การระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) นับตั้งแต่ปลายเดือน ธ.ค. 62 ปัจจุบันสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ของประเทศไทยยังอยู่ในระยะที่ 2 ยังไม่พบการระบาด

กว่า 2 เดือนที่ต่อสู้กับโรคอุบัติใหม่นี้ ประชาชนต่างตื่ตัวหลังกระทรวงสาธารณสุขได้สร้างความเข้าใจให้กับสังคมในการแพร่เชื้อของโรคสามารถติดต่อได้ 2 กรณี คือ ละอองฝอยขนาดใหญ่จากการไอ จาม รดกัน ในระยะใกล้ 1 เมตร และการสัมผัสละอองฝอย ประเภทน้ำมูก น้ำลาย แล้วนำมือไปสัมผัส ตา ปาก หรือจมูก

เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกัน หนทางที่ช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อคือใส่ "หน้ากากอนามัย" หากไปในพื้นที่เสี่ยง คนพลุกพล่าน แออัด จึงเป็นสิ่งจำเป็น แต่เมื่อมีความต้องการทางการตลาดมาก หน้ากากอนามัยจึงขาดตลาด ส่งผลให้ราคาพุ่งสูง

หน้ากากอนามัยขาดตลาดเกิดจากอะไร?
ก่อนซื้อตรวจดูอย่างไรว่าปลอดภัยได้มาตรฐาน?
หน้ากากอนามัยมือสองควรใช้หรือ?

...

พลาดเป้า "หน้ากากอนามัย" ซื้อ 2 สิ่งทดแทน ป้องกันเชื้อ

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ลงพื้นที่สำรวจเมื่อวันจันทร์ที่ 2 มี.ค. 63 ตั้งแต่เช้า ตามหาความจริงจากร้านขายยากว่า 10 ร้าน ย่านจตุจักรและลาดพร้าว พบว่า หน้ากากอนามัยขาดตลาดจริงมีเพียง 3 ร้านที่มีหน้ากากอนามัยขาย ส่วนอีก 7 ร้าน ขายหมดแล้ว และไม่สามารถระบุได้ว่าจะมีมาขายอีกวันใด

แต่ละร้านวันที่สินค้ามาส่งต่างกัน ลูกค้าต้องหมั่นแวะมาสอบถามเรื่อยๆ เพื่อรู้วันที่แน่ชัดว่าหน้ากากอนามัยจะถูกส่งมาที่ร้านเมื่อไหร่ หากหน้ากากอนามัยเมื่อมาถึงร้านจะขายหมดไวมาก เพื่อป้องกันการซื้อไปกักตุนและแจกจ่ายให้ได้ใช้กันทั่วถึง ทางร้านจะจำกัดจำนวนชิ้นในการซื้อต่อคน

ความต้องการแรกของประชาชนจะมาถามหาซื้อ "หน้ากากอนามัย" แต่หากสินค้าหมดจะซื้อ เจลล้างมือและแอลกอฮอล์ทดแทน กำลังซื้อของประชาชนโดยมากอยู่ในวัยทำงาน นิยมซื้อหน้ากากอนามัยแบบกล่อง บรรจุ 50 ชิ้น จากการสอบถามพูดคุย ก่อนตัดสินใจซื้อจะมีการเดินถามราคาเทียบกันหลายๆ ร้าน บางคนเคยซื้อหน้ากากอนามัยมาตั้งแต่ราคาชิ้นละ 2.50 บาท กระทั่งปัจจุบันราคาพุ่งสูงถึงชิ้นละเกือบ 20 บาท ก็ต้องยอมจ่ายเพื่อความปลอดภัย

"นายทุน" ต้นตอ "หน้ากากอนามัย" ขาดตลาด

หน้ากากอนามัยที่จำหน่ายอยู่ตามท้องตลาดในวันที่ผู้สื่อข่าวเดินสำรวจ โดยมากเป็นหน้ากากอนามัยแบบ 3 ชั้นสีเขียวและหน้ากากอนามัย 3D ราคาขายแต่ละร้านไม่แตกต่างกันมากนัก บางร้านมีลูกค้าประจำสั่งไว้ หรือให้ลงชื่อจอง บางร้านอำนวยความสะดวกแอดไลน์เพื่อสอบถามว่าหน้ากากอนามัยมีมาขายวันใด

สำหรับ "ราคาขาย" ที่สำรวจพบมีทั้งขายในราคาตามรัฐกำหนดและขายเกินราคา เมื่อถามถึงเหตุผล เจ้าหน้าที่ร้านหนึ่งระบุเกิดจากรับมาด้วยทุนที่สูงจึงต้องขายแพง ซึ่งการขายเกินราคา แต่อย่างไรก็ดีสำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) มีการเดินสุ่มตรวจตลอดเวลา หากพบร้านใดขายเกินราคาจะโดนปรับเงินและอาจถูกฟ้องดำเนินคดี

"สินค้าไม่ได้ขาดตลาด แต่ที่ไม่มีของ เพราะนายทุนกักตุนหน้ากากอนามัยไว้ ที่รับมาก็ต้องขายแพง ได้กำไรเพียงเล็กน้อย" เจ้าหน้าที่ขายร้านค้าหนึ่งให้เหตุผล

...

