THE OSCAR GOES TO PARASITE ... เมื่อส่วนผสมลงตัวและยอมเปิดกะลา

มาทำความเข้าใจไปด้วยกัน
อะไรคือ PARASITE?

PARASITE เป็นภาพยนตร์ที่ชูประเด็นความแตกต่างด้านชนชั้นให้เห็นอย่างเด่นชัดมากๆ และที่เก่งไปกว่านั้น คือ สามารถเล่าโดยใช้อารมณ์ตลกร้าย ตามแบบฉบับภาพยนตร์ของผู้กำกับชั้นครู อย่าง ‘อัลเฟรด ฮิตช์ค็อก’ (ALFRED HITCHCOCK) รวมถึงสามารถสื่อสัญลักษณ์ต่างๆ ในภาพยนตร์ตามขนบภาพยนตร์ฝั่งยุโรปออกมาได้อย่างลงตัว จนน่าทึ่ง!

“มันมีส่วนผสมของ ‘หนังยุโรป’ และ ‘หนังเอเชีย’ อย่างกลมกล่อม พอดีๆ ไม่ใช่หนังดูยาก แบบต้องปีนบันไดดูอย่างพวกหนัง ART, หนัง UNDERGROUND หรือหนัง POP จ๋า แบบ HOLLYWOOD ที่บางทีไร้ชั้นเชิงทางศิลปะ”

BY NEON
BY NEON

...

และสุดท้าย PARASITE คือ ภาพยนตร์ที่มีทุกอย่างตามที่ผู้ชนะรางวัลออสการ์ (OSCAR) ควรจะมี นั่นก็คือ บทที่ดีมาก การกำกับที่สุดยอด และการแสดงที่ยอดเยี่ยม

เหนืออื่นใด PARASITE คือ งานที่เชิดหน้าชูตาและกอบกู้ความเป็นภาพยนตร์นอกสายตา และภาพยนตร์ที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษของบรรดาผู้ที่ไม่ชื่นชอบการดูภาพยนตร์ SUBTITLE มาก่อน

แต่ ณ เวลานี้ PARASITE ได้ทำลาย THE WALL ที่ฉาบเคลือบด้วยทัศนคติซีกลบและจริตโบราณคร่ำครึเหล่านั้นให้กลายเป็น “เศษซากธุลี” ไปแล้ว

นี่คือคำจำกัดความสั้นๆ ของภาพยนตร์ PARASITE ที่สร้างปรากฏการณ์โลกตะลึง และเป็นผู้ยืนเด่นเป็นสง่าอย่างเกริกเกียรติบนเวที ออสการ์ 2020

ภาพยนตร์จากเอเชียที่สามารถกวาดรางวัลในสาขาหลักไว้ในอุ้งมือ ไม่ว่าจะเป็น สาขาบทภาพยนตร์ดั้งเดิมยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศยอดเยี่ยม สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม และที่สำคัญที่สุด สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม

จาก ‘นันทขว้าง สิรสุนทร’ นักวิจารณ์หนังฝีปากคมกริบและผู้คร่ำหวอดวงการภาพยนตร์ ที่จะมาร่วมถอดแผ่นฟิล์มเพื่อเข้าไปดูถึงเนื้อในของ ‘เจ้าตัวปรสิต’ นี้ว่า เหตุไฉนมันจึงสามารถเอาชนะ THE WALL สูง 1 นิ้ว ที่กางกั้นอเมริกันชนกับชาวโลกมาได้ยาวนานหลายสิบปี จนกระทั่งแทบจะไม่เคยมีภาพยนตร์ที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษ เข้าไปคว้ารางวัลใหญ่ๆ บนเวทีออสการ์ เลย

ซึ่งจากข้อมูลสถิติรางวัลของ ‘ออสการ์’ นับได้ว่า PARASITE คือภาพยนตร์ภาษาต่างประเทศเรื่องแรกในรอบ 92 ปี ที่ได้รางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมบนเวทีออสการ์ โดยมีรายได้รวมทั่วโลกกว่า 177.6 ล้านดอลลาร์ฯ หรือ 5.5 พันล้านบาท (*อัตราแลกเปลี่ยน 31.21 บาท) แน่นอนว่า สัดส่วนรายได้ของ PARASITE ย่อมมาจากเกาหลีใต้มากที่สุด อยู่ที่ 2.3 พันล้านบาท รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา 1.2 พันล้านบาท ที่เปิดตัวสัปดาห์แรกกวาดไปกว่า 12 ล้านบาท มีส่วนแบ่งตลาดถึง 21.2%

BY NEON
BY NEON

...

