เมื่อ ‘โควิด-19’ คืบคลานเข้าสู่เมืองกรุง ตัวเลขผู้ป่วยติดเชื้อทะยานหลักพัน ต้องสั่งปิดห้างสรรพสินค้าและร้านค้าในที่ไม่จำเป็น ลูกจ้างว่างงาน พ่อค้าแม่ค้ารายได้หดหาย ซึ่งที่พึ่งในยามนี้ คือ เงินเยียวยา 5,000 บาท

พิษร้ายจาก ‘โควิด-19’ สร้างความเจ็บปวดทางเศรษฐกิจให้กับคนไทยแบบไม่เลือกระดับชั้น ตั้งแต่เจ้าของกิจการขนาดใหญ่ จนถึงลูกจ้างรายเดือนและรายวัน คนหาเช้ากินค่ำ หากใครยังทนไหวก็กัดฟันแบกภาระพยุงกันต่อไป ส่วนคนที่ทนไม่ไหวก็ต้องจำใจปาดน้ำตาขึ้นป้าย "ปิดชั่วคราว" หรือแม้กระทั่ง ... "ปิดกิจการ"

จากมาตรการเยียวยาเดือนละ 5,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน ที่รัฐบาลตั้งเป้าไว้ 3 ล้านคน ภายใต้งบกลางไม่เกิน 4.5 หมื่นล้านบาท แต่แล้วเพียงเปิดลงทะเบียนไม่กี่นาที คนแห่ลงทะเบียนขอรับสิทธิจนต้องปิดระบบชั่วคราว จนต้องขยายมาตรการเพิ่มเป็น 9 ล้านคนในเวลาต่อมา

คำถามคือ 3 ล้านคน 3 เดือน ใช้เงิน 4.5 หมื่นล้านบาท และเมื่อเพิ่มเป็น 9 ล้านคน ต้องใช้เงินเท่าไร?

...

หากคิดง่ายๆ ประชาชน 9 ล้านคน คนละ 5,000 บาท เท่ากับต้องใช้เงิน 4.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งเงินจำนวน 4.5 หมื่นล้านบาทที่ว่านี้ มันคือ งบกลางที่จะใช้เยียวยาในช่วงเวลา 3 เดือน

ดังนั้น คิดง่ายๆ ต่อมาได้อีกว่า เมื่อรัฐบาลตัดสินใจเพิ่มเป็น 9 ล้านคน ก็เท่ากับว่างบกลาง 4.5 หมื่นล้านบาท จะใช้ได้เพียงแค่ "1 เดือน" เท่านั้น

คำถามต่อมาคือ "รัฐบาลจะเอาเงินมาจากไหน?" ในเมื่องบกลางฉุกเฉินที่เหลืออยู่มันหมดไปแล้ว

และการเยียวยา 9 ล้านคน ครอบคลุมและเพียงพอแล้วหรือไม่?

"ประชาชนที่ควรได้รับการช่วยเหลือเยียวยาในชั้นต้นด้วยมาตรการ 5,000 บาทต่อเดือน อยู่ที่ 24 ล้านคน"

ตัวเลข 24 ล้านคนนั้น มาจากการประเมินของ นายกรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
กรณ์ จาติกวณิช หัวหน้าพรรคกล้า และอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง

แล้ว 24 ล้านคน ประเมินมาจากอะไร?

นายกรณ์ อธิบายให้กับ ‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ ฟังว่า 24 ล้านคน มาจากประชาชน 3 กลุ่ม โดยกลุ่มแรกเป็นกลุ่มเป้าหมายเดิมของรัฐบาล คือ กลุ่มผู้ใช้แรงงานอิสระ ซึ่งผู้ใช้แรงงานอิสระก็มีอยู่ 3 ประเภท แบ่งเป็น ผู้ใช้แรงงานอิสระที่เป็นผู้ประกันตนตามมาตรา 39, มาตรา 40 รวมแล้วประมาณ 5 ล้านคน และยังมีผู้ใช้แรงงานอิสระอย่างเช่น พ่อค้าแม่ค้า คนขับแท็กซี่ คนขับรถจักรยานยนต์รับจ้าง ที่ไม่ได้เป็นสมาชิกประกันสังคมในมาตรา 39 หรือ 40 อีกประมาณ 7 ล้านคน โดยรวมในส่วนของผู้ใช้แรงงานอิสระ 12 ล้านคน แน่นอนว่า "ไม่ใช่ทุกคนที่รายได้ต่ำแต่ก็เป็นส่วนใหญ่ และทุกคนก็เดือดร้อนหมดตอนนี้ก็ปฏิเสธกันไม่ได้"

