อายุ 15 “ขายบริการ” สู่ “ผู้ป่วยเอชไอวี” กล้าเปิดเผยตัวตนเป็นนักกิจกรรม ขับเคลื่อนสิทธิ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีมากว่า 7 ปี หวังอยากเห็นคนในสังคมลดการตีตรา เข้าใจผู้ติดเชื้อมากขึ้น พร้อมเปิดโลกของคนเลือดบวก เซ็กซ์ไม่แพร่เชื้อ
“ไม่มีใครที่อยากทำผิดพลาดในชีวิต แต่เมื่อผิดพลาดไปแล้วเราควรรู้จักใช้ชีวิตให้มีความสุขกับสิ่งที่เป็น นำบทเรียนชีวิตของเราสร้างประโยชน์กับสังคมให้มากที่สุด” ด้วยเหตุผลนี้เอง นายกฤตนัน ดิษฐบรรจง หรือ “ปังปอนด์” จึงตัดสินใจกล้าเปิดเผยตัวตนและสถานะเลือดลบของตัวเองให้สังคมรับรู้มาเป็นระยะเวลากว่า 7 ปีแล้ว
การเปิดตัวต่อสาธารณะว่าเป็น คนเลือดบวก หรือติดเชื้อเอชไอวี (HIV) สิ่งที่เขามุ่งหวัง ปังปอนด์ในวัย 22 ปี เปิดใจกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ต่อว่า อยากให้คนรอบข้างและสังคมเข้าใจว่าผู้ติดเชื้อเอชไอวีไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด สังคมควรลด เลิกตีตรา เลือกปฏิบัติ ให้โอกาส และปรับทัศนคติต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีว่าก็เป็นเหมือนบุคคลปกติทั่วไป สามารถใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ปกติ ทั้ง กิน เที่ยว พักผ่อน รวมถึงเพศสัมพันธ์ที่ปลอดภัยที่ไม่แพร่เชื้อ ซึ่งทุกเพศควรตระหนักถึงความสำคัญ
"ความรักที่ดีคือมีความเข้าใจ ไม่ว่าคนทั่วไป หรือคนติดเชื้อเอชไอวีเหมือนผม อยากให้ทุกคนรักตัวเอง ขณะมีเพศสัมพันธ์ควรใช้ถุงยางอนามัยเป็นการป้องกันอย่างดีที่สุดที่ทุกคนควรทำ”
...
• อายุ 15 "ค้ากาม" ต้นเหตุ "ขาดสิ่งสำคัญ" ในบ้าน
ย้อนความทรงจำ 7 ปี ในความผิดพลาดของชีวิตปังปอนด์จนต้องกลายเป็นผู้ติดเชื้อเอชไอวีในวัยเพียงแค่ 15 ปีนั้น เขาเล่าอดีตอันขมขื่นกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ อย่างหมดเปลือก จุดเริ่มความแตกหักมาจากปัญหาครอบครัวที่สั่งสมตั้งแต่เขาอายุ 7 ขวบ เมื่อพ่อถูกจำคุกในคดีค้ายาเสพติด และแม่ได้พาแฟนใหม่เข้ามาอยู่ในบ้านย่านบางซื่อ กทม. ทั้งที่เขาไม่เต็มใจจากบ้านที่เคยสงบสุข ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นความไม่เข้าใจ ชีวิตปังปอนด์เริ่มมีมรสุมร้าย เพราะพ่อเลี้ยงไม่ชอบหน้า เกิดปัญหาทะเลาะกันประจำบ่อยครั้งทั้งกับแม่และพ่อเลี้ยงเพราะทำงานให้ไม่ตรงใจ บางครั้งรุนแรงหนักถึงขั้นถูกทำร้ายร่างกาย
