เรื่องราว “หมอจระเข้” อาชีพสุดหวาดเสียว ท้ามฤตยูทุกเสี้ยววินาที สร้างรอยยิ้มให้ผู้ชม มีหลายมิติให้ค้นหา รวมถึงวิธีการฝึกจระเข้สัตว์ที่ขึ้นชื่อว่าดุร้ายให้เชื่อง
แค่เอ่ยชื่อ “จระเข้” สัตว์นักล่าแห่งสายน้ำที่ดุร้ายและคาดเดาอารมณ์ได้ยาก หลายคนก็ขยาด หวาดกลัว ไม่กล้าเข้าใกล้ เพราะหากจระเข้เกิดหิวโหยยามใดก็พร้อมพุ่งงับทุกอย่าง แต่ นายศรายุทธ โสดาโพธิ์ "หมอจระเข้" หรือ นักแสดงโชว์จระเข้ อุทยานหินล้านปีและฟาร์มจระเข้พัทยา จ.ชลบุรี กลับหาญกล้า ท้ามฤตยูคมเขี้ยวจระเข้ทุกวัน วันละหลายชั่วโมงมาเป็นเวลา 10 ปี แล้ว ทั้งๆ ที่ครอบครัวห้ามปรามและไม่อยากให้ทำ เพราะเสี่ยงอันตรายถึงชีวิตได้
...
แม้เคย "รอดตาย" จากการถูกจระเข้งับฝ่ามือทะลุจนกระดูกแตก เย็บ 30 เข็ม พักงาน 3 เดือน แต่นายศรายุทธ หรือ ชาติ อดีตหนุ่มโรงงานก็ไม่เคยคิดเลิกอาชีพหมอจระเข้ และยืนกรานจะทำต่อไป ไม่ใช่เพราะรายได้หลักหมื่นจากเงินเดือน ค่าคอมมิชชั่น แต่เป็นเพราะใจรัก และได้เป็นฮีโร่ของคนต่างชาติ ที่กรีดร้องด้วยความตื่นเต้น หวาดเสียว ตลอด 20 นาทีที่รับชม แต่เมื่อจบการแสดงก็จะมีเสียงปรบมือ พร้อมคำชื่นชมจากนักท่องเที่ยวชาวเกาหลีใต้ และรัสเซียที่จ่ายค่าตั๋วมาดูโชว์ในแต่ละรอบเสมอ
“เป็นอาชีพที่ท้าทาย คนต่างชาติมาเห็น เฮ้ย ทำไมคนไทยทำได้ มันรู้สึกภาคภูมิใจ เหมือนเป็นฮีโร่ของคนต่างชาติ ได้เห็นเขามีความสุขเวลาดูการแสดง” นายศรายุทธบอกเหตุผลกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
การจะเป็น นักแสดงโชว์จระเข้ ใช่ว่าใครก็สามารถทำได้ หากไม่มีใจที่ “กล้า” และไม่มี “ครูสอนฝึกวิธีเข้าหาจระเข้” ก็อาจพลาดพลั้งเพียงถึงชีวิตได้ทุกเสี้ยววินาที นายศรายุทธ จึงพากเพียร ฝึกฝน เรียนรู้และเชื่อฟังคำสอนต่างๆ ของ นายสุทัศน์ คำอ่อนสา ผู้จัดการฝ่ายการแสดงโชว์ ซึ่งบุกเบิกการฝึกจระเข้ หมอจระเข้ และการแสดงโชว์จระเข้ต่างๆ ของอุทยานหินล้านปีและฟาร์มจระเข้พัทยามากว่า 30 ปี ถ่ายทอดวิชาทั้งหมดที่มีให้ลูกศิษย์โดยไม่หวงวิชาใดๆ ด้วยหลักการสอนเหมือนสอนต่อยมวย เน้นเทคนิคการหลบหลีกและการเข้าถึงจระเข้
“การจะลงแสดง จิตใจ ความพร้อมต้องมา ต้องมีสติอยู่ตลอด จระเข้สามารถงับได้ตลอด การแสดงแต่ละโชว์มีความระมัดระวังต่างกัน อยู่ที่การฝึก อยู่ที่จระเข้ด้วย แต่ละตัวเข้าหาเลยไม่ได้เพราะมีความกลัว ความระแวง” นายศรายุทธเล่าจากประสบการณ์
...