ชนะเพราะถึงเวลาที่ใช่และมีส่วนผสมที่ลงตัว ต้องจริต OSCAR

ไม่ได้เหนือความคาดหมายเกินไปเลย จริงๆ แล้ว เราไม่ควรตระหนกตกตื่นกับประเด็นนี้มากจนเกินไป เพราะมันมีแววมาตั้งแต่ปีที่แล้ว ที่ภาพยนตร์เรื่อง ROMA ซึ่งถูกนักวิจารณ์และสื่อทั่วโลกเก็งกันว่าจะฟาดเรียบ ทั้งสาขาภาพยนตร์ต่างประเทศและภาพยนตร์ยอดเยี่ยม แต่มันก็ไม่เกิดขึ้น

เอาละ! ในกรณีของ ROMA ภาพยนตร์มันลึกและดีจริง แต่อาจมีจุดบอดตรงที่ไม่ค่อยจะเอนเตอร์เทนเท่าที่ควร ซึ่งจุดนี้อาจเป็นจุดที่ทำให้ ROMA พลาดไป เพราะแม้ไม่ใช่ทุกๆ ปีที่หนัง ซึ่งมีส่วนผสมของความลึกและเอนเตอร์เทนมักจะได้ OSCAR แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว OSCAR มักจะมองส่วนผสมนี้เป็นหลัก คือ อย่างน้อยๆ ครึ่งหนึ่ง “หนังต้องสนุก” “คนดู ดูแล้วแฮปปี้” “ดูง่าย” อีกครึ่งหนึ่ง คือ “เมื่อดูสนุกแล้ว หนังมีความลึกหรือเปล่า” คือ ไม่ใช่ลึกแล้ว หนังดูยาก หรือเอนเตอร์เทนแล้วก็เอนเตอร์เทนแหลกลาญ ด้านลึกไม่มี มันต้องผสมกัน ลึกด้วย สนุกด้วย แบบนี้ ถึงจะได้ OSCAR

BY NEON
BY NEON

...

ฉะนั้น เราไม่ควรตกตื่นกันมากไปว่า ทำไม PARASITE มันได้รางวัลมากมาย มันถึงเวลาของมันมากกว่า เพราะหากวันหนึ่ง OSCAR ยังดื้อดึงไม่ยอมปรับตัว OSCAR เองนั่นแหละที่จะเสียคนไปเรื่อยๆ จากการที่โดนสื่อค่อนขอดไปเรื่อยๆ ว่า เฮ้อ ก็ไม่ให้หรอก หนังที่ไม่พูดภาษาอังกฤษ มันก็เสียตัวเขาเอง

หากย้อนกลับไปดูตลอดหลายปีที่ผ่านมาจากข้อมูลสถิติของ ‘ออสการ์’ มีภาพยนตร์ที่ไม่ใช่ภาษาอังกฤษเข้าชิงรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมเพียงแค่ 11 เรื่องเท่านั้น

• อะไรจะเกิดขึ้น หลัง PARASITE EFFECT

"ส่วนตัวผมเชื่อมั่นว่า หลังจากนี้ต่อไป THE OSCAR จะ GOES TO หนังที่ไม่ได้พูดภาษาอังกฤษมากขึ้นแน่นอน เพราะมันได้เกิดขึ้นแล้วในปี 2020" ผู้จับตาวงการหนัง HOLLYWOOD และภาพยนตร์จากทั่วโลก พูดอย่างมั่นอกมั่นใจกับ ‘ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์’

PARASITE ใบเปิดทาง
หนังเอเชียบุกตลาด HOLLYWOOD?

...

มีโอกาสมากแล้ว! และนับจากนี้ ทุกๆ ปี หากภาพยนตร์จากเอเชียทำได้ดี มีโอกาสทุกปีที่จะได้รางวัล OSCAR เพราะ PARASITE มันเปิดทางให้แล้ว

ถ้าหาก PARASITE ได้แค่สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยม มันคงยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แต่ในเมื่อสามารถพิชิตสาขาใหญ่ อย่างภาพยนตร์ยอดเยี่ยมได้ แสดงว่า OSCAR เริ่มยอมเปิดกะลาที่จะให้แต่หนังที่พูดภาษาอังกฤษแต่เพียงอย่างเดียวอีกต่อไป

"ผมจึงอยากปรบมือให้ OSCAR ในโทษฐานที่ว่า นายแน่มาก นายเยี่ยมมากปีนี้"

SPOILER ALERT

นับจากบรรทัดนี้เป็นต้นไป ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ขอเตือนแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ที่ยังไม่ได้รับชมภาพยนตร์ PARASITE โปรดละสายตา แล้วข้ามไปอ่านหรือรับฟังเสียงในช่วงอื่นก่อน เพราะจะมีการเปิดเผยเนื้อหาของภาพยนตร์บางส่วน ซึ่งอาจทำให้เสียอรรถรสในการรับชมภาพยนตร์เรื่องนี้ได้

อะไรคือ ความยอดเยี่ยมที่ซุกซ่อนตัวอยู่ใน PARASITE เพื่อเชิญชวนแฟนหนังไปร่วมกันตีความ?

