เสพข่าวออนไลน์ ไม่ตกเป็นเหยื่อ "ไซเบอร์ บูลลี่" จากคนจิตใจดีไม่กลายเป็นคิดแค้น ด้วยหลัก T B R and 2 S และ MIDL เกราะป้องกัน “ไซเบอร์ บูลลี่” เพื่อสังคมเป็นธรรม
โลกโซเชียลมีเดีย เมื่อมีประโยชน์ รวดเร็วในการติดต่อสื่อสาร ก็ย่อมมี "ภัยร้าย"แฝง และกลายเป็นปัญหาที่นับวันยิ่งมีมากขึ้นๆ เนื่องจากสื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อเข้าถึงได้ง่ายตลอดเวลา จึงเป็นช่องทางให้เกิดปัญหา ไซเบอร์ บูลลี่ (Cyber bully) คือ "การระรานทางไซเบอร์" ด้วยวิธีต่างๆ อาทิ ให้ร้าย ด่าว่า กลั่นแกล้ง ข่มเหง หรือรังแกผู้อื่นทั้งที่รู้จักและไม่รู้จักผ่านการคอมเมนต์แง่ลบต่างๆ ทั้งใน เฟซบุ๊ก, อินสตาแกรม แล้วแชร์วนไปในโซเชียลมีเดีย ซึ่งเรียกว่าเป็น Cyberbullying
หากคุณเป็นคนหนึ่งที่ชอบคอมเมนต์แง่ลบ โปรดจงรู้ไว้ว่า คุณอาจมีส่วนเป็นต้นเหตุหนึ่งทำให้ผู้ถูกคอมเมนต์ป่วยโรคซึมเศร้า และอาจจะตัดสินใจฆ่าตัวตายได้ คอมเมนต์แบบไหน คือ การไซเบอร์ บูลลี่ นางสาวฐาณิชชา ลิ้มพานิช ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว เปิดเผยข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า ไซเบอร์ บูลลี่พบบ่อยที่สุด คือ การใช้คำพูดคอมเมนต์ในเชิงยั่วยุ การให้ร้าย การต่อว่า
...
คนจิตใจดีกลายเป็นคิดแค้น ก่อวงจร "ไซเบอร์ บูลลี่อิ้ง" ไม่มีวันจบสิ้น
สาเหตุของการ “ไซเบอร์ บูลลี่อิ้ง” มีหลายลักษณะ ทั้งที่เกิดจากความตั้งใจ ไม่ตั้งใจ ทั้งมีเหตุผลและไม่มีเหตุผล อาทิ แกล้งหยอกขำๆ ความเกลียดชัง ความอิจฉาริษยา ความคิดเห็นไม่ตรงกัน การไม่ชอบขี้หน้า
การไซเบอร์ บูลลี่อิ้ง ที่ปัจจุบันทำกันเป็นเรื่องปกติ เพราะคิดว่าเป็นแค่คอมเมนต์ เดี๋ยวคนก็ลืม แต่ในความเป็นจริงผู้ถูกกระทำจำได้ไม่ลืม มีผลกระทบกับความรู้สึก ไม่เพียงแค่รู้สึกโกรธ เสียใจ ทุกข์ใจ เครียด อับอาย หดหู่เท่านั้น
บางกรณีหากมีภูมิต้านทานทางใจไม่แข็งแกร่งพอ นอกจากเป็นแผลทางใจฝังลึกยากเยียวยาแล้ว ยังกลายเป็นต้นเหตุหนึ่งไปสู่อาการโรคซึมเศร้า คิดฆ่าตัวตาย ดังกรณีการเสียชีวิตของดารานักร้องชื่อดังชาวเกาหลีใต้หลายคน หรือบางรายลุกลามคอมเมนต์โต้ตอบกันไปมาจนนัดพบกัน และเกิดการต่อสู้จนได้รับบาดเจ็บทางกายก็มี อีกทั้งในบางรายที่จากผู้ที่มีจิตใจดี อาจเปลี่ยนความคิดกลายเป็นคนคิดแค้น แกล้งคนอื่น เช่นเดียวกับที่ตัวเองเคยโดน เกิดวงจรไซเบอร์ บูลลี่อิ้งที่ไม่จบสิ้น
