี่สาวที่รู้จัก ทำงานรีเซฟชั่นของโรงแรม สปาก็ถูกพักงาน เพราะกิจการถูกสั่งปิดล่วงหน้าแล้ว
ในชีวิต 14 ปีที่เป็นช่างผม นับครั้งได้ที่ขอหยุดงาน เขาเคยลางานเต็มที่ที่สุด 3 วัน เพื่อกลับบ้านที่นครศรีธรรมราช หรือลาป่วยไม่สบาย 1-2 วัน แต่สำหรับการระบาดของโรคโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ไม่เคยคาดคิดว่าจะได้รับผลกระทบรุนแรงหนักเป็นเวลานานเช่นนี้
เดิม “ช่างหลง” มีรายได้ต่อเดือนหลายหมื่นบาทจากเงินเดือนและค่าคอมมิชชั่น แต่เมื่อมีการระบาดของไวรัสโควิด-19 ลูกค้าน้อย รายได้ลดลงเรื่อยมาตั้งแต่เดือน ม.ค. กระทั่งถูกสั่งหยุดงานเดือนปลายเดือน มี.ค.รายได้เป็นศูนย์ แต่ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีที่ "ต้อม" ไกรวิทย์ พุ่มสุโข เจ้าของร้านจิตใจดีและมีเมตตาจ่ายเงินเดือนให้เต็มจำนวน และโทรถามไถ่ความเป็นอยู่ด้วยความห่วงใยทั้งช่างหลงและช่างผมคนอื่นๆ อีก 20 กว่าคน
“พอรู้ว่าร้านถูกสั่งปิด ก็รู้สึกตกใจ เหวอ อึ้งๆ แต่ก็น้อมรับเพื่อให้รัฐบาลจัดการโรคระบาดให้จบ”
5 วิธีปรับตัว โควิดพ่นพิษ ทำตกงาน รายได้เป็นศูนย์
เมื่อ “ร้านทำผม” ต้องถูกปิด “ช่างหลง” ย้อนเล่าความรู้สึกและวิธีปรับตัวเพื่อผ่านวิกฤติชีวิตว่า ความกังวลแรกที่เกิดขึ้นคือค่าใช้จ่ายต่างๆ ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ ค่าเลี้ยงดูแม่ที่เคยจ่ายทุกเดือน 4-5 พันบาท โชคดีที่ไม่มีไม่ต้องจ่ายค่าผ่อนซื้อคอนโด เพราะจ่ายงวดสุดท้ายเมื่อเดือน ธ.ค.
กว่าจะปรับตัวกับวิถีชีวิตใหม่ที่เคยออกจากบ้านทุกวันมาทำงาน กลายเป็นต้องอยู่แต่ในห้อง “ช่างหลง” ใช้เวลา 2-3 วัน หลังปรับตัวได้ สิ่งแรกที่ทำคือ ต้องตั้งหลัก รับฟังแต่ข่าวจากการประกาศของภาครัฐ จากนั้น นิ่ง และ “ตั้งสติ” คิดหาวิธีเอาตัวรอด และมองหาตัวเองว่าจะทำอะไรได้บ้าง เพื่อเป็นช่องทางสร้างรายได้
...
หลังพิจารณาจากสถานการณ์ปัจจุบันว่าสังคมต้องการอะไร และปัจจัย 4 ที่คนยังขาดไม่ได้ ประกอบกับมีทักษะและชอบเย็บปักถักร้อย “ช่างหลง” จึงตัดสินใจทำ “หน้ากากผ้า” ขายผ่านเฟซบุ๊กชื่อ ณัฐวุฒิ จันทร์แก้ว และไอจีที่ชื่อ hlongkung จากที่เป็นคนชื่นชอบซื้อของออนไลน์ ไม่ถนัดการ “ขายของ” ต้องกลายเป็น “พ่อค้าออนไลน์” จำเป็น
“ก่อนทำหน้ากากขายก็หาข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขว่าต้องใช้ผ้าแบบไหนที่ป้องกันโรคได้ดี เช็กเพื่อนๆ ในไอจี เฟซบุ๊ก ว่าอยากได้หน้ากากแบบไหน ผมขายได้กำไรไม่เยอะ ถูไถผ่านไปวันๆ ก็พอมีความสุขแล้ว”
จากช่างตัดผมสู่ช่างเย็บปัก หน้ากากอนามัย หรูหรา ลิมิเต็ด สุดซึ้งใจ เจอลูกค้าเซอร์ไพรส์
ราคาหน้ากากอนามัยฝีมือประณีตของ “ช่างหลง” มีขายตั้งแต่ราคา 35 บาทต่อชิ้น 3 ชิ้น 100 บาท หรือราคาหลักร้อยจนถึง 250 บาทต่อชิ้น ซึ่งราคาสูงจะมีความพิเศษเพิ่ม คือมีการเย็บปักถักร้อยด้วยมืออย่างละเมียด ประณีต ใช้เวลา 4-5 วัน ตามที่ลูกค้าสั่งทำเพื่อความเป็นลิมิเต็ด หนึ่งเดียวในโลก หรูหรา ดูแพง แต่ใช้งานได้จริง
...