"เรื่องนี้เอาจริงๆ ผมไปดูมา 2 รอบนะ รอบแรกไปดูแบบทั่วๆ ไปก่อน เพื่อซึมซับอารมณ์ที่หนังต้องการจะสื่อ ส่วนรอบที่ 2 ไปดูเพราะสงสัยใน MESSAGE บางอย่าง? และมันมี SYMBOLIC (สัญลักษณ์) ที่นุ่มลึก ซุกซ่อนอยู่ในหนังมากมายไปหมด ถ้างั้นเราไปเริ่มกันที่ SCENE ที่ผมชอบมากที่สุดในหนัง PARASITE ก่อนเป็นอันดับแรก" นักวิจารณ์หนังมากประสบการณ์ กล่าวอย่างอารมณ์ดีกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์

BY NEON
BY NEON

มันเป็น SCENE ครอบครัวยากจนแอบเข้าไปอยู่ในบ้านของครอบครัวคนรวย แต่แล้วจู่ๆ ครอบครัวคนรวยก็เกิดกลับมาบ้านด้วยอะไรบางอย่าง ทำให้ครอบครัวยากจนต้องไปหลบซ่อนกันใต้โซฟาภายในบ้าน ที่มีครอบครัวคนรวยนอนอยู่ด้านบน

จากนั้นคนรวยก็พูดขึ้นมาว่า ได้กลิ่นเหม็นๆ อับๆ เหมือนกลิ่นหัวไชเท้าของพวกคนที่ขึ้นรถไฟฟ้าใต้ดินที่มักจะมีกลิ่นแบบนี้

โดย DIALOGS นี้ มันสะท้อนถึงสภาพชีวิตของคนแบบหนึ่งที่ไม่มีทางออก คนมันยากจนมันก็ยากจน คนใช้รถไฟฟ้ามันก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ไปๆ มาๆ มันคล้ายกับว่า คนที่มีชีวิตแบบนั้น ที่ใช้รถไฟฟ้าใต้ดิน มันก็จะมีกลิ่นอับ อะไรแบบนั้น ติดตัวมา โดยที่ไม่ได้เกี่ยวกับอะไรเลย

ต่อมาพอรุ่งสาง ครอบครัวยากจนที่แอบอยู่ก็ค่อยๆ คลานหนีกันออกมา ซึ่งใน SCENE นี้ หากสังเกตกันดีๆ จะเห็นได้ว่า ตัวคนที่เล่นเป็นพ่อจะคลานยกก้นกระดืบๆ ออกมา ในลักษณะตัวแนบไปกับพื้น

"ซึ่งมันคือ อาการของตัวปรสิต ตัวไส้เดือน กิ้งกือ ที่หนังจงใจให้คนดูได้เห็นแบบเด่นชัดมากๆ"

SCENE นี้ เข้าใจว่า ผู้กำกับ บง จุนโฮ (Bong Joon Ho) ต้องการจะบอกว่า นี่ดูสิ มันเป็นปรสิ้ต ปรสิต (ลากเสียง) แม้กระทั่งการที่มันจะคลานหนีจากการถูกจับได้!

มันเลยเป็นฉากเดียวที่ โอ้... มีทั้งเรื่องกลิ่นหัวไชเท้าและการคลานของตัวละครที่มีลักษณะเหมือนตัวไส้เดือน กิ้งกือ ซึ่งมันเป็น "ตลกร้าย"

อีก SCENE หนึ่ง ตัดภาพมาที่บ้านของคนรวย เวลาเจ้าของบ้านมาถึงบ้านและจะเดินเข้าบ้าน หากสังเกตดีๆ เขาจะเดินขึ้นบันได ขึ้นไป! ซึ่งมันเป็นความพยายามต้องการสื่อว่า นี่คือ คนชนชั้นสูง

แต่พอตัดมาที่บ้านของคนจน เวลาสมาชิกบ้านคนจน มาถึงบ้านตัวเอง เวลาจะเข้าบ้าน เขาจะต้องเดินลงบันได ลงไป! ลึกลงไปใต้ดิน ยิ่งกว่า สถานี MRT อโศก เสียอีก! มันคือการแสดงออก ความแตกต่างด้านชนชั้น ผ่านตัวบ้านว่า โอ้โห แม้กระทั่งบ้านของคนรวย มันยังตั้งอยู่เหนือพื้นดิน ในขณะที่คนจนต้องไปใช้ชีวิตอยู่ใต้ดิน

ส่วนก้อนหินนำโชคที่ใครๆ สงสัยกันว่า ต้องการจะสื่อถึงอะไรนั้น ในความเห็นส่วนตัวตีความว่า มันน่าจะเป็นในเชิงปรัชญา (PHILOSOPHY) ที่ต้องการสื่อว่า ก้อนหินก้อนนั้น ที่ทุกคนคิดว่ามันคือก้อนหินนำโชค สุดท้ายแล้วมันนำโชคจริงหรือเปล่า? หรือถ้ามันนำโชคจริง ทำไมครอบครัวนี้จึงไม่มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นกันล่ะ?

แต่กลับกัน หากมันไม่ใช่ก้อนหินนำโชค PARASITE ต้องการให้เป็นคำถามปลายเปิดว่า ชะตากรรมที่ตัวละครต้องเผชิญ มันเกี่ยวข้องกับหินนำโชคก้อนนี้จริงหรือเปล่า?

