อีกมุมชีวิต “คนไร้บ้าน” หัวใจแกร่งที่ถูกละเลยจากสังคม แต่ไม่เคยสร้างภาระให้ใคร และยังมีมุมดีๆ ที่น่าชื่นชมกับความซื่อสัตย์ในอาชีพตัวเอง ที่สังคมไทยยังไม่เคยรู้มาก่อน
อีกมุมหนึ่งของ “คนไร้บ้าน” (Homeless) ซึ่งบางคน “มีบ้าน แต่ไม่ยอมกลับบ้าน” กลับเต็มใจใช้ชีวิตเร่ร่อนกิน นอน ริมถนน ทนให้ยุงกัดตามที่สาธารณะ ในสายตาใครหลายๆ คนมักมองและสรุปตัดสินต่างๆ นานา บ้างหาว่าเป็นคนบ้า น่ากลัว แต่น้อยคนที่จะมองถึงปมปัญหาอันแท้จริงก่อนออกจาก “บ้าน” เขาเจอปัญหาอะไร หลังยึดท้องฟ้าเป็นหลังคาบ้านในแต่ละวันต้องเจอกับเรื่องเลวร้าย เสี่ยงอันตรายอย่างไร
“คนไร้บ้าน” ที่หลายคนมองว่าไม่เกี่ยวข้องและไกลตัว หากได้รู้เรื่องราวชีวิตของ “คุณกอล์ฟ” แล้ว ภายภาคหน้าคุณหรือคนในครอบครัวอาจต้องกลายเป็น “คนเร่ร่อน ไร้บ้าน” ก็เป็นได้ หาก “บ้าน” ที่อาศัยมาตั้งเเต่เกิดไม่ใช่ “บ้าน” แห่งความสุข ความอบอุ่นอีกต่อไป
...
ตลอด 2 วัน 1 คืนที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ได้พูดคุย เรียนรู้วิถีชีวิตของคุณกอล์ฟ ทำให้รู้และเข้าใจว่าคนไร้บ้านที่ถูกละเลยจากสังคม แต่เขาไม่เคยสร้างภาระให้กับสังคม ที่สำคัญยังมีมุมดีๆ ที่น่าชื่นชมกับความซื่อสัตย์ในอาชีพของตัวเอง ที่สังคมไทยคงยังไม่เคยรู้มาก่อน
สารพัดปมเหตุในบ้าน สร้าง คนเร่ร่อน ไร้บ้านสู่สังคม
การอยู่ต่างจังหวัดมีรายได้ไม่แน่นอน ทำไร่ทำนาต้องพึ่งพาธรรมชาติ ยามแล้งขาดรายได้ แถมเป็นหนี้สิน เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของปัญหาปากท้อง อีกทั้งชีวิตคู่ล้มเหลว รวมถึงการ “คับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก” ทั้งหมดนี้จึงเป็นเหตุผลให้คุณกอล์ฟ ซึ่งขณะนั้นอยู่ในวัย 25 ปี ตัดสินใจลาจากบ้านเกิด อ.โพธิ์ประทับช้าง จ.พิจิตร เดินเท้าและเก็บกระป๋องมาขาย จ.นครสวรรค์ เมื่อมีเงินก็นั่งรถไฟเข้า กทม. และมาใช้ชีวิตเร่ร่อน ไร้บ้าน ณ บริเวณเจดีย์ขาว สนามหลวง
ทักษะเอาตัวรอดอย่างแรก คือ ซื้อหนังสือพิมพ์มาปูนอนริมถนนในย่านที่คนเร่ร่อนอยู่กันพลุกพล่าน เพื่อป้องกันการโดนปล้น แต่ไม่วายโดนคนเร่ร่อนด้วยกันปล้นจนได้จึงจำยอมให้เงินที่มีติดตัวเพียง 100 บาท เพราะหากขัดขืนต้องถูกรุมกระทืบ เพื่อความอยู่รอด อาชีพส่วนใหญ่ของคนไร้บ้านเพื่อหาเงินประทังชีวิตให้ผ่านไปได้ในแต่ละวัน นั่นคือ “การเก็บขยะขาย” ความรู้สึกวันแรกๆ แม้จะท้อ เขิน อาย แต่คุณกอล์ฟก็ต้องทำ เขาบอกเหตุผลกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า “ถ้าอายก็ไม่มีกิน”
2 มารยาทสำคัญ “เก็บขยะขาย” ไม่ถูกสังคมตีตราซ้ำ
สังคมของคนไร้บ้าน ย่อมเข้าใจความรู้สึกกันดี จึงเกิดการแบ่งปันซึ่งกันและกันโดยที่ไม่ต้องเอ่ยปาก รวมถึงการถีบจักรยานออกเก็บของเก่าขายในทุกคืนๆ ในเวลาสามทุ่ม - ห้าทุ่ม และ ตี 2 - ตี 4 ที่คุณกอล์ฟยึด 2 มารยาทมาตลอด 20 ปี นับตั้งแต่เลือกทางเดินชีวิตเป็นคนไร้บ้าน นั่นคือ ไม่แย่งชิงพื้นที่ หากมีคนเร่ร่อนอื่นเก็บขยะอยู่ก็จะเลยผ่าน แล้วจึงจะย้อนกลับมาดูจุดเดิมอีกครั้ง ค้นหาของที่พอเหลือนำไปขายได้
...