มีลูกค้าในหลายจังหวัดสั่งหน้ากากอนามัยฝีมือ “ช่างหลง” ไปใช้ อาทิ เพชรบูรณ์ สมุทรปราการ ยะลา พะเยา ลำปาง ซึ่งในยามประเทศไทยเจอภาวะวิกฤติโควิด คนไทยไม่เคยแล้งน้ำใจ “ช่างหลง” เองก็ได้รับความช่วยเหลืออย่างไม่รู้ตัว เป็นพลังให้สู้ชีวิตต่อไป แม้บางครั้งต้องเสี่ยงว่าหน้ากากที่ทำเสร็จตามออเดอร์อาจได้รับการปฏิเสธ เพราะช่างหลงไม่มีนโยบายให้ลูกค้า “โอนเงิน” เป็นค่ามัดจำก็ตาม
...
“ลูกค้าบางคนรู้ว่าทำงานอะไร และถูกให้หยุดงาน พอทำตามออเดอร์เสร็จ ส่งรูปให้ลูกค้าดู ถามว่าราคาเท่าไร ผมก็บอกไป มีลูกค้าคนหนึ่งโอนจ่ายมาแพงกว่าที่บอกไป ผมเห็นยอดโอน 800 บาทก็ตกใจถามว่าทำไมโอนมาเกิน โอนมาเยอะ ลูกค้าบอกไม่เป็นไรพี่ รู้ว่าพี่ไม่มีงาน ผมช่วย ก็รู้สึกขอบคุณมากๆ ที่ลูกค้าช่วยและเห็นใจกัน”
นับ 1 แต่ไม่ท้อ ขายขนม เบเกอรี่ สู้ชีวิตทั้งที่ไม่มีความชำนาญ
รายได้จากการขายหน้ากากผ้า บางวัน “ช่างหลง” ก็ขายไม่ได้ บางวันขายไม่ได้เงินเลย บางครั้งกว่าจะขายได้ต้องรอ 2-3 วัน ความไม่มีความแน่นอนของรายได้ และการได้หยุดพักยาวนานนี่เอง ทำให้ช่างหลงมีเวลาอยู่กับตัวเองมากขึ้น จึงคิดหาทำสิ่งอื่นขายเพิ่มเพื่อมีรายได้อีกทาง
ทั้งๆ ที่ไม่เคยทำและไม่เคยมีความรู้ด้านการทำขนมมาก่อน แต่ “ช่างหลง” ก็ไม่ท้อและไม่อายที่จะทำกิน เขาตัดสินใจเลือกทำ “ขนมไทย” และ “เบเกอรี่” ขาย โดยเรียนรู้วีธีทำสูตรต่างๆ ในยูทูบ และหัดทำบ่อยๆ แล้วนำไปให้คนรู้จักชิม เมื่อหลายเสียงบอกว่ารสชาติดี จึงโพสต์ขายในเฟซบุ๊กและไอจี จนมีออเดอร์สร้างรายได้เล็กๆ น้อยๆ เป็นวันๆ เพิ่มอีกส่วนหนึ่ง
“นับ 1 ตั้งแต่แป้ง ถ้วยตวง ซึ้งนึ่งขนม ค่อยๆ ซื้อ พอขายขนมได้นิดหน่อยก็ซื้ออุปกรณ์ทำขนมเพิ่มทีละชิ้นสองชิ้นเรื่อยๆ ลองผิดลองถูกมาเยอะ ดูจากยูทูบเยอะมาก”
2 เหตุผลหลัก ไม่กลับบ้านเกิด ทิ้งโอกาสทองได้อยู่กับ "แม่"
เมื่อถูกสั่งให้หยุดงาน การกลับไปอยู่บ้านที่นครศรีธรรมราชชั่วคราวก่อน และกักตัวเอง 14 วัน น่าจะเป็นทางเลือกที่ปลอดภัยจากโรคโควิด-19 ระบาด อีกทั้งมีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดกับแม่ และทางบ้านก็โทรหาอยากให้กลับเพราะรู้สึกเป็นห่วง แต่ช่างหลงตัดสินใจเลือกอยู่ กทม.