นี่คือ ชั้นเชิงการสร้าง "มุกตลกร้ายที่นุ่มลึก" เพื่อกระแนะกระแหน แดกดัน ว่า "มนุษย์อะ ชะตากรรมชีวิต มันกำหนดได้ด้วยตัวเอง มันไม่ต้องมีอะไรต่อมิอะไรมานำโชค"

ส่วน SYMBOLIC อื่นๆ ที่แฝงอยู่ในหนังมากมายนอกเหนือจากนี้ อยากชวนแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ไปดูภาพยนตร์เรื่องนี้ แล้วลอง "ตีความ" กันเล่นๆ เพื่อเพิ่มอรรถรสในการรับชมกันดู

แต่หากท่านใดได้ไปดูมาแล้ว อยากลองชวนแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ช่วยกันวิเคราะห์ 3 สัญลักษณ์ในหนัง PARASITE ที่อยากท้าทายเพื่อเชิญชวนให้ลองตีความกันเล่นสนุกๆ ดู

     1. อยากให้ไปลองคิดกันดูว่า ทำไมลูกคนเล็กของครอบครัวคนรวยถึงต้องแต่งตัวเป็นอินเดียแดงตลอดเวลา แล้วที่สำคัญเหตุใด ตัวของฝ่ายตรงข้ามต้องดันมาแต่งชุดอินเดียแดงในงานปาร์ตี้

     2. ทำไมในบ้านคนรวยจึงต้องมีการจงใจแน่ๆ จัดวางสิ่งของพวกโต๊ะกินข้าวกับเก้าอี้ หรือเก้าอี้กับตู้เย็น หรือตู้เย็นกับบันไดบ้าน หรือบันไดบ้านกับทางเดิน ที่มันดูแบบห่างๆ กันมากเกินไป (แต่ข้อนี้ห้ามตอบนะว่า ก็บ้านเขามันหลังใหญ่ แบบนี้ไม่ได้)

     3. ทำไมหนังเรื่องนี้จึงมีการใช้แสงลึกลับดำมืดตลอดเวลา (ลากเสียง) ทั้งๆ ที่หลายๆ เหตุการณ์ มันเกิดขึ้นในตอนกลางวัน แต่ในฉากนั้น มันก็กลับมืดๆ ดำๆ อยู่ดี

BY NEON
BY NEON

นี่คือ 3 สัญลักษณ์ ที่ผมอยากชวนแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ได้ร่วมสังเคราะห์ ซึ่งหากใครตีความไม่ออก ในครั้งหน้าหากมีโอกาส ผมจะลองมาชวนคุยและเฉลยกันอีกสักครั้ง หากแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ต้องการ! หลังพูดจบคุณนันทขว้างยิ้มอย่างมีเลศนัย

ไม่ใช่ครั้งแรกที่พูดประเด็นชนชั้น แต่เหตุใดคราวนี้ บง จุนโฮ จึงเอาชนะใจ OSCAR สำเร็จ

ก่อนหน้านี้ บง จุนโฮ อาจจะพูดเป็นเสียงเล็กๆ น้อยๆ ไม่ได้พูดเป็นประเด็นหลักของเรื่อง แต่กับ PARASITE ผู้กำกับมากฝีมือคนนี้ ทั้งจงใจและออกแบบพล็อตเรื่อง เขียนบทขึ้นมามุ่งไปที่ประเด็นความแตกต่างระหว่างชนชั้น ขัดแย้งเหลื่อมล้ำ ได้แบบจะแจ้ง

หากใครยังไม่ทราบ ปัจจุบัน ประเทศเกาหลีใต้มีความแตกต่างทางด้านชนชั้นในสังคมสูงมาก (ลากเสียงยาว) ที่สุดแห่งหนึ่งของโลก หมายความว่า คนที่มีกินอาจจะมีเต็ม 100 คะแนน คนที่ไม่มีกินอาจจะมีแค่ 3 คะแนน เรียกว่า ห่างกันมากถึง 97 คะแนน จาก 100 เต็ม

เมื่อไม่นานมานี้ยังมีการออกแบบสอบถามในประเด็นที่ว่า คนเกาหลีใต้คิดว่าในประเทศมีความแตกต่างอะไรมากที่สุด ซึ่ง 2 หัวข้อที่ถูกเลือกมากที่สุด คือ

     1. บ้าน ที่มีแบบราคาสูงมากเกินไป จนกระทั่งคนจนไม่มีปัญญาซื้อ และราคาต่ำมาก แต่ต้องไปตั้งอยู่ในสลัม

     ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ขอเสริมประเด็น ‘บ้าน’ สักนิด ราคาห้องพักชั้นใต้ดิน หรือที่เรียกว่า ‘พันจีฮา’ ที่เห็นกันใน PARASITE นั้น คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์เชื่อไหมว่า ราคาเฉลี่ยสูงถึง 6,600-16,000 บาทต่อเดือนทีเดียว

BY NEON
BY NEON

     2. เงินเดือน ที่มีแบบเงินเดือนสูงมากไปเลย กับเงินเดือนน้อยมาก หมายความว่า หากเป็นระดับผู้บริหาร ก็จะมีเงินเดือนที่มาก (ลากเสียงยาว) ไปเลย แต่ถ้าหากเป็นคนทำงานใหม่ๆ หรือคนทำงานมานาน แต่ไม่ได้มีเงินเดือนที่สูง เงินเดือนก็จะอยู่ในเรตที่ต่ำไปเลย

