คลายปมคาใจ "ค้างคาว" แหล่งรังโรค ไฉนไม่เคยป่วยตาย เชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 ติดต่อสู่คน "ผู้ร้ายตัวจริง" ไม่ใช่ค้างคาว" แต่เป็นเพราะฝีมือ "มนุษย์"
เมอร์ส ซาร์ส นิปาห์ เฮนดร่า อีโบล่า ล่าสุด ‘โคโรน่าไวรัส สายพันธุ์ใหม่ 2019’ ทั้ง 6 โรคอุบัติใหม่นี้ เกิดจากต้นตอเดียวกัน นั่นคือ ‘ค้างคาว’
สำหรับการแพร่ระบาดของ ‘ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019’ ที่มีจุดเริ่มต้นในเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ประเทศจีน ส่งผลให้มีผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตค่อยๆ ขยายวงกว้างในหลายๆ ประเทศนอกจากจีน ซึ่งต้นตอของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 นี้มาจาก ‘ค้างคาวหัวมงกุฎทองแดง’ ที่พบในประเทศจีน
‘ค้างคาว’ สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม บางคนตั้งฉายาให้ว่า "นกมีหู หนูมีปีก" ไฉนจึงเป็นแหล่งบ่มเพาะเชื้อโรคสารพัดชนิดที่อันตรายต่อมนุษย์ อีกทั้งค้างคาวถือเป็นแหล่งรังโรคหลายชนิด แต่เหตุใด "ทนทานไวรัส" ได้โดยไม่เจ็บป่วยจากเชื้อโรคที่แฝงเร้นในตัว ค้างคาว สัตว์ดึกดำบรรพ์ชนิดนี้มีความพิเศษหรือไม่ เหล่านี้คือคำถามที่หลายคนสงสัย
...
ค้างคาว สัตว์พิเศษ แหล่งรวมโรค แต่ไม่เคย "ป่วย"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบจาก รศ.ดร.ประทีป ด้วงแค อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยาป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทีมวิจัยที่ทำงานร่วมกับคณะแพทย์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ในการวิจัยเพื่อเฝ้าระวังเชื้อไวรัสที่จะก่อให้เกิดโรคอุบัติใหม่จากสัตว์สู่คน โดยเริ่มอธิบายว่า ‘ค้างคาว’ เป็นสัตว์กลุ่มพิเศษชนิดหนึ่ง เป็นแหล่งเชื้อโรคต่างๆ แต่เหตุที่ไม่ป่วย ไม่อ่อนแอ นั่นเป็นเพราะมีภูมิต้านทานต่อโรคตลอดเวลา ซึ่งเป็นวิวัฒนาการที่เกิดคู่กัน
เชื้อโรคต่างๆ ในค้างคาว หากอยู่ในตัวค้างคาวเองจะไม่ก่อโรคหรือแสดงอาการเจ็บป่วย แต่หากเชื้อโรคติดต่อสู่สัตว์อื่นๆ หรือมนุษย์ ก็จะเกิดโรคและแสดงอาการเจ็บป่วยออกมา และสามารถติดต่อสู่สิ่งมีชีวิตอื่นๆ ได้ ซึ่งอาการป่วยรุนแรงต่างกันขึ้นอยู่กับภูมิต้านทานของแต่ละคน
วงจรโรคอุบัติใหม่ ผู้ร้ายตัวจริง คือ "มนุษย์" ไม่ใช่ "ค้างคาว"
เหตุที่เจอโรคอุบัติใหม่บ่อยๆ จากสัตว์ป่า ทำให้เชื้อโรคในค้างคาวติดต่อสู่คนได้ ในความเป็นจริง รศ.ดร.ประทีป ระบุว่า "ผู้ร้ายไม่ใช่ค้างคาว" แต่เป็นเพราะฝีมือ "มนุษย์" ที่เพิ่มจำนวนมากขึ้น ไปบุกรุก ทำลายธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รบกวนสัตว์ป่า ทำให้ใกล้ชิดมนุษย์มากขึ้น เพราะต้องมาอยู่ในพื้นที่เดียวกับมนุษย์ แต่ปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่สุดที่มนุษย์ติดเชื้อจากค้างคาว คือ การบริโภคสัตว์ป่า
"ค้างคาวหรือไวรัสไม่ได้ตั้งใจแพร่เชื้อโรค เชื้ออยู่กับค้างคาวไม่เป็นไร แต่เมื่อเกิดเหตุให้เปลี่ยนที่อยู่ จากที่เคยอยู่ในค้างคาวไปอยู่ในสัตว์ชนิดอื่นหรือคนก็จะก่อให้เกิดโรคขึ้น การเจอโรคอุบัติใหม่บ่อยๆ ส่วนหนึ่งเพราะคนเพิ่มขึ้น ไปเปลี่ยนแปลงถิ่นที่อยู่อาศัยของค้างคาว ระเบิดถ้ำมาทำปูนซีเมนต์ เปลี่ยนป่าเป็นพื้นที่เกษตร จากค้างคาวเคยอยู่ป่าหรือถ้ำก็มาอยู่บ้านคน ทำให้คนไปสัมผัสใกล้ชิดกับค้างคาวมากขึ้น" รศ.ดร.ประทีป อธิบาย
...