2 เหตุผลหลักที่ไม่กลับบ้านเกิด ช่างหลง อธิบายว่า ด้วยทั้งประเทศได้รับผลกระทบและสภาพคล่องก็แย่ทั้งประเทศ หากกลับไปบ้านเกิดก็ไม่รู้จะทำอะไร อีกเหตุผลสำคัญ คือ “ช่างหลง” เป็นกลุ่มเสี่ยง เพราะรับทำผมลูกค้าต่างชาติอยู่บ้าง แม้จะป้องกันตัว แต่หากถ้ามีเชื้อโควิดก็กลัวนำเชื้อไปติดแม่และคนในครอบครัว เขาจึงตัดสินใจ “แยกกันอยู่” คนละจังหวัดดีที่สุด
การยึดอาชีพ “ช่างผม” มา 14 ปี วิกฤติครั้งนี้ “ช่างหลง” บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ไม่เคยหยุดงานนานขนาดนี้มาก่อน คนทำงานร้านทำผม ร้านซาลอน เดือดร้อนกันทุกคน บางคนและตัวเขาเองยังไม่ได้รับการเยียวยาจากภาครัฐ แต่ต้องสู้ต่อไปให้มีเงินพอใช้จ่ายประทังชีวิตไปให้ได้จนกว่าร้านทำผมจะถูกสั่งให้เปิด
“วันไหนไม่มีรายได้ ก็ประหยัดกินสุดๆ กินมาม่า ถ้าวันนี้ขายได้สัก 200 หักต้นทุน หักค่าส่ง เหลือเงินกำไร 100 กว่าบาท ก็จะมีเงินไปซื้อข้าวสาร ปลากระป๋อง ชีวิตเหมือนถูไถรายวัน ปกติส่งให้แม่ทุกเดือน เดือนละ 4-5 พัน ตอนนี้ก็จ่ายค่าโทรศัพท์ให้แม่แทน ไว้โทรคุยติดต่อกัน”
หัวอกช่างตัดผม ทนคิดถึงความสุข ทำได้แค่มองกรรไกร ไดร์เป่าผม
การเกิดวิกฤติชีวิตในครั้งนี้ "ช่างหลง" หาทางออกให้กับตัวเองได้ แต่สำหรับผู้ที่ยังหาช่องทางทำมาหากินไม่เจอ ไม่รู้ว่าตัวเองจะทำอะไรดี ช่างหลงแนะนำว่า ต้องอย่าท้อแท้ เพราะตอนนี้คนทั้งโลกเจอวิกฤตินี้หมด จงอย่ามองปัญหาว่าเป็นอุปสรรค ให้มองว่าจะเรียนรู้อยู่ด้วยกันอย่างไร และตราบใดที่มีสติ มีลมหายใจ สองมือ สองเท้า และมีศักยภาพเพียงพอ ค้นหาความชอบของตัวเองให้ได้ แล้วจะเจอช่องทางทำมาหากิน
1 เดือนเต็มที่ไม่ได้ทำ "ผม" ให้กับลูกค้า ทั้งตัด ซอย ไดร์ เซต ทำสีผม ที่มีประสบการณ์มา 14 ปี เมื่อถามความรู้สึก ช่างหลง ตอบทิ้งท้ายด้วยน้ำเสียงแห่งความหวัง
“คิดถึง อยากทำผมให้ลูกค้า ตอนนี้ทำได้แค่หันไปมอง กรรไกร ไดร์เป่าผม โอย คิดถึงลูกค้า อยากตัดผมบ้าง ในสายอาชีพ ไม่ใช่แค่ตัดผมแล้วจบ แต่มันเป็นความสุขทุกครั้งที่ทำผมให้ลูกค้าแล้ว เขาสวย ดูดี ลูกค้ามีความสุข ช่างผมก็มีความสุข คิดถึงโมเมนต์นั้นมากๆ”.
ข่าวน่าสนใจ