ประเด็นเหล่านี้ คือ ประเด็นที่ปกคลุมอย่างหนาแน่นมากๆ ในบริบทสังคมของประเทศเกาหลีใต้เวลานี้

"ผมเข้าใจว่า นี่คือ “ส่วนหนึ่งแน่ๆ” ที่ บง จุนโฮ จึงเลือกนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์ ซึ่งแน่นอนว่า คนที่จะอินไปกับหนังเรื่องนี้ แน่ๆ ก็คือ คนที่ยืนอยู่บนพื้นแผ่นดินเดียวกับตัวเขา"

BY NEON
BY NEON

นอกจากนี้ สภาพเศรษฐกิจที่ตกต่ำทั่วโลก ทำให้การพูดถึงประเด็นความขัดแย้งทางด้านชนชั้น กลายเป็น "หัวข้อสากล" ไปโดยปริยาย เพราะทุกประเทศในโลกกำลังเผชิญปัญหาเรื่องความแตกต่างทางด้านชนชั้นเหมือนๆ กันหมด

"เพราะภาวะเศรษฐกิจโลกในเวลานี้ มันก็แย่ๆ เหมือนๆ กันไปหมดใช่ไหมครับ?" พี่เกี๊ยงของน้องๆ นักดูหนังยิ้มอย่างมีเลศนัยมากกว่าเดิมหลังสิ้นสุดประโยคนี้

• เมื่อประเทศปัญหาชนชั้นติดเทรนด์โลก THE OSCAR จึง GOES TO PARASITE

ใช่ๆ มัน LINK กัน หากเราสังเกตดีๆ หนังที่ได้ออสการ์แทบจะทุกปี มักจะมี "แง่มุมใดแง่มุมหนึ่ง" LINK กับสภาพสังคม ณ เวลานั้น เช่น ปี 1997 ที่ TITANIC ได้ออสการ์ปีนั้น ในสังคมก็มีเรื่องปัญหาการหย่าร้างสูงมาก (ลากเสียง) คนหย่ากันเยอะ คนไม่ค่อยแต่งงานกัน แล้วก็มีการวิเคราะห์กันว่า "ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ล้มเหลว"

TITANIC จึงโผล่ขึ้นว่า เพื่อตอกย้ำรักแท้มีอยู่จริง ผ่านความรักในอุดมคติ ระหว่างแจ๊คกับโรส ซึ่งอย่างน้อยๆ มัน แทนที่ความรักที่ดูไม่มีอยู่จริง แบบรักแท้ที่สาวๆ ใฝ่ฝันหา ซึ่งความรักของแจ๊คกับโรสมันทำให้เกิดความ "กินใจกับชาวโลก" หรือบางปีที่คนผิวสีถูกยิงในประเทศสหรัฐอเมริกา หนังที่มีตัวละครคนผิวสีก็จะขึ้นมาได้รางวัลออสการ์

การเชื่อมกันระหว่างออสการ์และสภาพสังคม ส่วนตัวผมเชื่อสนิทเลยว่า มันเป็นเรื่องจริง!

เพราะคู่ชิง อ่อนเกินไป THE OSCAR จึง GOES TO PARASITE

ไม่เลยครับ! เราต้องไม่ลืมนะว่า ก่อนจะถึงวันนี้ PARASITE กวาดรางวัลมามากมายแล้ว ทั้งลูกโลกทองคำ หรือปาล์มทองคำ และคู่ชิงของ PARASITE แต่ละเรื่องก็เป็นคู่ชิงที่เคยถูก PARASITE เฉือนเอาชนะมาได้ก่อนแล้ว

โดยเฉพาะเวทีปาล์มทองคำนั้นเป็นเวทีที่หินที่สุด หนัง หากไม่มีคุณภาพจริงไม่มีทางได้เข้าไปเหยียบเวทีนี้ได้แน่นอน แต่ PARASITE ก็ยังเป็นผู้ชนะมาแล้ว

    รู้หรือไม่? PARASITE เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกในรอบ 65 ปี นับตั้งแต่ Marty ในปี 1955 ที่ได้รับรางวัลภาพยนตร์ยอดเยี่ยมของออสการ์หลังจากได้รับรางวัล Palme d’Or ที่คานส์

หรือใน OSCAR ปีนี้ เฉพาะแค่สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม ผมบอกได้เลยว่า 8 ใน 9 ที่เข้าชิง OSCAR ล้วนแล้วแต่สามารถเป็นผู้ชนะได้ทั้งสิ้นและไม่น่าเกลียดด้วย ต่อให้เป็น JOKER เป็น 1917 เป็น THE IRISHMAN ก็ล้วนแล้วแต่มีความเหมาะสมทั้งสิ้น

ฉะนั้น สิ่งที่ PARASITE กวาดรางวัลมาได้มากมายขนาดนี้ เราต้องยอมรับว่า PARASITE แข็งจริง และ "มันจึงถือว่า ชัยชนะครั้งนี้ เป็นยิ่งกว่าปรากฏการณ์"

OSCAR SO WHITE ใช่ไหม? THE OSCAR จึง GOES TO PARASITE เพื่อแก้ตัว

ไม่จำเป็นครับ! SO WHITE นี่เป็นประเด็นแน่ๆ โดยเฉพาะช่วง 3-4 ปี หลังมานี้ แต่เอากันจริงๆ OSCAR ก็ถูกค่อนขอดมาทุกปีอยู่แล้ว