“สื่อสังคมออนไลน์เป็นสื่อเข้าถึงง่าย เข้าถึงได้ตลอดเวลา เกิดกระแสวงกว้างได้รวดเร็วจากการแชร์ จึงเกิดผลกระทบรุนแรงค่อนข้างเยอะ ผู้ถูกไซเบอร์ บูลลี่ จะเกิดความอับอาย เจ็บปวด ทุกข์ใจ และอาจมีความคิดจะทำร้ายตัวเอง หรือฆ่าตัวตายตามที่เคยเป็นข่าวได้ เพราะตั้งรับไม่ทัน เนื่องจากกระแสไปเร็วมากจากการแชร์ และคอมเมนต์ส่วนมากจะตำหนิ ด่า ว่า บางคนก็เมนต์ด้วยความสะใจ โดยไม่คำนึงถึงผลกระทบอื่น” นางสาวฐาณิชชา อธิบาย
หลัก S T R and 2 B เสพข่าวดังโจรชิงทองลพบุรี ไม่ถูกไซเบอร์ บูลลี่
คำแนะนำเพื่อรับมือเมื่อถูกไซเบอร์ บูลลี่อิ้ง นางสาวฐาณิชชา ระบุดังนี้ 1. STOP ตั้งสติ แล้วนิ่งเฉย ไม่ตอบโต้กลับ จากนั้น 2. BLOCK เพื่อตัดความสัมพันธ์ ไม่ให้สามารถติดต่อหรือระรานได้อีก 3. TELL บอกคนไว้ใจ พ่อ แม่ ครู เพื่อขอความช่วยเหลือ หากถูกข่มขู่คุกคาม หรือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมาย และต้องเก็บรวบรวมข้อมูลที่ถูกไซเบอร์ บูลลี่ ไปแจ้งเจ้าหน้าที่ 4. REMOVE ลบ ซ่อนภาพ หรือข้อความระรานรังแก 5. BE STRONG ดูแลสภาพจิตใจให้เข้มแข็ง เตือนสติตัวเองว่าอย่าใส่ใจในคำพูดคนอื่นเพื่อทำร้ายใจตัวเอง
การ “เสพข่าว” ให้เท่าทันสถานการณ์ เช่นกรณีข่าวดังล่าสุด โจรชิงทองที่ลพบุรี นางสาวฐาณิชชาแนะนำเพื่อไม่ให้เกิดไซเบอร์ บูลลี่ ต้องไม่นำตัวเองเข้าไปเป็นเหยื่อ หรือไปคอมเมนต์ทำร้ายคนอื่นซ้ำเติม เพื่อไม่ให้สังคมเกิดความรุนแรงต่อเนื่องเรื่อยๆ
...
ก่อนคอมเมนต์ให้คำนึงโดยรอบคอบ แนะให้เสพข่าวอย่างมีสติ นำเนื้อหาในข่าวที่สังคมสนใจและเฝ้ามองมาเป็นบทเรียน หากเกิดอยู่ในเหตุการณ์วันชิงทองจะทำอย่างไรให้คนอื่นและตัวเองปลอดภัย การเสพข่าวไม่ควรนำตัวเองไปทำร้ายหรือซ้ำเติมคนอื่นจากการคอมเมนต์
“โลกของเรามันไวเกินไป ใครที่เสพข่าวก่อน คนมักเข้าใจว่าคนนั้นรู้เร็วกว่าคนอื่น ควรตระหนักเสมอว่าเป็นผู้เสพข่าว ไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ไม่รู้ข้อเท็จจริงอะไรมากนัก ก่อนคอมเมนต์ ก่อนกดแชร์เพื่อเป็นการกดดัน ควรทบทวน อ่าน วิเคราะห์ให้ดี เพราะเมนต์ด้านลบจะเป็นการซ้ำเติม มากกว่าช่วยเหลือกัน
คนถูกไซเบอร์ บูลลี่ ควรเพิกเฉย ไม่สนใจ ใส่ใจคนที่ไม่รู้จักแต่มาทำร้ายความรู้สึกกัน ถึงจะทำยากแต่ก็ต้องทำให้ได้ หลีกเลี่ยงการใช้โซเชียลมีเดีย ไม่เสพข่าว ไม่เสพสื่อสักระยะจนกว่าสถานการณ์จะหายไป หากเครียดควรหาคนคุยด้วย หรือพบแพทย์” นางสาวฐาณิชชา แนะนำ
แนะพ่อแม่ หากลูกถูกไซเบอร์ บูลลี่อิ้ง 3 สิ่งเตือนก่อนคอมเมนต์เดือด
...