กลุ่มที่ 2 เกษตรกร มีประมาณ 12 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลเองก็บอกว่ามีมาตรการอื่นที่ดูแลเกษตรกร โดยมาตรการหลัก คือ ประกันรายได้ แต่เกษตรกรที่อยู่ในโครงการประกันรายได้อยู่ที่ 8 ล้านคน เพราะฉะนั้น มี 4 ล้านคน ที่ไม่ได้รับการดูแลจากรัฐบาล อย่างน้อยที่สุด 4 ล้านคนนี้ ควรอยู่ในเกณฑ์ที่รับสิทธิ 5,000 บาทได้

กลุ่มที่ 3 ลูกจ้างตามมาตรา 33 ซึ่งไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ 5,000 บาทเลย มองว่ายังมีลูกจ้างที่รายได้ต่ำกว่าเกณฑ์การเสียภาษีเงินได้ส่วนบุคคล ง่ายๆ คือ กลุ่มที่มีรายได้น้อย ซึ่งใน 12 ล้านคนที่อยู่ในมาตรา 33 โดยรวม มีลูกจ้างที่มีรายได้ต่ำกว่าเกณฑ์เสียภาษีอยู่ 8 ล้านคน กลุ่มนี้อาจไม่ได้ถูกปลดออกจากงาน แต่ก็ถูกลดเงินเดือน ถูกตัดเงินล่วงเวลา หรือลางานโดยไม่รับเงินค่าจ้าง (Leave without pay) โดยเฉพาะอุตสาหกรรมบริการ ที่ทำงานวันเว้นวันบ้าง ซึ่งทำให้รายได้ลดลง

พอมี 24 ล้านคน ก็ต้องมานั่งคิดต่อไปว่า "ต้องใช้เงินเท่าไร?"

...

ถ้าคำนวณ 24 ล้านคน ที่ต้องได้รับการดูแลในมาตรการ 5,000 บาทต่อเดือน รัฐบาลจะต้องใช้เงินเดือนละ 1.2 แสนล้านบาท เป็นระยะเวลา 3 เดือน เท่ากับ 3.6 แสนล้านบาท

คำถามสุดท้ายคือ "เงินมาจากไหน?"

หากฟัง นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ ที่แถลงศูนย์โควิด-19 ในวันที่ 3 เมษายน 2563 ก็พอจะได้คำตอบคร่าวๆ ว่า เงินที่จะใช้มาเยียวยาประชาชนมาจาก 2 ส่วน คือ ‘งบประมาณ’ ที่อาจจะใกล้เคียง 10% ของงบประมาณที่ใช้ได้ และ ‘กู้ยืม’ ที่จะมาในรูปแบบการออก พ.ร.ก. ซึ่งคาดว่าจะเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 7 เมษายน 2563

ขณะที่ มุมมองของ ‘กรณ์’ เห็นว่านอกจากงบกลางฉุกเฉิน 4.5 หมื่นล้านบาทแล้ว 10% ที่ปรับลดจากงบประมาณปี 2563 ก็จะเป็นเงินอีกส่วนที่จะมาใช้เยียวยาประชาชนได้ และเพียงพอมากเสียด้วย หากทุกกระทรวงพร้อมใจกันคืนงบส่วนนั้นมา

"หากลองย้อนกลับไปดูช่วงมกราคม นายกรัฐมนตรีเองก็มีการส่งสัญญาณให้กับหน่วยราชการว่า ให้หาวิธีที่จะคืนงบมา 10% แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีแม้แต่หน่วยราชการเดียวที่คืนงบมาแม้แต่ 1 บาท"

...

‘กรณ์’ ย้ำอีกว่า งบประมาณปี 2563 มีการร่างมาตั้งแต่ปี 2562 ซึ่งเป็นคนละสถานการณ์ ดังนั้น ในเมื่อตอนนี้มีความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องดูแลประชาชน รัฐบาลจึงมีหน้าที่ที่จะต้องไปปรับแผนการใช้เงินและโอนกลับมาจากโครงการที่ยังไม่มีความจำเป็นเร่งด่วน เพื่อเอามาช่วยเหลือประชาชน และควรที่จะต้องรีบทำเดี๋ยวนี้

"10% ก็ 3.2 แสนล้านบาท บวกกับงบฉุกเฉินที่มีอยู่ 4.5 หมื่นล้านบาท พอเลยที่จะดูแลคนได้ทั้ง 24 ล้านคน"

ในส่วนการออก พ.ร.ก. นั้น ‘กรณ์’ มองว่า หากจะออก พ.ร.ก. เลย โดยที่ไม่มีความพยายามในการเกลี่ยงบประมาณมาใช้ในเรื่องจำเป็น ก็จะเป็นการบริหารงานงบประมาณและภาษีของประชาชนที่ไม่ดีพอ

เพราะฉะนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เอางบมาจากงบประมาณปี 2563 ก่อน

...