"หน้ากากมือสอง" วิธีสำรอง ใช้ซ้ำ เสี่ยงอันตรายอย่างไร

ระหว่างลงพื้นที่สำรวจ ผู้สื่อข่าวยังพบประเด็นน่าตกใจ การซื้อขายหน้ากากอนามัยไม่ได้มีเพียงในร้านค้าเท่านั้น ตามริมทางเดินพบแผงขายหน้ากากอนามัยเป็นช่วงๆ ราคาต่อชิ้นขายแพงกว่าร้านขายยา และทั้งๆ ที่ไม่สามารถป้องกันไวรัสและฝุ่น PM 2.5 ได้ กลับติดป้ายว่า "ป้องกันได้" แต่ประชาชนสนใจแห่ซื้อเป็นจำนวนมาก ด้วยเห็นว่า "มีใส่กันไว้ ดีกว่าไม่ใส่อะไรเลย"

เนื่องจากปริมาณความต้องการหน้ากากอนามัยของประชาชนพุ่งสูง สวนทางกับจำนวนหน้ากากอนามัยที่หาซื้อยากยิ่งกว่างมเข็มในมหาสมุทร จากการพูดคุยสอบถามพบว่า "การใช้ซ้ำ" เป็นวิธีที่บางคนตัดสินใจเลือกใช้ โดยใช้หน้ากากอนามัย 1 ชิ้นต่อ 2 วัน ในกรณีที่ไม่ได้ไอ จาม หรือทำหรือหน้ากากอนามัยไม่เลอะมากนัก บางคนก็นำหน้ากากอนามัยไปตากแดด เพราะคิดว่าเป็นการฆ่าเชื้อโรค กำจัดกลิ่น ให้สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำได้

...

ในสถานการณ์คนขวนขวายหาซื้อหน้ากากอนามัยที่ขาดแคลนนี้เอง จึงเป็นช่องโหว่ให้พ่อค้าแม่ค้าหัวใสฉวยโอกาส หลอกจำหน่าย หน้ากากอนามัยมือสองที่ใช้แล้วมาซัก รีดแล้วแพ็กขายอีกครั้ง การตกเป็นเหยื่อซื้อหน้ากากมือสองมาใช้ มีอันตราย เสี่ยงติดเชื้ออย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์สอบถาม นายแพทย์ สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข ได้ข้อเท็จจริงว่า หน้ากากอนามัย "ต้องไม่ใช้ร่วมกับคนอื่น"

ตามหลักการจริงๆ "ต้องไม่ใส่ซ้ำ" และคนที่ต้องใช้หน้ากากอนามัย นอกจากบุคลากรทางการแพทย์แล้ว คือ "ผู้ป่วย" เท่านั้น คนที่ไม่ป่วยหรือปกติไม่จำเป็นต้องใช้ แต่ด้วยในประเทศไทย ผู้ป่วยบางคนอาจไม่ได้ใช้ คนปกติจึงจำเป็นต้องใช้หากต้องอยู่ในสถานที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อ ในที่แออัด เช่น รถไฟฟ้า ซึ่งไม่แน่ใจว่าใครป่วยบ้างเพื่อป้องกันการรับเชื้อ

เมื่อหน้ากากอนามัยขาดตลาด คนแก้ปัญหาด้วยการใช้ซ้ำ นพ.สมศักดิ์ แนะนำวิธีเหมาะสม ถอดเก็บมือต้องสะอาด ผ่านการล้างมือ ด้านในที่สัมผัสกับใบหน้าต้องสะอาด ไม่มีสิ่งปนเปื้อน ไม่ได้สัมผัสกับสิ่งแปลกปลอม การหยิบใส่ซ้ำต้องยึดหลักความสะอาดเหมือนตอนถอด อีกทั้งต้องดูด้วยว่า ขอบทั้ง 4 ด้านของหน้ากากอนามัย คือ ขอบบน ขอบล่าง ขอบตรงแก้มทั้ง 2 ข้าง มีการเปื่อยยุ่ยหรือไม่ หากเปื่อยยุ่ยแต่ด้านในสะอาดก็ไม่สมควรใช้ 

...

ผุด "หน้ากากอนามัยนาโน" ลดการขาดแคลน ใช้ได้ 150 ครั้ง

การนำหน้ากากอนามัยไปตากแดดเพื่อฆ่าเชื้อโรค ลดกลิ่นแล้วนำมาใส่ซ้ำนั้น นพ.สมศักดิ์ยืนยัน "ไม่เป็นความจริงและไม่แนะนำให้ทำ" ส่วนหน้ากากอนามัยแบบผ้าที่ซักได้ ประสิทธิภาพไม่ดีเท่าหน้ากากอนามัย เนื่องจากไม่สามารถกันเชื้อโรคหรือฝุ่นละอองบางอย่างได้

เพื่อป้องกันปัญหาถูกโดนหลอกจำหน่ายหน้ากากอนามัยปลอมหรือมือสอง ควรซื้อจากร้านที่น่าเชื่อถือ เช่น ร้านขายยา ร้านสะดวกซื้อมีมาตรฐานผ่าน อย. การซื้อหน้ากากอนามัยที่ขายตามริมถนน คุณภาพหน้ากากอนามัยอาจไม่ได้มาตรฐาน เพราะอาจเกิดการปนเปื้อนฝุ่นโดยรอบ ส่วนการซื้อผ่านโลกออนไลน์อาจเสี่ยงถูกโดนหลอกโอนเงินแต่ไม่มีสินค้า และในอนาคตอาจจะพัฒนาผลิตหน้ากากอนามัยนาโน

"การใส่หน้ากากอนามัยมือสองที่ผ่านการทำความสะอาดแบบไม่มีประสิทธิภาพจะเป็นการนำเชื้อโรคอื่นๆ เข้าสู่ร่างกายได้ ตอนนี้เรากำลังจะทำวิจัยหน้ากากอนามัยนาโนที่เคลมว่าซักได้ 150 ครั้ง กำลังดูว่าเป็นเรื่องจริงได้มากหรือไหม" นพ.สมศักดิ์ให้ข้อมูล

ข่าวน่าสนใจ