คำแนะนำสำหรับพ่อแม่ เพื่อช่วยเยียวยาความรู้สึกลูก เมื่อถูก Cyber bullying ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ สอบถามจาก นางญาณี รัชต์บริรักษ์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักสร้างเสริมระบบสื่อและสุขภาวะทางปัญญา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้คำแนะนำ พ่อแม่ควรสื่อสารเชิงบวกเพื่อเพิ่มความมั่นใจให้กับลูก ไม่ตำหนิหรือสร้างความกลัวให้ลูกเผชิญปัญหาเพียงลำพัง ควรสื่อสารให้ลูกรับรู้ว่าพ่อแม่เข้าใจและพร้อมอยู่เคียงข้าง รับฟังปัญหาและร่วมแก้ไขปัญหาด้วยกัน
นางญาณี ให้ข้อมูลอีกว่า ไซเบอร์ บูลลี่ เป็นภาวะที่เด็กยุค Gen G ต้องประสบแน่นอน อยู่ที่ว่าจะเป็นผู้ถูกกระทำ หรือ ผู้กระทำ พร้อมแนะ 3 สิ่งเตือนสติ เด็ก GEN G ก่อนคอมเมนต์ดุเดือดเชิงลบ ก่อ “ไซเบอร์ บูลลี่” ผู้อื่น ดังนี้
1. Digital Footprint ร่องรอยอดีตชี้อนาคต ทุกๆ การกระทำ คอมเมนต์แง่ลบ ด่าว่าคนอื่นเสียๆ หายๆ ในโลกออนไลน์ นั่นคือการทิ้ง “Digital Footprint” ที่ไม่มีวันลบได้ บ่งบอกอัตลักษณ์ตัวตน มีผลระยะยาว หากโตแล้วไปสมัครงาน นายจ้างสามารถค้นกลับมาเจอ Digital Footprint ซึ่งมีผลต่อการตัดสินใจรับเข้าทำงาน
...
2. เอาใจเขามาใส่ใจเรา ว่าหากโดนคอมเมนต์ด้านลบบ้างจะรู้สึกอย่างไร ให้เข้าใจถึงผลกระทบที่อาจจะถึงชีวิตจิตใจ มีความรู้สึกร่วมรับรู้ สุข ทุกข์ ของผู้อื่น
3. ผิดกฎหมาย พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 กรณีโพสต์ข้อมูลที่บิดเบือน หรือปลอมแปลงไม่ว่าจะทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลที่เป็นเท็จ ซึ่งคนอื่นสามารถเข้าไปดูข้อมูลนั้นได้ทำให้ผู้อื่นเสียหาย รวมทั้งข้อมูลลามกต่างๆ ทั้งผู้โพสต์และผู้เผยแพร่ส่งต่อ จะมีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
“หลักสำคัญป้องกันไซเบอร์ บูลลี่ คือ การสร้างสัมพันธภาพพื้นฐานของครอบครัว พ่อแม่ควรให้เวลาพูดคุยกับลูก แทนที่ต่างคนต่างใช้เวลาอยู่หน้าจอมือถือ ให้หมั่นสังเกตสิ่งแวดล้อมรอบตัวลูก แต่ละวันทำอะไรบ้าง หากลูกมีภาวะเครียดที่อาจถูกไซเบอร์ บูลลี่ หรือถูกบูลลี่จากโรงเรียน ก็จะแสดงอาการบางอย่าง เช่น พูดน้อยลง ไม่อยากไปโรงเรียน ไม่ร่าเริงแจ่มใส หงุดหงิดฉุนเฉียวมากขึ้น เหล่านี้เป็นภาวะเครียดเริ่มต้น แต่จะได้รับการคลี่คลายจากการที่พ่อแม่สังเกตเห็น” นางญาณีแนะนำ
MIDL เกราะป้องกัน “ไซเบอร์ บูลลี่อิ้ง” เพื่อสังคมเป็นธรรม
เด็กจะมีพื้นฐานกลัวพ่อแม่ ดุ ด่า นางญาณีให้เหตุผลกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่านั่นเป็นเพราะกลัวถูกลิดรอนสิทธิ์ไม่ให้เล่นโซเชียล บางคนจึงเลือกเก็บภาวะเครียดไว้กับตัวเอง แต่มีอีกทักษะในการป้องกันไม่ให้ถูก “ไซเบอร์ บูลลี่” นั่นคือ Media Information and Digital Literacy (MIDL) ให้ “รู้เท่าทันสื่อสารสนเทศและสื่อดิจิทัล” เพื่อพัฒนาให้มีทักษะในการคิดวิเคราะห์ วิพากษ์วิจารณ์อย่างสร้างสรรค์ ใช้สื่อเพื่อสื่อสารในการสร้างการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดี
ข้อมูลล่าสุดจากสถาบันสื่อเด็กและเยาวชนระบุว่า หลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล MIDL ล่าสุดถูกบรรจุไว้ในหลักสูตรในมหาวิทยาลัย 7 แห่ง ทดลองนำแนวคิดและกระบวนการ MIDL ไปใช้ทั้งหมด 10 หลักสูตร ได้แก่ การสื่อสารชุมชน ม.มหาสารคาม, หลักการรายงานข่าวชั้นสูง ม.กาฬสินธุ์, การรู้เท่าทันสื่อในยุคดิจิทัล มรภ.ร้อยเอ็ด, การรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล มรภ.อุดรธานี, การรู้เท่าทันสื่อ มรภ.สกลนคร, สื่อและเทคโนโลยีการสื่อสาร มรภ.ศรีสะเกษ, ทฤษฎีการสื่อสาร ม.อุบลราชธานี, นวัตกรรมและเทคโนโลยีสารสนเทศสำหรับครู หลักสูตรครุศาสตร์ มรภ.ศรีสะเกษ, สังคมไทยกับโลกาภิวัตน์ รายวิชาศึกษาทั่วไป มรภ.สกลนคร และ เทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อชีวิต รายวิชาศึกษาทั่วไป มรภ.ศรีสะเกษ ถึงแม้หลักสูตรการรู้เท่าทันสื่อ สารสนเทศ และดิจิทัล MIDL จะถูกบรรจุในหลักสูตร พ่อแม่ก็ต้องช่วยปลูกฝังให้ลูกด้วยอีกทาง เพื่อให้ลูกมีความเข้มแข็งทางปัญญา
“สัมพันธภาพที่เข้มแข็งภายในบ้านมีส่วนสำคัญมาก MIDL เป็นทักษะช่วยเป็นเกราะป้องกันให้กับลูก เพื่อเผชิญภาวะคุกคาม หรือโลกด้านมืดของโซเชียลออนไลน์ สิ่งสำคัญเมื่อเกิดแรงกระตุ้น อยากคอมเมนต์ด้านลบ ขอให้มีสติและชะลอ คิดทบทวน อ่านให้ถี่ถ้วน และคิดถึงผลดีผลเสียที่จะตามมา จงจำไว้ว่าทุกสิ่งที่ถูกส่งผ่านออกไปบนโลกออนไลน์ จะกลายเป็น “Digital Footprint” ที่คงอยู่ไปตลอดกาล” นางญาณีย้ำเตือน
ข่าวน่าสนใจ
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