กระทั่งเรียนอยู่ ม. 3 ฟางเส้นสุดท้ายขาดสะบั้น หลังถูกพ่อเลี้ยงขู่ฆ่า เขารู้สึกบ้านอยู่แล้วไม่มีความสุข ไม่มีใครรัก และกลัวพ่อเลี้ยงทำร้ายจึงหนีออกจากบ้านทันทีทั้งที่ไม่มีเงินติดตัวสักบาท ไปอาศัยอยู่เพียงลำพังในห้องที่ลุงเช่าทิ้งไว้แถว 'วังสราญรมย์' ด้วยวัยแค่ 15 ปี ที่ยังเด็กและอ่อนต่อโลกภายนอก (บ้าน) ความคิดยังแคบ อีกทั้งไม่มีเพื่อน ไม่มีใครให้ปรึกษา เมื่อต้องคิดทำงานหาเงินมาประทังชีวิต สิ่งที่ปังปอนด์คิดได้ในตอนนั้นคือ ขายบริการทางเพศตามที่เคยเห็นจากรายการสารคดีในทีวี
“วันแรกที่ทำ กลัวไปหมดทุกอย่าง จะทำหรือไม่ทำดีนะ ตำรวจจะจับไหม จะมีคนมาซื้อบริการหรือเปล่า รู้ทั้งรู้ว่าผิดกฎหมาย สุดท้ายก็ต้องทำเพื่อความอยู่รอด”
• เรื่องราวสุดช็อก 2 ปีไม่ได้กินข้าวกับแม่ ซ้ำ "คิดฆ่าตัวตาย"
ปังปอนด์ใช้ชีวิตนอนกลางวัน ออกทำงานกลางคืนทุกวัน กระทั่งวันหนึ่งแม่ตามเจอที่บ้านของลุง และบอกจะเลิกกับพ่อเลี้ยง ปังปอนด์เลยกลับบ้านแล้วแม่ก็แยกทางกับพ่อเลี้ยง ความสุขในครอบครัวกลับมาอีกครั้ง เขากลับไปเรียนต่อ ม.ปลาย ชีวิตกำลังไปได้ดีสมวัย ได้เพียง 6 เดือน เกิดมรสุมลูกใหญ่ที่ไม่คาดคิดจนต้องเสียน้ำตา หลังป่วยเป็นหนองในเทียม จากนั้นก็เจ็บป่วยง่ายบ่อยๆ เมื่อนึกย้อนขณะขายบริการทางเพศ ด้วยความไร้เดียงสา ไม่มีทักษะต่อรองปฏิเสธลูกค้าที่มีอายุมากที่ไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัยจึงตัดสินใจไปตรวจเลือดที่คลินิกนิรนาม พบติดเชื้อเอชไอวี
เกือบ 3 วัน หลังรวบรวมสติและความกล้าได้ ปังปอนด์ตัดสินใจบอกความจริงกับแม่ แต่ต้องช้ำใจและเข้าใจปฏิกิริยาของแม่ที่ไม่ค่อยมีความรู้และเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี โดยเข้าใจ 'เอชไอวี' ว่าเป็น 'เอดส์' โรคที่ติดต่อร้ายแรง ตายไว ไม่ยอมพูดคุยด้วยเป็นอาทิตย์ แยกของใช้ ไม่ยอมกินข้าวร่วมกันนานถึง 2 ปี
“ผมใช้เวลาเป็นปีกว่าจะยอมรับตัวเองได้ว่าเป็นผู้ติดเชื้อ เคยคิดฆ่าตัวตาย แต่ก็ให้กำลังใจตัวเองและใช้ความฝันที่อยากเป็นนักข่าวนำทางให้เราหันออกมาจากตรงนั้น แรกๆ ที่แม่ไม่ยอมรับ รู้สึกเสียใจ แต่มาคิดดูถ้าเราเป็นแม่ก็รู้สึกช็อกเหมือนกัน แต่หลังจากพาแม่ไปคุยกับหมอ เข้าไปทำกิจกรรมกับเพื่อนๆ แม่เริ่มเข้าใจและปรับตัวเข้ากันได้มากยิ่งขึ้น ตอนนี้ใช้ชีวิตร่วมกันปกติ ไม่ได้แยกของใช้ กินข้าวร่วมกันได้ถึงทุกวันนี้”
...
