อัปเดตสถานการณ์ ‘โควิด-19’ (Covid-19) ล่าสุด ประจำวันที่ 27 มีนาคม 2563 สหรัฐฯ มีผู้ติดเชื้อพุ่งสูงที่สุดในโลก แซงหน้าจีนและอิตาลี ส่วนในไทย มีผู้ติดเชื้อเพิ่มจากวานนี้ (26 มี.ค.) อีก 91 ราย รวมสะสม 1,136 ราย และมีผู้เสียชีวิตเพิ่มอีก 1 ราย รวมสะสม 5 ราย แต่พิษของ ‘โควิด-19’ ไม่ได้มีเพียงเท่านี้ ยังกระทบต่อภาคธุรกิจที่อาจส่งผลร้ายในระยะยาว ทำให้หลายประเทศต้องเร่งงัดมาตรการเยียวยา ทั้งกระตุ้นและพยุง

สถานการณ์ ‘โควิด-19’ (Covid-19) ณ เวลานี้ แม้ในจีนจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ หรือเกาหลีใต้ที่ตัวเลขค่อนข้างทรงตัว แต่ทางด้านโซนยุโรปและอเมริกา หรือแม้กระทั่งในไทย กลับมีตัวเลขผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ ‘โควิด-19’ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยเฉพาะ ‘สหรัฐอเมริกา’ ที่ในเวลานี้ กลายเป็นประเทศที่มียอดผู้ป่วยยืนยันติดเชื้อ ‘โควิด-19’ สูงที่สุดในโลก อยู่ที่ 83,553 ราย แซงหน้าจีนและอิตาลีไปแล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) เคยออกมาเตือนแล้วว่า สหรัฐอเมริกาอาจเป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดแห่งใหม่

โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา
โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา

...

แต่การแพร่ระบาดของ ‘โควิด-19’ ไม่ได้คร่าชีวิตผู้คนเพียงอย่างเดียว แต่ยังส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วทั้งโลก โดยหลังจากที่สหรัฐอเมริกาเริ่มประกาศ ‘Lock Down’ (ล็อกดาวน์) ก็พบว่า ตัวเลขผู้ขอเข้ารับเงินสวัสดิการ สิ้นสุด ณ วันที่ 21 มีนาคม 2563 พุ่งสูงถึง 3,280,000 ราย ถือเป็นตัวเลขการว่างงานที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่เริ่มมีการทำสถิติเมื่อปี 2510

ด้วยเหตุนี้ สหรัฐอเมริกาจึงได้เดินหน้ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ ที่มีมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 65 ล้านล้านบาท ในรูปแบบของการปล่อยสินเชื่อเงินกู้, การมอบเงินช่วยเหลือโดยตรง และการจ่ายเงินชดเชยให้กับประชาชนที่ตกงาน อันเป็นผลจากการแพร่ระบาดของ ‘โควิด-19’

ขณะเดียวกัน สภาคองเกรสก็เตรียมผ่านงบประมาณกว่า 112,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 3.7 ล้านล้านบาท ในการทำการค้นคว้าวิจัยวัคซีนป้องกันเชื้อไวรัส ‘โควิด-19’ ด้วย

แล้วประเทศอื่นๆ มีมาตรการเยียวยา ‘โควิด-19’ อะไรกันบ้าง?

‘สหราชอาณาจักร’ เตรียมมาตรการอัดฉีดเศรษฐกิจ 397,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 13 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นรูปแบบการค้ำประกันเงินกู้ รวมถึงการระงับภาษีให้ธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจบันเทิง และธุรกิจบริการภายในประเทศ เป็นระยะเวลา 12 เดือน และจ่ายเงินช่วยเหลือประชาชนอย่างน้อย 3 เดือน

ส่วน ‘อิตาลี’ ก็เตรียมทุ่มเงินอัดฉีดกว่า 27,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 8.8 แสนล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ว่างงาน และระบบสาธารณสุขภายในประเทศ

อิตาลีมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มอีก 712 ราย ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้มียอดสะสมอยู่ที่ 8,215 ราย (27 มี.ค. 63)
อิตาลีมีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 เพิ่มอีก 712 ราย ภายในเวลา 24 ชั่วโมง ทำให้มียอดสะสมอยู่ที่ 8,215 ราย (27 มี.ค. 63)

ขณะที่ ประเทศไทยเองก็มีมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่เจอพิษ ‘โควิด-19’ ด้วยกัน 2 ระยะ เพื่อช่วยเพิ่มสภาพคล่องและลดภาระ

โดยระยะแรก เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ วงเงินรวม 1.5 แสนล้านบาท โดยให้สินเชื่อไม่เกิน 20 ล้านบาทต่อราย ในช่วง 2 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 2%, สินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานของประกันสังคม วงเงินรวม 3 หมื่นล้านบาท ดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ต่อปี เป็นระยะเวลา 3 ปี, คืนสภาพคล่องให้แก่ผู้ประกอบการภายในประเทศ ด้วยการลดอัตราภาษีหัก ณ ที่จ่าย เหลือ 1.5% ตั้งแต่เมษายน-กันยายน 2563, เร่งคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ประกอบการการส่งออก โดยแบ่งเป็น 2 กรณี คือ กรณีแรก ยื่นแบบทางอินเทอร์เน็ต ได้คืนภายใน 15 วัน และกรณีที่ 2 ยื่นแบบปกติ ได้คืนภายใน 45 วัน

รวมถึงหักเพิ่มภาษีดอกเบี้ยจ่าย จาก 1 เท่า เป็น 1.5 เท่า, ลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมของนายจ้างและลูกจ้าง ม.33 เหลือ 4% ส่วน ม.39 เหลือ 7% และหากไม่ปลดแรงงาน หักรายจ่ายค่าจ้างงานได้ 3 เท่า

รถโดยสารบางคันมีผู้โดยสารเพียง 2-3 คนเท่านั้น
รถโดยสารบางคันมีผู้โดยสารเพียง 2-3 คนเท่านั้น

...

และระยะที่ 2 สินเชื่อรายย่อยไม่เกิน 3 ล้านบาทต่อราย ใน 2 ปีแรก คิดอัตราดอกเบี้ย 3%, ยืดการเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล ภ.ง.ด.50 ภายใน 31 สิงหาคม 2563 และ ภ.ง.ด.51 ภายใน 30 กันยายน 2563

รวมถึงเลื่อนกำหนดเวลายื่นแบบฯ และชำระภาษีสรรพากร เช่น VAT หรือภาษีธุรกิจเฉพาะ ออกไปอีก 1 เดือน, เลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษีสรรพสามิตให้สถานบริการออกไป 3 เดือน (1 มี.ค. - 31 พ.ค. 63) โดยให้เสียภาษี 15 กรกฎาคม 2563

เลื่อนการยื่นแบบและชำระภาษีสรรพสามิตให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน เป็นภายในวันที่ 15 ของเดือนถัดไป ระยะเวลา 3 เดือน, ยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าที่ใช้รักษาและป้องกัน ‘โควิด-19’ เป็นเวลา 6 เดือน ถึงช่วงกันยายน 2563 และยกเว้นค่าธรรมเนียมจากการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้สินเชื่อส่วนบุคคลหรือเช่าซื้อลีสซิ่ง นับตั้งแต่ 1 มกราคม 2563 ถึง 31 ธันวาคม 2564

ส่วนจะมีมาตรการเยียวยาอะไรอื่นๆ อีกบ้างนั้น เชิญรับชม Update สถานการณ์ ‘โควิด-19’

ข่าวอื่นๆ :

...