มารยาทในการเก็บขยะอีกอย่าง คือ หลังคุ้ยขยะแล้ว มัดปากถุงให้เหมือนเดิม ไม่ทำสกปรก เลอะเทอะ เพราะไม่ให้สังคมมาว่ารื้ออย่างเดียวไม่เก็บกวาด ในแต่ละค่ำคืนคุณกอล์ฟจะปั่นจักรยานไปกลับหลายสิบกิโลฯ ขยะต่างๆ ที่คนอื่นทิ้งเพราะไร้ค่า แต่กลับคนเร่ร่อนแล้วเปรียบเหมือนทองคำ นอกจากนำไปขายตลาดรับซื้อของเก่าได้เงินแล้ว ของบางอย่างก็นำกลับไปใช้เอง กลายเป็นของใหม่ในชีวิต หากวันใดโชคดีเจอคนทิ้งรองเท้า เสื้อผ้า กระเป๋า
“ชีวิตสุขบ้าง ทุกข์บ้าง เศร้าบ้างก็ต้องทน หน้าฝนลำบากหน่อย ฝนตกก็ต้องหลบฝน เคยค้นขยะเจอขวดแตกบาดมือก็ใช้น้ำล้างแผลแล้วก็หาเก็บขวดต่อบางทีเก็บขวดตามถุงขยะ เดินผ่าน บางคนปิดจมูกว่าเหม็น ว่าน้ำอาบบ้างไหม หาว่าเป็นขยะสังคม แต่ผมชินแล้ว ถ้าไม่ทำก็ไม่มีกิน ผมมีบ้าน แต่ไม่อยากกลับ กลับไปก็เท่านั้น 3-4 เดือนจึงจะมีรายได้ มันขึ้นอยู่กับภัยธรรมชาติ”
เพราะต้นทุนชีวิตคนเรามีไม่เท่ากัน การตัดสินใจแก้ปัญหาของแต่ละคนก็ย่อมไม่เหมือนกัน แต่ละปัญหาหากไม่เจอกับตัวเองก็คงไม่เข้าใจความรู้สึกเช่นกัน ดังเช่น “คุณกอล์ฟ” ที่ขอเลือกพื้นที่สาธารณะข้างถนนเปรียบเหมือนบ้านที่ไม่มีหลังคาให้ได้อยู่กิน นอนที่ถึงจะลำบากแค่ไหน แต่ก็สบายใจกว่าที่จะต้องกลับไปอยู่บ้านเกิดที่มีหลังคาบ้าน แต่อยู่แล้วไม่สบายใจ ไม่มีความสุข แม้ลูกสาวบอก “พ่อมีบ้านนะ ไม่ใช่ไม่มีบ้าน กลับบ้านนะ” แต่คุณกอล์ฟก็ขอเลือกใช้ชีวิตคนไร้บ้านต่อไป เหตุเคยกลับบ้านครึ่งเดือน สองวัน บางครั้งอยู่ไม่ถึงวันก็กลับ กทม. เลย เพราะคับที่อยู่ได้ คับใจอยู่ยาก เกิดปัญหาที่ดินทำให้ไม่เข้าใจกันกับคนในครอบครัว
...
“อยู่แบบนี้ไม่มีใครมากวน ไม่กวนใคร หากินเลี้ยงชีพไปเรื่อยๆ ตามประสาคนข้างถนน แต่สบายใจที่ไม่ต้องรับรู้เรื่องที่ทำให้ไม่สบายใจ กลับบ้านทีปัญหาร้อยแปด เรื่องไม่เป็นเรื่องถึงอยู่ไม่ได้ มาเป็นคนเร่ร่อนจะว่าหนีปัญหาก็ได้ ปัญหามีไว้แก้ แต่ผมแก้ไม่ไหว เลือกไม่รับรู้ดีกว่า”
คนไร้บ้าน งานไร้เกียรติ แต่ภูมิใจได้ทำหน้าที่ชดเชยให้ พ่อ ลูก
ตลอด 2 วัน 1 คืนที่ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ได้เรียนรู้โลกส่วนตัว “คุณกอล์ฟ” และคนไร้บ้านย่านคลองหลอด กทม. ทำให้เข้าใจและเห็นการใช้ชีวิตของพวกเขาในมุมหลากหลาย บางคนเลือกที่จะอยู่อย่างเก็บกด โดดเดี่ยว ไม่กล้าแม้แต่จะสบตาใคร หลายคนคิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อ แม่ พี่ น้อง แต่เมื่อไปพูดคุยแล้วคำตอบได้เหมือนกันคือ “ไม่อยากกลับบ้าน”
คนไร้บ้านย่านคลองหลอด ใกล้สนามหลวง หากจะอาบน้ำต้องซื้ออาบครั้งละ 5-10 บาท แต่สำหรับ “คุณกอล์ฟ” ในความโชคร้ายยังมีความโชคดีจากพฤติกรรมของตัวเองที่นำขยะมาขายให้ร้านรับซื้อของเก่านานหลายปี เจ้าของร้านมีเมตตาเห็นถึงความขยันขันแข็ง และนิสัยที่ไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร จึงจ้างทำงานเป็นรายวัน ทำหน้าที่กวาดร้าน และช่วยยกของ นอกจากนี้ยังให้อาบน้ำฟรีแลกกับการนอนริมถนนช่วยเฝ้าร้าน
...
