ไวรัสโคโรนาก็ต้องระวัง ฝุ่นก็ต้องเผชิญ ปัจจัยที่ 6 อย่าง ‘หน้ากากอนามัย’ ก็หาซื้อยากแสนยาก เท่าที่มีวางขายก็โก่งราคาแพงลิบลิ่ว กลายเป็นสินค้าที่ทั่วโลกต้องการ มูลค่านำเข้า-ส่งออกไทยเพิ่มขึ้นเกิน 100%

ณ วันอาทิตย์ที่ 9 กุมภาพันธ์ 2563 สถานการณ์การแพร่ระบาดของ ‘ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019’ หรือ 2019-nCoV ยังคงไม่สามารถควบคุมได้ ลุกลามแล้วกว่า 25 ประเทศ มียอดผู้ติดเชื้อทั่วโลก 37,558 คน เพิ่มขึ้นจากวันเสาร์ที่ 8 กุมภาพันธ์ 2563 มากถึง 2,676 คน หรือคิดเป็น 7.66% และเพิ่มขึ้นจากวันที่ 31 มกราคม 2563 มากถึง 282.23% โดยในจำนวนนี้เป็นผู้ติดเชื้อภายในประเทศจีน 37,251 คน และประเทศไทย 32 คน ส่วนยอดผู้เสียชีวิตก็พุ่งสูงเป็น 813 รายแล้ว

ขณะที่ ดัชนีคุณภาพอากาศ (US AQI) ที่ย่ำแย่ที่สุดของประเทศไทย ณ เวลา 17.00 น. ของวันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2563 อยู่ที่ จ.ระยอง เฉลี่ย 161 ส่วนกรุงเทพมหานครก็ไม่ได้ดีไปกว่ากัน เฉลี่ยที่ 120 และความเข้มข้น PM 2.5 เฉลี่ยอยู่ที่ 43.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

...

จากสถานการณ์ 2 ภัยร้ายที่เกริ่นมาข้างต้น ทำให้ประชากรทั่วโลกต้องสรรหาอุปกรณ์ปกป้องตัวเอง และหนึ่งในนั้น คือ ‘หน้ากากอนามัย’ ที่ ณ ขณะนี้ กลายเป็นสิ่งของที่หายากมากเหลือเกิน ที่มีวางขายก็โก่งราคาและบางอันก็ไม่ได้มาตรฐาน แต่หลายคนก็จำยอมจ่ายเพื่อให้ได้มาใช้แก้ขัด ส่งผลให้อุตสาหกรรม ‘หน้ากากอนามัย’ หรือ Surgical Masks มีอัตราการขยายตัวมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยปี 2561 มีมูลค่าตลาดทั่วโลกสูงถึง 753.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 2.4 หมื่นล้านบาท* และคาดการณ์ว่า ปี 2563 จะมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 3.34% (เทียบกับปีก่อนหน้า)

ย้อนกลับไปดูการนำเข้าและส่งออก ‘หน้ากากอนามัย’ ของประเทศไทย ในปี 2560 มีมูลค่าการนำเข้าสูงถึง 620.22 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 114% (เทียบปีก่อนหน้า) และมูลค่าการส่งออกสูงถึง 817.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 140% (เทียบกับปีก่อนหน้า) โดยมีประเทศสิงคโปร์, ญี่ปุ่น, จีน และลาว เป็นคู่ค้าหลักที่สำคัญ

และในปี 2562 ประเทศไทยมีมูลค่าการส่งออกรวมทั่วโลกของ ‘หน้ากากอนามัย’ ประเภทหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควันหรือสารพิษ สูงถึง 300 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 17.97% (เทียบกับปีก่อนหน้า) โดยประเทศที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด คือ ญี่ปุ่น อยู่ที่ 128 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 42.75% รองลงมา คือ สหรัฐอเมริกา มูลค่า 75 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 25% ส่วนประเทศจีนมีมูลค่า 1.3 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 0.44% สวนทางกับ ‘หน้ากากอนามัย’ ประเภทหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด ที่มีมูลค่าการส่งออกรวมทั่วโลกลดลง 8.57% หรือ 1.39 ล้านบาท โดยประเทศที่ไทยมีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุด คือ กัมพูชา อยู่ที่ 6.87 แสนบาท คิดเป็นสัดส่วน 49.50%

