เลือดแลกบทเรียนชีวิต จระเข้งับหน้า เย็บ 300 กว่าเข็ม เจ็บแต่ไม่หยุดล่าฝัน เปลี่ยนคำตำหนิ ดูถูกเป็นแรงผลักดัน มุ่งมั่นจนเป็น “หมอจระเข้” 10 กว่าปี จากนั้นผันตัวเป็น "โค้ชจระเข้" ถ่ายทอดความรู้ สืบสานเอกลักษณ์ไทยให้ทั่วโลกกล่าวขาน
สีหน้าอึ้ง ทึ่ง เสียงกรีดร้องด้วยความหวาดเสียว ก่อนตามด้วยเสียงปรบมือ คำชื่นชม ยกย่องในความเก่งกล้า หลังจบการแสดง ‘โชว์จระเข้’ ที่โด่งดังขึ้นชื่อของไทย กว่าจะโชว์จระเข้ทั้ง 9 รอบได้สนุกสนาน ตื่นเต้น ระทึกใจอย่างเช่นทุกวันนี้ อย่างที่รู้กันดีว่า จระเข้เป็นสัตว์ดุร้าย ไม่มี “หมอจระเข้” หรือ นักแสดงโชว์คนไหนไม่เคยถูกกัดเลือดอาบ
เพราะอะไร “หมอจระเข้” ยังเสี่ยงชีวิตสร้างชื่อเสียงให้ประเทศไทยต่อไป การฝึกจระเข้ให้เชื่อง และฝึกหมอจระเข้ให้เก่งมีเคล็ดวิธีอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบจาก นายสุทัศน์ คำอ่อนสา ผู้จัดการฝ่ายการแสดงโชว์ ของอุทยานหินล้านปีและฟาร์มจระเข้พัทยา จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่เบื้องหลัง บุกเบิกการแสดงโชว์ และเป็นโค้ชฝึกทั้งคนทั้งจระเข้มาแล้วเกือบ 20 ตัว มากว่า 30 ปี
...
เส้นทางชีวิตของ “โค้ชสุทัศน์” ไม่ได้เริ่มจากหมอจระเข้ในทันที เมื่อจบ ป.6 ฐานะยากจน ต้องเป็นเสาหลักให้แม่และน้อง จึงออกมาทำงานหาเงินในอาชีพต่างๆ แรกเริ่มคือ ก่อสร้าง หนุ่มโรงงาน และต่อยมวย เพราะชอบความท้าทาย แต่ครอบครัวไม่สนับสนุนด้านความรุนแรงจึงเลิก และหันมาสู่อาชีพ "หมอจระเข้" ขณะอายุ 18 ปีที่อุทยานหินล้านปีและฟาร์มจระเข้พัทยา จ.ชลบุรี
จากนิสัยส่วนตัวชอบความท้าทาย มีหน้าที่คอยดูแลให้อาหารจระเข้ในบ่อจึงเกิดความชอบจระเข้ กระทั่งอุทยานหินลานปีฯ สร้างบ่อแสดงจระเข้ และจ้างนักแสดงมาเล่นแล้วเกิดอุบัติเหตุถูกกัดจนแสดงต่อไม่ได้ โค้ชสุทัศน์จึงขออาสาทำหน้าที่แทนทันทีอย่างไม่กลัว ทั้งๆ ที่ไม่มีทักษะใดๆ อาศัย “ครูพักลักจำ” จากการนั่งดูโชว์ทุกวัน โดยมีแรงผลักดันจากคำสบประมาทของคนใกล้ตัวที่พูดว่า คงทำไม่ได้
...
