“นักเทคนิคการแพทย์” ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่ เผยเบื้องหลังไขปริศนาต้นตอ “เชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2019” ที่ตรวจพบได้ก่อนจีนประกาศ 2 วัน ท่ามกลางข้อมูลสุดจำกัดจากจีน ทุ่มทีม 20 กว่าชีวิต เป็นเวลาเกือบ 14 ชั่วโมง

เป็นความภูมิใจยิ่งที่แพทย์ไทยเป็นประเทศแรกยืนยันได้ว่า ผู้ป่วยชาวจีนที่เดินทางมาเที่ยวไทย ป่วยเป็น “ไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019” ด้วยฝีมือ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์ รพ.จุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่ (EMERGING DISEASE) และผู้ร่วมทีม รวมทั้งสิ้น 20 กว่าชีวิต

ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ และ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่
ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ และ ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่

...

ทีม “นักเทคนิคการแพทย์”  20 กว่าท่าน ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่ ทุ่มเทเวลาเกือบ 14 ชั่วโมง ร่วมกันไขปริศนาจนพบต้นตอ “เชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2019” ได้ก่อนจีนประกาศ 2 วัน
ทีม “นักเทคนิคการแพทย์” 20 กว่าท่าน ซึ่งเชี่ยวชาญด้านโรคอุบัติใหม่ ทุ่มเทเวลาเกือบ 14 ชั่วโมง ร่วมกันไขปริศนาจนพบต้นตอ “เชื้อไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2019” ได้ก่อนจีนประกาศ 2 วัน

เบื้องหลังการทำงาน เพื่อสืบหาต้นตอของเชื้อไวรัสโคโรน่าได้สำเร็จนั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะนอกจากไม่มีตัวอย่างเชื้อจากจีนมาเทียบแล้ว ยังมีข้อมูลค่อนข้างจำกัดจากจีนอีกด้วย ดังที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์นำเสนอไปแล้วในเรื่อง พบต้นตอ "ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2019" พาหะนำสู่คนยังล่องหน แต่ด้วยความเชี่ยวชาญ "นักเทคนิคการแพทย์" (medical technologist) ของทีมศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ของไทย ก็ทุ่มเทและทำงานหนัก 14 ชั่วโมง จนสามารถค้นพบต้นตอการเกิด "ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019" ได้สำเร็จก่อนจีน ภายในเวลาเพียง 1 วันเท่านั้น

ขั้นตอนรอบคอบ ค่าใช้จ่ายหลักแสน สืบต้นตอเชื้อ “ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2019”

ดร.สุภาภรณ์ วัชรพฤษาดี รองหัวหน้าศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ นักเทคนิคการแพทย์ ผู้ถอดรหัสพันธุกรรมไวรัสจากเสมหะ และสิ่งคัดหลั่งในโพรงจมูกและคอหอยของผู้ป่วยจีนรายแรกในไทยได้สำเร็จ จนพบต้นตอลึกลับสาเหตุการป่วย ในวันที่ 9 ม.ค. 2563 ว่าเกิดจาก "เชื้อไวรัสตระกูลโคโรน่า" ใน “ค้างคาว” ซึ่งไม่สามารถระบุสายพันธุ์ย่อยได้ แต่พบว่ามีความคล้ายคลึงกับเชื้อที่ก่อโรคซาร์ส ซึ่งตรวจพบก่อนจีนเปิดเผยโรคนี้ 2 วันในวันที่ 11 ม.ค. 63

...

