PM 2.5 แค่ได้ยินชื่อก็หวาดผวา หมายหัวเป็น ‘ผู้ร้าย’ หลงติดกับดักค่าความเข้มข้นสูง โดยไม่รู้ตัวว่า ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ แท้จริงแล้วคือใคร?

กรุงเทพมหานคร ณ เวลา 14.00 น. ของวันที่ 14 มกราคม 2563 ค่าความเข้มข้น PM2.5 แตะ 44.3 µg/m³ โดยหากนำมาเทียบกับค่ามาตรฐานเฉลี่ย 24 ชั่วโมงขององค์การอนามัยโลก (WHO) ก็สูงเกินกว่า 2 เท่า แต่หากเทียบกับมาตรฐานไทยที่กำหนด 50 µg/m³ ก็จะไม่เกิน ซึ่งต้องมาลุ้นกันว่า หลังครบ 24 ชั่วโมง ค่าความเข้มข้นเฉลี่ยจะเกินค่ามาตรฐานไทยหรือไม่

แล้วหากสงสัยว่า ทำไมเมืองไทยถึงไม่กำหนดค่ามาตรฐานให้เทียบเท่ากับมาตรฐานขององค์การอนามัยโลก?

กรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้ให้คำตอบสั้นๆ ไว้ว่า "WHO ไม่มีหลักฐานชี้ชัดระดับฝุ่นที่ปลอดภัย"

หากมาย้อนดูสถิติค่าความเข้มข้น PM 2.5 ปี 2562 แล้วว่ากันตามมาตรฐานองค์การอนามัยโลก เห็นได้ว่า ในพื้นที่กรุงเทพมหานครเกินมาตรฐานถึง 96 วัน ขณะเดียวกันถ้าว่ากันตามมาตรฐานแบบไทยๆ ก็เกินค่ามาตรฐานเพียงแค่ 54 วัน ซึ่งวันที่ค่า PM 2.5 แย่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร คือ วันที่ 30 กันยายน 2562

...

"คนไทยติดกับดัก PM 2.5
สูงหรือต่ำไม่ใช่ประเด็น"

เมื่อความเข้มข้นสูงเป็นเพียงกับดัก แล้ว ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ คือใคร?

บอกใบ้นิดว่า ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ นั้นซุกซ่อนอยู่ภายใน PM 2.5

เผยโฉม ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ ที่ซุกซ่อนใน PM 2.5

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้สนทนากับ ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ (ศ.11) ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม สถาบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ถึงที่มาที่ไปและแหล่งกำเนิด PM 2.5 ฝุ่นพิษที่กำลังอาละวาดจนกลายเป็นวิกฤติอยู่ในขณะนี้ ซึ่งก็ได้เน้นย้ำอยู่ตลอดการสนทนาว่า "อย่าติดกับดัก PM 2.5"

เรื่องหนึ่งที่คนไทยอาจไม่เคยรู้เลย คือ สภาวะปกติ ‘ป่า’ ก็ปล่อย PM 2.5

ป่าปล่อย PM 2.5 อย่างไร?

ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช อธิบายว่า ต้นไม้จะมีการปล่อยสารเคมี เรียกว่า BVOC (Biogenic Volatile Organic Compounds) ซึ่งไม่ได้มีแค่สารเคมีเพียงตัวเดียว แต่มีกลุ่มใหญ่มาก เรียกว่า กลุ่ม Terpene ที่มี Monoterpene เป็นต้น พวกนี้เป็นสารเคมีตั้งต้นที่ไปทำปฏิกิริยาต่อ แล้วพัฒนาเป็น PM 2.5 ถ้าไปวัดช่วงที่ป่าขึ้นสูง PM 2.5 ก็จะสูงขึ้น จุดสำคัญไม่ได้อยู่ที่ PM 2.5 สูงหรือต่ำ แต่จุดสำคัญอยู่ที่ว่า "อะไรต่างหากที่อยู่ใน PM 2.5"

ซึ่งนั่นคือ ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ เกริ่นมาในตอนต้นนั่นเอง

‘ผู้ร้ายตัวจริง’ ที่ซุกซ่อนอยู่ใน PM 2.5 เป็นอย่างไร?

"ป่าไม่ปล่อยโลหะหนัก"

"PM 2.5 เสมือนยานพาหนะ สารพิษทั่วไปถ้าไม่มียานพาหนะ ก็อยู่ไม่ได้ ต้องมีที่เกาะ สิ่งที่มีอนุภาคเล็กเท่าไร พื้นที่ผิวสัมผัสยิ่งเพิ่มขึ้น เมื่อพื้นที่ผิวสัมผัสเพิ่มขึ้น ก็จะปล่อยโอกาสให้พวกสารพิษ (มี 2 ประเภท คือ อินทรีย์และอนินทรีย์) มาเกาะ"

...

