"สวัสดีวันจันทร์" คำสั้นๆ ที่ผู้หลักผู้ใหญ่ส่งไลน์ให้ลูกหลานในกลุ่มไลน์ครอบครัวทุกวัน คือ ความรักความห่วงใย หรือแม้แต่ข่าวสารที่แชร์ๆ กันก็คือ ความเอื้ออาทรที่นึกถึงเสมอ...
อีก 1 ปีข้างหน้า หรือ ปี 2564 นี้ ประเทศไทยจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างเต็มรูปแบบ และกลุ่มผู้สูงวัย โดยเฉพาะกลุ่มวัย Gen B หรือ Baby Boomer ก็ต้องเริ่มใช้โซเชียลมีเดียเพื่อก้าวตามโลกให้ทัน โดยจากผลสำรวจการมีการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารในครัวเรือน พ.ศ.2561 (ไตรมาส 1) พบว่า กลุ่มคนอายุ 50 ปีขึ้นไป มีการใช้อินเทอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นจากปี 2557 จากร้อยละ 8.4 มาเป็นร้อยละ 21.2 ในปี 2561 ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นจากเดิมถึงร้อยละ 12.8 ตัวเลขดังกล่าวแสดงว่า มีกลุ่มผู้สูงอายุเริ่มใช้งานอินเทอร์เน็ตเล่นโซเชียลมีเดียมากขึ้น ที่สำคัญในรายงาน สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.) หรือ Electronic Transactions Development Agency หรือ ETDA (เอ็ตด้า) ประจำปี 2562 ยังพบอีกว่า ผู้ใหญ่ Gen Baby Boome ติดโทรศัพท์ส่องโลกโซเชียลมากถึงวันละ 8 ชั่วโมงเลยทีเดียว
ซึ่งเรื่องนี้ยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วงในหลายๆ เรื่อง โดยเฉพาะประเด็นอาชญากรรมที่คนสูงวัยอาจไม่เท่าทัน
...
• ปัญหาบ้านแตก สอนคนสูงวัยเล่นโซเชียล ต้นตอกำแพงในใจไม่ใช้งาน
นายธนากร พรหมยศ หรือ ‘แก๊พ’ ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise) ที่มีชื่อว่า ‘ยังแฮปปี้’ (YoungHappy) หรือ สังคมผู้สูงอายุออนไลน์ กล่าวถึงผู้สูงอายุว่า "มักมีกำแพงในใจ" คือ ไม่กล้าลงมือทำ กลัวทำผิดแล้วลูกหลานจะว่า ถ้าถามมากไปก็กลัวโดนรำคาญ จึงไม่กล้าเริ่มใช้เทคโนโลยีสักที การสอนโซเชียลมีเดียเป็นเพียงแค่สเตจแรกในการทำให้ผู้สูงอายุเข้ามาเป็น Active Senior เราต้องทำลายกำแพงความกลัวเทคโนโลยี คือ ต้องมีคนพาเขาข้ามก่อน พอข้ามได้ต่อไปเดี๋ยวเขาก็จะข้ามมาเอง หัวใจสำคัญของการมาเรียนไม่ใช่ว่าเขาต้องรู้ทุกเรื่อง สิ่งที่เขาต้องได้กลับไป คือ ความมั่นใจในการกล้าเรียนรู้ต่อ
นอกจากนี้ ยังมีปัญหาของคนวัยหนุ่มสาว คือ ไม่สามารถสื่อสารเพื่อสอนผู้สูงอายุที่บ้านเล่นโซเชียลมีเดียรู้เรื่อง สอนทีไรต้องเกิดการทะเลาะกันทุกครั้ง เนื่องจากความต่างของช่วงวัยและการเติบโตมาคนละยุค ผู้สูงอายุเขาไม่ได้เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีเหมือนกับรุ่นลูกหลาน จึงทำให้สื่อสารกันไม่รู้เรื่อง อธิบายไม่เข้าใจแล้วก็หงุดหงิดจนทะเลาะกัน และด้วยเรื่องของบริบทในสังคมไทยปลูกฝังว่าเด็กต้องเชื่อฟังผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่เป็นผู้นำเก่งเสมอ วันหนึ่งกลายเป็นว่าสิ่งที่เขาเคยเก่งกลับรู้สึกด้อยลงมาเพราะเทคโนโลยี ไม่มีผู้สูงอายุคนไหนอยากเป็นภาระหรือตกยุค บางครั้งพ่อแม่ซื้อโทรศัพท์ให้ลูกหลานใช้ แต่ทำไมพอใช้ไม่เป็นไปถามแล้วต้องโดนดุกลับมา มันจึงเป็นช่องว่างที่ทำให้ผู้สูงอายุขาดความเชื่อมั่น และกลายเป็นว่ากลัวการใช้เทคโนโลยีไปเลย
ด้าน ณฎา ตันสวัสดิ์ ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจ YoungHappy เสริมว่า สิ่งที่ YoungHappy พยายามสอนให้กับคนสูงวัยนั้น คือ การใช้แอปหลัก คือ ไลน์ (LINE) และเฟซบุ๊ก (FACEBOOK) ซึ่งสิ่งหนึ่งที่พยายามเน้นย้ำให้ป้องกันระมัดระวัง คือ การแชร์ เชื่อ หรือส่งตัวข่าวปลอม (FAKE NEWS)
...
