สาวไทยในเยอรมนี ศิษย์เก่าจุฬาฯ เล่ามุม Lockdown โควิดสุดเคร่งครัด พร้อมเปิดใจเจ้าของร้านอาหารไทยติดชายแดนเยอรมนี ฝรั่งเศส เผยแนวคิดและแนะวิธีประหยัดหลังรายได้ลดเกือบครึ่งเพื่อความอยู่รอด
นับตั้งแต่ประเทศเยอรมนีประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์ (Lockdown) ในช่วงกลางเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ไม่ใช่เพียงเมืองใหญ่ๆ เท่านั้นที่ได้รับผลกระทบ "หมู่บ้านวีล" ซึ่งติดชายแดนเขตประเทศฝรั่งเศส บริเวณแถบลุ่มแม่น้ำไรน์ในรัฐบาเดิน-เวือร์ทเทิมแบร์กและผู้คนก็ได้รับผลกระทบไม่ต่างกัน
ชาวไทยและผู้คนในหมู่บ้านวีลแห่งนี้ใช้ชีวิตภายใต้มาตรการรล็อกดาวน์ (Lockdown) ที่มีความเคร่งครัด เข้มงวดมากน้อยเพียงใด น.ส.ณัฏฐนิชา ช่างพินิจ ศิษย์เก่าจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยที่กำลังศึกษาต่อในเมืองนี้กว่า 3 ปี ได้ถ่ายทอดเรื่องราวกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
...
ไม่ "เคอร์ฟิว" แต่ปิดแทบทุกอย่าง ชาวบ้านชีวิตเปลี่ยน
น.ส.ณัฏฐนิชา เล่าบรรยากาศสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ว่า แม้จะไม่มีเคอร์ฟิวกำหนดเวลาห้ามออกจากบ้าน แต่มาตรการ Lock Down ก็ประกาศให้กิจการร้านค้าต่างๆ ต้องปิดตัวลงทั่วประเทศ ร้านค้าที่ยังสามารถเปิดให้บริการได้ปกติมีเพียงร้านค้าที่มีความจำเป็นต่อความเป็นอยู่เท่านั้นเช่น ซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านขายยา หรือไปรษณีย์
สถานศึกษาก็เป็นอีกที่หนึ่งที่ถูกสั่งปิดอย่างยาวนานตั้งแต่ช่วงเทศกาลคาร์นิวัลในเดือนมีนาคม "เมียร์โก้ คนีบูลเลอร์" นักเรียนวัย 17 ปีเล่าว่า เขาปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างเคร่งครัด จากที่เคยออกจากบ้านทุกวันเพื่อเข้าร่วมกิจกรรมชมรมต่างๆ และสังสรรค์กับเพื่อน ปัจจุบันเขาเก็บตัวอยู่กับบ้าน เรียนหนังสือผ่านช่องทางออนไลน์ นาน ๆ ครั้งจึงจะออกไปเดินเล่นหรือไปซื้อของใช้จำเป็นโดยรักษาการเว้นระยะห่าง 1.5-2 เมตรทุกครั้ง เขาไม่เคยไปพบปะเพื่อน นอกจากวิดีโอคอลเป็นบางครั้ง ส่วนงานพิเศษที่เคยสร้างรายได้ให้มากกว่า 200 ยูโรต่อเดือนก็ต้องยกเลิกไปเช่นกัน
แต่สิ่งหนึ่งที่เมียร์โก้เป็นกังวลคือ การเรียนที่ต้องหยุดชะงักลงโดยไม่มีกำหนดที่ชัดเจน อาจส่งผลกระทบต่อการสอบ Abitur ที่เป็นการสอบจบชั้นมัธยมศึกษาในประเทศเยอรมนีของเขาในปีหน้า
นอกจากการปิดร้านค้าและสถานศึกษาแล้ว ยังมีการสั่งปิดพรมแดนระหว่างประเทศเพื่อจำกัดการเดินทางของประชาชน ผู้ที่เดินทางข้ามพรมแดนเพื่อประกอบอาชีพต้องมีใบอนุญาตจึงจะสามารถเดินทางเข้า-ออกระหว่างประเทศเยอรมนีและประเทศฝรั่งเศสได้
ตรวจตราเข้มงวด ใช้ ฮ. บิน หาพิกัด จับกลุ่มออกจากบ้าน
น.ส.ณัฏฐนิชา เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ต่อว่า นอกจากมาตรการปิดให้บริการสถานที่ต่างๆ อีกมาตรการหนึ่งของเยอรมันที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตผู้คนอย่างชัดเจนคือการห้ามให้มีการจับกลุ่มเกินกว่าสองคนในที่สาธารณะ ส่งผลให้โบสถ์ประจำเมือง สวนสาธารณะและลานกิจกรรมซึ่งเป็นแหล่งรวมตัวทำกิจกรรมต่างๆ ทั้งกิจกรรมด้านศาสนา การพบปะของชมรม หรือการออกกำลังกายของชาวบ้านตั้งแต่เด็ก วัยรุ่น ผู้ใหญ่ไปจนถึงคนชราล้วนแต่เงียบเชียบร้างผู้คน ยกเว้นซุปเปอร์มาร์เก็ตที่ยังมีผู้คนเข้ามาจับจ่ายใช้สอยเหมือนปกติ โดยช่วงวันศุกร์ตอนเย็นและวันเสาร์ตอนเช้าจะยังพบคนมาจับจ่ายใช้สอยอย่างคึกคัก
...
