หนึ่งในเหยื่อ "ไวรัสโคโรนา" ที่ถูกเชื้อแพร่ระบาดเร็วที่สุด คงหนีไม่พ้น "ท่องเที่ยว" จากที่ตั้งเป้าจะมีนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยช่วงตรุษจีนราว 3.12 แสนคนก็เป็นอันต้องฝันสลาย
แม้ช่วงปลายปี 2562 จะมีสัญญาณเตือนปัจจัยท้าทายที่ "ท่องเที่ยวไทย" ต้องเผชิญในปี 2563 หลายรูปแบบ ทั้งเศรษฐกิจโลกชะลอตัว สงครามการค้า เงินบาทแข็งค่า รวมถึงการแข่งขันในโซนเอเชียที่รุนแรงขึ้น Low Cost Airline แห่เปิดเส้นทางบินใหม่ แต่ไม่มีใครคาดคิดว่าจะต้องเผชิญกับ "ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019"
จากที่คาดการณ์ว่า 24-30 มกราคม 2563 ที่เป็นช่วงตรุษจีน จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทยราว 1,016,000 คน สร้างรายได้ประมาณ 21,739 ล้านบาท และนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยราว 312,000 คน สร้างรายได้ประมาณ 8,392 ล้านบาท หวังฟื้นจากเหตุการณ์เรือนักท่องเที่ยวจีนล่มที่ จ.ภูเก็ต ตั้งเป้าขยายตัวเพิ่มขึ้นจากตรุษจีนปี 2562 ประมาณ 2%
แถมยอดจองตั๋วเครื่องบินเที่ยวไทยยังส่งสัญญาณดีขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 17% ส่วนตลาดจีนเองก็มียอดจองตั๋วเครื่องบินเที่ยวไทยขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 13% เริ่มจองล่วงหน้ากันมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2562 และจากรายงานการเดินทางนักท่องเที่ยวจีนในช่วงเทศกาลตรุษจีนปี 2563 ของ ‘Ctrip’ บริษัทนำเที่ยวออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในจีน เห็นได้ว่า ‘ไทย’ ถูกเลือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวระยะใกล้ยอดนิยมอันดับ 2 รองจากญี่ปุ่น
...
แต่สุดท้ายกลายเป็น "ฝันสลาย" ติดเชื้อ "ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019" จากแค่หลักสิบ คิดว่าควบคุมไหว กลับไม่เป็นอย่างนั้น แพร่ระบาดลามหลายประเทศทั่วโลก มีผู้ป่วยหลักหมื่น เสียชีวิตหลักร้อย หลายคนผวาไม่กล้าออกไปไหน แห่ยกเลิกทัวร์ที่จองไว้ บวกกับทางการจีนออกคำสั่งให้บริษัทนำเที่ยวหยุดการนำทัวร์ต่างประเทศและห้ามขายแพ็กเกจท่องเที่ยวด้วยตัวเอง ผลกระทบเกิดทันทีนักท่องเที่ยวจีนลดลงถึง 20%
วิกฤติ "ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019" แพร่ระบาด รุนแรงที่สุดแล้วหรือยังสำหรับท่องเที่ยวไทย? ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พาคุณผู้อ่านย้อนรอย "ไวรัสซาร์ส" ปี 2545-2546 พร้อมจำลอง 3 เคสแย่สุดที่อาจเกิดขึ้น และหาทางออกฟื้นเศรษฐกิจไทย ปี 2563
ย้อนรอยท่องเที่ยวไทย เซ่นพิษไวรัสระบาด
การแพร่ระบาด "ไวรัสซาร์ส" เริ่มต้นขึ้นที่มณฑลกวางตุ้งของจีนในเดือนพฤศจิกายน 2545 แต่มีการแจ้งต่อสาธารณะและองค์การอนามัยโลก (WHO) ครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 และลากยาวนานกว่า 8 เดือนกว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ ซึ่งในครั้งนั้นกระทบการท่องเที่ยวไทยอยู่ไม่น้อย นักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงถึง 7.4% และนักท่องเที่ยวจีนหายไปกว่า 1.91 ล้านคน
ซึ่งหากย้อนดูตัวเลขนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเที่ยวไทยในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 ซึ่งเป็นช่วงที่มีการประกาศสถานการณ์ "ไวรัสซาร์ส" พบนักท่องเที่ยวจีนเพียง 88,319 คนเท่านั้น ลดลงจากช่วงเดียวกันของปี 2545 ถึง 19.23%
และหากเทียบตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทย ปี 2546 กับปี 2545 ก็ลดลงถึง 23.98% โดยปี 2545 มีนักท่องเที่ยวจีน 797,976 คน ส่วนปี 2546 มีนักท่องเที่ยวจีน 606,635 คน หายไปกว่าแสนคน กว่าจะเริ่มฟื้นตัวก็ช่วงเดือนตุลาคม 2546 และมีนักท่องเที่ยวจีนเที่ยวไทยถึงแสนคนอีกครั้งก็ช่วงเดือนมกราคม 2547 โดยตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนทั้งปีอยู่ที่ 729,848 คน ขยายตัวจากปี 2546 ราว 20.31%
กลับมาที่ "ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019" ในปี 2563 เพียงแค่ระยะเวลา 8 วัน คือ นับตั้งแต่ 24-31 มกราคม 2563 ที่คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนราว 312,000 คน กลับเหลือเพียง 143,000 คน ลดลงถึง 58% เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562
เบื้องต้น ข้อมูลจาก นายคณนาถ หมื่นหนู โฆษกกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา คาดว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวจะสูญเสียรายได้กว่า 9,156 ล้านบาท โดยภาคธุรกิจที่ได้รับผลกระทบสูงสุด คือ 1) จำหน่ายสินค้า/ของที่ระลึก, 2) โรงแรม และ 3) ร้านอาหาร/เครื่องดื่ม
...
และจากการตั้งเป้านักท่องเที่ยวปี 2563 ที่ 40.8 ล้านคน รายได้ 2.02 ล้านล้านบาท รศ.ดร.สมชาย ภคภาสน์วิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจและการเมืองระหว่างประเทศ ก็มองว่า "เกิดได้ยากมาก อย่างดีที่สุดอาจเทียบเท่ากับปี 2562 คือ ประมาณเกือบ 2%"
ยิ่งถ้ามาดูยอดตัวเลขผู้โดยสารของ 5 สนามบินนานาชาติ คือ สนามบินสุวรรณภูมิ, สนามบินดอนเมือง, สนามบินภูเก็ต, สนามบินเชียงใหม่ และสนามบินหาดใหญ่ ช่วงวันที่ 1-3 กุมภาพันธ์ 2563 แล้วเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562 พบว่า "ผู้โดยสารหายไปกว่าแสนคน" อยู่ที่ 209,679 คน ส่วนปี 2562 อยู่ที่ 356,079 คน หรือลดลง 41.11%
...
และไม่ใช่แค่ท่องเที่ยวไทยเท่านั้นที่สะเทือน อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเกาหลีใต้ก็ไม่ต่างกัน โดยจากข้อมูลของ Hana Tour บริษัทท่องเที่ยวยักษ์ใหญ่ พบว่า ยอดจองทริปทั่วโลกในเดือนมกราคม 2563 ลดลงจากปีก่อนหน้าถึง 49.7% และยอดการยกเลิกแพ็คเกจทัวร์ไปจีนก็ลดลงสูงถึง 62.2%
กระทบกันระเนระนาด ทั้งต่างชาติ ทั้งคนไทย ล้วนไม่มีใครกล้าเที่ยว แม้แต่ นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ยังยอมรับว่า "ในภาวะปัจจุบัน ตราบใดที่จีนยังหาวิธีแก้ปัญหาไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ไม่ได้ คนคงยังไม่มีอารมณ์ท่องเที่ยว"
จำลอง 3 เคสแย่สุด เปิดแผนทางรอดฟื้นชีพเศรษฐกิจไทย ปี 2563
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เปิดแบบจำลองสถานการณ์ 3 เคสแย่สุดเซ่นพิษ "ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019" ที่ท่องเที่ยวไทยต้องเผชิญ จากข้อมูลของสมาคมธุรกิจการท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ตและ Economic Intelligence Centre (EIC)
- เคส 1 ระยะเวลา 3 เดือน : นักท่องเที่ยวปี 2563 เหลือ 38 ล้านคน หดตัว -4.6% (เทียบกับปีก่อนหน้า) แต่ถ้านักท่องเที่ยวจีนลดลง 50% จะสูญเสียรายได้ราว 7.43 พันล้านบาท, นักท่องเที่ยวจีนลดลง 70% จะสูญเสียรายได้ราว 1.04 หมื่นล้านบาท และหากนักท่องเที่ยวจีนลดลง 90% จะสูญเสียรายได้ 1.34 หมื่นล้านบาท
...