การเป็นคนไร้บ้าน ทำงานเก็บขยะขาย แม้ไม่มีเกียรติทางสังคม แต่มันเป็นสิ่งที่คุณกอล์ฟรู้สึกภูมิใจที่สุด แม้จะลำบาก ไร้ที่พึ่ง แต่มันคือความสุขและความเต็มใจที่ได้ทำเพื่อคนที่รัก นั่นคือ พ่อ ลูก และหลานทั้งสอง ส่งเงินไปให้พวกเขาใช้อาทิตย์ละครั้ง หรือเดือนละ 2-3 ครั้ง ขึ้นอยู่กับรายได้ และแม้ทุกคราวที่คนเร่ร่อนต้องเผชิญปัญหาชีวิต จะเจอเรื่องราวแย่แค่ไหน แต่พวกเขาก็มีหัวใจที่แกร่ง ไม่คิดฆ่าตัวตาย ซึ่งต่างกับสังคมปัจจุบันที่หนีปัญหาด้วยการตายมากขึ้น
“เป็นความสุขที่ได้ตอบแทนพ่อที่เลี้ยงเรามา ส่งให้พ่อ ลูก ชดเชยที่ไม่ได้อยู่เลี้ยงดูพวกเขา เวลาคิดถึงก็โทรหาลูก ได้ฟังเสียงก็สบายใจ ลูกก็โทรหา บางครั้งก็มาหาด้วย ชวนกลับบ้านตลอด แต่อยู่แบบนี้สบายใจดี มีอะไรให้ทำไปวันๆ จะได้ไม่คิดมาก สู้ไปเรื่อยๆ ลำบากก็ต้องทน แต่ไม่เคยคิดฆ่าตัวตาย ถ้าจะตายขอให้ตายด้วยตัวเอง อย่าฆ่าตัวเองเลย ชีวิตยังมีค่า”
20 ปีกับชีวิตคนไร้บ้านใน กทม. ก่อนลาจากกัน ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ถามคุณกอล์ฟ หากย้อนเวลากลับไปได้จะยังตัดสินใจออกจากบ้านมาเป็นคนไร้บ้านไหม คุณกอล์ฟ นิ่งสักพัก สายตามองไปยังท้องฟ้า ก่อนตอบคำถามสุดท้ายด้วยน้ำเสียงจริงจัง
“ผมมีบ้าน แต่ไม่อยากกลับบ้าน บ้านมีหลังคา แต่อยู่แล้วไม่มีความสุขก็อยู่ไม่ได้ มาอยู่บ้านที่ไม่มีหลังคา กิน นอนข้างถนน แล้วมีความสุขดีกว่า” คุณกอล์ฟในวัย 51 กล่าว
เรื่องราวทั้งหมดนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ไม่ได้ส่งเสริมให้คนแก้ปัญหาด้วยการหนีมาใช้ชีวิตอยู่ในที่สาธารณะ แต่ชีวิตของคุณกอล์ฟ สะท้อนว่าความรัก ความเข้าใจ และความอบอุ่นในครอบครัวคือสิ่งสำคัญ ปัญหาคนไร้บ้าน หรือผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ที่บางคนพิการ บ้า หรือ ป่วยทางจิต อาจต้องคุ้ยข้าวในถังขยะมากิน แต่พวกเขาก็เป็น “คน” ที่ต้องการกินอิ่ม นอนหลับ ยามป่วยไข้มียารักษาเช่นเดียวกับสิทธิที่มนุษย์คนหนึ่งควรได้รับ สังคมควรมองแบบมิตร พร้อมแนะช่องทางที่เขาควรได้รับ และช่วยกระตุ้นหน่วยงานภาครัฐให้เข้ามารับผิดชอบดูแล เหมือนเช่น “มูลนิธิอิสรชน” ที่คอยช่วยเหลือคนเร่ร่อนมานานหลายสิบปี
ข่าวน่าสนใจ
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