“ผมชอบความท้าทาย ชอบสัตว์ที่ดุๆ แรกๆ ลองผิดลองถูก ทั้งถูกกัด ถูกตำหนิว่าจะทำได้เหรอ สิ่งนี้ก็เป็นแรงผลักดันให้เราสู้และทำให้ได้คนทำครัวไม่มีทางไม่โดนน้ำมันกระเด็นใส่ฉันใด คนฝึกกับจระเข้ก็ไม่มีทางไม่โดนจระเข้กัดฉันนั้น เมื่อตัดสินใจมาอยู่ตรงนี้ก็ถือว่ายอมรับต่อความเสี่ยงที่จะได้รับบาดเจ็บจากจระเข้” นี่คือเจตนารมณ์ โค้ชสุทัศน์
บทเรียนชีวิตแลกเลือด จระเข้งับหน้า เย็บ 300 กว่าเข็ม
เพราะด้อยประสบการณ์ และยังเป็นหมอจระเข้หน้าใหม่ ลงแสดงโชว์ไม่กี่วัน “โค้ชสุทัศน์” ก็พลาดพลั้งถูก “จระเข้” งับหน้าขณะโชว์ท่าหยอดหัวเข้าปากจระเข้จนต้องเย็บแผล 300 กว่าเข็มทั้งภายนอกและภายใน ต้องพักรักษาตัวอยู่นานหลายเดือน นั่นจึงเป็นบทเรียนให้โค้ชสุทัศน์ได้เรียนรู้ว่า จระเข้เป็นสัตว์ดุร้ายและอันตราย สามารถแว้งงับ กัดได้ตลอด เมื่อเกิดอุบัติเหตุ การมีสติคือสิ่งสำคัญ
...
...
“ตอนนั้นไม่มีใครช่วย อาศัยสติแล้วช่วยตัวเองออกจากปากจระเข้ รู้สึกว่าเจ็บ แต่คิดว่าจะไม่หยุดแค่นี้ จะทำให้ได้ก็ต้องสู้ต่อไป พอหายก็ทำต่อเลย อยู่กับสัตว์อุบัติเหตุมีตลอด เตรียมใจมาอยู่แล้วว่าจะบาดเจ็บ เมื่อโดนงับ คนเราจะตกใจพยายามยื้อดึงมือออก จระเข้จะยิ่งยื้อ สะบัดและพลิกตัวตามสัญชาตญาณ บาดแผลก็จะเหวอะมากขึ้น” โค้ชสุทัศน์ย้อนเล่าเหตุการณ์
"รู้เขา รู้เรา" ทุกวินาที มีแต่ปลอดภัย
แม้รอดตาย และครอบครัวไม่เห็นด้วย เมื่อหายดี “โค้ชสุทัศน์” ก็กลับมาทำหน้าที่ต่อไปเหมือนเดิมด้วยใจที่รักความท้าทาย และต้องการทำให้คนอื่นๆ เห็นว่าเขาทำได้ ก็พัฒนา ฝึกฝน คลุกคลี เรียนรู้พฤติกรรม “จระเข้” หลังแสดงโชว์แต่ละรอบก็มาคิดทบทวนการทำงาน หาจุดเด่น แก้จุดด้อยจนเกิดความชำนาญและมีประสบการณ์มากขึ้นๆ จนเข้าใจธรรมชาติและพฤติกรรม ท่าทางต่างๆ ของจระเข้ ทำให้เกิดอุบัติเหตุน้อยลง
จระเข้เกือบ 20 ตัวที่ใช้ในการแสดงโชว์ ณ ปัจจุบัน ทั้งหมดเป็นฝึมือฝึกของโค้ชสุทัศน์ คัดเลือกจระเข้น้ำจืดตัวที่แข็งแรง สมบูรณ์มาปรับตัวให้คุ้นเคยกับบ่อการแสดง และฝึกขั้นพื้นฐานสั่งให้เดินขึ้นไปเนินแสดง จากนั้นฝึกให้นิ่งตัวแล้วเริ่มสอนตามโปรแกรมการแสดงต่างๆ เริ่มจากฝึกให้สวัสดีโดย ให้อ้าปากแล้วเอามือตบปากจระเข้ให้งับ พอเริ่มไม่สวัสดีก็จะเปลี่ยนฝึกให้แสดงท่าอื่น