ถ้าหากถูกค่อนขอดว่า SO WHITE จึงหันไปแจกรางวัลให้ชาวเอเชีย มันก็มีคนทั่วโลกเลยนะ ที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นนี้ เพราะฉะนั้น หากเขาเลือกจะแก้ปัญหานี้ ด้วยวิธีที่ว่า มันก็จะถือว่าไม่ครอบคลุมสำหรับการแก้ไขปัญหาที่ถูกต้อง

เมื่อไม่นานมานี้ มีความพยายามตั้งคำถามกันว่า กรรมการ OSCAR เกือบ 1 หมื่นคน เป็นใครสักคนหนึ่ง “เขา” จะมีรูปร่างหน้าตาอย่างไร? ซึ่งผลสรุปของประเด็นนี้จากการนำผลคะแนนของ OSCAR ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา มาทำการประมวลผลก็คือ OSCAR จะเป็นผู้ชายผิวขาว มีอายุประมาณ 70 ปี แล้วก็เป็นคนค่อนข้างกระเดียดไปทาง “อนุรักษนิยม” (CONSERVATIVE)

แต่ปัจจุบัน OSCAR กำลังพยายามปรับอยู่นะ มีการเปิดรับกรรมการที่เป็นคนรุ่นใหม่ๆ เข้ามาเพิ่มทุกปี เพื่อเป็นการ ถัวเฉลี่ยกันไประหว่างคนรุ่นใหม่และคนรุ่นเก่า

ผมไม่ได้ชอบ OSCAR นะครับ แต่ผมมีความรู้สึกว่า OSCAR มีความพยายามที่จะทำอะไร ที่มันดีๆ และเป็นประเด็นร่วมสมัย ที่มัน OK กับสังคมโลก

OSCAR ไม่ใช่รางวัลที่ดีที่สุดของโลกภาพยนตร์ แต่เก่งที่สุดที่จะพยายามปรับตัวเองไปกับกระแสของสังคม เช่น เอาละปีนี้ เทรนด์โลกสิทธิสตรีมาแรง (FEMINISTS) ฉันก็ไป FEMINISTS ปีนี้ เรื่องผิวสีกำลังมา ฉันก็ไปผิวสี หรือเอ้า หากปีนี้เป็นเรื่องสงครามโลก ฉันก็ไปสงครามโลกได้ คือ OSCAR มอนิเตอร์โลกอยู่ตลอดเวลาว่า โลกกำลังไปทางไหน ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ผมปรบมือให้กับ OSCAR มากกว่า การที่ OSCAR จะมอบรางวัลให้กับภาพยนตร์เรื่องไหนเสียอีก

"OSCAR อายุจะ 100 ปี แล้วนะครับ ที่น่าชมมากๆ คือ เขายังสามารถ KEEP ตัวเองให้อยู่ในเรตติ้งที่ใช้ได้มาตลอด"

เหตุใดกำแพงสูง 1 นิ้ว ที่เรียกว่า SUBTITLE จึงถูกทำลาย

ในอดีตต้องยอมรับว่า ประเด็นนี้มีผลมากๆ ครับ! เพราะกรรมการ OSCAR และคนดูหนังชาวอเมริกันจะไม่ชอบอ่าน SUBTITLE ใต้จอของหนังต่างประเทศ และเมื่อบวกกับความเป็นจริงที่ว่า กรรมการทั้งหมื่นคนไม่มีทางจะดูหนังที่เข้าชิงได้ครบทุกเรื่องอยู่แล้ว ฉะนั้น หนังที่มี SUBTITLE จึงอาจเป็นตัวเลือกแรกๆ ที่จะถูกกรรมการ OSCAR ละเลย

แต่ในเมื่อปีนี้ กรรมการ OSCAR เลิกเกี่ยงงอนและตั้งกำแพงในเรื่องนี้ ด้วยการมอบรางวัลใหญ่ที่สุดให้กับ PARASITE ได้ ก็แสดงว่า ประเด็นนี้ไม่ได้น่าเป็นห่วงอีกต่อไป

พูดง่ายๆ คือ OSCAR กำลังค่อยๆ เปลี่ยน แต่มันคงไม่ถึงขนาดเรียกได้ว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงแบบพลิกฝ่ามือ เพราะอย่างไรเสีย OSCAR มันยังคงถูกกำกับดูแลภายใต้คนรุ่นเก่าอยู่

สำหรับประเด็นนี้ในความเห็นส่วนตัว ผมว่าเป็นเรื่องที่ดี เพราะจู่ๆ มันคงเป็นไปไม่ได้ที่จู่ๆ คุณจะไปบอกว่า เฮ้ย กรรมการ OSCAR อายุตั้ง 70 ปี มันโบราณไปแล้ว ต้องเปลี่ยนทันทีเลย โดยเอาคนอายุ 20 ปี เข้าไปแทนที่ในคราวเดียว

