เรียกว่ากำลังเดือดร้อนกันทุกหย่อมหญ้า สำหรับปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 โดยเฉพาะ “มนุษย์กรุงเทพฯ” น่าจะเดือดร้อนหนักที่สุด จากฝุ่นควันจากการจราจร จนติดอันดับเมืองอากาศแย่ที่สุดในอาเซียนไปแล้ว

เมื่อเร็วๆ นี้ ภาครัฐเองก็นิ่งไม่ไหว ได้ออกมาตรการมาแก้ปัญหาฝุ่นพิษถึง 12 อย่าง ประกอบด้วย 1.ขยายเขตพื้นที่จำกัดรถบรรทุกเข้า กทม. จากวงแหวนรัชดาภิเษกเป็นวงแหวนกาญจนาภิเษก 2.ห้ามรถบรรทุกเข้าพื้นที่ชั้นในของ กทม. ในวันคี่ เวลา 06.00-21.00 น. ในเดือน ม.ค.-ก.พ.63 3.ตรวจวัดควันดำรถโดยสาร (ไม่ประจำทาง) ทุกคัน เพิ่มชุดตรวจเป็น 50 ชุด ครบทั้ง 50 เขต 4.กรมการขนส่งทางบกปฏิบัติการร่วมกับ บก.จร. ตรวจจับรถควันดำรถโดยสารและรถบรรทุก 5.ตรวจสอบโรงงานไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้สั่งปรับปรุงแก้ไข หรือสั่งหยุดการประกอบกิจการ

6.กำกับให้กิจกรรมการก่อสร้างรถไฟฟ้า และก่อสร้างอื่นๆ เป็นไปตามข้อกำหนด ไม่ทำให้เกิดฝุ่นและปัญหาจราจร 7.ไม่ให้มีการเผาในที่โล่งใน กทม.และปริมณฑล และบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวดกับผู้ที่เผา 8.จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอาศัยอำนาจและหน้าที่ตามกฎหมายควบคุมการเผาในที่โล่ง 9.ลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่มีปริมาณกำมะถันไม่เกิน 10 PPM 10.ขอความร่วมมือลดการใช้รถยนต์ส่วนตัวมาทำงาน และรถส่วนราชการต้องผ่านมาตรฐานควันดำทุกคัน 11.ให้ภาครัฐ ภาคเอกชน และสถานศึกษาสนับสนุนการจัดโครงการเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องสำหรับรถยนต์ดีเซลที่มีอายุเกิน 5 ปี และ 12.สร้างการรับรู้และเข้าใจแก่ประชาชนเกี่ยวกับปัญหาฝุ่น

...

ชำแหละ 12 มาตรการรัฐ ไม่ได้แก้ที่ต้นตอของปัญหา

ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ มองมาตรการภาครัฐว่า จาก 12 ข้อ มีถึง 8 ข้อที่เกี่ยวข้องกับไอเสียจากยานพาหนะ ซึ่ง 8 ข้อนี้เราก็ทราบกันดีแล้วว่าแหล่งกำเนิดหลักของ PM 2.5 ในกทม. คือไอเสียของยานพาหนะเกือบ 70% ดังนั้นมาตรการที่ออกมาเป็นการใช้ครอบคลุมทั่วประเทศ แต่ว่าน้ำหนักมาที่การควบคุม PM 2.5 ในพื้นที่ กทม.เป็นหลัก จึงเกิดคำถามว่า ประเทศไทยไม่ได้มีแค่กรุงเทพมหานครเท่านั้น เรายังมีพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่อยู่ต่างจังหวัด ที่ได้รับผลกระทบจากการเผาไร่อ้อย ที่ได้รับผลกระทบจากการเผาเศษชีวมวล เผาป่าต่างๆ ในเขตภาคเหนือตอนบนก็ยังมีอยู่

“มาตรการที่จะเยียวยา คอยให้การป้องกันหรือฟื้นฟูสุขภาพของประชาชนเหล่านี้อยู่ที่ไหน เราจะเห็นว่าจะมีข้อที่เกี่ยวข้องกับการเผาในที่โล่งแจ้งอยู่ 2 ข้อ จากทั้งหมด 12 ข้อ แต่ในการควบคุมไอเสียจากยานพาหนะมีถึง 8 ข้อ หากเราวิเคราะห์จากความต่างตรงนี้จะเห็นได้ว่า น้ำหนักความสำคัญที่รัฐบาลกำลังให้อยู่ตอนนี้คือ ไม่ให้กระทบกระเทือนต่อคนที่อยู่ในพื้นที่ กทม.มาก”

ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช ย้ำว่า มาตรการของรัฐไม่ได้คว้านลึกไปยังต้นตอของปัญหาสาเหตุที่แท้จริง นั้นคือว่า “เหตุเกิดที่ไหนก็ให้ดับที่นั้น” เหตุเกิดมาจากการปล่อยมลพิษ เราก็ดับที่ต้นตอของการปล่อยมลพิษ ซึ่งย้อนกลับมาใน กทม. ง่ายที่สุดคือ ไม่ต้องใช้รถ หยุดกิจกรรมไป นั่นคือแนวคิดที่ตนเสนอไอเดียมาตั้งแต่วันที่ 31 มกราคม พ.ศ.2562 เกือบ 1 ปีแล้วที่ตนพูดไว้

แนะ Work from Home ลดปริมาณการปล่อยควันดำ 

“ทำไมไม่ Work from Home เพื่อลดมลพิษทางอากาศ ไม่ใช่ว่าทำทุกวัน แต่ทำเพื่อลดปัญหาตอนนี้ตอนที่เกิดวิกฤติอยู่ ขอความร่วมมือจากหน่วยงานราชการ ขอความร่วมมือจากเอกชน หรือให้ทางรัฐบาลออกมาเป็นนโยบายในเรื่องนี้ได้ไหม ให้ Work from Home ในช่วงเวลานี้ และให้คงไว้สำหรับคนที่จำเป็นต้องทำงานที่ออฟฟิศจริงๆ บางตำแหน่งไม่จำเป็นต้องมาทำงานที่ออฟฟิศทุกวันก็ได้ ไม่ใช่ว่าให้พักแล้วไปทำอย่างอื่น งานก็ต้องส่งตามที่กำหนด หัวหน้าก็ต้องกำหนดหน้าที่ให้ชัดเจนว่าจะให้ทำอะไรบ้าง”

ผอ.ศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม จากนิด้า เน้นย้ำว่า ที่ผ่านมา เราไม่ได้จริงจังกับการแก้ปัญหาด้วยการ Work from Home หากทำจริงๆ เชื่อว่าจะสามารถลดมลพิษได้เยอะ เรื่องที่ 2 คึอ เราพูดกันมานานแล้วว่า ทำไมควันดำจากรถยนต์เรายังจัดการมันไม่ได้สักที โดยเฉพาะการขนส่งสาธารณะจากรถเมล์รถบัสทั้งหลายทำไมยังปล่อยควันดำอยู่ ถ้ามันจะเปลี่ยนรถมันต้องใช้งบเยอะก็จริง สามารถซื้ออุปกรณ์มาติดตั้งได้ไหม เช่น อุปกรณ์ catalytic converter เป็นอุปกรณ์ดักจับมลพิษจากท่อไอเสียยานพาหนะที่สามารถติดตั้งเองได้ ในด้านงบประมาณก็ควรคิดออกมาเพื่อไม่ให้มันมาปล่อยมลพิษสู่สิ่งแวดล้อมแบบนี้

...

สิ่งที่ทำได้ทันที คือ การลดใช้รถยนต์ให้น้อยที่สุด หรือภาคการศึกษา การเรียนการสอนอย่างที่ผ่านมา เราจะต้องเข้าเรียน เข้ามหาวิทยาลัยเพื่อไปจดเลคเชอร์ ทั้งๆ ที่เลคเชอร์เหล่านั้นสามารถอัดคลิปได้อยู่แล้ว การมาโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยไม่จำเป็นต้องมาบ่อยหรือมาถี่ แต่จะมาคือต้องได้ประสิทธิภาพสูงสุด คือ ผ่านการเรียนผ่านคลิป อ่านข้อมูลมาแล้ว เมื่อมาที่มหาวิทยาลัยก็ให้เข้าประเด็นคำถามที่สงสัย แลกเปลี่ยนกับเพื่อนในห้อง ไม่ใช่มาแค่จดๆ อย่างเดียว ซึ่งถือเป็นการเรียนแบบเก่า ตอนนี้เรากำลังก้าวสู่ยุค 5G ทำไมเรายังใช้วิถีชีวิตประจำวันแบบในยุคโบราณอยู่

