‘โควิด-19’ อาจไม่ใช่แค่ไวรัสตัวร้ายแพร่กระจายทำลายสุขภาพของมนุษย์แต่เพียงอย่างเดียว แต่กำลังลุกลามสร้างความขุ่นข้องหมองใจ กลายเป็นชนวนความขัดแย้งระหว่างประเทศ
สถานการณ์ ‘โควิด-19’ (COVID-19) ไม่มีทีท่าจะสงบลง จากแค่ 10 กว่าประเทศในช่วงเดือนแรก ผ่านมา 2 เดือนกว่าๆ การแพร่ระบาดขยายวงกว้างมากกว่า 100 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อรวมทั่วโลกกว่า 1 แสนคน เสียชีวิตอีกมากกว่า 3 พันราย และมีแนวโน้มว่าตัวเลขจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบเท่าทวีทุกวัน สร้างความวิตกกันไปทั่วโลก
หลายประเทศที่มีตัวเลขพุ่งเอาๆ อย่างเกาหลีใต้ อิตาลี หรืออิหร่าน ก็ออกมาตรการคุมเข้มสกัดกั้นการแพร่ระบาดทุกวิถีทาง ขณะเดียวกัน เหล่าประเทศรอบข้างก็เกิดความระแวง ออกประกาศขึ้นเป็นประเทศกลุ่มเสี่ยง ห้ามคนเข้าประเทศก็มี จนกลายเป็นชนวนเหตุปมร้อนสั่นคลอนสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ที่เห็นกันแล้วชัดๆ คือ เกาหลีใต้กับญี่ปุ่น เมื่อญี่ปุ่นหวาดผวากลัวประชาชนจะติดเชื้อ ‘โควิด-19’ เพิ่ม ก็รีบงัดแนวทางมาตรการยกเลิกการให้และยกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวเกาหลีใต้ที่มาจากพื้นที่เสี่ยง (รวมถึงจีนด้วย) ส่วนพื้นที่อื่นๆ ก็จะต้องถูกกักตัว 14 วัน ก็สร้างความไม่พอใจให้กับเกาหลีใต้ทันที โต้กลับด้วยวิธีเดียวกัน ร้อนกันไปทั้งแถบ จนหลายฝ่ายกลัวว่าจะไม่จบอยู่แค่ ‘โควิด-19’ แต่อาจลุกลามจนสัมพันธ์ที่ง่อนแง่นอยู่แล้วจะยิ่งแตกหักกว่าเดิม
...
พอๆ กับ ไต้หวันและมาเลเซีย ที่ชนวนเหตุขัดแย้งก็มาจาก ‘โควิด-19’ เช่นกัน เมื่อไต้หวันถูกจัดเป็นส่วนหนึ่งของจีน ความรุนแรงของตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ถูกเหมารวมไปด้วย มาเลเซียออกคำสั่งห้ามนักท่องเที่ยวที่มาจากไต้หวันเข้ารัฐซาราวัก จนสร้างความไม่พอใจให้กับไต้หวันที่ถูกเหมารวมไปอย่างนั้น ออกมาโต้แย้งจนสุดท้ายมาเลเซียก็ยอมยกเลิก
นี่เป็นเพียงความบาดหมางเล็กๆ น้อยๆ ที่ค่อยๆ ปะทุขึ้นเท่านั้น หลังจากนี้ ‘โควิด-19’ จะกลายเป็นชนวนเหตุความขัดแย้งอย่างไรต่อไป ‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’ พาคุณผู้อ่านไปเปิดบทวิเคราะห์กับ รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ และปิดท้ายด้วยการเปิด 3 สมมติฐานที่ไทยต้องเผชิญ
"ความขัดแย้งจาก ‘โควิด-19’ มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา เพราะนี่เป็นเรื่องของความอยู่รอดของแต่ละประเทศ"