ดร.สุภาภรณ์ เล่าถึงวิธีการตรวจจนค้นพบต้นตอกับกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า หลังได้รับเสมหะ และสิ่งคัดหลั่งในโพรงจมูกและคอหอยของผู้ป่วยจีนรายแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 8 ม.ค. 2563 ซึ่งขณะนั้นทางการจีนยังไม่ประกาศว่าเป็นเชื้อโรคชนิดใด จากนั้นได้นำมาตรวจหาสาเหตุการป่วยด้วยวิธีพิเศษ แม้จะมีค่าใช้จ่ายสูงแสนกว่าบาทต่อ 1 ตัวอย่าง โดยมุ่งไปที่ไวรัส 2 ตระกูล คือ โคโรน่าและอินฟลูเอนซาที่ทำให้เกิดไข้หวัด ตามขั้นตอน ดังนี้

1. นำเสมหะมาสกัดสารพันธุกรรม ด้วยวิธีการพิเศษ เนื่องจากยังไม่ทราบชัดว่าเป็นไวรัสชนิดใด โดยการเพิ่มปริมาณไวรัสตรวจจับทั้งตระกูล (Family wide PCR) แล้วถอดรหัสพันธุกรรม ด้วยเครื่องถอด “รหัสพันธุกรรม” ปรากฏพบเป็นบวกเฉพาะไวรัสโคโรน่า ในขณะที่ไวรัสอินฟลูเอนซาเป็นลบ ใช้เวลา 8 ชั่วโมง

2. นำ “รหัสพันธุกรรม” ที่ถอดรหัสท่อนสั้นๆ ได้ 290 เบสไปเปรียบเทียบรหัสพันธุกรรมจากธนาคารรหัสพันธุกรรมโลก ใช้เวลา 6 ชั่วโมง พบว่าบวกเฉพาะเชื้อไวรัสตระกูลโคโรน่า ต้นตอมาจากค้างคาว มีความคล้ายคลึงกับเชื้อที่ก่อโรคซาร์ส แต่ไม่สามารถระบุสายพันธุ์ย่อยได้ เพราะไม่มีรหัสพันธุกรรมของสายพันธุ์นี้อยู่ในธนาคารรหัสพันธุกรรมโลก

...

“วันที่ 9 ม.ค. หลังถอดรหัสพันธุกรรมได้และนำไปเปรียบเทียบในธนาคารรหัสพันธุกรรมโลกพบว่าหน้าตาคล้ายกับไวรัสที่มาจากค้างคาว เป็นกลุ่มเดียวกับโรคซาร์ส แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นโคโรน่าสายพันธุ์ย่อยใด อีก 2 วันจีนประกาศ ว่าเป็นไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 และนำรหัสพันธุกรรมใส่ในธนาคาร เราได้นำรหัสพันธุกรรมไปเทียบเคียง พบว่าตรงกับที่ตรวจเจอจากผู้ป่วยชาวจีนในไทย และกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ใช้อีกเทคนิคถอดรหัสพันธุกรรมขั้นสูงผลออกมาเป็นเชื้อชนิดเดียวกับที่อู่ฮั่น ไทยถือว่าเป็นห้องปฏิบัติการที่ตรวจพบก่อนทางการจีนจะประกาศว่าเป็นเชื้ออะไร จีนพบก่อนแต่ไม่ประกาศอย่างเป็นทางการ อาจเพราะความที่เป็นประเทศใหญ่ มีผู้ป่วยเยอะ” ดร.สุภาภรณ์อธิบาย

"ค้างคาว" JUMP Species ต้นตอเดียวกัน แต่อาจกลายพันธุ์

จากข้อมูลรหัสพันธุกรรม ณ วันที่ 25 ม.ค. 63 ที่มีอยู่ ดร.สุภาภรณ์ เปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ต่อว่า ยังไม่สามารถสรุปชัดๆ ว่าต้นตอของเชื้อไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019 มาจาก “ค้างคาว” แม้รหัสพันธุกรรมมีความใกล้เคียงกับเชื้อที่พบในค้างคาวมากที่สุดถึง 89% ซึ่งมีโอกาสมากที่สุดที่เชื้อมาจากค้างคาว แต่หากมีการสำรวจเพิ่มในสัตว์อื่นๆ และเจอรหัสพันธุกรรมที่เหมือนมากกว่า ข้อมูลนี้อาจถูกเปลี่ยนไป ต้นตออาจมาจากค้างคาว แต่การแพร่เชื้อไปสู่คนด้วยวิธีใด ยังไม่มีใครทราบ แต่มีความอันตรายมากขึ้น เพราะสามารถแพร่เชื้อจากคนสู่คน

...