ด้านมูลค่าการนำเข้า ‘หน้ากากอนามัย’ ประเภทหน้ากากกรองฝุ่น หมอกควันหรือสารพิษ ของประเทศไทย ก็สูงถึง 232 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 129.93% (เทียบกับปีก่อนหน้า) โดยประเทศที่ไทยมีมูลค่าการนำเข้าสูงที่สุด คือ จีน อยู่ที่ 108 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 46.72% รองลงมา คือ สิงคโปร์ มูลค่า 56.29 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วน 24.28% ส่วน ‘หน้ากากอนามัย’ ประเภทหน้ากากชนิดที่ใช้ในห้องผ่าตัด มีมูลค่าการนำเข้า 19.29 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 18.39% (เทียบกับปีก่อนหน้า) ซึ่งกว่า 94.16% ของมูลค่าการนำเข้ามาจากประเทศจีน สูงถึง 18.16 ล้านบาท

จากมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของไทย เห็นชัดเลยว่า ความต้องการ ‘หน้ากากอนามัย’ เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะชนิดที่ใช้กรองฝุ่น หมอกควันหรือสารพิษ ที่มีอัตราการนำเข้าเพิ่มสูงขึ้นกว่า 129.93% สะท้อนให้เห็นถึงความวิตกกังวลด้านสุขภาพจาก PM 2.5 และไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ของคนไทยที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

...

ทำความรู้จัก ‘หน้ากากอนามัย’ ปราการป้องกันพิษร้าย

จากมูลค่าการนำเข้าและส่งออกของไทยเห็นแล้วว่า ‘หน้ากากอนามัย’ ไม่ได้มีเพียงแบบเดียว นอกจาก 2 ประเภทที่เกริ่นข้างต้นนั้น ยังมีแบบผ้าธรรมดาที่วางขายกันทั่วไปตามท้องตลาด โดย นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมควบคุมโรค อธิบายแบบเข้าใจง่ายกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า ‘หน้ากาก’ มีคุณสมบัติ มีคุณภาพ ที่นำไปสู่การใช้งานที่แตกต่างกัน ถ้าเป็น ‘หน้ากากอนามัย’ โครงสร้าง วัสดุที่นำมาทำ หรือเส้นใย ไม่ว่าจะทำจากวัสดุใดก็ตาม จะทำไม่หนาแน่นมาก เวลาสวมใส่จะไม่อึดอัด โครงสร้างหน้ากากจะไม่เล็กหรือกดรัดใบหน้ามากจนเกินไป ส่วนหน้ากากอีกประเภท วัสดุจะเกิดจากการถักทอที่หนาแน่น ทำให้รูเล็ก เป็นหน้ากากที่มีความสามารถในการกรองที่สูงขึ้น ตัวที่คุ้นเคยกันดี คือ N95 พอรูเล็กลง การกรองก็จะมากขึ้น เวลาสวมใส่การระบายก็น้อยลง ประกอบกับโครงสร้างของ N95 เป็นโครงแข็ง เพื่อให้หน้ากากไม่สัมผัสกับจมูกและปาก เวลาใส่จะโป่งๆ ครอบหน้า ผู้สวมใส่จะต้องไม่ให้มีช่องว่างระหว่างใบหน้ากับหน้ากาก

...

“เวลาใส่ N95 เราต้องรู้ว่าใส่เพื่อใช้งานอะไร อาทิ ไข้หวัดหรือโรคติดเชื้อจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 จะเหมาะกับบุคลากรทางการแพทย์ สาธารณสุข หรือคนที่จำเป็นต้องใกล้ชิดผู้ป่วย จะไม่ใส่ทั่วๆ ไป แล้วยังต้องใส่วัสดุอื่นๆ ป้องกันร่วมด้วย เช่น เสื้อกาวน์ ถุงมือ แว่นตา”

นพ.สุวรรณชัย ยังเน้นย้ำกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ถึงข้อพึงระวังการสวมใส่ ‘หน้ากาก N95’ ด้วยว่า N95 มีการออกแบบให้กรองและระบายอากาศน้อย จึงไม่เหมาะกับการใส่แล้วไปทำกิจกรรมที่ต้องออกแรง ออกกำลัง หรือหายใจแรงๆ เพราะจะยิ่งทำให้การหายใจที่ออกมาเป็นก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งจะเกิดการคั่ง ยิ่งทำให้อึดอัด ร้อน ใส่แล้วไม่สบาย ฉะนั้น หน้ากาก N95 จึงต้องเลือกใช้ให้ถูกประเภทการใช้งาน

อย่างช่วงนี้ที่มีข่าวเรื่อง PM 2.5 ก็ไม่ได้หมายความว่า ให้ใส่เพื่อป้องกันฝุ่นขนาดเล็กตลอดเวลา เวลาไปเจอพื้นที่ที่มี PM 2.5 จึงแนะนำว่า ถ้าเลี่ยงได้ให้เลี่ยงพื้นที่ดังกล่าว ถ้ามีกิจกรรมหนักๆ หรือออกแรงมากๆ ในพื้นที่ดังกล่าว ขอให้ลดหรืองด ถ้าจำเป็นเลี่ยงไม่ได้ แนะนำว่า ให้ใส่หน้ากากเฉพาะช่วงเวลาที่ลงไปในพื้นที่

...

