ภาพเบื้องหน้าที่เต็มไปด้วยฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ที่มีสารพิษซ่อนเร้นอยู่ภายใน หากว่ากันตามมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็เกินมาเกือบ 2 เท่า
สถานการณ์ PM 2.5 ในตอนนี้ โดยเฉพาะ ‘กรุงเทพมหานคร’ เมืองหลวงของประเทศไทย ต้องบอกว่าย่ำแย่เกินจะกล่าว ค่าเฉลี่ย PM 2.5 อยู่ที่ 40 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) แทบทุกวัน แม้จะไม่หนักหนาเท่า ‘นิวเดลี’ ของอินเดีย, ‘ปักกิ่ง’ ของจีน หรือ ‘ฮานอย’ ของเวียดนาม แต่ก็ไม่ได้อยู่ในสถานะที่เรียกว่าดีต่อสุขภาพ
หากย้อนไปในปี 2561 ค่าเฉลี่ย PM 2.5 ของกรุงเทพมหานครที่ย่ำแย่ที่สุดก็อยู่ในช่วงต้นปีเช่นกัน โดยเดือนมกราคมอยู่ที่ 41.2 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) และเดือนกุมภาพันธ์อยู่ที่ 48.6 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³)
แล้ว ‘ไทย’ จะลดปริมาณ PM 2.5 นี้ได้อย่างไร?
...
กรุงเทพมหานคร
23 มกราคม 2563 เวลา 14.00 น.
PM 2.5 อยู่ที่ 44.9 µg/m³
ก่อนหน้านี้ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2562 ไทยได้เข้าร่วมโครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ ในการตกลงความร่วมมือ Climate and Clean Air Coalition เพื่อแก้ปัญหามลพิษทางอากาศตลอดจนการริเริ่มออกมาตรการทางกฎหมาย อย่างเช่น การยกระดับเกณฑ์มาตรฐานการปล่อยมลพิษของยานพาหนะและปรับเปลี่ยน ‘รถตุ๊กตุ๊ก’ ให้เป็นรถยนต์ไฟฟ้า
และล่าสุด หลังทนเสียงต่อว่าต่อขานจากประชาชนไม่ไหว ภาครัฐก็งัด 12 มาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 ออกมาใช้ ทั้งการขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้า กทม., การตรวจสอบโรงงาน และการควบคุมการเผาในที่โล่ง เป็นต้น แต่แล้วคนก็ยังมองว่า มาตรการที่ภาครัฐใช้นั้น มันยังเกาไม่ถูกที่คัน ต้องแก้กันที่ต้นตอ (เกาไม่ถูกที่คัน รัฐลุงตู่สู้ฝุ่น PM 2.5 เอาใจแต่คนกรุง เมินพิษภัยซ่อนเร้น)
• เปิดแผนแก้ฝุ่น PM 2.5 ทั่วโลกเขาทำอย่างไร?
‘ลอนดอน’ : ประเทศอังกฤษ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ เปิดเอกสาร PM 2.5 in London: Roadmap to meeting World Health Organization guidelines by 2030 โดย นายกเทศมนตรีนครลอนดอน ส่องมาตรการการแก้ปัญหา PM 2.5 ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นต้นแบบหนึ่งในการควบคุมการปล่อยมลพิษของยานพาหนะ ซึ่งไทยเองก็เคยมีแนวคิดหยิบยกมาใช้เช่นกัน
ตัวเลขหนึ่งในเอกสาร PM 2.5 in London ที่น่าตกใจ คือ อังกฤษมีประชาชนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจาก PM 2.5 สูงถึงประมาณ 29,000 รายต่อปี ซึ่งทางนายกเทศมนตรีนครลอนดอนมองว่านี่เป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน และการกำหนดมาตรฐานคุณภาพอากาศให้สูงขึ้นก็ยังไม่เพียงพอที่จะปกป้องสุขภาพของประชาชนได้ โดยตั้งเป้าหมายว่า พื้นที่ 95% ของอังกฤษ ต้องมีมาตรฐานคุณภาพอากาศตามที่องค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนด ภายในปี 2573
ซึ่งจากรายงานภายในเอกสาร PM 2.5 in London เมื่อเดือนตุลาคม 2562 พบว่า ค่าเฉลี่ยความเข้มข้นของ PM 2.5 ในลอนดอน อยู่ที่ 13.3 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) แม้แต่ ‘พื้นที่สีเหลือง’ เอง ก็มีระดับความเข้มข้นระหว่าง 10-12 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³)
...