• เปิดเผยสถานะ มีเชื้อ HIV หวังลดตีตรา ขอแค่โอกาสจากคนในสังคม
อคติของคนในสังคมที่มีต่อผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่ปังปอนด์เจอในช่วงแรกๆ จากคนรอบข้างทำให้เขาเข้าใจความรู้สึกของวัยรุ่นที่อยู่รวมกับเชื้อ HIV ว่าทุกข์แค่ไหน สิ่งที่ต้องการคือคนที่เข้าใจความรู้สึก และการยอมรับและเชื่อใจได้จากสังคม นั่นจึงเป็นแนวคิดสำคัญให้เขายอมกล้าเปิดเผยสถานะการติดเชื้อของตัวเองต่อสาธารณชนเพื่ออยากให้สังคมรับรู้และให้ความเข้าใจกับผู้ที่อยู่ร่วมกับเชื้อ HIV ว่าผู้ติดเชื้อ “เอชไอวี” ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เป็นคนปกติคนหนึ่ง อย่าตีตราผู้ติดเชื้อเอชไอวีที่รูปร่างลักษณะในความเป็นจริงผู้ติดเชื้อเอชไอวี ไม่จำเป็นต้องผอม ดำ ผิวแห้งเสมอไป
หลายคนที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ดูแลดูแลตัวเองได้ดี รักษาด้วยการกินยาต้านไวรัสตรงตามเวลาเดิมทุกวันสม่ำเสมอเกิน 6 เดือนขึ้นไป ดูแลป้องกันไม่ให้ได้รับเชื้อเพิ่ม และตรวจไม่เจอพบเชื้อไวรัสในเลือดก็จะไม่สามารถส่งต่อเชื้อสู่ผู้อื่นได้ก็จะมีบุคลิกภาพ ผิวพรรณ สุขภาพร่างกายอ้วนสมบูรณ์ กินอาหารได้ตามปกติ แต่ในบางรายควรกินตามคำแนะนำของแพทย์ เนื่องจากแต่ละคนกินยาไม่เหมือนกัน และมียาบางตัวที่จำเป็นต้องงดทานอาหารบางอย่าง แต่อาหารพื้นฐานโดยทั่วไปกินได้ ยกเว้นการดื่มแอลกอฮอล์เพราะจะไปลดประสิทธิภาพของยา
...
เพื่อให้เกิดการยอมรับก็ต้องได้รับความเชื่อถือ ปังปอนด์จึงเริ่มหันมาเป็นนักกิจกรรมต่างๆ กับเพื่อนเยาวชนในหลายๆ ที่ กระทั่งเจ้าหน้าที่สังคมสงเคราะห์เห็นความมุ่งมั่นชักชวนมาร่วมทำงานด้านเอชไอวี เขาทำงานรณรงค์ด้านเอชไอวีอย่างจริงจัง สามารถรวบรวมเพื่อนสมาชิกที่ติดเชื้อเอชไอวี ได้รับทุนสนับสนุนจากองค์การยูนิเซฟ จัดตั้ง “เครือข่ายเยาวชนผู้ติดเชื้อเอชไอวี” ในปี 60 ทำให้ผู้ที่อยู่รวมกับ HIV ไม่รู้สึกโดดเดี่ยว เหมือนอยู่ตัวคนเดียว สามารถให้คำปรีกษาต่างๆ กับวัยรุ่นติดเชื้อ
“ยังมีคนไม่เข้าใจว่าคนติดเชื้อเอชไอวีก็สามารถทำงานร่วมกับคนไม่มีเชื้อได้ตามปกติโดยไม่ติดเชื้อ ไม่อยากให้สังคมตีตรา เลือกปฏิบัติ มีหลายที่เปิดใจยอมรับผู้ติดเชื้อเอชไอวี แต่บางที่ยังไม่เปิดรับ หน่วยงานภาครัฐยังเลือกปฏิบัติ ต้องเปิดใจรับข้อมูลที่ถูกต้อง เป็นมิตรก็จะอยู่ร่วมกันในสังคมได้ คนมีเชื้อเอชไอวีก็คนเหมือนกัน และไม่มีใครอยากทำผิดพลาด”
...
