ประสบการณ์ตรงของคนคอนโดฯ อยู่ร่วมคนติดโควิด-19 หลังรักษาตัว รพ. 2 วัน เผยวิธีคิด หลักการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันอย่างไร้กังวล มีความสุข พร้อมวิธีการสุดเฮี้ยบของนิติฯ ป้องกันการแพร่เชื้อ covid 19
จำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้นและกระจายครอบคลุมทุกหย่อมหญ้า 60 กว่าจังหวัดทั่วไทยในคนหลากหลายกลุ่ม รวมไปถึงผู้อยู่อาศัยแนวสูงอย่างคอนโดมิเนียมที่มีผู้อยู่อาศัยเยอะและต้องใช้พื้นที่ส่วนกลางร่วมกัน หากมีคนในคอนโดฯ ติดเชื้อโควิด-19 ชะตาชีวิตของลูกบ้านที่เหลือเกือบพันห้องใช้ชีวิตร่วมกันอย่างไรเพื่อป้องกันไม่ให้เสี่ยงติดเชื้อ วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีประสบการณ์จริงจากหญิงสาววัยทำงานชื่อว่า “น้ำ” (นามสมมติ)
2 สิ่งสำคัญพึงกระทำ เมื่อรู้คนในคอนโดฯ ติดเชื้อโควิด-19
เป็นเวลา 13 วันแล้วที่ “น้ำ” กักตัวเองเพื่อเฝ้าระวังและถามตัวเองในทุกวัน “ฉันติดโควิดหรือยัง” เธอย้อนเล่าเหตุการณ์จากที่คิดว่าเป็นเรื่องไกลตัว แต่กลับกลายเป็นสิ่งใกล้ตัว กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า เมื่อต้นเดือน เม.ย. 63 เวลาประมาณ 10 โมงกว่าๆ คอนโดฯ ใน กทม. ที่อาศัยมาหลายปีแจ้งข้อมูลมายังไลน์ว่ามีผู้ร่วมอาศัยในคอนโดฯ 1 ราย ติดเชื้อโควิด-19 วินาทีนั้นเธอรู้สึกอึ้ง ตกใจเพราะไม่คิดว่าจะเป็นเรื่องใกล้ตัวขนาดนี้ รู้สึกกังวลและกลัวว่าตัวเองอาจเป็นผู้สุ่มเสี่ยงหรือไม่ เนื่องจากผู้ติดเชื้อโควิด-19 อยู่คอนโดฯ ตึกเดียวกัน ถึงแม้จะอยู่คนละชั้นแต่ใช้ลิฟต์ร่วมกัน
...
เมื่อเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดเช่นนี้ น้ำบอกสิ่งสำคัญที่สุดคือ “สติ” และอย่าปกปิดข้อมูล เธอจึงรีบแจ้งหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานทันที พวกเขาไม่รีรอและรีบให้เดินทางกลับคอนโดฯ ทันที เพื่อ Quarantine กักตัวเองและสังเกตอาการตามมาตรการ Social Distancing คือ เว้นระยะห่างทางสังคม
มาตรการนิติฯ คอนโดฯ หลังพบผู้ติดเชื้อ ปฏิบัติอย่างไร
น้ำบอกว่าจากเดิมนิติฯ ของคอนโดฯ แห่งนี้ มีมาตรการเข้มข้นเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 มาแล้วตั้งแต่กลางเดือน มี.ค. อาทิ งดใช้บริการพื้นที่สันทนาการส่วนกลาง, ทำความสะอาดจุดสัมผัสทุกจุด เช่น ประตูทางเข้า-ออก ลิฟต์ทุกชั่วโมง, ตีตารางและจำกัดจำนวนคนในลิฟต์ เพื่อไม่ให้แออัด และมีแอลกอฮอล์เจลบริการ รวมทั้งพ่นฆ่าเชื้อบริเวณพื้นที่ส่วนกลาง แต่เพื่อความมั่นใจในความปลอดภัยของตัวเอง และลูกบ้านคนอื่น ระหว่างเดินทางกลับด้วยรถส่วนตัว เธอติดต่อนิติบุคคลฯ สอบถามถึงมาตรการป้องกันการแพร่เชื้อ ก็ได้รับคำตอบที่ช่วยให้รู้สึกคลายกังวล