แหล่งที่มาของ PM 2.5 ในนครลอนดอนมาจากไหน?
หากแยกสัดส่วนสารพิษใน PM 2.5 ของนครลอนดอน พบว่า สารพิษที่มีสัดส่วนมากที่สุด คือ ไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) และบ่อยครั้ง PM 2.5 ในลอนดอน ก็มาจากมลพิษข้ามเขตแดน หรือที่เรียกว่า Transboundary
แน่นอนว่า การคมนาคมบนท้องถนนนับเป็นแหล่งกำเนิดส่วนบุคคลที่ใหญ่ที่สุดในการก่อ PM 2.5 ในลอนดอน คิดเป็นสัดส่วนถึง 30% โดยสัดส่วน 30% ที่ว่านี้ ไม่ได้มาจากแค่ไอเสียรถยนต์แต่เพียงเท่านั้น ยังมีการสึกหรอของถนน, การตกตะกอนของอนุภาค รวมถึงยางรถยนต์และระบบเบรกสึกหรอด้วย และนี่คือที่มาของ "มาตรการลดปริมาณการเดินทางบนถนน" ของนายกเทศมนตรีนครลอนดอน
"ลดปริมาณการเดินทางบนถนน" แล้วจะเดินทางอย่างไร?
นายกเทศมนตรีนครลอนดอนขีดเส้นย้ำชัดในเอกสาร PM 2.5 in London ไว้ว่า "ต้องกระตุ้นให้ประชาชนใช้การเดินทางด้วยวิธีการเดิน, ปั่นจักรยาน และรถโดยสารสาธารณะ"
...
นโยบายหลักๆ ที่นายกเทศมนตรีนครลอนดอนหยิบมาใช้ในการลดปริมาณมลพิษ หรือ PM 2.5 ที่มาจากการคมนาคมบนท้องถนน คือ
1.เริ่มบังคับใช้มาตรการ Ultra Low Emission Zone (ULEZ) หรือ มาตรการเขตปล่อยมลภาวะต่ำสุด ในเดือนเมษายน 2562
2.ขยายมาตรการ Ultra Low Emission Zone (ULEZ) หรือ มาตรการเขตปล่อยมลภาวะต่ำสุด ไปยังเขตพื้นที่วงแหวนทางเหนือและใต้ (ครอบคลุมยานพาหนะทุกประเภท) ในปี 2564
3.ปรับเปลี่ยนรถโดยสารสาธารณะเครื่องยนต์ดีเซลเป็นไฮบริด หรือรถไฟฟ้า นับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป ตั้งเป้าอย่างน้อยปี 2580 การปล่อยไอเสียต้องเป็นศูนย์
4.ยุติการออกใบอนุญาตแท็กซี่เครื่องยนต์ดีเซลนับตั้งแต่ปี 2561 เป็นต้นไป และสนับสนุนให้มีการใช้รถยนต์ไฟฟ้า
5.ลดปริมาณการจราจรโดยการกระตุ้นให้ปรับเปลี่ยนการเดินทางหรือท่องเที่ยวด้วยรถยนต์ หันไปใช้การเดิน, ปั่นจักรยาน และใช้รถโดยสารสาธารณะ ตั้งเป้าปี 2584 ประชาชนต้องเดินทางด้วยเท้า, จักรยาน หรือใช้รถโดยสารสาธารณะ คิดเป็นสัดส่วน 80% ของการเดินทางทั้งหมดในนครลอนดอน
...
