อัปเดตสถานการณ์โควิด-19 หรือไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ในไทยประจำวันที่ 22 เมษายน 2563 เผย 7 ไอเดียต่างประเทศ Lockdown ใช้แล้วเป็นที่น่าพอใจ
สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 (COVID-19) ในไทยยอดติดเชื้อโควิด-19 ลดลงต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 จากรายงานของ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) แถลง พบผู้ติดเชื้อ "โควิด-19" รายใหม่เพิ่ม 15 ราย รวมยอดสะสม 2,826 ราย รักษาหาย 244 ราย ผู้ป่วยรักษาหายกลับบ้านเเล้ว 2,325 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมยอดเสียชีวิตอยู่ที่ 49 ศพ เป็นหญิงไทย อายุ 58 ปี อาชีพแม่บ้าน มีโรคประจำตัวเบาหวาน ไขมัน ความดันในเลือดสูง และภาวะอ้วน มีประวัติสัมผัสใกล้ชิดกับลูกสาวซึ่งเป็นผู้ป่วยยืนยัน
สำหรับผู้ป่วยรายใหม่จำนวน 15 ราย แบ่งเป็น ผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสกับผู้ป่วย หรือเกี่ยวข้องกับสถานที่ที่พบผู้ป่วยก่อนหน้านี้ จำนวน 10 ราย ผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับผู้ป่วยก่อนหน้า 5 ราย ได้แก่ คนไทยเดินทางกลับจากต่างประเทศ 1 ราย ไปสถานที่ชุมนุมเช่น ห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด สถานที่ท่องเที่ยว 1 ราย อาชีพเสี่ยง เช่น ทำงานในสถานที่แออัด หรือทำงานใกล้ชิดกับชาวต่างชาติ เป็นต้น 3 ราย โดย ผู้ป่วยรายใหม่ 15 ราย เข้ารับการรักษาใน ชุมพร 4 ราย, สงขลา 4 ราย, กรุงเทพมหานคร 3 ราย, พระนครศรีอยุธยา 2 ราย, ปทุมธานี 1 ราย และนครปฐม 1 ราย
...
จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ลดลงอย่างต่อเนื่องนี้ นายแพทย์ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) กล่าวชื่นชมคนไทยที่ให้ความร่วมมือกันเป็นอย่างดีตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และแม้จำนวนตัวเลขที่ลดน้อยลง แต่ยังไม่ยกเลิกมาตรการเข้มงวดต่างๆ ที่ใช้สกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 โฆษก ศบค. ย้ำเตือนอีกครั้ง อย่าเพิ่งวางใจ แม้ดูเหมือนสถานการณ์ใกล้กลับมาเป็นปกติ แต่การ์ดห้ามตก
แนวทาง 7 ไอเดีย Lockdown เห็นผล "น่าพอใจ"
สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ใน 178 ประเทศทั่วโลก วันนี้ (22 เมษายน) ยอดผู้ป่วยโควิด-19 ทั่วโลกเพิ่มสูงถึง 2,556,421 ราย รักษาหาย 690,102 ราย เสียชีวิต 177,439 ราย
5 อันดับชาติประเทศที่พบผู้ติดเชื้อมากที่สุด คือ สหรัฐอเมริกา 819,805 ราย, สเปน 204,178 ราย, อิตาลี 183,957 ราย, ฝรั่งเศส 158,050 ราย และเยอรมนี 148,453 ราย
เพื่อช่วยป้องกันการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไทยรัฐออนไลน์มี 7 เทคนิคดีๆ ก่อนและหลังใช้มาตรการ Lockdown ที่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ เป็นแนวทางให้ประเทศอื่น หรือรัฐบาลไทยอาจนำมาปรับใช้
ทยอยเปิด Classrooms 2.0
เทคนิคนี้เกิดขึ้นในประเทศเดนมาร์ก ใช้วิธีการทยอยเปิดโรงเรียน เริ่มจากนักเรียนที่มีอายุต่ำกว่า 12 ปี และภายในโรงเรียนจัดแบ่งพื้นที่เป็นส่วนๆ ด้วยเทปกาว ปรับห้องเรียนให้มีขนาดเล็กลง โต๊ะวางห่างกันมากกว่า 2 เมตร รวมถึงจัดเวลาเข้าเรียนและพักให้เหลื่อม และไม่ลืมอีกมาตรการสำคัญ คือ นักเรียนทุกคนต้องล้างมือก่อนเข้าโรงเรียนและออกนอกห้องเรียนทุกครั้ง ในส่วนของโรงเรียนต้องฆ่าเชื้ออ่างล้างหน้า โถส้วม ประตู 2 ครั้งต่อวัน
บัตร Covid Cards การันตี
บัตรนี้เป็นมาตรการในประเทศชิลี ทำขึ้นแจกให้กับผู้ป่วยที่หายจากโควิด-19 และผ่านการกักตัว 14 วัน เพื่อใช้แสดงตัวตน และเป็นการรับประกันว่า คนกลุ่มนี้สามารถกลับไปใช้ชีวิตได้ตามปกติ เพราะจากข้อมูลในปัจจุบันผู้ที่หายป่วยโควิด-19 แล้วจะไม่กลับมาเป็นซ้ำ
Lockdown แบบมีเงื่อนไข
ถูกนำมาใช้ในประเทศตุรกีซึ่งเป็นวิธีคล้ายกับในไทย โดยห้ามเฉพาะผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี และมากกว่า 65 ปี ออกจากบ้าน ส่วนภาคธุรกิจให้ปิดเฉพาะธุรกิจขนาดเล็ก และร้านอาหารต้องขายแบบเดลิเวอรี่หรือซื้อกลับบ้าน สถานที่สาธารณะและธนาคารเปิดให้บริการในเวลาจำกัด
...