การรับมือของนิติฯ ตามมาตรการป้องกันและลดความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของเชื้อโวรัสโควิด-19 ตามข้อปฏิบัติของกระทรวงสาธารณสุข เธอเปิดเผยว่า
1. หลังจากนิติฯ ได้รับแจ้งจากผู้อยู่อาศัยว่าติดเชื้อโควิด รีบแจ้งกรมควบคุมโรค จากนั้นรถของโรงพยาบาลมารับผู้ป่วยไปรักษาตัวทันทีภายใน 2 ชั่วโมง
2. บิ๊กคลีนนิ่งและพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อในพื้นที่ส่วนกลางต่างๆ ของตึกและชั้นที่ผู้ป่วยอาศัยทันที อาทิ จุดสัมผัสต่างๆ ในลิฟต์ โถงล็อบบี้ตึก โถงลิฟต์ สำนักงานิติบุคคล ลูกบิดประตูห้องพัก ห้องทิ้งขยะ
3. ตรวจสอบเส้นทางการใช้ชีวิตย้อนหลัง 7 วัน ของผู้ติดเชื้อผ่าน KEY Card และ CCTV เพื่อดำเนินการกักตัวผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือสัมผัสโดยตรงกับผู้ได้รับเชื้อ
กัก 14 วัน 3 ผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยโควิด-19 นิติฯ ดูแลถึงหน้าห้อง
หลังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายแรกของคอนโดฯ และส่งตัวเข้ารักษาใน รพ. แล้ว เพื่อความปลอดภัยมากกว่าเดิม นิติฯ จึงมีมาตรการควบคุมการระบาดโรคโควิด-19 เข้มงวดมากขึ้น อาทิ จัดคัดกรองลูกบ้านที่จะเข้า-ออกด้วยการตรวจวัดอุณหภูมิร่างกายบริเวณทางเข้าคอนโดฯ, ไม่อนุญาตให้คนภายนอกเข้า, รับพัสดุที่ สนง.นิติฯ ทางหน้าต่าง และไม่นำกล่องพัสดุขึ้นห้อง
จากการตรวจสอบการใช้ชีวิตย้อนหลัง 7 วันของผู้ป่วยโควิด-19 น้ำบอกว่าทำให้มีผู้ใกล้ชิดผู้ป่วยต้องกักตัว 14 วันเฝ้าระวังอาการรวม 3 คน แม้ 1 ใน 3 คนซึ่งเป็นแฟนผู้ป่วยตรวจแล้วไม่พบว่าติดเชื้อโควิด-19 ก็ตาม เธอเกิดข้อสงสัยจะมั่นใจได้อย่างไรว่าทั้งสามคนไม่ออกจากห้องจริงๆ และสอบถามจากนิติฯ ได้ให้ความกระจ่างว่า นิติฯ มีมาตรการดูแลและอำนวยความสะดวกต่างๆ อาทิ จัดส่งอาหารไปยังหน้าห้องครบทุกมื้อ, ซื้อของอื่นๆ และจัดส่งให้หน้าห้อง
ส่วนลูกบ้านคนอื่นๆ นิติฯ เตือนต้องปฏิบัติตามทุกกฎอย่างเคร่งครัด พร้อมแนะนำวิธีการปฏิบัติตัว คือ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสโดยตรงในจุดที่เป็นพื้นที่สาธารณะ เว้นระยะห่างทางสังคม 2 เมตร ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากห้อง และล้างมือเป็นประจำ รวมถึงเฝ้าสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการบ่งชี้ ไข้สูง 37.5 ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก ให้รีบแจ้งนิติฯ ทันที
...