จระเข้น้ำจืดเกือบ 20 ตัวที่ถูกฝึกแสดงโชว์เป็นเพศผู้ ก่อนแสดงโชว์รอบแรกเวลา 09.00 น. หมอจระเข้ต้องตรวจสุขภาพจระเข้ว่ามีความพร้อมหรือไม่ หากมีบาดแผลจากการต่อสู้เพื่อแย่งตำแหน่ง พื้นที่กัน ก็รักษาด้วยการทายา แต่โดยมากจระเข้เป็นสัตว์ทนต่อโรค หากมีแผลสามารถหายเองได้เมื่ออยู่ในน้ำตลอด น้อยครั้งที่จะไม่สบาย ซึ่งจะมีอาการซึม ไม่ค่อยว่ายน้ำ ไม่ค่อยเล่น
...
จระเข้เป็นสัตว์เลือดเย็น ยากต่อการคาดเดาอารมณ์ เบื้องหลังการโชว์ที่สนุกสนาน ตื่นเต้น เร้าใจ จระเข้เชื่องและทำตามคำสั่งได้นั้น หลายคนเข้าใจว่าหมอจระเข้คงมีวิชาสะกดจิต แต่ในความเป็นจริง นายศรายุทธเปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ไม่มีเวทมนตร์คาถาใดๆ ทุกอย่างอยู่ที่ใจ การฝึกซ้อม คุ้นเคย คุ้นชินและเรียนรู้พฤติกรรมธรรมชาติของจระเข้ที่อยู่ด้วยกันมานาน เข้ากันได้ดีจน “รู้เขารู้เรา” หากจระเข้ตัวไหนดุร้าย โมโห ต้องรอใจเย็น เปลี่ยนไปโชว์ฉากอื่น หรือไม่นำตัวอื่นมาเล่นแทน
...
การสร้างความคลุกคลี คุ้นเคยระหว่างคนกับจระเข้เพื่อให้เกิดความเชื่องและเข้ากันได้ดี นายศรายุทธบอกเทคนิค “เหมือนเลี้ยงสุนัข” หรือสัตว์เลี้ยงอื่นๆ อาทิ เข้าหาบ่อยๆ จับโน่นจับนี่ นั่งหาง ตบหลัง กล่อม สาดน้ำให้ เล่น เพื่อให้เกิดความคุ้นเคยและจระเข้จำเสียงได้ คอยดูแล เอาใจใส่และให้โครงไก่เป็นอาหารอาทิตย์ละครั้งในปริมาณแตกต่างกันลดหลั่นตามขนาดร่างกาย หากเป็นจระเข้ตัวใหญ่จะกินในปริมาณ 4-5 กิโลฯ 3 กิโลฯ และ 1 กิโลฯ สำหรับจระเข้ตัวเล็ก
“ไม่ได้มีคาถาอาคม ก่อนโชว์รอบละคน จะมีการไหว้พระ ไหว้ครู นึกถึงสิ่งศักดิ์สิทธิ์ให้คอยดูแลคุ้มครองเวลาแสดง ไม่ให้เกิดอุบัติเหตุ มีพระห้อย คอยยึดเหนี่ยวจิตใจ อุบัติเหตุต้องมีอยู่แล้ว พยายามคุ้นเคย คลุกคลีให้มาก โชว์อุ้มจระเข้ยาก เพราะแว้งกัดได้ตลอด การแหย่มือ หยอดหัว ล้วงคอ ต้องใช้ไม้เคาะบอกเป็นใบเบิกทางเข้าหาจระเข้ว่านักแสดงจะเข้าหา การสาดน้ำตัวเองและจระเข้ขณะแสดงนั้นก็เพื่อความชื้น ลื่นทำให้การแสดงโชว์คล่องแคล่วขึ้น” นายศรายุทธเผยวิธี
นี่คือเรื่องราวชีวิตบางส่วนของ “หมอจระเข้” อาชีพสุดหวาดเสียว ท้ามฤตยูทุกเสี้ยววินาที กว่าจะสร้างเสียงหัวเราะ ความเสียว และความประทับใจให้กับนักท่องเที่ยว นอกจากความ “ใจกล้า” แล้ว เบื้องหลังการสร้างเสน่ห์ของอาชีพที่เสี่ยงอันตรายเพื่อสร้างรอยยิ้มให้กับท่านผู้ชมยังมีอีกหลายมิติให้ค้นหา ติดตามชมได้ในคลิป เพราะทุกชีวิตมีเรื่องราวให้น่าค้นหาและเรียนรู้ ไปพร้อมๆ กัน เพราะนี่คือ LIFE STORY
ข่าวน่าสนใจ
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