ชง 3 ข้อ ทำงานที่บ้านแบบ win-win

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช ยังได้เสนอภาครัฐ ที่คิดว่าเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหามลพิษ คือ ขอเสนออย่าง win-win สมมติว่าเรามีสัญญาอยู่ทั้งหมด 3 ประเภท

ประเภทที่ 1 คือ การทำงานที่บ้าน เช่น โควตาของคนพิการ มีคนพิการส่วนมากที่สมองดีมากหลายท่าน อย่างผู้พิการที่ตาบอดหลายคนสมองจะดีมาก ประสาทหูจะไวมาก ระบบความคิดในเรื่องการจินตนาการก็จะดี เพราะมาชดเชยในสิ่งที่เขามองไม่เห็น ดังนั้นการทำแบบจำลองหลายๆ อย่างเป็นว่าคนตาบอดทำได้เก่งมาก แต่มันไม่มีความจำเป็นที่เขาจะต้องเสียเวลาออกมาเดินทางเพื่อไปที่ทำงาน เป็นอะไรที่มันลำบากมาก จริงๆ เราควรจะเปิดช่องดึงเอาทรัพยากรอันมีค่าของประชาชน เปิดช่องทางให้คนพิการสามารถทำงานได้

...

ประเภทที่ 2 คือ ในวุฒิการศึกษาที่เท่ากัน ในตำแหน่งที่เท่ากัน คนหนึ่งต้องมาทำงานทุกวัน อีกคนทำงานที่บ้าน หลักคิดคือ ไม่ควรได้เงินเดือนที่เท่ากัน เพราะอีกคนต้องจ่ายค่าเดินทางไปกลับวันละ 4 ชั่วโมงมันก็ไม่แฟร์กับเขา คือ ว่าถ้าคนไหนเลือกทำงานที่บ้าน อาจจะต้องยอมลดเงินเดือนตัวเองลง 10-15% แล้วแต่การตกลงกันกับผู้ประกอบการ ผู้ประกอบการก็พอใจเพราะประหยัดค่าจ้างลง หากถ้าคนหันไปทำงานที่บ้านเยอะอาจทำให้เสียค่าน้ำค่าไฟลดลงด้วยก็ได้ ทำให้ออฟฟิศมีขนาดเล็กลง ทำให้ผู้ประกอบการประหยัดเงินมากขึ้น

ประเภทที่ 3 Work from Home แบบเฉพาะกิจที่มีรูปแบบคล้ายกับฟรีแลนซ์ ที่ทำงานในลักษณะกึ่งฟรีแลนซ์ สามารถรับงานได้หลายๆ บริษัท แล้วก็รับเงินเดือนเป็นโปรเจกต์ กลุ่มนี้จะไม่มีออฟฟิศมานั่งประจำ มาที่ออฟฟิศเพื่อส่งงาน หรือมาเพื่ออธิบายก็ได้ เพราะฉะนั้นเขาก็ไม่ต้องเดินทางมาบริษัทบ่อย

“ผมเชื่อว่าเอกชนสามารถปรับตัวได้ทันทีหากมีการทำงานแบบ win-win แต่สิ่งที่ท้าทายยิ่งกว่าคือ หน่วยงานราชการที่มีอยู่เยอะมาก จะทำอย่างไรที่จะเปิดช่องให้คนสามารถ Work from Home ได้ต่างหาก”

...