• HIV ติดยากกว่าไข้หวัด สิทธิ์ฟรีปีละ 2 ครั้ง "ควรใช้"
พฤติกรรมที่เสี่ยงติดเชื้อเอชไอวี มีเพียง 2 ช่องทางหลักเท่านั้น คือ 1. เพศสัมพันธ์ ที่ไม่สวมถุงยางอนามัย ทั้งทางช่องคลอดและช่องทวาร 2. ทางเลือด จากการใช้เข็มฉีดยาเสพติดร่วมกับผู้ติดเชื้อเอชไอวี และการติดเชื้อจากแม่(ผู้ติดเชื้อ)สู่ลูกซึ่งน้อยกว่า 2% หากแม่ฝากครรภ์และได้รับยาต้านไวรัสเอชไอวีต่อเนื่อง พฤติกรรมอื่นๆ ที่บางคนกังวล อาทิ จูบ กอด จับมือ หายใจ ใช้อุปกรณ์ต่างๆ ร่วมกัน ในการกินอาหาร สิ่งของส่วนตัวร่วมกัน อุปกรณ์ออกกำลังกายที่ฟิสเนส การใช้ห้องน้ำในที่สาธารณะ ปังปอนด์กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า “ไม่มีการติดเชื้อแน่นอน”
การปฏิบัติตัวที่ถูกต้องด้านเพศสัมพันธ์ของคนติดเชื้อ HIV ปังปอนด์เน้นย้ำกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ทุกเพศควรใช้ถุงยางอนามัย เพราะช่วยป้องกันการติดโรคติดต่อทางเพศที่ไม่ใช่เฉพาะเอชไอวีเท่านั้น ยังช่วยป้องกันซิฟิลิส หนองใน หูดหงอนไก่ ไวรัสตับอักเสบบีและซี ปัจจุบันถุงยางอนามัย มีแจกฟรีตามโรงพยาบาล คลินิกที่ให้บริการตรวจเอชไอวีทั้งของรัฐและ NGO เช่น ฟ้าสีรุ้ง สวิง เอ็มพลัส คลินิกนิรนาม คลินิกชุมชนสีลม และอื่นๆ อีกมากมาย
“ไม่ว่าเพศไหน สถานะเลือดบวกหรือลบ มีคู่คนเดียวหรือหลายคน มีความเสี่ยงหมด อยากให้ทุกคนรักตัวเอง ด้วยการใช้ถุงยางอนามัย คนไทยควรไปใช้สิทธิ์ตรวจเอชไอวีฟรี ปีละ 2 ครั้ง ทุกๆ 6 เดือน หากใครที่มีพฤติกรรมเสี่ยงมาก มีเพศสัมพันธ์ หรือใช้เข็มฉีดยาบ่อยควรตรวจทุกๆ 3 เดือน”
• Generation Gap หนทาง ลดขัดแย้ง "ครอบครัว"
กว่า 7 ปีที่ปังปอนด์ลุกขึ้นมาผลักดันและเป็นกระบอกเสียงแทนผู้ติดเชื้อเอชไอวี เป็นนักขับเคลื่อนสิทธิ์ผู้ติดเชื้อเอชไอวีทุกปีจะไปให้ความรู้เกี่ยวกับเอชไอวีตามสถานศึกษาต่างๆ บทบาทเพิ่มในปัจจุบัน "บรรณาธิการบริหารเว็บไซต์ส่องสื่อ" เขาบอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ไม่ใช่ในฐานะผู้อยู่ร่วมกับเชื้อ แต่ในฐานะมนุษย์คนนึงที่อยากให้สังคมอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียม สำหรับเยาวชนหรือวัยรุ่น หากมีปัญหาครอบครัวและคิดก้าวเดินมาใช้ชีวิตโดยลำพัง ขอให้นึกถึงเรื่องราวชีวิตของเขาไว้เป็นอุทาหรณ์
“เมื่อมีปัญหาในครอบครัว ควรเข้าไปพูดคุย ประนีประนอมกับพ่อแม่ในสิ่งที่เราต้องการ ขณะเดียวกันพ่อแม่ก็ต้องปรับความเข้าใจกับลูกให้ได้ เข้าใจเรื่องช่องว่างระหว่างวัย ความเข้าใจที่ต่างกัน (Generation Gap) แต่สิ่งสำคัญที่สุด เราต้องเคารพ รับฟังซึ่งกันและกัน ไม่ถือทิฐิว่าพ่อแม่ เป็นผู้ใหญ่ต้องถูกเสมอ ลูกต้องทำอย่างนั้น อย่างนี้” ปังปอนด์กล่าว
ข่าวน่าสนใจ
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