“ฝึกทุกวัน อย่าหยุดฝึก วันละนิดวันละหน่อย ฝึกมากจระเข้ก็จะเครียด พอมั่นใจว่าจระเข้ไม่งับ ก็ค่อยเอามือไปสัมผัสในปาก ถ้าเขามีปฏิกิริยาก็ชักมือออก เพราะรู้นิสัยจระเข้แล้วว่าต้องยื่นมือจากข้างหน้าตรงๆ เท่านั้น เพราะจระเข้จะมองเห็นด้านข้าง มองตรงๆ ไม่เห็น การรู้นิสัยของจระเข้ช่วยทำให้ลดโอกาสเกิดความผิดพลาดและความเสี่ยงเกิดอุบัติเหตุได้” นั่นคือเทคนิคความปลอดภัยที่โค้ชสุทัศน์เรียนรู้ได้ด้วยตัวเอง
เทคนิคฝึกจระเข้ให้เชื่อง ไม่ “งับหัว” เมื่ออยู่ในปาก
เมื่อเริ่มฝึกจระเข้สวัสดีได้ โค้ชสุทัศน์ยิ่งเกิดพลังและความหวัง คิดค้นท่าแสดงโชว์ใหม่ๆ โดยเรียนรู้จากพฤติกรรมของจระเข้ที่ฝึกเองมากับมือ ให้จระเข้คุ้นชินกับท่อนไม้ที่ใช้เคาะหลัง เคาะตามตัวเพื่อให้จำและเป็นคำสั่งว่าหมอจระเข้จะเข้าใกล้ ให้คาบไม้ นำไปลูบในปากจนสอนอ้าปากให้นานที่สุดได้
ต่อมาจึงเกิดโชว์ให้นักแสดงสไลด์ตัวเข้าไปหาจระเข้ทางด้านหน้าแล้วไปจูบปาก แต่หมอจระเข้จะไม่ถูกงับเพราะมองไม่เห็น คนดูจะรู้สึกหวาดเสียว ตื่นเต้นเพราะคิดว่าอาจเบรกไม่อยู่และถูกจระเข้งับ สำหรับท่าโชว์ที่เป็นเอกลักษณ์และสร้างความหวาดเสียวสุดๆ คือ “การหยอดหัว” เข้าปากจระเข้ หลายคนคงสงสัยว่าทำอย่างไรจระเข้ไม่งับ และยังสามารถใช้มือจับลูบคลำ ล้วงภายในปากจระเข้ได้ “โค้ชสุทัศน์” บอกเทคนิคกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า
“ตอนเห็นจระเข้งับปากเสียงดังปับๆ ก็จินตนาการและบอกคนดูว่า จระเข้สวัสดี พอลองทำแล้วลูกค้าชอบ เลยทำมาเรื่อยๆ เมื่อฝึกให้จระเข้อ้าปากได้นานๆ ใช้ไม้เคาะปาก เคาะฟันให้จระเข้จำและคุ้นก็เริ่มค่อยๆ เอามือสัมผัสในปากจระเข้ เมื่อเห็นว่าไม่งับก็เริ่มเอาศีรษะแหย่เข้าไปทีละนิดๆ ให้จระเข้คุ้นเคย ไม่จั๊กจี้ รู้สึกเจ็บ ใช้เวลาฝึกท่านี้ประมาณ 1-2 เดือน ก็สามารถหยอดหัวได้”
8 เดือน เวลาเหมาะสม เปลี่ยนตัวจระเข้โชว์ทุกรอบ ลดเครียด
ความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์เด่นของการคิดท่าการแสดง นอกจาก “การหยอดหัว” แล้วโค้ชสุทัศน์ยังคิดการแสดง “อุ้มจระเข้เต้น” โชว์ซึ่งเกิดจากแนวคิดที่คลุกคลีกับจระเข้จนรู้น้ำหนัก สรีระ เวลาจับย้ายจระเข้จากบ่อหนึ่งไปอีกบ่อก็อุ้มคนเดียวได้ และอยากให้การแสดงมีความหลากหลาย โดยคัดจระเข้ให้เหมาะกับขนาดตัวของหมอจระเข้