เพราะคนรุ่นใหม่จะอายุ 20 ปี 30 ปี หรือ 40 ปี วุฒิภาวะและประสบการณ์ดูหนัง “ก็ไม่ได้เก่ง” เท่ากับคน “รุ่นเก่า” ที่สุดแล้ว รางวัลทุกรางวัลมันต้องมีการผสมผสานกันระหว่างรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ มันไม่ควรจะเป็นรุ่นใหม่หรือรุ่นเก่าแบบ 100%

เพราะคนรุ่นเก่า ก็อาจจะอนุรักษนิยมเกินไป ส่วนคนรุ่นใหม่อาจจะได้ความสดใหม่ แต่ก็จะไม่ได้ความนุ่มลึกเรื่องประวัติศาสตร์หนัง

OSCAR CONNECT K-POP เพื่อการปูทางไปสู่อะไรใหม่ๆ

ยังไม่ถือว่าชัดเจนนักครับในประเด็นนี้ แต่สิ่งที่น่าสนใจที่สุด หลังเกิดปรากฏการณ์ PARASITE EFFECT คือ หนังจากโลกที่สามทั่วโลกมีโอกาสมากขึ้น และอาจพลิกโฉมอุตสาหกรรมบันเทิงในปี 2020 ให้เปลี่ยนแปลง รูปลักษณ์และหน้าตาไป เช่น เป็นไปได้ไหมที่ 5 ปี หลังจากนี้เป็นต้นไปจะมีกลุ่มทุนใหญ่ 2 ค่าย บินไปเกาหลีใต้ เปิดบริษัทใหม่ขึ้นมา แล้วถือหุ้นกันครึ่งๆ เพื่อถือกำเนิดอุตสาหกรรมหนังใหม่ๆ ขึ้น

อีกอย่าง K-POP บูมมานานแล้ว ด้วยเพราะมันถูกบรรจงสร้างขึ้นอย่างมีระบบ และถูกอุ้มชูอย่างจริงจังโดยรัฐบาลดินแดมกิมจิ มาตั้งแต่ปี 1991

“การอุ้มชู” ที่ว่านี้ มันถูกเรียกว่า นโยบาย 3S คือ 1. SEX คือ อนุญาตให้มีฉากเซ็กซ์แบบ “โจ๋งครึ่ม” ลงไปในหนังได้ หนังเกาหลีใต้ จึงมีฉากอีโรติก (Erotric) อะไรเยอะแยะได้เต็มไปหมด 2. SHOW คือ คอนเสิร์ต และ 3. SCENE คือ การอนุญาตให้มีการใส่วัฒนธรรมของชาวกิมจิลงไปในบางฉาก บางตอนของซีรีส์และภาพยนตร์อะไรได้หมด

BY NEON
BY NEON

พูดง่ายๆ คือ เกาหลีใต้ใช้นโยบาย 3S เปิดประเทศ ในแง่ของวัฒนธรรมบันเทิงอย่างเต็มรูปแบบ อย่างมีขั้นตอน ระเบียบแบบแผน จึงไม่น่าแปลกใจเลย เหตุใดวัฒนธรรม K-POP จึงได้แทรกซึมอยู่ในทุกอณู DNA ของชาวโลกมาได้ถึงร่วม 20 ปี

ส่วนตัวผมชื่นชมชาวเกาหลีใต้มากๆ ว่า พวกคุณเก่งจริงๆ ที่สามารถยืนระยะมาได้ร่วม 20 ปี โดยที่ไม่ตกไปจากเทรนด์โลก ทั้งๆ ที่ก่อนหน้านั้นเป็นเวลาหลาย 10 ปี วัยรุ่นกิมจิเองยังคลั่งไคล้วัฒนธรรม J-POP ของชาวแดนอาทิตย์อุทัยกันอยู่เลย แต่ปัจจุบันมันเปลี่ยนไปแล้ว

"หนังญี่ปุ่นในปัจจุบันถูกมองจากคนส่วนใหญ่ว่า มีเนื้อหาที่เครียดมากเกินไป เดินเรื่องช้า เล่าเรื่องแล้วดูยาก ซึ่งแตกต่างจากหนังเกาหลีใต้ ที่มีเนื้อหาจะว่าลึกก็ลึก แต่มันถูกทำให้สนุกได้"

แต่ที่ต้องได้รับคำชมเชยมากๆ คือ ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของ PARASITE นั่นคือ ค่าย JC ENTERTAINMENT ที่แสดงเจตนารมณ์ในการผลักดันภาพยนตร์เรื่องนี้อย่างจริงจัง ถึงขั้นทุบโต๊ะนำเงินมาให้ บง จุนโฮ เดินหน้าสร้างหนังต่อไป หลังจากถ่ายทำไปได้ระยะหนึ่ง แล้วเกิดมาสะดุดลงจากปัญหาเรื่องงบประมาณในการสร้าง

จริงจังในการผลักดันแค่ไหน ง่ายๆ เลยนะ แค่เฉพาะงบประมาณสำหรับการประชาสัมพันธ์หนังเรื่องนี้ก็อยู่ที่ประมาณ 200 ล้านบาทแล้ว!