จาก "มาตรการ Ultra Low Emission Zone (ULEZ)" นั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ จึงได้สืบค้นเอกสารของ CITY OF LONDON และนำมาบอกเล่ารายละเอียดให้คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์ได้ทราบกัน และหวังว่าจะเป็นแนวทางให้ภาครัฐไทยหยิบยกไปพิจารณาใช้ในอนาคต
สำหรับ Ultra Low Emission Zone (ULEZ) นั้น เป็นมาตรการการจัดการการจราจรและวางแผนลดการปล่อยไอเสียตลอด 24 ชั่วโมง โดยเริ่มบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2562 ซึ่งเดิมทีนครลอนดอนมีมาตรการการเก็บค่าธรรมเนียม Toxicity Charge (T-Charge) (บังคับใช้ 23 ต.ค. 2517) และมาตรการการเก็บค่าธรรมเนียมรถติด หรือ จราจรหนาแน่น ที่เรียกว่า Congestion Charging Zone (CCZ) อยู่แล้ว (11.50 ปอนด์ต่อวัน หรือราว 458 บาทต่อวัน) แต่มาตรการ ULEZ นี้จะทำให้ครอบคลุมมากขึ้น และตั้งเป้าไว้ว่า นับตั้งแต่วันที่ 25 ตุลาคม 2564 มาตรการ ULEZ จะขยายไปยังเขตพื้นที่นครลอนดอนชั้นใน โดยผ่านเส้นทางถนนวงแหวนเหนือและใต้
มาตรการ ULEZ คืออะไร?
ง่ายๆ เลย คือ ยานพาหนะชนิดใดก็ตามที่ไม่ตรงตามมาตรฐานของ ULEZ จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมสำหรับการเดินทางเข้าสู่เขตพื้นที่ที่มีการกำหนด
มาตรฐาน ULEZ มีอะไรบ้าง?
- Euro 3 สำหรับรถจักรยานยนต์ และรถสามล้อ
- Euro 4 สำหรับรถยนต์เบนซิน
- Euro 6 สำหรับรถยนต์ดีเซล
- Euro VI สำหรับรถบรรทุก หรือรถยนต์ที่มีน้ำหนักมากกว่า 3.5 ตัน
ค่าธรรมเนียมที่ต้องจ่ายสูงแค่ไหน?
- 12.50 ปอนด์ (ราว 498 บาท) สำหรับยานพาหนะที่มีน้ำหนักต่ำกว่า 3.5 ตัน
- 100 ปอนด์ (ราว 3,983 บาท) สำหรับยานพาหนะที่มีน้ำหนักเกิน 3.5 ตัน
ซึ่งค่าธรรมเนียมมาตรการ ULEZ นี้ จะมาแทนที่ค่าธรรมเนียม T-Charge ที่มีการบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2517 โดยจะมีการจ่ายเพิ่มในวันธรรมดา (จันทร์-ศุกร์)
ทั้งนี้ทั้งนั้น นายกเทศมนตรีนครลอนดอนก็ยังไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมโหดเพียงอย่างเดียว แต่มีสิ่งที่เรียกว่า "ส่วนลด" ให้กับผู้ที่พักอาศัยอยู่ภายในเขตพื้นที่การจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดด้วย แต่ต้องมีการลงทะเบียน โดยจะได้รับส่วนลด 100% จนถึงวันที่ 24 ตุลาคม 2564 แต่หากพ้นวันดังกล่าวไป หากยานพาหนะของใครไม่ทำตามข้อปฏิบัติ จะต้องจ่ายค่าธรรมเนียมมาตรการ ULEZ เต็มจำนวน
คงสงสัยกันใช่ไหมว่า มาตรการ Ultra Low Emission Zone (ULEZ) ใช้ได้ผลจริงหรือไม่?
ลอนดอน
23 มกราคม 2563 เวลา 07.00 น.