รศ.ดร.สมชาย มองว่า ในสถานการณ์ของ ‘โควิด-19’ ณ เวลานี้ ส่วนสำคัญ คือ ‘งบประมาณ’ เมื่อถึงจุดๆ หนึ่งก็จะเกิดปัญหาว่า ประเทศกำลังพัฒนาขาดเครื่องมือในการตรวจรักษาและเวชภัณฑ์ยาต่างๆ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ ฉะนั้น ความขัดแย้งในส่วนนี้ก็มีโอกาสที่จะเกิดขึ้นได้ เพราะเป็นเรื่องของความอยู่รอดของแต่ละประเทศ ที่แม้แต่ภายในประเทศเองก็มีความขัดแย้งเกิดขึ้นเช่นกัน
"แต่ละฝ่าย แต่ละประเทศ
ต่างพยายามปกป้องตัวเอง"
จากคำวิเคราะห์ของ รศ.ดร.สมชาย ทำให้นึกถึงภาพยนต์แนวผจญภัยหรือเอาชีวิตรอดในหลายๆ เรื่อง ที่ในระหว่างทางกว่ากลุ่มตัวเอกจะรอดปลอดภัยก็ต้องเจอกับการดิ้นรนหนีเอาชีวิตรอดในวิธีต่างๆ หากมองในมุมของผู้ชมที่ดูภาพยนตร์ก่อนนั้น เราคงจะรู้สึกว่าการกีดกันไม่ให้เข้าไปยังดินแดนปลอดภัยช่างเลือดเย็นนัก แต่หากมามองถึงสถานการณ์ ‘โควิด-19’ ณ เวลานี้ ที่หลายๆ ประเทศ รวมถึงไทย ที่พยายามงัดมาตรการป้องกันตัวเองออกมาใช้ ก็ต้องลังเลในการตัดสินนั้นอยู่เหมือนกัน
และในช่วงระหว่างการตัดสินว่า ควรจะกีดกันหรือช่วยเหลือ ก็กลายเป็นชนวนเหตุความขัดแย้งในประเทศและนอกประเทศไปเสียแล้ว
โดย รศ.ดร.สมชาย มองว่าชนวนเหตุที่จะนำไปสู่การขัดแย้งมีอยู่หลักๆ ประมาณ 2-3 เรื่อง คือ 1) การใช้มาตรการครอบคลุมที่เกี่ยวข้องกับมาตรการการเดินทาง, 2) ภัยคุกคาม ‘โควิด-19’ กระทบกับแต่ละประเทศในลักษณะที่แตกต่างกันไป เช่น ประเทศที่รวยก็จะมีความสามารถในการป้องปรามเพียงพอ แต่ประเทศที่จนก็จะเกิดปัญหา ต้องอาศัยการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และ 3) การควบคุมเส้นทางเดิน ยกตัวอย่างที่เห็นเป็นรูปธรรม กรณีของตุรกีกับกรีซที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ซีเรียและคลื่นอพยพ เกิดเป็นประเด็นชายแดน นำไปสู่ความขัดแย้งที่จะทำให้เกิดการกีดกันไม่ให้อีกประเทศหนึ่งข้ามไป หวั่นจะเกิดโรค ซึ่งก็มีโอกาสที่จะเกิดภายใต้ ‘โควิด-19’ นี้
...
"โอกาสที่จะเกิดการขัดแย้งจะเป็นเรื่องของการเคลื่อนย้าย และหากว่า พรมแดนที่ติดกันมีเรื่องของความบาดหมางหรือขัดแย้งมาก่อน ‘โควิด-19’ ก็จะยิ่งเพิ่มน้ำหนักความขัดแย้งให้สูงขึ้น"
หรือแม้กระทั่งไทยเอง ที่หากถึงจุดหนึ่งที่อาจต้องมีการปิดประเทศหรือกีดกันต่างๆ ก็อาจจะเป็นปัญหาในเรื่องของคนที่ข้ามชายแดนเช่นกัน
"ปิดปั๊ป อีกประเทศหนึ่งอาจมีการตอบโต้ในเรื่องเหล่านี้ทันที"
ในส่วนนี้เห็นชัดๆ แล้วก็คงเป็นเกาหลีใต้กับญี่ปุ่น และไต้หวันกับมาเลเซีย อย่างที่ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ยกตัวอย่างไปตอนต้นแล้วนั่นเอง
...
