บุรุษพยาบาลไทยห้อง ICU รพ.ศูนย์รักษาผู้ป่วยโควิด-19 ในเมืองที่ค่าครองชีพแพงที่สุดของสหรัฐฯ เปิดใจเล่ามุมชีวิตการทำงาน เสี่ยงติดโควิด-19 ตลอดเวลา วินาทีบีบหัวใจ ให้ญาติเฟซไทม์สั่งลาผู้ป่วยโควิดก่อนสิ้นใจ
“ผมแชร์เรื่องราวนี้ เพื่ออยากให้พี่น้องคนไทย ตื่นตัว ตระหนัก แต่ไม่ตระหนก กับสถานการณ์ Covid 19 ที่ระบาดไปทั่วโลก ขอให้ทุกคนร่วมมือ ร่วมใจ และร่วมปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตามเมืองที่อยู่ ติดตามข่าวสารอย่างมีสติ เพื่อจะได้ ไม่ต้องพาคนที่เรารักไปถึงสถานการณ์คับขันเหมือนประเทศอิตาลี ที่ต้องเลือกว่า ใครจะได้อยู่ ใครต้องถูกปล่อยให้ตาย และถ้าจะตาย เป็นเรื่องสุดเศร้าที่สุด เพราะไม่มีโอกาสได้พบ ร่ำลาพี่น้อง ญาติหรือ คนที่เรารัก”
คุณแม็ค คำไทย บุรุษพยาบาลไทยในห้อง ICU ของ รพ.ศูนย์สำหรับผู้ป่วยที่ติดเชื้อ Covid-19 เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา เปิดใจกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เล่าเรื่องราวสุดเศร้า โควิด-19 คร่าคนไข้ที่เขาดูแลอย่างเต็มที่เพื่อช่วยชีวิต
...
สุดสาหัสแต่ทำด้วยใจรัก!
เปิดชีวิตการทำงานห้อง ICU เสี่ยงด้วยชีวิตทุกวินาที
ชีวิตการทำงานในห้อง ICU รักษาผู้ป่วยโควิด คุณแม็คเล่าว่า นับตั้งแต่วันที่ 25 มี.ค. 63 ที่นายกเทศมนตรีเมืองซานฟรานซิสโก ประกาศอย่างเป็นทางการให้ รพ.แห่งนี้เป็นศูนย์รักษาผู้ป่วยโควิด ประจำเมืองซานฟรานซิสโก หมอ พยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ทุกคนทำงานกันอย่างหนัก สำหรับคุณแม็คตามปกติ ทำงาน 8 ชม. สี่วันต่ออาทิตย์ ปัจจุบันต้องทำงาน 8 วันติดต่อกัน โดยไม่ได้หยุด และทำโอทียาว 16 ชม. เป็นเวลา 4 วัน มีเวลาเบรก 30 นาที และต้องสลับคิวกันเบรกกับเพื่อนร่วมงาน
ผู้ป่วยโควิดที่เข้ามารักษาใน รพ. ที่คุณแม็คดูแลรักษามีทุกวัย อยู่ระหว่างอายุ 25-80 ปี การทำงานในห้อง ICU ต้องดูแลผู้ป่วยที่มีอาการหายใจไม่ออก และต้องใส่ท่อช่วยหายใจ อาการของผู้ป่วยแต่ละคนจะป่วยหนักมากแค่ไหนขึ้นอยู่กับอายุ และโรคประจำตัวของคนไข้ ในการดูแลรักษาผู้ป่วยโควิดในห้อง ICU ต้องดูแลระบบหัวใจ, หายใจ, ตับ, ปอด, ระบบปัสสาวะ ขับถ่าย ใส่ท่อเดินอาหาร ในบางรายถ้าอาการโคม่าก็หมดสติเป็นจำนวนมาก