และเมื่อหากถึงเวลาที่การแพร่ระบาด ‘โควิด-19’ คลี่คลาย ก็อย่าเพิ่งวางใจ เพราะพิษร้ายของมันยังคงเกาะกินและต้องการการเยียวยารักษาฟื้นฟูต่อเนื่องไปอีก ซึ่งหลายๆ ฝ่ายมีการคาดการณ์ว่าอาจลากยาวถึงปี 2564 เลยก็ว่าได้

"งบปี 2564 ต้องคิดเผื่อไว้เลย ต้องลองคิดภาพว่า เดือนตุลาคมสถานการณ์ของบ้านเมืองจะเป็นอย่างไร จะต้องมีการฟื้นฟูอีกมากมาย เรื่องนี้ยังไม่จบหรอก ถึงแม้ว่าเราจะชนะไวรัสได้แล้ว แต่ปัญหาเศรษฐกิจที่ตามมายังไม่จบแน่นอน"

ถามว่า "งบปี 2564 ที่ร่างตั้งแต่ปีที่แล้ว และรัฐบาลพิจารณาอนุมัติไปเดือนมกราคม ซึ่งวันนั้นยังไม่ได้เจอวิกฤติโควิด-19 มีการออกแบบเพื่อรองรับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไปและปัญหาที่จะตามมาหรือไม่?"

ตอบได้เลยด้วยความมั่นใจว่า "ไม่"

‘กรณ์’ แนะว่าในสถานการณ์ที่เป็นวิกฤติเช่นนี้ รัฐบาลควรนำงบประมาณปี 2564 มาปรับให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป อย่าปล่อยไปเรื่อยๆ

อย่างที่บอกในตอนต้นว่า พิษร้าย ‘โควิด-19’ ระบาดไม่เลือกระดับชั้น นอกจากลูกจ้างที่ต้องการเงินเยียวยา ก็ยังคงมีกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็กอย่าง SMEs ที่ต้องเผชิญกับการตัดสินใจว่าจะหยุดหรือไปต่อ

ซึ่ง ‘กรณ์’ มองว่า การพักหนี้ยังคงไม่เพียงพอสำหรับ SMEs รัฐบาลควรพิจารณาเข้ามารับภาระดอกเบี้ยแทน

"ลองคิดดูว่า SMEs ในประเทศไทยมี 2.5 ล้านราย เฉลี่ยหนี้ของ SMEs อยู่ที่รายละ 2 แสนบาท เท่ากับมูลหนี้โดยรวมของ SMEs เท่ากับ 5 แสนล้านบาท สมมติมีอัตราดอกเบี้ยเฉลี่ยอยู่ที่ 7% นั่นหมายความว่า ภาระดอกเบี้ยของ SMEs ทั้งหมดในระบบ โดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 3 พันล้านบาทต่อเดือน หากรัฐบาลจ่ายแทนก็จะใช้เงินประมาณหมื่นล้านบาท ไม่ได้เกินกำลังของรัฐบาล"

ถ้า SMEs ล้มกันไปหมด
เศรษฐกิจก็พัง

"SMEs สายป่านสั้น ถ้าให้เป็นเครดิตภาษีไม่ได้ช่วยให้ SMEs มีเครดิตในมือวันนี้ รัฐบาลแทนที่จะให้ในอนาคตด้วยการหักภาษีอาจจะต้องจ่ายให้ในตอนนี้เลย อาจไม่ต้องถึง 100% แต่ 75% ก็ยังดี"

การบาดเจ็บด้วยพิษ ‘โควิด-19’ เป็นสิ่งที่หลายๆ คนไม่ได้อยากเผชิญ แต่เมื่อเผชิญแล้ว นาทีนี้รัฐบาลควรต้องรีบแก้ไข หากยังปล่อยไว้ไปเรื่อยๆ หรือคิดช้าทำช้า อาจมีคนบาดเจ็บล้มตายระหว่างทางไปอีกหลายราย.

ข่าวอื่นๆ :