(เวลาท้องถิ่น)
PM 2.5 อยู่ที่ 12 µg/m³
ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ เปิดเอกสาร CENTRAL LONDON ULTRA LOW EMISSION ZONE ของนายกเทศมนตรีนครลอนดอน ตรวจสอบผลลัพธ์หลังดำเนินการมาตรการ ULEZ มา 6 เดือน พบว่า อัตราความร่วมมือในช่วง 24 ชั่วโมง เฉลี่ยอยู่ที่ 77% (มาตรการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดอยู่ที่ 74%) ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
ค่าความเข้มข้นของไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) สารพิษที่มีสัดส่วนมากที่สุดใน PM 2.5 ของนครลอนดอน ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2560 ถึงเดือนกันยายน 2562 อยู่ที่ 32 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) ลดลงถึง 36%
และจากการวิเคราะห์ข้อมูลพบว่า ช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายน 2562 ความเข้มข้นไนโตรเจนไดออกไซด์ (NO2) ในเขตพื้นที่รอบๆ ถนนใจกลางนครลอนดอน เฉลี่ยอยู่ที่ 24 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (µg/m³) ซึ่งนับว่าต่ำมาก ลดลงถึง 29% หากเทียบกับเขตพื้นที่ที่ไม่มีการใช้มาตรการ ULEZ
ขณะที่ ไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) หลังบังคับใช้มาตรการ ULEZ ในช่วง 6 เดือน สามารถลดการปล่อย NOx จากการคมนาคมบนท้องถนนในใจกลางเขตควบคุมได้ถึง 31% หรือ 200 ตัน (เทียบกับเขตพื้นที่ที่ไม่มีการบังคับใช้มาตรการ ULEZ) โดยมีการตั้งเป้าหมายว่า ภายในปีแรกที่บังคับใช้ต้องลด NOx ได้ 45%
ส่วนการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) ลดลง 4% หรือ 9,800 ตัน (เทียบกับเขตพื้นที่ที่ไม่มีการบังคับใช้มาตรการ ULEZ) และเมื่อเทียบกับปี 2559 ลดลงได้ถึง 13%
อีกสิ่งที่น่าสนใจ คือ หลังมีการบังคับใช้มาตรการ ULEZ ในใจกลางนครลอนดอน อัตราการไหลของจราจรนับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงกันยายน 2562 ลดลง 3-9% หากเทียบกับปี 2560
มาต่อกันที่ประเทศอื่นๆ
• ‘ปารีส’ : ประเทศฝรั่งเศส
23 มกราคม 2563 เวลา 08.00 น.
(เวลาท้องถิ่น)
PM 2.5 อยู่ที่ 25.5 µg/m³
มีการสั่งห้ามรถยนต์เก่ากว่าปี 2540 และรถดีเซลขนาดใหญ่ที่มีอายุเก่ากว่าปี 2544 เข้าเขตวงแหวนชั้นที่ 2 โดยรถยนต์ทุกคันต้องแสดงป้ายประเภทรถ ปีที่ผลิต ประสิทธิภาพ พลังงาน และปริมาณการปล่อยมลพิษ รวมถึงเพิ่มค่าจอดรถและยกเลิกการจอดรถฟรีในวันเสาร์
• ‘ซีอาน’ : ประเทศจีน
23 มกราคม 2563 เวลา 14.00 น.
(เวลาท้องถิ่น)
PM 2.5 อยู่ที่ 243.5 µg/m³
คงจะคุ้นๆ กันบ้างกับ ‘หอคอยฟอกอากาศขนาดยักษ์’ ณ เมืองซีอาน มณฑลส่านซี ที่มีความสูง 60 เมตร (กทม. เองก็มีการทำหอฟอกอากาศเช่นกัน แต่ขนาดเล็กกว่า) ช่วยบำบัดอากาศเสียได้สูงถึงวันละ 5-8 ล้านลูกบาศก์เมตร ส่งผลให้ค่าความเข้มข้นของ PM 2.5 ในบริเวณ 10 ตารางกิโลเมตร ลดลงถึง 19%
ซึ่งหอฟอกอากาศความสูง 60 เมตรนี้ เป็นเพียงแค่ต้นแบบเท่านั้น โดยจีนตั้งเป้าสร้างหอฟอกอากาศที่เป็นของจริง ใช้จริงจัง ในขนาดความสูง 200 เมตร หวังสูบอากาศทั้งเมืองเข้าไปเพื่อบำบัดเป็นอากาศบริสุทธิ์
• ‘โอซาก้า’ : ประเทศญี่ปุ่น
23 มกราคม 2563 เวลา 17.00 น.