Lockdown แบบจำกัดช่วงอายุ
ในประเทศสวีเดนได้มีการนำเทคนิค Lockdown แบบจำกัดช่วงอายุ มาใช้ โดยห้ามคนอายุ 70 ปีขึ้นไป ออกจากบ้าน ซึ่งสอดคล้องกับผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยวอร์วิกระบุไว้ว่า คนอายุ 20-30 ปี ไม่ควรใช้ชีวิตอยู่กับครอบครัว โดยเฉพาะผู้สูงอายุ เพราะถือเป็นกลุ่มพาหะแพร่เชื้อที่มักไม่แสดงอาการออกมาให้เห็น
Lockdown แบบจำกัดเพศ
เกิดขึ้นในประเทศเปรู เป็นการแบ่งวันออกจากบ้านตามเพศ เพื่อสะดวกต่อการตรวจสอบและควบคุมประชาชน โดยวันจันทร์ พุธ ศุกร์ เฉพาะเพศชายที่ออกจากบ้านได้ ส่วนวันอังคาร พฤหัสบดี และเสาร์ ให้เฉพาะเพศหญิงออกจากบ้าน
Lockdown แบบสุ่มหาผู้โชคดี
เป็นการอนุญาตให้ประชาชนในประเทศโคลอมเบียออกนอกบ้านได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด โดยเรียงลำดับตามเลขบัตรประชาชน แต่มีมาตรการเพิ่ม กลุ่มคนที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขนี้ต้องไม่ใช่กลุ่มอาชีพที่มีผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของประชาชน
Lockdown แบบจับตาใกล้ชิด
...
เทคนิคสุดท้ายนี้มี ถูกใช้ในหลายประเทศ อาทิ อิตาลี สหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย จีน และคูเวต โดยนำโดรนมาบินเพื่อสอดส่องความเคลื่อนไหวประชาชน และตรวจวัดอุณหภูมิเพื่อหากลุ่มเสี่ยงที่จะติดเชื้อ แม้จะเป็นเรื่องเลวร้ายที่ประชาชนในหลายประเทศต้องใช้ชีวิตอย่างยากลำบาก ภายใต้มาตรการ Lockdown มานานกว่า 1-2 เดือน แต่ในความโชคร้ายยังมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น ในเมืองต่างๆ ของ 4 ประเทศทั่วโลก อาทิ เมืองมิลานและเมืองเวนิช ประเทศอิตาลี, กรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย, กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และกรุงอิสลามาบัด ประเทศปากีสถาน เมื่อปัญหามลพิษในอากาศลดลงแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด โดยมีการนำภาพในจุดเดียวกันเมื่อ 2 ปีที่แล้วซึ่งเต็มไปด้วยฝุ่นละอองในอากาศ จนทำให้ท้องฟ้าขมุกขมัวมาเปรียบเทียบกับภาพปัจจุบันซึ่งเห็นท้องฟ้าใสกระจ่างได้อย่างชัดเจน
เปิดตัว "ที่นั่งชั้นประหยัด" เสริมอุปกรณ์ป้องกันโควิด
การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้การท่องเที่ยวทั่วโลกชะงัก คนไม่กล้าเดินทางเหตุรู้สึกหวาดผวากับโควิด-19 แต่นับจากนี้ปัญหาดังกล่าวจะไม่มีผลต่อการเดินทางให้กับผู้ที่รักการท่องเที่ยวอีกต่อไป เมื่อ “เอวีโออินทีเรียส์” (Aviointeriors) บริษัทธุรกิจการบินสัญชาติอิตาลี ได้พัฒนาออกแบบที่นั่งชั้นประหยัดในการช่วยป้องกันและปลอดภัยจากไวรัสโควิด-19 และตั้งชื่อว่า ‘เจนัส’ ที่ได้แรงบันดาลใจมาจาก เทพเจ้าสองหน้า ของโรมัน
...
ความพิเศษของที่นั่งที่แม้จะนั่งใกล้กันเหมือนเดิม แต่มีอุปกรณ์เพิ่มเป็นแผ่นพลาสติกครอบป้องกันตั้งแต่เหนือศีรษะจนถึงเหนือไหล่ทั้ง 2 ด้าน สำหรับแถว 3 ที่นั่ง ได้ออกแบบให้คนที่นั่งตรงกลางหันหน้าไปด้านหลัง เพื่อให้ความมั่นใจในเรื่อง “การเว้นระยะห่างทางสังคม” มากขึ้น นอกจากนี้ผู้โดยสารทุกคนยังมีพื้นที่ส่วนตัวและรู้สึกปลอดภัยจากลมหายใจของผู้โดยสารที่นั่งอยู่ด้านข้าง ในกรณีที่ลุกเดินไปเข้าห้องน้ำหรือธุระส่วนตัว
อัปเดตสถานการณ์ของโรคโควิด-19 ทั้งในไทยและต่างประเทศ
ประจำวันที่ 22 เมษายน 2563 ทั้งหมดในคลิป
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน