ท่ามกลางการระบาดของไวรัสโควิด-19 ไปทั่วโลก มีผู้ติดเชื้อไปแล้วกว่า 2 ล้านคน ปัจจุบันจะมีเทคโนโลยีที่ทันสมัย การแพทย์ที่ล้ำยุค แต่ก็ต้องสังเวยชีวิตให้โรคร้ายไปมากกว่า 1 แสน 2 หมื่นคน และยังไม่มีทีท่าว่าจะหยุดเพียงเท่านี้
หากมองย้อนกลับไปร้อยปีก่อน หรือในสมัยสงครามโลกครั้งหนึ่ง เหมือนธรรมชาติจะลงทัณฑ์มนุษย์ จู่ๆ ได้เกิดโรคระบาดครั้งใหญ่ ที่คร่าคนทั่วโลกมากมายรวมกันมากกว่า สงครามโลกทั้ง 2 ครั้งเสียอีก!
โรคร้ายนี้มีชื่อเรียกว่า “อินฟลูเอนซา” คือ ไวรัสสายพันธุ์ H1N1 หรือที่เรียกติดปากว่า “ไข้หวัดใหญ่สเปน” โดยชื่อมาจากการค้นพบการแพร่ระบาดครั้งแรกที่ประเทศสเปน แต่แท้จริงแล้ว ยังไม่มีใครทราบว่าต้นตอการระบาดมาจากไหนกันแน่..เนื่องจากเวลานั้น มนุษย์ผู้เจริญแล้วกำลังวุ่นวายกับการก่อสงครามโลกกันอยู่
ไข้หวัดสเปนคร่าชีวิตคนทั่วโลกไปกว่า 50 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อกว่า 500 ล้าน คน ซึ่งประเทศไทย หรือ ประเทศสยาม ไวรัสมรณะนี้ เริ่มเข้าจู่โจมซ้ำเติมราษฎรสยาม ในช่วงปลายปี พ.ศ. 2461 หรือ ช่วงสมัยรัชกาลที่ 6
เวลานั้น ชาวสยามทุกข์ระทมกับ ฝีดาษ หรือ ไข้ทรพิษ หลวงได้แก้ปัญหาด้วยการให้หน่วยแพทย์ปลูกฝีให้แก่ราษฎร แต่..ในเวลาเดียวกัน กลับมีโรคระบาดชนิดใหม่เข้ามา และพบคนป่วยหนักมากขึ้นเรื่อยๆ จนลุกลามมาถึงพระนคร
...
วันที่ 27 ตุลาคม พุทธศักราช 2461 กระทรวงนครบาล แผนกสุขาภิบาล จึงมีประกาศ ใจความตอนหนึ่งว่า “กรมสุขาภิบาลจะได้จัดให้เจ้าพนักงาน มาทำการปลูกป้องกันไข้ทรพิษให้แก่ราษฎรตามบ้าน แต่บัดนี้ ปรากฏว่า มีผู้เป็นไข้หวัด (อินฟลูเอนซา) แพร่หลายขึ้นในเขตกรุงเทพมหานคร สมควรงดเว้นการปลูกป้องกันไข้ทรพิษ ในเขตท้องที่อำเภอนางเลิ้งชั่วคราว จนกว่าจะได้ประกาศต่อไป”
โดยผู้ลงนามในขณะนั้น คือ มหาอำมาตย์เอก เจ้าพระยายมราช เสนาบดี
โรคระบาดนี้ กินเวลาเกือบปี ได้คร่าราษฎรไทยไปทั้งหมด 80,223 คน เชื้อไวรัสลุกลามกินไป 17 มณฑล มีคนป่วย 2,317,662 จากพลเมืองสยามเวลานั้น มีทั้งหมด 8,478,566 คนเรียกว่าป่วยทั้งประเทศ 27% พลเมืองตายไปเกือบ 1% โดยไข้หวัดสเปน ได้เริ่มระบาดในพื้นที่ภาคใต้ก่อน เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ.2461 แล้วกระจายแพร่ไปทั่วพระราชอาณาจักร และสงบลงเมื่อเดือนมีนาคม 2462 ซึ่งถือว่ากินเวลาเกือบปี
ซึ่งสมัยยุคสงครามโลกครั้งที่ 1 นั้น ไทยมีการปกครองแบ่งออกเป็น 17 มณฑล โดยแต่ละมณฑลจะครอบคลุมมากกว่า 3-7 จังหวัด โดยมณฑลที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุด คือ มณฑลพายัพ ครอบคลุมจังหวัดเชียงใหม่ เชียงราย และลำพูน
โดยที่เชียงใหม่จังหวัดเดียว มีพลเมือง 355,831 ป่วย 56,609 เสียชีวิตถึง 5,641 ศพ
จังหวัดเชียงราย มีพลเมือง 268,856 คน ป่วย 61,904 คน เสียชีวิต 4,595 คน
ขณะที่ ลำพูน มีพลเมือง 50,113 ป่วย 6,259 คน เสียชีวิต 1,009 คน
รวมทั้งมณฑลพายัพ มีพลเมือง 805,787 ป่วย 147,794 คน เสียชีวิตถึง 12,204 ศพ
สาเหตุที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากนั้น เพราะการแพทย์ยังล้าหลัง ไม่มีวัคซีนหรือยาปฏิชีวนะใดๆ ในการรักษา จึงทำให้ประชากรโลกกว่า 1 ใน 3 ติดเชื้อ
จากบันทึกศูนย์ควบคุมโรคระบาดแห่งสหรัฐอเมริกา หรือ CDC ระบุว่า ในยุคนั้นไม่ได้รักษาคนป่วยไข้หวัดสเปนด้วยยา แต่เลือกใช้วิธีรักษาด้วยการให้กักกันตัวเอง หรือนำตัวไปกักยังสถานที่กักกันโรค โดยเน้นให้ปฏิบัติตามสุขลักษณะที่ดี รวมถึงใช้สารฆ่าเชื้อโรค จำกัดการรวมตัวในที่สาธารณะ หรือชื่อคุ้นหูในขณะคือ Social Distancing
...
อาการของโรคที่พบ คือ เป็นอาการไข้หวัด ไอจาม มีไข้ ปอดบวม อาการจะเริ่มรุนแรงจากไวรัส ในวันที่ 2 ของการติดเชื้อ คือมีปัญหาทางเดินหายใจ หลังจาก 1 สัปดาห์จะเกิดอาการปอดบวม มีเลือดออกในปอด กระทั่งเสียชีวิตในที่สุด การแพทย์ในสมัยนั้นพยายามหาคำตอบของระบาด จึงใช้วิธีการผ่าศพ ตัดชิ้นเนื้อปอดหาเชื้อไวรัส จึงได้วิเคราะห์สายพันธุ์ไวรัส คือ H1N1 ในเวลาต่อมา สำหรับคนเสียชีวิตส่วนมากในเวลานั้น คือ หนุ่มสาววัยฉกรรจ์ ช่วงอายุ 20-24 ปี
ในรอบ 100 ปีที่ผ่านมา มีการแพร่ระบาดของเชื้อโรคในลักษณะนี้ถึง 4 ครั้ง และทุกๆ ครั้ง จะสูญเสียทรัพยากรอาหาร พลังงาน และเวชภัณฑ์มากมาย ดังนั้นในวงการแพทย์ มีการประเมินว่า เชื้อโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้นล้วนมีวงรอบของมัน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ชม 3 นาทีคดีดังที่น่าสนใจ
...