ในการทำงานที่ต้องอยู่ในห้องความดันลบ negative pressure แคบๆ กับคนไข้เป็นเวลา 5-6 ชั่วโมง หากจะบอกว่าไม่กลัวติดเชื้อโควิดนั้น คุณแม็คบอกว่าคงไม่เป็นความจริง การปฏิบัติงานแต่ละครั้งต้องระวังและป้องกันตัวเองมากขึ้นไม่ให้ติดเชื้อเพื่อจะได้รักษาคนไข้อีกหลายๆ คน
ก่อนเข้าห้อง ICU ต้องสวมชุดอุปกรณ์ป้องกัน PPE ตั้งแต่หัวจรดเท้าดูแล้วเหมือนมนุษย์อวกาศทับ ใส่หน้ากากสองชั้น ทั้ง face shield แว่นตา หน้ากาก N95 ใส่ถุงมือ ทับสองชั้น ใส่ถุงคลุมรองเท้า
การรักษาผู้ป่วยโควิด-19 เป็นการเสี่ยงชีวิตตลอดเวลา แม้แต่การใส่หน้ากาก N95 เพื่อป้องกันการติดเชื้อก็อันตรายถึงชีวิตได้ ซึ่งคุณแม็คเองก็เคยมีประสบการณ์หน้ามืด หายใจติดขัด หัวใจเต้นถี่เพราะเหนื่อยเนื่องจากออกซิเจนไม่พอบ่อยๆ ต้องแก้ปัญหาโดยถอดชุด PPE แล้วยืนอยู่หน้าห้องเป็นเวลา 5 นาที ทุกๆ ชั่วโมง จากนั้นจึงกลับเข้าไปดูแลคนไข้ในห้อง
“หน้ากาก N95 จะเก็บสารคาร์บอนฯ ไว้ ทำให้การเปลี่ยนเอาสารออกซิเจนที่ร่างกายต้องการขณะใส่หน้ากากจะมีความยากลำบาก ทำหายใจเอาค่าคาร์บอนฯ เข้าไปเยอะเกิน เพราะต้องอยู่ในห้องกับคนไข้นานเกินไป”
...
ผู้ป่วยโควิด เวลาทุกวินาทีมีค่า
คลาดสายตาอาจช็อก เสียชีวิต
ในการดูแลผู้ป่วยโควิดในห้อง ICU คุณแม็คเปิดเผยว่า ต้องไม่คลาดสายตาจากคนไข้แม้แต่วินาทีเดียว ต่อให้ออกมาสูดอากาศแค่ 5 นาที สายตาก็ต้องมองดูคนไข้และเครื่องล้างไตผ่านกระจกตลอด เพราะหากสายต่างๆ ที่เชื่อมระหว่างคนไข้กับเครื่องหลุด คนไข้อาจจะเสียเลือดเยอะ เกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้ภายในไม่กี่นาที
เมื่อต้องมีการฉีดยาผู้ป่วยโควิด ก่อนฉีดยาคนไข้ ต้องออกมานอกส่วนห้องคนไข้ แล้วถอดอุปกรณ์ป้องกันที่หัว ถอดแว่นตาออกมาเป่า ล้างไอที่ติดแว่นตา เพราะทำให้มองไม่เห็นอาจแทงพลาดทิ่มตัวเองได้
การทำงานหากไม่จำเป็นไม่ควรถอดหน้ากาก หรือต้องถอดหน้ากากให้น้อยที่สุด แต่คุณแม็คบอกว่า ต้องมีถอดกันบ้าง ไม่เช่นนั้นหูอาจจะฉีก เพราะสายรัดที่แน่นมาก เมื่อทำงานเสร็จต้องอาบน้ำ ขัดตัว สองสามรอบ เพื่อป้องกันการนำเชื้อไปติดคนในครอบครัว
“เห็นคนไข้ อาการหนักๆ เข้ามา ผมจะคิดเสมอว่าเขาเป็นพี่น้อง ลุงป้า และดูแลเขาเต็มที่ เพราะอยากให้เขาได้กลับออกไปหาลูกเมีย พี่น้อง ครอบครัว การทำงานดูแลผู้ป่วยโควิด ไม่ได้เสี่ยงแค่ตัวเราคนเดียว คนในครอบครัวก็เสี่ยงด้วย ต้องหาวิธีรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงทุกวัน คนไข้ที่ติดเชื้อก็มีมาเรื่อยๆ พอผมเลิกงานแล้วกลับบ้าน แม้แต่สุนัขก็ไม่จับ ไม่ให้เข้าใกล้”
...