“ขณะนี้ ยังไม่มีรายงานชัดเจนว่ามีผู้ที่เป็นลมเพราะหายใจไม่ออกจากการใส่หน้ากาก N95 หรือหน้ากากอนามัย แต่ในทางทฤษฎี บางคนที่ไม่แข็งแรงหรือมีโรคประจำตัว การที่เกิดภาวะอึดอัด หรือเกิดภาวะที่อากาศไม่ระบายจากการที่เราใส่หน้ากากโครงแข็ง ทำให้การไหลเวียนของอากาศในกรอบหน้ากากที่ใส่เกิดคาร์บอนไดออกไซด์คั่งมากๆ ก็สามารถทำให้เกิดการหมดสติได้ แต่กลไกร่างกาย ธรรมชาติของมนุษย์ เวลาเราอึดอัดจากการใส่อะไรครอบหน้า โดยปกติเราต้องเอาออกเพื่อให้เราสบายขึ้น ฉะนั้น คนที่ถึงขั้นเป็นลมอาจเกิดจากความประมาทของตัวเอง เช่น ในพื้นที่ที่มี PM 2.5 มากๆ เขาแนะนำว่าไม่ควรไปออกกำลังกาย บางคนที่ฝืนไปทำ ไปออกกำลังหนักๆ เหนื่อย ต้องหายใจเข้าออกแรงๆ แล้วยังใส่ N95 พวกนี้จะเป็นอันตรายต่อร่างกายกว่าพวกที่ไม่ใส่ซะด้วยซ้ำ

ส่วนกรณีที่มีการแนะนำกันว่า ให้ใส่ผ้าชุบน้ำรองไว้ข้างในหน้ากากอนามัย เพื่อช่วยให้หายใจสะดวกขึ้นหรือเพิ่มประสิทธิภาพการป้องกันนั้น นพ.สุวรรณชัย ยืนยันว่า "ทำได้ แต่ขึ้นอยู่กับการใช้งาน"

“ถ้าเอาไว้กันฝุ่นเฉยๆ การชุบน้ำอาจเพิ่มประสิทธิภาพในการกรองมากขึ้น แต่ไม่สูงมาก แต่ถ้าเอาป้องกันไข้หวัดหรือการติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไม่แนะนำให้ทำ หากมีการไอหรือจามจะทำให้หน้ากากเปียก การที่เอาผ้าชุบน้ำมาใส่ก็ไม่เหมาะสม เพราะทำให้เปียกมากขึ้น”

ฉะนั้นแล้ว การจะเลือกใช้หน้ากากอะไร ข้อแรกคือ ต้องรู้จักประเภทของหน้ากากว่าคุณสมบัติไว้ใช้ป้องกันอะไรได้แค่ไหน ตัวคุณภาพมาจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานหรือไม่ ข้อสองคือ เราต้องรู้ว่าเราใช้เพื่อกิจกรรมอะไร และเราก็ต้องปฏิบัติตามวิธีใช้นั้นให้ถูกต้องเหมาะสม

สุดท้าย จากการนำเข้าที่มหาศาลบวกกับการผลิตภายในประเทศ ทำให้ฉุกคิดว่า "ขยะหน้ากากอนามัยใช้แล้วทิ้ง" จะมีปริมาณมากเท่าใด? และถูกกำจัดด้วยวิธีใด?.

ข่าวอื่นๆ :

ข้อมูลอ้างอิง :

  • สถิติการค้า : กระทรวงพาณิชย์
  • ฐานข้อมูลโครสร้างอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์วัสดุอุปกรณ์ทางการแพทย์; โครงสร้างอุตสาหกรรมหน้ากากอนามัย : สถาบันพลาสติก
  • Disposable Face Masks Market Size, Share & Trends Analysis Report By Product (Protective, Dust, Non-woven), By Application (Industrial, Personal), By Distribution Channel, And Segment Forecasts, 2019-2025

*หมายเหตุ : อัตราแลกเปลี่ยน ณ 10 กุมภาพันธ์ 2563 : 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ เท่ากับ 31.26 บาท