(เวลาท้องถิ่น)
PM 2.5 อยู่ที่ 39.7 µg/m³
มีการควบคุมปริมาณการจราจรด้วยการเก็บค่าผ่านทางเส้นทางหมายเลข 43 และใช้เทคโนโลยีแผ่นกันเสียงแบบโปร่งใส ทึบ และเคลือบสารบนพื้นผิว เพื่อลดปริมาณการระบายมลพิษทางอากาศ เสียง ความสั่นสะเทือน และดักจับสารไนโตรเจนออกไซด์ (NOx) และ PM 2.5 รวมถึงใช้วิธีการปลูกพืชเพื่อดูดซับ (เราเองก็ทำได้ : "12 ต้นไม้" กรองพิษ PM 2.5 "พื้นที่สีเขียว" ทางรอดลดฝุ่น ที่ถูกอสังหาฯ กลืน)
• ‘ลอสแอนเจลิส’ : ประเทศสหรัฐอเมริกา
23 มกราคม 2563 เวลา 00.00 น.
(เวลาท้องถิ่น)
PM 2.5 อยู่ที่ 26.7 µg/m³
ภาครัฐมีการสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งที่เป็นรถยนต์ส่วนตัวและขนส่งมวลชน รวมถึงมีการกระตุ้นให้หันมาใช้ Rideshare อย่างแท็กซี่หรือแกร็บ (Grab) และ Carpool ทางเดียวกันไปด้วยกัน (ที่ไทยเองก็มีการรณรงค์มาเนิ่นนาน)
ปิดท้ายด้วย ประเทศ ‘เกาหลีใต้’
โซล, เกาหลีใต้
23 มกราคม 2563 เวลา 16.00 น.
(เวลาท้องถิ่น)
PM 2.5 อยู่ที่ 47 µg/m³
ที่กระทรวงการค้า อุตสาหกรรม และพลังงาน ได้สั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินชั่วคราว 8-15 แห่ง ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2562 ถึง 29 กุมภาพันธ์ 2563 ซึ่งถือเป็นครั้งแรกเลยก็ว่าได้ที่เกาหลีใต้มีการประกาศปิดโรงไฟฟ้าถ่านหินในช่วงฤดูหนาว เพราะเป็นช่วงที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงมากที่สุด โดยคาดว่า การขับเคลื่อนมาตรการนี้จะช่วยลดปริมาณการปล่อยฝุ่นละอองลงได้ 44% และยังตั้งเป้าว่า ในปี 2573 จะเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนจาก 2% ให้เป็น 20% และในปี 2565 จะดำเนินการสั่งปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน 10 แห่งที่เป็นอันตราย
สำหรับเกาหลีใต้แล้ว ปัญหา "อากาศเป็นพิษ" ถือเป็นปัญหาที่สาหัสมากๆ โดยในเดือนมีนาคม 2562 รัฐบาลเกาหลีใต้ได้ประกาศให้มลพิษทางอากาศเป็น ‘ภัยพิบัติทางนิเวศวิทยาและสังคม’ เพื่อยับยั้งและแก้วิกฤติ หลังพบว่ามีถึง 7 เมืองที่ต้องเผชิญกับระดับความเข้มข้นสูงของ PM 2.5
จากมาตรการแก้ปัญหา PM 2.5 ของต่างประเทศที่กล่าวมานั้น ‘ไทย’ เองก็สามารถหยิบยกมาปรับใช้ได้ ไม่ได้ยาก แต่ก็ไม่ได้ง่าย เพียงแต่ภาครัฐต้องใส่ใจ ตั้งใจ และมุ่งมั่นที่จะแก้ไขอย่างจริงจัง.