เทคนิคเพื่อความปลอดภัยต้องเริ่มจากฝึกดึงหาง เพื่อดูว่าจะแว้งกัดมาลักษณะใดเพื่อรู้วิธีหลบ หากจระเข้อ่อนแรงจะนิ่งจึงเข้าล็อกตัว เมื่อจระเข้หันหน้าตรง หากเอียงหน้าไปซ้ายหรือขวาจะยังสามารถแว้งกัดได้ เหตุที่จระเข้ยอมให้อุ้มนั้นเป็นเพราะความคุ้นเคยหมอจระเข้ เพราะฉะนั้นหมอจระเข้ต้องอุ้มแล้วต้องไม่ให้จระเข้รู้สึกเจ็บ ไม่ปลอดภัย หรือทำร่วงตกจระเข้ก็จะไว้ใจมากขึ้นๆ
“ท่าหยอดหัว ล้วงคอฝึกยากสุด ต้องใช้ความคุ้นเคย และให้จระเข้ไว้ใจมากที่สุดถึงจะทำได้ จระเข้แต่ละตัวใช้เวลาฝึกไม่เหมือนกัน บางตัวทำได้ไว บางตัวนานกว่าจะทำได้ แต่ถ้าให้ชัวร์ว่าขึ้นแสดงได้ ต้องใช้เวลาฝึกอย่างน้อย 7-8 เดือนขึ้นไป แต่ละรอบการแสดงจะสลับตัวจระเข้ ไม่ใช้งานตัวเดิมบ่อยๆ เพื่อให้จระเข้ได้พัก ไม่เครียด”
สไลด์ไม่ดี อก ท้องช้ำใน "อุ้มจระเข้" ผิด ไม่คนเจ็บ จระเข้ก็ตาย
เมื่อฝึกจระเข้จนเชื่อง และเป็นหมอจระเข้ได้ 10 กว่าปี โค้ชสุทัศน์จึงผันตัวมาเป็นครูฝึก “หมอจระเข้” เพื่อถ่ายทอดวิชาความรู้ให้กับคนรุ่นหลัง ซึ่งการฝึกหมอจระเข้ใช้เวลาเพียง 2 เดือน เป็นการฝึกให้เข้าคู่กับจระเข้ รู้หลบหลีกเพื่อความปลอดภัย คุณสมบัติของหมอจระเข้นอกจากใจกล้าและใจรักแล้ว ต้องฟิตร่างกายให้แข็งแรงเสมอ เพื่อทำการสไลด์ ลากและอุ้มจระเข้เต้น
การฝึกนักแสดงไม่ยากเท่าฝึกจระเข้ แต่ก็มีความสำคัญมาก การสไลด์ตัวพุ่งเข้าหาจระเข้ หากหมอจระเข้ทำไม่เป็น ไม่ได้จังหวะร่างกายส่วนอก ท้องเกิดช้ำในได้ หากหมอจระเข้ไม่แข็งแรงพอ เมื่อจะอุ้มจระเข้ ไม่เพียงแค่ความเสี่ยงต่อตัวนักแสดงที่อาจเกิดอุบัติเหตุจระเข้ดิ้นหลุด หันมาแว้งกัดแล้วจระเข้ก็เสี่ยงเสียชีวิตด้วย
“ถ้าคนแสดงไม่ชำนาญ ดูแลจระเข้ไม่ดี จับไม่เป็น ไม่รู้วิธีอุ้ม จะเกิดเหตุ 2 กรณีคือ พอจับผิดจังหวะ จระเข้จะสะบัดแล้วกัดคนแสดงบาดเจ็บ หรือทำให้จระเข้เครียด ไม่กินอาหารและเสียชีวิตได้” โค้ชสุทัศน์บอกเทคนิค
กว่า “หมอจระเข้” จะแสดงโชว์ได้ออกมาสมบูรณ์แบบ ประสบความสำเร็จอย่างสวยงามและปลอดภัยนั้นไม่ง่ายเลย นอกจากใจกล้าและใจรักแล้วต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ ความชำนาญ และสิ่งสำคัญคือการมี “ครู” ที่ดี
ข่าวน่าสนใจ
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