รู้จัก PM 2.5 ให้ถ่องแท้ มองข้ามค่าสูงต่ำ แต่ที่สำคัญคือ “คุณภาพอากาศ มลพิษแฝงอยู่”

ทุกๆ ครั้งที่ได้พูดถึงปัญหา PM 2.5 ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช จะเน้นย้ำมลพิษในเขตแต่ละพื้นที่ก็ไม่เท่ากัน และครั้งนี้ก็เช่นกัน โดยอาจารย์ที่เชี่ยวชาญด้านการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ กล่าวว่า สิ่งที่ตนพยายามเรียกร้องมาโดยตลอด อยากให้สังคมไม่หยุดอยู่แค่ว่า PM 2.5 มันต่ำหรือสูงกว่าค่ามาตรฐาน เราควรที่จะก้าวข้ามประเด็นนี้ไปได้แล้ว เราควรจะเดินต่อไปในมิติที่มีความสำคัญยิ่งกว่าคือ อะไรใน PM 2.5 ที่มันสูงหรือต่ำกว่าค่ามาตรฐาน เช่น สารก่อมะเร็ง Polycyclic aromatic hydrocarbon ที่มีค่ามาตรฐานสากลอยู่แล้ว เช่น WHO ที่กำหนดไว้ไม่ให้ค่า Benzo (a) pyrene สูงเกิน 1 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ในขณะที่ประเทศอังกฤษ มีหน่วยงานที่กำหนด Benzo (a) pyrene ให้มีค่ามาตรฐานในชั้นบรรยากาศไม่เกิน 0.25 นาโนกรัมต่อลูกบาศก์เมตร กลับมาที่ประเทศไทยเรายังไม่มีค่ามาตรฐานเหล่านี้เลย อีกประเด็นคือ ค่ามาตรฐานของโลหะหนักในชั้นบรรยากาศตอนนี้ประเทศไทยมีการกำหนดค่ามาตรฐานแค่ตะกั่ว เรายังไม่มีค่ามาตรฐานที่เป็นโลหะหนัก เช่น แคดเมียม ที่เป็นสาเหตุของโรคอิไต-อิไต ปรอท เป็นสาเหตุของโรคมินามะตะ เราก็ยังไม่มีกำหนดเลย ยังไม่รวมถึงโลหะหนักอีกหลายชนิดที่ส่งผลต่อสุขภาพ ยังไม่รวมถึงสารอินทรีย์ย่อยสลายยากอีกหลายชนิดที่มีฤทธิ์ในการก่อการกลายพันธุ์เช่นกลุ่มของ ไดออกซิน  (dioxins) ที่ไม่มีการกำหนดค่ามาตรฐานเช่นเดียวกัน

เมื่อไม่มีค่ามาตรฐานในการควบคุมเช่นนี้แล้ว หันกลับมามองคำถามที่ว่าตอนนี้ย่ำแย่ขนาดไหน...ผมตอบไม่ได้ครับ

นี่คือความน่ากลัว เราไม่รู้ว่าสัดส่วนสารพิษต่างๆ เช่น สารก่อมะเร็ง โลหะหนัก สารก่อการกลายพันธุ์จากการเผาไร่อ้อย ไอเสียจากยานพาหนะ จากภาคอุตสาหกรรม จากการเผาป่า เผาข้าวโพด มันมีสัดส่วนเท่าไร แล้วในแต่ละพื้นที่มันมีปัจจัยทางด้านสภาพอากาศ ปัจจัยท้องที่ส่งผลกระทบมากน้อยเพียงใดต่อระดับความเข้มข้นของสารพิษเหล่านี้ เรายังขาดองค์ความรู้ในด้านนี้เยอะมาก

ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช กล่าวช่วงท้ายว่า สิ่งที่พึงระวังคือช่วงเวลาการเปลี่ยนแปลงทางอากาศ ซึ่งมลพิษในอากาศแต่ละพื้นที่ก็ไม่เท่ากัน ประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุจะต้องออกกำลังกายภายนอก ต้องหมั่นดูแอปพลิเคชันผ่านสมาร์ทโฟนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อตรวจคุณภาพอากาศว่าเหมาะสมหรือไม่

การออกกำลังกายกลางแจ้ง ก็ต้องดูคุณภาพอากาศด้วย เพราะเวลาออกกำลังกายหัวใจจะสูบฉีดเลือดเยอะ เมื่อไรที่หัวใจสูบฉีดเลือดเยอะ เราก็จะสูดอากาศเข้าไปมากกว่าปกติ 4-5 เท่า เท่ากับว่าเราก็เอาสารพิษสะสมเข้าร่างกายมากกว่าปกติ ย่อมไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุ และผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวต่างๆ.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