มาถึงตรงนี้ รศ.ดร.สมชาย ยังคงยืนยันว่า โอกาสที่จะเกิดความขัดแย้งจาก ‘โควิด-19’ นั้นมีแน่นอน เพราะต่างฝ่ายต่างที่จะต้องป้องกันตัวเอง
และจากสถานการณ์ ‘โควิด-19’ ณ เวลานี้ รศ.ดร.สมชาย ก็มองว่า ‘เศรษฐกิจ’ ไม่ใช่สิ่งที่น่าห่วงที่สุด ถือเป็นเรื่องรอง เพราะปัญหาสำคัญ คือ ‘สุขภาพ’ ที่ยังไม่รู้เลยว่าจะจบที่ตรงไหน
"ในเวลานี้ นักเศรษฐศาสตร์ไม่ใช่พระเอก เป็นพระรอง"
ซึ่งถึงแม้ ‘เศรษฐกิจ’ จะเป็นเรื่องรอง แต่ รศ.ดร.สมชาย ก็ตั้งสมมติฐานที่อาจเกิดขึ้นจาก ‘โควิด-19’ กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ไว้ 3 สมมติฐานด้วยกัน ดังนี้
สมมติฐานแรก : แบบเบาที่สุด ทุกอย่างมีการคลี่คลายและจบลงในครึ่งปีหลัง หรือไตรมาสสุดท้าย ผลคือ เศรษฐกิจไทยอาจมีตัวเลขต่ำกว่า 1 หรือมากกว่า 1 นิดหน่อย
สมมติฐานสอง : บานปลายเกินกว่าสมมติฐานแรก ผลคือ ตัวเลขเศรษฐกิจไทยต่ำกว่า 1 หรืออยู่ที่ต่ำกว่า 0 ด้วยซ้ำ
...
สมมติฐานสุดท้าย : รุนแรง กรณีนี้มีผลกระทบเยอะที่สุด
ซึ่งสิ่งสำคัญหลังจากนี้ รศ.ดร.สมชาย เห็นว่า ไม่ใช่การบริหารตัวเลขทางเศรษฐกิจ แต่รัฐบาลต้องบริหารภายใต้งบประมาณจำกัด ให้ความสำคัญกับการปกป้องและการขยายตัวของ ‘โควิด-19’
"การขยายตัวหมายความว่า ถ้าคุณไม่มีงบประมาณเพียงพอ หรือการที่หน้ากากอนามัยไม่เพียงพอ ผลกระทบก็จะเยอะ รวมถึงการป้องกันการติดเชื้อ ดูง่ายๆ แม้แต่แรงงานผิดกฎหมาย (ผีน้อย) ที่มาจากเกาหลีใต้ ยังปล่อยให้มีการหลบหนีออกมา ก็จะนำไปสู่ประเด็นปัญหา และพอจำนวนคนเยอะๆ ถ้าไม่มีเครื่องมือในการตรวจเชื้อ หรือโรงพยาบาลไม่เพียงพอ แพทย์ไม่เพียงพอ ใน 80% ที่บอกว่าไม่เป็นอะไร สุดท้ายก็จะเป็น"
ฉะนั้น หากไม่อยากให้ ‘โควิด-19’ เป็นชนวนความขัดแย้งทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ รศ.ดร.สมชาย ย้ำว่า รัฐบาลต้องจัดลำดับความสำคัญ คือ การดำเนินการภายใต้งบประมาณจำกัดไม่ใช่เรื่องของการดุลการคลัง ต้องเตรียมเงินรองรับการป้องกันที่จะไม่ให้ ‘โควิด-19’ ขยายตัวเกินเลยไปกว่าที่จะควรจะเป็น นี่คือ อันดับ 1 ที่ต้องทำ.
ข่าวน่าสนใจ :
- พ่อค้าแม่ค้าเจอพิษ "โควิด-19" ร้านเงียบ คนหาย เปิด "โอกาส" ในภาวะวิกฤติ
- ต้นตอ "หน้ากากอนามัย" ขาดตลาด มือสองใช้ซ้ำ เสี่ยงอันตรายอย่างไร
- เจาะความจริง "เกาหลีเหนือ" ที่ถูกซ่อนใน "สหายผู้กอง" Crash Landing on You
- เบื้องลึกขุดย้าย "สถูป 300 ปี" นครพนม เหตุกีดขวางทางเดิน สู่ปมคัดค้าน
- 5G ไทยพร้อมหรือยัง? นับถอยหลัง IoT ตามติดชีวิต ถูก AI แย่งงาน