กว่า 17 ปีของการระบาด จาก ‘ซาร์ส’ สู่ ‘โคโรน่า’ กลายเป็นวิกฤติไวรัสอุบัติใหม่ที่มีต้นกำเนิดมาจากประเทศเดียวกัน ย้อนรอยเทียบเคียงความเหมือนที่แตกต่าง อานุภาพจะร้ายแรงเท่ากันหรือไม่? และประชากรโลกต้องสังเวยกี่ชีวิต?

ครบ 1 เดือนที่ทางการจีนมีรายงานแจ้งต่อองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงการแพร่ระบาด ‘ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019’ (2019-nCoV) ครั้งแรกในวันที่ 31 ธันวาคม 2562 ณ เวลานั้น มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าแล้วกว่า 44 คน มาถึงวันนี้ (29 ม.ค. 63) ทั่วโลกมีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าเพิ่มขึ้นเป็น 6,056 คน และเสียชีวิตแล้ว 132 ราย

จากตัวเลขดังกล่าวหากเทียบเคียงกับ ‘ซาร์ส’ (SARS) ที่เกิดขึ้นในช่วงปี 2545-2546 ซึ่งมีผู้ติดเชื้อกว่า 8,096 คน และเสียชีวิต 774 ราย เท่ากับว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าทั่วโลกมีสัดส่วนสูงถึง 74.80% ของผู้ติดเชื้อซาร์ส ในระยะเวลาเพียงแค่เดือนเดียวเท่านั้น

...

ขณะที่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าภายในประเทศจีน (เฉพาะแผ่นดินใหญ่) ณ วันพุธที่ 29 มกราคม 2563 ก็สูงถึง 5,974 คน เพิ่มขึ้นจากวันอังคาร (28 ม.ค.) ราว 1,500 คน หรือคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 30% ทำลายสถิติ 5,327 คนของซาร์สไปแล้ว

และหากเทียบความเร็วในการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าและซาร์ส ถ้ามองจากตัวเลขที่เอ่ยมาข้างต้นก็จะเห็นได้ว่า ไวรัสโคโรน่ามีการแพร่ระบาดที่รวดเร็วกว่ามาก เพียงแค่ 28 วัน ก็มีผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 3,000 คน ในขณะที่ ซาร์สใช้เวลาอย่างน้อย 5 เดือน ถึงจะมีผู้ติดเชื้อมากถึง 3,000 คน

จากตัวเลขที่ปรากฏข้างต้น คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์หลายท่านคงคิดว่า ไวรัสโคโรน่าคงมีอานุภาพร้ายแรงกว่าซาร์สเป็นแน่แท้

ซึ่งสวนทางกับนักวิทยาศาสตร์และนักวิชาการทางการแพทย์ในต่างประเทศหลายๆ ท่าน ที่ไม่ได้คิดเห็นเช่นนั้น โดยมองว่า อานุภาพความรุนแรงที่จะสามารถปลิดชีพประชากรโลกของไวรัสโคโรน่าน้อยกว่าซาร์ส เพราะครั้งซาร์สระบาดรุนแรงมีอัตราการเสียชีวิตสูงถึง 9.6% กลับกันไวรัสโคโรน่ามีการประเมินว่าอาจอยู่ที่ 2.2-3% เพียงเท่านั้น

ย้อนกลับไปพูดถึงการแพร่ระบาดที่รวดเร็ว มีการประเมินออกมาว่า ผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรน่าเพียง 1 คน สามารถส่งผ่านเชื้อต่อไปยังบุคคลอื่นได้อีก 2-3 คนทีเดียว

‘ไวรัส’ ระบาดข้ามประเทศ

ก่อนการแพร่ระบาดข้ามประเทศ คงต้องย้อนมองดูต้นตอ 2 ไวรัส ทั้งโคโรน่าและซาร์ส ที่มาจากประเทศเดียวกัน คือ "ประเทศจีน" และมีแหล่งกำเนิด คือ "ตลาดสด" ต่างกันที่ไม่ได้มาจากเมืองและมณฑลเดียวกัน โดยไวรัสโคโรน่ามาจากเมืองอู่ฮั่น มณฑลหูเป่ย ส่วนซาร์สมาจากมณฑลกวางตุ้ง

จากการที่ "ตลาดสด" คือ แหล่งต้นตอการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่า ที่มีแผงค้าสัตว์หลากหลายชนิด ทั้งงู มาร์มอต สัตว์ปีก รวมถึงค้างคาว ทำให้ทางการจีนออกมาตรการคุมเข้มออกคำสั่งห้ามทั่วประเทศขายสัตว์ป่าในตลาดสด ภัตตาคาร และแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ (ค้าออนไลน์) รวมถึงการมีคำสั่งปิดเมืองและระงับการคมนาคมขนส่งทุกเส้นทาง หวั่นเป็นแหล่งเพาะเชื้อและทำให้เกิดการแพร่ระบาดที่อาจลุกลามหนักกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งอาจเป็นเหมือนครั้งซาร์สที่ระบาดไปถึง 26 ประเทศในระยะเวลา 8 เดือน ขณะที่ ไวรัสโคโรน่ากระจายไปกว่า 18 ประเทศทั่วโลก (รวมถึงไทย) ในระยะเวลาเพียง 1 เดือน

ด้วยตัวเลขประเทศที่มีการแพร่ระบาดเกินกว่าครึ่งของซาร์ส และแม้จะมีข้อท้วงติงให้ประกาศภาวะวิกฤติในระดับโลก แต่ทางองค์การอนามัยโลก (WHO) กลับมองว่า "มันยังเร็วเกินไป"

...