วินาทีบีบหัวใจ ญาติยินยอมยุติรักษา
รพ. ให้เฟซไทม์สั่งลา ก่อนผู้ป่วยโควิดสิ้นใจ
ผู้ป่วยโควิด-19 ในห้องไอซียู ส่วนมากอาการหนัก ตอบรับอะไรไม่ได้ หากโคม่า อาการไม่ดีขึ้น คุณแม็คเผยกระบวนการรักษาขั้นตอนสุดท้าย คือ การตัดสินใจร่วมกัน 3 ฝ่าย คือ ผอ.ฝ่ายดูแล หมอประจำห้องฉุกเฉิน และครอบครัวคนไข้ที่ถูกกฎหมาย อาจเป็นลูก ภรรยาที่ยินยอมลงความเห็นชอบให้ยุติการรักษา หมอก็จะถอดอุปกรณ์การรักษาทุกอย่าง
เนื่องจากผู้ป่วยโควิดถูกงดเยี่ยม การใช้ FaceTime เพื่อให้ญาติๆ ของผู้ป่วย Covid ที่ค่อยๆ หมดลมหายใจ ได้ร่ำลากัน เป็นสิ่งสุดท้ายที่ทางโรงพยาบาลทำให้คนไข้และลูกๆ หลานๆ พี่น้อง ได้เห็นหน้า กล่าวลา ขอบคุณกันครั้งสุดท้าย แม้นว่าคนไข้ไม่รู้สึกตัว พูดไม่ได้ก็ตาม
...
“เหตุการณ์ครั้งนี้เพิ่งเกิดเมื่อวันที่ 10 เม.ย. คนไข้ที่ผมดูแลต้องเสียชีวิต ข้างเตียงมีผมกับอาจารย์หมอที่เป็นคนแปลกหน้า ยืนอยู่ข้างๆ ส่วนญาติๆ คนไข้ทำได้เพียงเฟซไทม์ร่ำลาผ่านไอแพด ทุกคนทยอยสั่งลา พ่อแม่บอกรัก ภรรยา ลูกสั่งลา ญาติสนิท หลาน คนใกล้ชิด เป็นภาพที่เศร้าใจมาก”
คนไข้ที่เสียชีวิตรายนี้ คุณแม็คบอกประวัติ เป็นวัยกลางคน ไม่มีโรคประจำตัว คุณแม๊คพยายามอย่างเต็มที่ในการรักษา ใช้เวลา 16 ชม. กับ OT ในการใส่สาย IV ระโยงระยางเพื่อช่วยชีวิต แต่สุดท้ายคนไข้ก็สิ้นใจ ทำให้คุณแม็ครู้สึกล้มเหลวในการต่อสู้กับเจ้าไวรัสร้ายโควิด-19 จนรู้สึกหมดกำลังใจ แต่พอคิดทบทวนแล้วว่าได้ทำหน้าที่อย่างเต็มที่ และให้กำลังใจตัวเองว่า "ต้องเดินต่อไป เพราะยังมีคนไข้โควิดคนอื่นรออยู่ทุกวัน"
“ผมบอกตัวเองว่า ต้องกลับมามีกำลังใจแล้วเดินต่อไป เพราะผมมีคนไข้ห้องถัดไป รออยู่ ขอให้ผมได้สู้อย่างเต็มที่ต่อไป อยากให้ผู้ที่ได้อ่านเรื่องราวผมในวันนี้ ตื่นตัว ตระหนัก ถึงความร้ายแรงของโรคโควิด-19 เพราะยังเห็นคนอีกมาก ออกไปเที่ยว ปาร์ตี้ ไม่รับผิดชอบตัวเอง ตัวเองอาจไม่เป็นอะไรมาก แต่คนรอบข้างที่เขามีภูมิน้อยกว่า อาจถึงชีวิต มันเกิดขึ้นจริงไม่อยากให้มาเสียใจทีหลัง”
คุณแม็คกล่าวทิ้งท้ายว่า Hero รบชนะไวรัสโควิด-19 ทุกคนสามารถเป็น Hero ได้โดย ลดความเห็นแก่ตัว คิดถึงคนอื่น แชร์แต่สิ่งดีๆ ที่สร้างสรรค์และเป็นกำลังใจให้กันและกัน รู้จักแบ่งปันให้ผู้อื่นโดยไม่เลือกสัญชาติหรือศาสนา สุดท้ายทุกคนจะมีสุขภาพกาย สุขภาพจิตที่ดี และผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