เจ้าหน้าที่ตำรวจและทางการของเยอรมนีมีนโยบายการตรวจตราอย่างเข้มงวด ตั้งแต่ช่วงแรกที่ประกาศมาตรการ Lock Down เจ้าหน้าที่จากทางการจะเข้าพบเจ้าของกิจการเพื่อแจกแจงรายละเอียดว่าร้านค้าแต่ละประเภทสามารถดำเนินกิจการแบบใดได้บ้าง สำหรับประชาชนทั่วไปในทุกวันจะมีรถตำรวจและเครื่องบินเฮลิคอปเตอร์ขับวนรอบเมืองเพื่อตรวจตราว่ามีการจับกลุ่มเกินกว่าสองคนในที่สาธารณะหรือไม่
นอกจากนี้ ยังมีเจ้าหน้าที่ตำรวจสุ่มตรวจตามร้านค้าที่ถูกสั่งงดให้บริการและร้านอาหารที่สามารถเปิดให้บริการได้อย่างจำกัด หากพบร้านที่ไม่ปฏิบัติตามกฎ นอกจากจะถูกสั่งปิดร้าน ยังถูกปรับไม่เกินกว่า 25,000 ยูโร ส่วนงานเทศกาลและงานรื่นเริงที่จัดขึ้นประจำปีต่างๆ ถูกสั่งยกเลิกไปทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลอีสเตอร์ในช่วงต้นเดือนเมษายน และเทศกาลเบียร์เดือนตุลาคมที่ผู้คนต่างเฝ้ารออย่างใจจดใจจ่อ
...
ทางรอด ร้านอาหารไทยติดชายแดน กิจการทรุด แนะวิธีประหยัด
สำหรับร้านอาหารในประเทศเยอรมนี น.ส.ณัฏฐนิชา เล่าว่า ทุกร้านถูกสั่งปิด งดให้บริการในร้าน หนทางเดียวที่จะดำเนินกิจการต่อไปได้คือการบริการขายอาหารเดลิเวอรี่และอาหารรับกลับบ้าน หรือ Take Away หลายร้านที่รับมือไม่ได้กับการเปลี่ยนแปลงอย่างกะทันหันจึงต้องปิดตัวชั่วคราวและบางร้านต้องปิดตัวลงอย่างถาวร
ขณะเดียวกัน คุณขวัญ วราภรณ์ ซเตรห์โลว์ เจ้าของกิจการร้านอาหารสุโขทัยในเมืองวีลที่ปัจจุบันยังคงเปิดให้บริการเล่าว่า “ตอนแรกกิจการกำลังไปได้สวย แต่เมื่อมีโควิดทำให้ทุกอย่างต้องหยุดชะงักไปหมด การปิดชายแดนส่งผลต่อกิจการมาก เพราะลูกค้าที่ร้านเกือบครึ่งเป็นลูกค้าจากฝรั่งเศส”
คุณขวัญเปิดเผยว่าร้านอาหารของเธอมีข้อได้เปรียบกว่าร้านอื่นตรงที่เปิดให้บริการอาหารรับกลับบ้านมานานกว่า 5 ปี และค่อนข้างเป็นที่รู้จักในเมืองและเมืองละแวกใกล้เคียงในระยะรัศมี 15 กิโลเมตร เธอมีลูกค้าประจำที่สั่งอาหารกลับบ้านทุกสัปดาห์ จึงไม่จำเป็นต้องโฆษณามากนัก แตกต่างกับร้านอื่นที่ต้องเริ่มต้นใหม่ตั้งแต่แรก
...