• เปิดผลวิจัย : คนวัย 65 ปีขึ้นไป มีโอกาสเป็นเหยื่อ "ข่าวปลอม" สาวสูงวัยเป็นเหยื่อ "Romance Scam" มากขึ้น
จากผลวิจัยของมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก (New York University) และพรินซ์ตัน (Princeton University) พบว่า คนวัย 65 ปีขึ้นไป มีแนวโน้มแชร์ข่าวปลอม (Fake News) มากที่สุด โดยมี 2 ทฤษฎีมารองรับ ได้แก่ 1.คนรุ่น Baby Boomer นี้ ไม่ได้เกิดมาพร้อมเทคโนโลยี จึงเข้าสู่โลกดิจิทัลช้ากว่าวัยอื่น ทำให้ขาดความรู้เท่าทันด้านโซเชียลมีเดีย 2.ความสามารถในการรับรู้หรือกลั่นกรองข่าวสารลดน้อยลงตามอายุที่มากขึ้น ทำให้หลงเชื่อข่าวปลอมได้ง่าย
...
สอดคล้องกับ พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รอง ผบก.ปอท. ในฐานะ โฆษก ปอท. เปิดเผยกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า ที่ผ่านมาพบว่า ผู้สูงวัยน่าจะเป็นเหยื่อ เพราะพฤติกรรมการเล่นโซเชียลมีเดียของผู้สูงอายุ คือ ได้รับข้อมูลมาแล้วก็ส่งต่อเลย โดยไม่มีการตรวจสอบติดตามข่าวสารจากหลายๆ แหล่ง จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าวัยอื่นในการถูกหลอก
"โดยผู้เสียหายส่วนใหญ่ที่มาแจ้งความมักจะเป็นคนที่มีอายุโดนหลอกสูญเสียเงินทอง นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่อง Romance Scam หรือ พิศวาสอาชญากรรมทางโลกออนไลน์ เคยมีเคสผู้หญิงอายุเฉลี่ย 50 ปีขึ้นไป ถูกชาวต่างชาติหลอกเอาเงินโดยใช้ความรักเป็นเครื่องมือ มาทำให้หลงรัก ส่วนประเด็นเรื่องการรับประทานสิ่งนั้นสิ่งนี้แล้วจะหายป่วยก็มีคนหลงเชื่อเป็นจำนวนมากเช่นกัน แต่ไม่ได้เสียหายถึงขั้นต้องมาแจ้งเป็นคดีความ"
...
โฆษก ปอท. กล่าวต่อว่า กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) ได้ตั้งศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม (Anti-Fake News Center) ขึ้นมา โดยประเด็นที่คาดว่าเป็นข่าวปลอมจะถูกส่งตรวจพิสูจน์ทางเว็บไซต์ antifakenewscenter.com และจะแจ้งข้อมูลที่ถูกต้องให้ทราบต่อไปผ่านทาง Facebook, Twitter และ LINE ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ซึ่งเป็นช่องทางที่ประชาชนสามารถตรวจสอบได้ว่าข่าวไหนจริงหรือเท็จ ศูนย์นี้จะแบ่งเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกทำหน้าที่หาข้อมูล โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI เข้ามาช่วย พอหามาได้ก็จะส่งต่อไปให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องคอนเฟิร์มว่าข่าวไหนจริงข่าวไหนปลอม ส่วนสุดท้ายจะส่งข้อมูลที่มีความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาให้ทาง ปอท.ดำเนินคดี
