"อันอัฐิขาวโพลนที่ได้เห็น เหมือนดั่งเป็นสิ่งเตือนสติได้ ว่าสรรพสิ่งทุกอย่างต้องจากไป เหมือนกระดูกขาวไซร้ที่ได้มอง" บทกลอนชีวิตความตาย บางช่วงบางตอนจากวัดป่ามหาชัย

ทุกสิ่งมีชีวิตล้วนต้องตาย ร่างสลายกลายเป็นดิน ไม่มีใครสามารถหลีกหนีพ้นได้ เหมือนกับมนุษย์เมื่อร่างกายไร้วิญญาณก็ต้องถูกไฟเผามอดไหม้เหลือแต่ผงเถ้ากระดูก แต่มีอาชีพหนึ่งที่ทุกคนต่างรู้จักกันดีในการนำร่างของเราให้ไปสู่สวรรค์ นั้นคือ "สัปเหร่อ" อาชีพที่ทุกคนต่างก็มองข้ามผ่าน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ พาทุกท่านไปรู้จักอาชีพที่เป็นมากกว่า "คนเผาศพ" ให้เพิ่มมากขึ้น

นายสุธี ปั่นถา วัย 30 ปี "สัปเหร่อ" แห่งวัดโสภณาราม หมู่ที่ 9 ตำบลบึงคอไห อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี ที่ยึดเป็นอาชีพสร้างรายได้มายาวนานถึง 15 ปี จากเด็กที่เรียนไม่จบ แต่อยากพิสูจน์ตัวตนว่าสามารถหาเงินและเลี้ยงชีพตัวเองได้ ทั้งที่เมื่อก่อนเป็นได้แค่ผู้ช่วย แต่ก็มีความฝันอยากจะเอื้อมเป็น "เอกสัปเหร่อ" จนสามารถทำตามความฝันที่ตัวเองตั้งเป้าหมายไว้ได้สำเร็จ

...

เมื่อนึกถึง "สัปเหร่อ" สิ่งที่เป็นของคู่กันคงหนีไม่พ้น "ผี" ที่ทุกคนต่างกลัว การขจัดความกลัวไม่ใช่เรื่องง่าย และการเป็นสัปเหร่อก็ไม่ใช่ใครก็สามารถเป็นได้ด้วยเช่นกัน ต้องบังคับจิตใจให้เข้มแข็ง

ตอนนายสุธีเจอศพครั้งแรก ก็มีความกลัวเหมือนกับหลายคนทั่วไป แต่ที่ทุกวันนี้ไม่กลัว เพราะรู้จักการฝึกให้ตัวเองชิน

"เมื่อก่อนผมเป็นคนกลัวผีมาก ตอนทำครั้งแรกมือไม้สั่นไปหมด หัวใจเต้นแรงมาก แต่ทุกวันนี้ผมไม่มีความกลัวแล้ว อยากเจอผีตัวเป็นๆ มาก แต่ก็ไม่เคยได้เจอสักที"

ทุกอาชีพล้วนมีจรรยาบรรณของตนเอง ไม่เว้นแม้แต่ "สัปเหร่อ" ที่ขณะร่างกายเราเหลือแต่ผงขี้เถ้าถ่าน สัปเหร่อคนนี้ก็ยังคงต้องรักษาผงขี้เถ้าของผู้เสียชีวิต ไม่ให้คนอื่นเอาไปใช้ในทางที่ไม่ดี นอกจากญาติพี่น้องผู้เสียชีวิตที่มีสิทธิ์นำเถ้ากระดูกกลับไปได้เท่านั้น

นายสุธีนั้นคำนึงในหัวอยู่ตลอดเวลา ว่า มันคือ "จรรยาบรรณ"

"มีคนมาขอขี้เถ้าเพื่อจะไปแก้คุณไสย แต่พอมาถึงวัดแล้วมีการมาถามหาบาตรแตกด้วย ผมเลยไม่เปิดห้องเก็บขี้เถ้าให้เขา เพราะรู้ดีว่าเป็นการทำคุณไสยเอาคืนแน่นอน คนที่มาขอก็ไม่ใช่ญาติของผู้ตาย ผมจึงไม่ให้ขี้เถ้าเขาไป เพราะผมถือว่ามันเป็นจรรยาบรรณของผม"

"สัปเหร่อ" รายได้บางเดือนน้อยเพียงแค่หยิบมือ บางเดือนก็ได้เยอะหมื่นกว่าบาท บางเดือนไม่ได้เงินเลยก็มี

นายสุธี กล่าวว่า แต่ละงานตนนั้นไม่เคยขอเงินจากเจ้าภาพเลยสักครั้ง แล้วแต่จิตศรัทธาที่เจ้าภาพจะให้ ไม่เคยเรียกร้อง

"เรื่องเงินผมไม่เคยขอกับเจ้าภาพสักครั้งว่าจะเอาจำนวนเท่าไหร่ ก็แล้วแต่เจ้าภาพจะให้ บางเดือนก็ได้ถึงหมื่นบาท บางเดือนก็ไม่ได้เลยสักบาทก็มี"

สิ่งที่ยากที่สุดของการเป็นสัปเหร่อ คือ การรับแรงเหยียดหยามจากสังคม แต่นายสุธีไม่เคยคิดท้อหรือใส่ใจ แม้ว่ากลุ่มเพื่อนจะไม่เคยชวนนายสุธีไปกินข้าวด้วยก็ตาม

"ก็มีหลายคนมาดูถูก แต่ผมไม่เคยคิดใส่ใจอะไร เพราะสุดท้าย ชีวิตคนเราทุกคนก็ต้องมาจบที่ผมอยู่ดี"

นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น ติดตามชมเรื่องราว "สัปเหร่อ" ชีวิตที่น่าค้นหาและเรียนรู้ เราไปเรียนรู้พร้อมๆ กัน เพราะนี่คือ LIFE STORY

ข่าวอื่นๆ :

...