"ค้างคาวไทย" ไร้ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019
กรณีที่หลายคนกังวล "ค้างคาวไทย" ที่อยู่ในถ้ำท่องเที่ยวต่างๆ มีเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือไม่นั้น รศ.ดร.ประทีป ให้ความกระจ่างว่า จากที่เคยมีการเก็บกลุ่มตัวอย่างค้างคาวมงกุฎเทาแดง ซึ่งเป็นชนิดเดียวกันกับที่จีน ยืนยันว่า ค้างคาวไทยยังไม่พบเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 เหมือนอย่างที่พบในประเทศจีน
การไปเที่ยวถ้ำ โอกาสติดเชื้อจากค้างคาวมาสู่คนนั้นมีน้อยมาก เนื่องจากไม่มีนักท่องเที่ยวคนไหนนิยมจับค้างคาว อีกทั้งตามธรรมชาติแล้ว ค้างคาวและคนจะต่างคนต่างอยู่ ยกเว้นกรณีที่ตั้งใจเข้าไปก่อกวน หรือจับเพื่อนำมากินจนถูกค้างคาวกัด ทำให้เชื้อไวรัสจากค้างคาวแพร่สู่คนได้ หรือแพร่เชื้อผ่านตัวกลางจากสัตว์ป่าอื่นๆ ที่ซื้อไปกิน ที่อาจถูกแพร่เชื้อจากขั้นตอนการประกอบอาหาร เช่น ฆ่า ผ่า ชำแหละ เพราะตามรายงานของแพทย์ โอกาสในการแพร่เชื้อเกิดจากการสัมผัสสารคัดหลั่งต่างๆ อาทิ น้ำลาย เลือด ปัสสาวะ อุจจาระ
...
พาหะเชื้อไวรัสโคโรน่าสู่คนล่องหน แพร่จากคนสู่คน เหตุเพราะกลายพันธุ์
ทั้งนี้ สิ่งที่ รศ.ดร.ประทีป เป็นห่วง ณ ปัจจุบัน คือ เชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2019 เมื่อเข้าสู่ในคนแล้วเกิดการกลายพันธุ์ตามวงจรชีวิตของไวรัสที่เกิดขึ้นรวดเร็ว มีการแบ่งเซลล์และปรับสภาพ กลายพันธุ์จนทำให้สามารถแพร่จากคนสู่คนถืออันตรายที่สุด
สัตว์ป่ามีเป็นร้อยเป็นพันชนิดไม่ได้มีการดูแลหรือฉีดวัคซีน จึงไม่สามารถทราบได้ว่าสัตว์ตัวนั้นถูกค้างคาวกัดหรือไม่ การนิยมกินสัตว์ป่า ซึ่งไม่ใช่สัตว์เลี้ยงจากฟาร์มที่มีมาตรฐาน มีการตรวจโรค ฉีดวัคซีน จึงเป็นการเพิ่มความเสี่ยงในการติดเชื้อโรค ซึ่งเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ 2019 เป็นเชื้ออุบัติใหม่ ปัจจุบันยังตอบไม่ได้ว่าเชื้อจากค้างคาวแพร่สู่คนได้อย่างไร แต่จากข้อสันนิษฐานที่พบผู้ป่วยเคสแรกในจีนที่เดินผ่านตลาดในอู่ฮั่น ซึ่งมีซากสัตว์ป่าทั้งเป็นและตายจำนวนมาก คาดการณ์ว่าเชื้อแพร่ผ่านจากสัตว์สู่คน แต่ยังไม่สามารถระบุได้ว่าสัตว์ชนิดใดเป็นพาหะนำสู่คน
...
"ในตลาดไม่มีค้างคาวแน่นอน แต่มีซากสัตว์ป่าอยู่เยอะ การระวังโรคให้อยู่ในความไม่ประมาท กินร้อน ช้อนกลาง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขแนะนำ พยายามหลีกเลี่ยงที่จะไปสัมผัสค้างคาวโดยตรง สำหรับคนกินสัตว์ป่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด ไม่ว่าสุก ดิบ หรือจับสดๆ ก็มีโอกาส แต่ละตัวไม่รู้ได้ว่ามีเชื้อหรือไม่มีเชื้อ" รศ.ดร.ประทีป
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- 17 ปี "ซาร์ส" สู่ "โคโรน่า" ไวรัสอุบัติใหม่ปลิดชีพ ความเหมือนที่แตกต่าง
- "ไวรัสโคโรน่า" พิษร้ายเศรษฐกิจ "อู่ฮั่น" ลามเป็นลูกโซ่ จีนเจ็บ โลกเจ็บ
- ทุ่มเท 14 ชั่วโมง เผยภาพถอดรหัสพันธุกรรม ไวรัสโคโรน่า 2019 แพทย์ไทยพบก่อนจีน
- พบต้นตอ "ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2019" พาหะนำสู่คนยังล่องหน
- "ไฟป่าออสเตรเลีย" เผาผลาญ ทำลายชีวิต สัญญาณเตือนภาวะสูญพันธุ์ครั้งใหญ่?