- เคส 2 ระยะเวลา 4 เดือน : จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2563 จะเหลือ 38.8 ล้านคน คิดเป็นการหดตัว -2.5% (เทียบกับปีก่อนหน้า) โดยคาดว่านักท่องเที่ยวจะกลับมาเท่าปี 2562 ก็ประมาณช่วงเดือนมิถุนายน 2563
- เคส 3 ระยะเวลา 6 เดือน : จำนวนนักท่องเที่ยวปี 2563 จะเหลือเพียง 36.6 ล้านคน คิดเป็นการหดตัวมากถึง -8.1% (เทียบกับปีก่อนหน้า)
ขณะที่ ข้อมูลเบื้องต้นจาก นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. ประเมินเคสเลวร้ายที่สุดอาจอยู่ที่ประมาณ 3 เดือน หรือลากยาวถึงเดือนเมษายน 2563 โดยอาจสูญเสียนักท่องเที่ยวจีนประมาณ 70-80% คิดเป็นมูลค่าความเสียหายสูงถึง 9 หมื่นล้านบาท
และสมมติ "ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019" สามารถควบคุมได้ รศ.ดร.สมชาย มองว่า "ไทยต้องรีบทุ่มการท่องเที่ยว หาตลาดใหม่ ส่วนตลาดเก่าก็ต้องทำการบ้านให้มากขึ้น"
ข้อมูลเบื้องต้นจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แบ่งมาตรการออกคร่าวๆ คือ ส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย และการส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวในอาเซียนมาเที่ยวไทย โดยเฉพาะ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) รวมถึงมีการหารือกับอินเดีย ดึงนักท่องเที่ยวอินเดียให้มาเที่ยวไทยเพิ่มมากขึ้น
แต่เพียงเท่านั้นคงไม่พอ รศ.ดร.สมชาย มองว่า อีกหนึ่งที่เป็นตัวช่วยฟื้นเศรษฐกิจไทย ปี 2563 คือ "การลงทุน"
"ไทยต้องพยายามชดเชยด้วยการเน้นการลงทุน ต้องรีบดำเนินการให้กับประเทศที่มีการขอการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) ให้มีการลงทุนเป็นรูปธรรม สิ่งนี้จะเป็นตัวช่วยลดผลกระทบในแง่ลบที่เกิดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ณ ขณะนี้ได้"
สุดท้ายแล้ว ไม่ว่าผลกระทบจะยาว 3 เดือน หรือ 6 เดือน ก็ต้องเอาใจช่วย "อุตสาหกรรมท่องเที่ยว" ให้สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส งัดแผนกลยุทธ์ทุกท่วงท่า โกยนักท่องเที่ยวให้ถึง 40 ล้านคน ให้ได้ตามเป้าดั่งที่หวังไว้.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- PPE ชุดพิทักษ์แพทย์ 20 ขั้นตอนสุดพิถีพิถัน สวมถอดรอด "ไวรัสโคโรนา"
- "ค้างคาว" แหล่งรังโรค ไฉนไม่ป่วย ไวรัสโคโรน่า "มนุษย์" ผู้ร้ายตัวจริง
- ผ่าแผนทางรอด PM 2.5 ที่ทั่วโลกใช้ สูตรสำเร็จที่ไทยต้องลอง
- ส่อง "หุ้นปลอดเชื้อ" โดดเด่นน่าลงทุน หลบพิษร้าย "ไวรัสโคโรนา" ระบาด
- 17 ปี "ซาร์ส" สู่ "โคโรน่า" ไวรัสอุบัติใหม่ปลิดชีพ ความเหมือนที่แตกต่าง
ข้อมูลอ้างอิง :
- สถานการณ์ท่องเที่ยวและแนวโน้มตลาด ปี 2562-2563 : การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย
- รายงานคาดการณ์การเดินทางท่องเที่ยวภายในประเทศของชาวไทยช่วงเทศกาลตรุษจีน ปี 2563 : ศูนย์วิจัยด้านการตลาดท่องเที่ยว (TATIC)