“ตอนแรก ผมเดาเอาว่า ทางค่ายคงผลักดัน PARASITE ให้ถึงฝั่งแค่สาขาภาพยนตร์ต่างประเทศยอดเยี่ยมเท่านั้น แต่ใครจะไปนึกล่ะว่า มันจะกวาดสาขาหลักๆ มาได้มากมายขนาดนี้”

แล้วคุณรู้อะไรไหม? หลัง PARASIT กวาดรางวัล OSCAR มันเกิดอะไรขึ้น?

หุ้นบริษัท JC ENTERTAINMENT พุ่งขึ้นทันที 19.25% เป็นตัวเลขที่สูงมาก (ลากเสียง) มากๆ เลยนะครับ เรียกว่า แค่นี้คุ้มกับที่ทุ่มเทลงไปแล้ว

จริงจัง จริงใจ ไม่แทรกแซงพร้อมทุ่มเท K-POP จึงไม่ใช่เพียง พลุดอกไม้ไฟที่ค้างฟ้าเพียงชั่วครู่ เหมือนอุตสาหกรรมหนังฮ่องกง

ไม่เหมือนๆ หนังเกาหลีดังมาต่อเนื่องร่วม 20 ปีแล้วนะ แถมเป็นการก้าวเดินแบบยืนระยะมาอย่างแข็งแกร่ง และต้องไม่ลืมด้วยว่า ยุคนี้เป็นยุคโซเชียลที่มีการถ่ายเทวัฒนธรรม POP ผ่องถ่ายกันไปมา เพราะฉะนั้น การทำตลาดจะมีวิธีการใหม่ๆ เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ และที่สำคัญยังมีรัฐบาลเกาหลีใต้ ที่ให้การสนับสนุนอย่างต่อเนื่องและจริงจัง อยู่เบื้องหลังด้วย

ที่สำคัญ รัฐบาลเกาหลีใต้มีงบประมาณสนับสนุนวงการภาพยนตร์ก้อนใหญ่มากและให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่องด้วย หนังเรื่องไหนมีปัญหาจะลงมายืนเคียงข้างให้ความช่วยเหลือแบบจริงจัง

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ในระยะเวลาร่วม 20 ปี ในการใช้นโยบาย 3S ผลักดันวงการ K-POP เกาหลีใต้ จึงมีสุดยอดฝีมือในวงการภาพยนตร์เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งนอกจาก บง จุนโฮ แล้วที่น่าจับตาก็เช่น ปาร์ค ชานวุค (PARK CHAN WOOK) จากภาพยนตร์เรื่อง OLDBOY และกระบี่มือหนึ่งอีก ร่วมๆ 7-8 คน ที่มีฝีมือในระดับที่น่าจับตามอง และคนเหล่านี้สามารถสร้างฐาน FANBOY ที่เฝ้าติดตามผลงานมาได้จำนวนไม่น้อยแล้ว

ทั้งๆ ที่ งานของคนเหล่านี้ เป็นงาน ART ที่ต้องตีความหนังในระดับหนึ่ง จนถึงขั้นทำให้เกิด “ทัวร์ตามรอยหนัง” เพื่อไปดูโลเกชั่นการถ่ายทำ ได้ไม่แพ้ ซีรีส์ดังๆ ของเกาหลีใต้ ที่เคยสร้างปรากฏการณ์ก่อนหน้านี้มาแล้ว

ไม่จริงจัง ไม่จริงใจ แถมไล่แบน หนังไทย จึงไปไม่ถึงไหน

คือ ในบ้านเรา ต้องยอมรับว่า รัฐบาลยังไม่ได้มีนโยบายที่จริงจังและจริงใจ ในการเข้ามาให้ความช่วยเหลือ อุตสาหกรรมภาพยนตร์และวงการบันเทิงเหมือนของเกาหลีใต้ ทำให้คนในวงการหนังบ้านเราเขาก็เบื่อและเอือมระอากัน

ในขณะที่บ้านเรา บางปีมีงบประมาณให้จริง แต่ก็...เป็นงบที่ไม่ได้เยอะมากเมื่อเทียบกับปริมาณที่ต้องการให้ช่วยเหลือ ยิ่งไปกว่านั้น เท่าที่ผมทราบ เวลารัฐบาลลงมาช่วยเหลือ พอเอาหนังไปตรวจเซนเซอร์ หากไปเจอว่า นำเสนอมาไม่เป็นไปตามที่เขาถูกจริต หนังเรื่องนั้นก็จะถูกแบนหรือเซนเซอร์บางฉาก

มันกลายเป็นว่า พอคุณให้เงินเขา เพื่อให้เขาไปทำหนังแบบอิสระ คุณก็มีกรอบเก่าๆ ไปตีกันเอาไว้ว่า เฮ้ย คุณอย่าไปแตะเรื่องนี้นะเฟ้ย มันไม่โอเคนะ หรืออย่าไปแตะเรื่องนี้นะ มันไม่โอเค คือแบบนี้ เขาเรียกว่า คุณช่วยอย่างไม่จริงจังและจริงใจ ซึ่งมันแตกต่างจาก นโยบาย 3S ของเกาหลีใต้แบบสิ้นเชิง นักวิจารณ์มากประสบการณ์ กล่าวทิ้งท้ายแบบสิ้นหวัง