สรุปแล้ว ไวรัสโคโรน่ากับซาร์สเหมือนกันไหม?

คำตอบมีทั้ง "เหมือน" และ "แตกต่าง"

ส่วนที่ "เหมือน" ของไวรัสโคโรน่าและซาร์ส คือ "แหล่งเพาะเชื้อ"

และส่วนที่ "แตกต่าง" ของไวรัสโคโรน่าและซาร์ส คือ "พาหะ"

ย้อนดูทีละสเตป

     1) ซาร์ส เริ่มจากค้างคาว สู่ชะมด สู่คน และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ผ่านละอองเสมหะ การสัมผัส และการไอหรือจาม

     2) โคโรน่าสายพันธุ์ 2019 เริ่มจากค้างคาว สู่ "พาหะปริศนา" สู่คน และสามารถติดต่อจากคนสู่คนได้ ผ่านละอองเสมหะ การสัมผัส และการไอหรือจาม

นอกจากนี้ อีกหนึ่งสิ่งที่เหมือนกันของไวรัสโคโรน่าและซาร์ส คือ "ไม่มีวัคซีน"

• ยุทธการปราบโคโรน่า บทเรียนที่จีนเรียนรู้จากซาร์ส

ช่วงต้นปี 2546 ที่ซารส์มีการแพร่ระบาดหนัก หลายประเทศต่างกรุ่นโกรธและมองว่า ผลกระทบที่ยากเกินยับยั้งจนลุกลาม 26 ประเทศ มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 8,000 คน และเสียชีวิตอีกกว่า 700 รายนั้น เป็นเพราะจีนมีการปกปิดข้อมูลบางส่วน

...

ทั้งๆ ที่การระบาดเริ่มต้นขึ้นในเดือนพฤศจิกายน 2545 แต่จีนกลับเพิ่งมีการรายงานต่อสาธารณะครั้งแรกในเดือนกุมภาพันธ์ 2546 สถานการณ์เกิดวิกฤติมีผู้เสียชีวิตแล้วกว่า 5 ราย และติดเชื้ออีกกว่า 300 คนในมณฑลกวางตุ้ง

ผ่านมาปลายปี 2562 จีนมีการเปลี่ยนแปลง เร่งรายงานต่อสาธารณะและองค์การอนามัยโลก (WHO) ถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดในช่วงที่เป็นเพียงการเริ่มต้น แม้จะผ่านมาแล้วถึง 3 สัปดาห์ แต่ก็นับว่ายังรวดเร็วกว่าครานั้น

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีความรวดเร็ว แม้จะมีการเตรียมมาตรการรับมือ ทั้งการปิดเมือง ประกาศเตือนประชาชน ตัดเส้นทางการคมนาคมและขนส่ง รายงานความคืบหน้าต่อนานาชาติ แต่ก็ยังมีความเคลือบแคลงใจให้กับหลายๆ ฝ่ายอยู่ว่า "จีนอาจยังไม่ซื่อสัตย์ต่อการรายงานข้อมูลซะทีเดียว"

• 2 ไวรัสทำพิษ จีนเสกโรงพยาบาลใน 6 วัน

วันศุกร์ที่ 24 มกราคม 2563 จีนงัด ‘ซาร์สโมเดล’ ออกมาใช้ ด้วยการสร้างโรงพยาบาลพิเศษสำหรับรองรับผู้ป่วยติดเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยเฉพาะ

...

พื้นที่กว่า 25,000 ตารางเมตร เนรมิตโรงพยาบาลขนาด 1,000 เตียง โดยมีต้นแบบมาจากโรงพยาบาลเสี่ยวทังซาน ที่สร้างเพื่อรองรับการแพร่ระบาดของซาร์สในปี 2546

สมัยซาร์สระบาด ใช้คนงานกว่า 4,000 คน สร้างกันทั้งวันทั้งคืน จนโรงพยาบาลกลายเป็นรูปร่างเสร็จภายใน 7 วัน ในครั้งไวรัสโคโรน่านี้ก็เช่นกัน ทางการจีนวางกำหนดการแล้วเสร็จใน 6 วัน โดยต้องพร้อมใช้ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2563

จากสถานการณ์การแพร่ระบาด ‘ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019’ ที่กำลังลุกลามในตอนนี้ แม้ในระดับโลกจะยังไม่มีการประกาศภาวะวิกฤติก็น่าเป็นห่วงเช่นกัน ถึงแม้จะมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำกว่า ‘ซาร์ส’ แต่ด้วยการแพร่ระบาดที่รวดเร็วอาจมีความเป็นไปได้ว่า คนติดเชื้อจะสูงถึง 250,000-350,000 คน อย่างที่มีการประเมิน

และหลังจากนี้คงต้องจับตาดูว่า จีนจะสามารถควบคุม ‘ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019’ ให้อยู่ในวงจำกัดและหยุดยั้งการแพร่ระบาดได้ภายใน 8 เดือน เหมือนครั้ง ‘ซาร์ส’ หรือไม่ เพราะหากนานกว่านี้มีผลต่อจีดีพีของจีนและโลกแน่นอน อย่างน้อยก็คง 1-2%.

ข่าวอื่นๆ :

อ้างอิง :

  • Novel Coronavirus (2019-nCoV) SITUATION REPORT - World Health Organization (WHO)