เชื้อที่พบในค้างคาวที่ประเทศจีนพบในผู้ป่วย 89% เหลืออีกสิบกว่าเปอร์เซ็นต์ที่ต้องรอคำยืนยันว่าเป็นต้นตอเดียวกัน หรือเกิดจากการกลายพันธุ์ สำหรับการกลายพันธุ์ ดร.สุภาภรณ์ให้ความรู้ว่า มีองค์ประกอบหลายๆ อย่าง โคโรน่าไวรัสพบได้ในสัตว์เลือดอุ่นเกือบทุกชนิด แต่ที่ทำให้เกิดการกลายพันธุ์ได้ชัดเจน คือ “การข้ามสายพันธุ์” ที่ภาษานักเทคนิคการแพทย์เรียกว่า “Jump species” คือการกระโดดข้ามจากสัตว์ที่เป็นแหล่งรังโรค คือค้างคาว ไปสู่ตัวกลางที่เป็นแหล่งเพาะโรคในสัตว์อื่นๆ ที่มีความใกล้ชิดกับคนมากกว่า เมื่อเชื้อมาสู่คนบางครั้งมีการกลายพันธุ์ทำให้ติดต่อจากคนสู่คนได้ง่ายขึ้น

“เชื้อโคโรน่าไวรัสในค้างคาวเจอได้ทุกสายพันธุ์ ค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม เชื้อจากค้างคาว หากมีการข้ามสายพันธุ์ในสัตว์ที่เลี้ยงลูกด้วยนมเหมือนกัน โอกาสเป็นตัวกลางปรับเปลี่ยนสารพันธุกรรมในการมาสู่คนจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย เพราะเซลล์แต่ละชนิดสัตว์ มีตัวรับเชื้อไวรัสที่แตกต่างกัน” ดร.สุภาภรณ์อธิบาย

ล้างมือบ่อย พกแอลกอฮอล์เจล ความหวัง "วัคซีนป้องกัน"  

เหตุที่เชื้อโรคอุบัติใหม่มักมีต้นตอจาก “ค้างคาว” ดร.สุภาภรณ์ ให้ความกระจ่างกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ต่อว่า ไม่สามารถบอกได้ว่าเพราะเหตุใด แต่จากข้อมูลรายงานวิจัยต่างๆ พบว่าค้างคาวเป็น “แหล่งรังโรค” อุบัติใหม่ เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม อยู่มาดึกดำบรรพ์ มีภูมิคุ้มกันพิเศษที่สามารถให้ไวรัสอยู่ร่วมด้วยโดยที่ไม่เจ็บป่วยได้ เพื่อรอเวลาแพร่ไปที่อื่น การ Jump species ขึ้นอยู่กับกระบวนการ โดยมากจะข้ามสายพันธุ์ด้วยการสัมผัสทางมูล

ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 เนื่องจากเป็นโรคอุบัติใหม่ ติดต่อกันผ่านทางระบบหายใจจากคนสู่คน จากการไอ จาม ผู้สูงอายุ ผู้มีโรคประจำตัว อาจมีความรุนแรงของโรคมากกว่า การป้องกันในระยะยาวด้วย “วัคซีน” มีโอกาสเกิดขึ้นได้หรือไม่นั้น ดร.สุภาภรณ์ ให้ความเห็นว่าโดยหลักการเกิดโรคอุบัติใหม่จะต้องมีการวิจัยหาวัคซีนและยามารักษา แต่ปัจจุบันยังไม่มีข้อมูลว่าเริ่มลงมือคิดค้นหรือยัง ซึ่งเวลาในการคิดค้นยาหรือวัคซีนนั้นไม่นาน แต่เวลาในการทดสอบว่ายาหรือวัคซีนที่คิดค้นได้มีประสิทธิภาพดีแค่ไหน จะมีขั้นตอนที่รัดกุมจึงต้องใช้เวลานานอาจร่วมปีเพื่อให้นำไปใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพเหมือนดังวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2019 

“ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019 เป็นไวรัสกลายพันธุ์ตัวใหม่ ทำให้ยังไม่มีการรักษาที่ได้ผล 100% ยังไม่มีวัคซีนป้องกัน ทำได้เพียงรักษาตามอาการป่วย ให้ยาฆ่าเชื้อ แต่หากรู้ไว รักษาทันก็หายได้ เช่นที่พบผู้ป่วยในไทยก็ไม่มีใครป่วยจนต้องเข้าห้อง ICU แค่อยู่ในห้องแยก ตอนนี้แม้จะตรวจพบต้นตอว่าเกิดจากเชื้อไวรัสโคโรน่าแล้ว แต่ทีมศูนย์ก็ยังช่วยกันตรวจวินิจฉัย ปรับวิธีการทำงานตรวจเชื้อนี้โดยเฉพาะต่อไปเพื่อหาทางป้องกัน การป้องกันการติดเชื้อให้ล้างมือบ่อยๆ ถ้ามือมีสิ่งปนเปื้อนเชื้อ แล้วเอาไปป้ายตา ป้ายปาก แคะจมูก จับอาหารเข้าปาก หากเชื้อมีปริมาณมากพอก็ทำให้เข้าสู่ร่างกายได้ง่ายขึ้น” ดร.สุภาภรณ์กล่าวทิ้งท้าย

10 วิธีป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจาก "ไวรัสโคโรน่า"

นอกจากนี้เพื่อป้องกันตัวเองให้ปลอดภัยจาก “ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019” กรมควบคุมโรค และองค์การอนามัยโลก ได้แนะวิธีป้องกันที่ทำได้ง่ายๆ ไว้ดังนี้

1. ถ้ามีแผนไปประเทศที่โรคระบาดอยู่ ถ้าไม่จำเป็น ให้เลื่อนเดินทาง
2. หลีกเลี่ยงสัมผัสสัตว์ ตลาดค้าสัตว์ หรือสินค้าจากสัตว์
3. ไม่อยู่ในสถานที่ที่คนหนาแน่น  
4. ไม่อยู่ใกล้ชิดผู้มีอาการทางเดินหายใจ
5. กลับมาจากพื้นที่เสี่ยง ถ้าเริ่มมีไข้ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก หายใจเหนื่อยหอบ ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติการเดินทาง
6. โทรแจ้งสายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422 เพื่อให้รถจากสถานพยาบาลมารับทันที

7. อยู่ห่างจากคนที่ไอหรือจาม 180 เซนติเมตร
8. ล้างมือด้วยน้ำ และสบู่ อย่างน้อย 20 วินาที หรือใช้เจลล้างมือหรือแอลกอฮอล์
9. กินร้อน ช้อนกลาง อาหารปรุงสุก พักผ่อนให้เพียง
10. สวมหน้ากากอนามัยในที่ชุมชน คนหนาแน่น

 "ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019" แม้อาการติดต่อจะเป็นเหมือนไข้หวัด แต่หากโชคร้ายได้รับเชื้อแล้ว อันตรายถึงชีวิต หากรักษาไม่ทัน อีกทั้งไม่มีวัคซีนป้องกัน หรือยารักษา เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุด คือ การป้องกันตัวเอง ลดโอกาสเสี่ยงเจอเชื้อ “ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ใหม่ 2019” จะใกล้ตัวเรามากแค่ไหน ขึ้นอยู่กับการป้องกันตัวเองด้วยเช่นกัน

ข่าวน่าสนใจ

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่

reporter.thairath@gmail.com  หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