“ตอนนี้ต้องพยายามลดรายจ่ายในร้านให้มากที่สุด เศษหมูเศษไก่ที่เคยทิ้งก็ต้องมาแปรรูปทำเป็นไส้กรอกหรือหมูยอ ฟุ่มเฟือยไม่ได้เลย เพราะยอดขายทุกวันนี้แค่เพียงประคับประคองร้านและคนในครอบครัวเท่านั้น เรายังมีพ่อครัวจากไทยอีกสองคนที่ต้องดูแล สถานการณ์อย่างนี้จะเลิกจ้างส่งเขากลับไทยก็ใจร้ายเกินไป”
หัวหน้าเชฟยอมทิ้งตั๋วเครื่องบินกลับไทย เชื่ออยู่เยอรมนียัง "สู้ไหว"
คุณต้น กฤษณะ จันทรบุตร หัวหน้าเชพไทยประจำร้านอาหารสุโขทัยเล่าว่า เขามีแผนที่จะกลับไปพักร้อนที่ไทยในช่วงเดือนเมษายน แต่เนื่องจากการระบาดของโรคโควิดทำให้ต้องเลื่อนตัวมาเร็วขึ้น แต่เนื่องจากไม่สามาถหาใบ Fit-to-Fly หรือใบยืนยันว่ามีสุขภาพเหมาะสมสำหรับเดินทางและนำเอกสารไปประทับตราที่สถานทูตไทยในกรุงแฟรงก์เฟิร์ตได้ทันเวลาเพราะอยู่ห่างไกล จึงต้องยอมทิ้งตั๋วเครื่องบิน ล้มเลิกการเดินทางและอยู่ในประเทศเยอรมนีต่อไป
“ผมคิดว่าโชคดีแล้วที่ไม่ได้กลับ เพราะกลับไทยก็ไม่แน่ใจว่าจะกลับไปทำอะไรได้” คุณต้นกล่าวพร้อมหัวเราะ
“ถ้ากลับไทยไปแล้วกลับเข้ามาเยอรมนีไม่ได้เท่ากับว่าผมต้องทิ้งอาชีพ แล้วก็ไม่รู้ว่าด้วยเศรษฐกิจและสถานการณ์แบบนี้จะหางานใหม่ได้หรือเปล่า อย่างน้อยอยู่ที่นี่ก็ยังมีงานทำยังมีเงินเดือน”
นโยบายของเยอรมนีให้เงินช่วยเหลือทั้งผู้ประกอบการและลูกจ้าง เจ้าของกิจการจะได้รับเงินช่วยเหลือตามขนาดกิจการ และจำนวนลูกจ้าง โดยคำนวณจากการขาดทุน ซึ่งเงินนี้แม้จะเป็นเงินให้เปล่าแต่ต้องรวบรวมเอกสารและผ่านการตรวจสอบอย่างละเอียดโดยเจ้าหน้าที่รัฐ และยังต้องนำไปเสียภาษีเงินได้ประจำปี นอกจากนี้เงินสมทบประกันสังคมที่เจ้าของกิจการต้องจ่ายให้ลูกจ้างก็ถูกละเว้นอีกด้วย
ขณะที่ลูกจ้างสามารถลงทะเบียน Kurzarbeit เพื่อแสดงตัวว่าถูกลดชั่วโมงการทำงานลงและอาจได้เงินช่วยเหลือไม่เกิน 60% ของรายได้ทั้งหมดที่หักภาษีแล้ว และ 67% ในกรณีที่มีบุตร สิทธินี้ลูกจ้างที่ไม่ได้ถือสัญชาติเยอรมันก็ยังสามารถสามารถรับความช่วยเหลือได้ หากมีรายได้มากกว่า 800 ยูโร มีการเสียภาษีและประกันสังคมอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และในกรณีที่ไม่สบายยังคงสามารถใช้ประกันสังคมของรัฐในการรักษาอาการเจ็บป่วยโดยไม่เสียสิทธิ์ประกันสังคมแต่อย่างใด
สถานการณ์โควิดในประเทศเยอรมนีตอนนี้ แม้จะมีผู้ป่วยกว่า 151,000 ราย เสียชีวิตกว่า 5,300 แต่สามารถรักษาได้มากกว่า 70% หรือเป็นจำนวนมากกว่า 103,000 ราย
อย่างไรก็ตามในเร็วๆ นี้ชีวิตผู้คนที่ประเทศเยอรมนียังคงไม่มีวี่แววกลับสู่จุดเดิม โดยเมื่อกลางเดือนเมษายนที่ผ่านมา แองเจล่า เมอร์เคิล ได้ประกาศขยายมาตรการเข้มไปจนถึงวันที่ 3 พฤษภาคมพร้อมกับแนะนำให้มีการใช้หน้ากากผ้าในที่แออัด เช่น บนรถสาธารณะหรือในตอนซื้อสินค้า รวมถึงมีการอนุญาตให้ร้านค้าขนาดเล็กสามารถเปิดให้บริการได้ภายใต้มาตรการสุขอนามัยและการเว้นระยะห่าง ขณะที่สถานศึกษาต้องเฝ้าดูประกาศของแต่ละรัฐว่าจะเปิดภาคเรียนอีกครั้งเมื่อไร ส่วนร้านอาหาร โรงแรม และศูนย์การค้ายังคงต้องรอดูท่าทีต่อไป
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