หลังจากเปิดศูนย์แห่งนี้ขึ้นมาเปอร์เซ็นต์การโดนหลอกไม่ได้ลดลง แต่เป็นการสร้างการรับรู้มากกว่า ตอนแรกประชาชนไม่รู้จะไปหาข้อมูลจากที่ไหน และไม่รู้ว่าข้อมูลที่รับมาจริงหรือไม่จริง แต่ตอนนี้ถ้าลองส่งไปให้ทางศูนย์พิสูจน์คอนเฟิร์ม พอเขารู้ว่าเท็จก็จะได้ไม่ส่งต่อ สิ่งที่ได้ คือ การเผยแพร่ข่าวปลอมน่าจะน้อยลง เพราะมีการยืนยันข้อมูลก่อนส่ง อีกทั้งหน่วยงานที่รับผิดชอบต้องตอบภายใน 2 ชั่วโมงอีกด้วย
• เทคนิค : สอนคนสูงวัยใช้โซเชียลฯ รับฟัง พูดช้า อย่าเป็นเจ้าหนูรู้ดี
สำหรับเทคนิคการสอนคนสูงวัยใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ผู้ร่วมก่อตั้งธุรกิจ YoungHappy แนะนำว่า ต้องพูดช้า พูดหลายรอบ วิธีการสอนรอบแรกจะทำให้ดูก่อน บอกให้ทุกคนวางมือถือแล้วดู รอบที่สองดูไปทำไป รอบที่สามถ้าไม่เข้าใจให้ยกมือ เราก็จะมีสตาฟฟ์ไปดูแลถึงที่ ถ้ากดตามไม่ทันจริงๆ 1 หัวข้อ เราจะสอน 3 รอบ แต่ต้องทำอย่างไรให้สอน 3 รอบแบบไม่น่าเบื่อ สนุก มีมุกตลก มีกิจกรรมร่วมกับเขา
"แต่ละคอร์สจะมี Course Syllabus ประกอบการเรียนการสอนเพื่อให้เห็นภาพรวมของคอร์สและเข้าใจง่ายขึ้น เมื่อสอนให้ใช้โซเชียลมีเดียเป็นแล้วก็ต้องสอนให้ใช้อย่างถูกต้องด้วย จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของภัยทางโลกออนไลน์" ณฎา กล่าว
นายธนากร กล่าวทิ้งท้ายว่า แต่ละวันผู้สูงอายุเขารับข้อมูลเยอะมาก สิ่งที่เราต้องให้เขา คือ ให้มีสติยับยั้งในการที่จะตัดสินใจด้วยตัวเอง เราอย่าพยายามไปเป็นเจ้าหนูรู้ดี คือ คุณห้ามไม่ได้หรอก ยิ่งคุณห้ามเหมือนยิ่งยุ กลับกันยิ่งพ่อแม่เราห้ามเรา เราก็จะไปอีกทาง แต่เราต้องให้วิธีคิดกับเขา เช่น สอนให้เขาใช้ Google เป็น เขาก็ไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเองได้ ทำให้รู้ว่าข่าวที่ส่งต่อกันมาจริงหรือเท็จ แทนที่จะไปบอกเขาว่าอันนี้ใช่หรือไม่ใช่ สอนวิธีการให้เขาตกปลาเป็นดีกว่า
"สิ่งสำคัญในการสอนผู้สูงอายุ คือ พยายามไม่ไปเปลี่ยนเขามาก แต่พยายามเข้าใจเขามากกว่า เราต้องฟังเขาให้มากขึ้น แล้วจะรู้ว่าปัญหาที่แท้จริงของเขาคืออะไร เขากำลังรู้สึกอะไร อย่างการส่งสวัสดีตอนเช้าทำไมถึงต้องส่ง พอไปคุยกับเขาก็ทำให้รู้ว่า เพราะเพื่อนส่งมาเราก็ต้องส่งกลับ ถ้าไม่ส่งเขาจะหาว่าเราไม่สนใจ เขาต้องการให้คนสนใจ ทำให้รู้ว่าเขายังมีตัวตน ยังไม่ตาย"
อย่าลืมว่า วันหนึ่งเราทุกคนก็ต้องแก่ เป็นปัญหาที่หลีกหนีไม่ได้ แต่เราสามารถเลือกได้ว่าจะจมอยู่ตามวัย หรือทำความเข้าใจกับมันใหม่เท่าทันยุค 4.0 ไม่ตกเป็นเหยื่อของภัยทางโซเชียลมีเดีย ส่วนลูกหลานก็ต้องใจเย็น พร้อมรับฟัง และทำความเข้าใจผู้สูงอายุให้มากขึ้นด้วย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- ทำง่ายๆ ตรวจสอบครีม ยาสีฟัน อันตราย แนะสูงวัยห่างไกลซึมเศร้า อัลไซเมอร์
- คนไทยหนี "สังคมสูงวัย" ไม่พ้น แต่ต้อง "รวยก่อนแก่"
- พบต้นตอ "ไวรัสโคโรน่า สายพันธุ์ 2019" พาหะนำสู่คนยังล่องหน
- "12 ต้นไม้" กรองพิษ PM 2.5 "พื้นที่สีเขียว" ทางรอดลดฝุ่น ที่ถูกอสังหาฯ กลืน
- เกาไม่ถูกที่คัน รัฐลุงตู่สู้ฝุ่น PM 2.5 เอาใจแต่คนกรุง เมินพิษภัยซ่อนเร้น