“รู้สึกตกใจ ไม่คิดว่าจะใกล้ตัวขนาดนี้ ถามว่ากลัวไหม กลัว แต่ไม่ประมาท ก่อนหน้านั้นก็ระวังตัวเอง ไปข้างนอกสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ อยู่แล้ว เห็นการทำงานของนิติฯ ก็อุ่นใจ แต่เพื่อความสบายใจ ความปลอดภัยของตัวเองและผู้ร่วมอาศัย ขอกักตัวเอง 14 วันเพื่อดูอาการดีกว่า” น้ำ บอกเล่าความรู้สึก
วิธีกักตัวเอง 14 วัน ในคอนโดมิเนียม ให้สุขภาพจิต “ดี”
Quarantine คือ safe zone ที่ปลอดภัยที่สุดในเวลานี้ที่ทำกันทั่วโลก วันนี้เป็นวันที่ 13 แล้วที่ "น้ำ" กักตัวเอง เธอถ่ายทอดประสบการณ์ถึงวิธีการปฏิบัติที่ดี คือ ต้องใช้เวลาอย่างมีความหมาย อย่าให้ความกลัว หรือความเหงา ครอบงำจิตใจทำให้เราสูญเสียพลัง
ระหว่างกักตัวเองต้องไม่ปิดกั้นการรับข่าวโควิด-19 เพื่อเตรียมพร้อมรับมือได้ทันท่วงที แต่ต้องรับฟังเท่าที่จำเป็นไม่เกิน 2 ชั่วโมงต่อวัน และควรรับฟังข่าวสารจากสำนักข่าวที่เป็นทางการ อย่าเชื่อข้อมูลที่ส่งต่อกันโดยยังไม่มีการยืนยัน เพราะอาจทำให้ตื่นตระหนก ตึงเครียดได้
...
การ Quarantine กักกันตัวเอง 14 วัน จนกว่าจะพ้นระยะฟักตัวของโรค สิ่งสำคัญต่อมา คือ “จิตใจ” อย่าเครียด ยอมรับและเข้าใจในสถานการณ์ ไม่ตั้งข้อรังเกียจเช่นที่เธอทำอยู่ หลังผู้ป่วยโควิด-19 ไปรักษาตัวที่ รพ.เพียง 2 วันก็กลับมาพักฟื้นและกักตัวเอง 14 วันที่คอนโดฯ แล้ว เนื่องจากผลตรวจพบซาก DNA การตายของไวรัสโควิด-19
การปฏิบัติตัวในแต่ละวันนอกจากต้อง work from home ควรจัดตารางเวลาทั้งเช้าคำ่ว่าจะทำอะไรเพื่อให้เวลาแต่ละวันผ่านไปอย่างมีคุณค่า หากิจกรรมต่างๆ ทำ อาทิ ทำกับข้าวกินเอง หัดทำขนม ดูทีวี ท่องโลกออนไลน์ ดูหนัง ดูซีรีส์ ติดต่อโลกภายนอกผ่าน Facebook, line หรือโทรศัพท์หาครอบครัว ทำความสะอาดบ้าน หรือออกกำลังกายเพื่อให้สุขภาพแข็งแรงต่อสู้กับไวรัสร้ายที่อาจแฝงอยู่ในตัว
“ถามตัวเองทุกวัน ฉันติดหรือไม่ติดโควิด แต่ก็เช็กอาการตัวเองทุกวัน รู้สึกพะวงและกังวล แต่ไม่วิตกจนเครียด เพราะเดี๋ยวจิตใจห่อเหี่ยว แล้วร่างกายจะแย่ และอาจเป็นช่องโหว่ให้ไวรัศร้ายทำร้ายเราได้ เพราะฉะนั้นเราต้องทำสุขภาพกายและใจให้แข็งแรงในทุกๆ วัน หากทุกคนร่วมมือกันพวกเราก็จะผ่านวิกฤตินี้ไปด้วยกัน” น้ำทิ้งท้ายด้วยความห่วงใย
...
นี่คือ "คู่มือมนุษย์คอนโด" ที่จะช่วยต่อสู้เพื่อเอาชนะไวรัสโควิด-19 และเจ้าไวรัสร้ายนี้จะอยู่กับคนไทยได้อีกนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ "ความร่วมมือของคนไทย" ทั้งประเทศ ที่ต้องช่วยกัน อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ และบุคลากรทางการแพทย์
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวน่าสนใจ