ศาสตราจารย์ญาณวิทย์ ดร.ศิวัช ยกตัวอย่างง่ายๆ ที่ทำให้เห็นภาพได้ชัดขึ้น โดยเปรียบร่างกายเป็นดั่งธนาคารสุขภาพ และมี PM 2.5 เป็นรถยนต์

"เวลาที่ ‘ธนาคารสุขภาพ’ ถูกปล้น สิ่งที่ควรถาม คือ โจรมากี่คน? มีใครบ้าง? ไม่ใช่รถยนต์มากี่คัน บางทีรถยนต์อาจจะน้อย แต่โจรมีเป็นร้อยๆ คนในรถยนต์คันเดียวกันก็ได้ หรือบางทีอาจมีรถยนต์เป็นร้อยๆ คัน แต่ไม่มีโจรเลยก็ได้ สมมติสถานที่แห่งหนึ่ง มีค่า PM 2.5 ต่ำกว่า 50 µg/m³ แต่สารพิษอาจมากกว่าสถานที่ที่มี PM 2.5 สูงเกินกว่าค่ามาตรฐานก็เป็นได้"

ภาพฉายชัดแล้วว่า ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ ที่ซุกซ่อนอยู่ใน PM 2.5 นั้นคือ "สารพิษ"

และสารพิษที่เป็น ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ นั้นคือ ‘โลหะหนัก’

ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ขอยกตัวอย่าง 4 สารพิษ หรือ ‘ผู้ร้ายตัวจริง’ ที่ซุกซ่อนใน PM 2.5 ให้ได้รับรู้ความอันตรายคร่าวๆ และเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้แน่นหนา

     ปรอท (Hg) หากได้รับและสะสมเป็นเวลานานจะทำให้มีอาการบวมและเจ็บ บางส่วนอาจเป็นอัมพาตได้ ที่สำคัญยังเป็นสาเหตุของการเกิด ‘โรคมินามาตะ’

...

     แคดเมียม (Cd) หากมีการดูดซึมเข้ากระเพาะอาหารและกระจายไปยังตับ ม้าม และลำไส้ อาจทำให้เกิดมะเร็ง ไตผิดปกติ และโรคความดันโลหิตสูง ที่สำคัญยังเป็นสาเหตุของการเกิด ‘โรคอิไต-อิไต’

     ตะกั่ว (Pb) ความอันตราย คือ สามารถเข้าได้ถึง 3 ทาง ได้แก่ อาหาร การหายใจ และผิวหนัง ซึ่งเมื่อเข้าสู่ร่างกายแล้วจับกับเม็ดเลือดแดงจะมีผลต่อตับ หัวใจ และเส้นเลือด รวมถึงภาวะเจริญพันธุ์ โครโมโซม

ส่วนอีกหนึ่งสารพิษ PAHs มีโอกาสได้รับสารทั้งทางปากและผิวหนัง เป็นสารก่อมะเร็งและสารก่อการกลายพันธุ์

แล้วรู้ไหมว่า สารพิษร้ายใน PM 2.5 ทำร้ายตัวเราได้ตั้งแต่ยังอยู่ในท้องแม่ เพราะเพียงแค่แม่ได้รับฝุ่น PM 2.5 ก็มีความเสี่ยงที่จะคลอดก่อนกำหนด และอาจทำให้ทารกเสี่ยงน้ำหนักแรกคลอดต่ำกว่าเกณฑ์ด้วย

อีกหนึ่งสิ่งที่คนมักคิดกันว่า การหลบอยู่ภายในบ้านก็ช่วยให้รอดพ้น PM 2.5 ได้

จริงๆ แล้ว แม้แต่ภายในบ้านก็มีมลพิษทางอากาศเช่นกัน และส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นมาจากกิจกรรมของเราเอง

...

จากตัวเลขขององค์การอนามัยโลก พบว่า มีประชากรโลกเสียชีวิตจากมลพิษทางอากาศภายในอาคารมากถึง 3.8 ล้านคนต่อปี ตัวต้นเหตุก็มาจาก "การทำอาหารภายในบ้าน" (ส่วนมากมาจากน้ำมันก๊าดและเชื้อเพลิงแข็ง เช่น ถ่าน) ซึ่งผู้หญิงและเด็กมีความเสี่ยงมากที่สุด โรคที่พบ คือ หัวใจขาดเลือดและปอดบวม คิดเป็นสัดส่วนเท่ากัน 27%, ปอดอุดกั้นเรื้อรัง 20%, เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงสมองอุดตัน 18% และมะเร็งปอด 8%

เห็นได้ว่า PM 2.5 ในแต่ละพื้นที่ที่เราสูดเข้าไปในร่างกาย มีความอันตรายที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับว่าในพื้นที่นั้นมีสารพิษใดเจือปน หรือแม้แต่ภายในบ้านเองที่ก็มีมลพิษทางอากาศเช่นกัน

และในการเพิ่มขึ้นของ PM 2.5 ทุกๆ 10 µg/m³ ก็จะทำให้เพิ่มอัตราการเป็นมะเร็งปอด 36% และอาจทำให้อายุสั้นลง 0.98 ปี.

ข่าวอื่นๆ :

ข้อมูลอ้างอิง :

  • ประกาศสถานการณ์ฝุ่นละออง PM 2.5 เฉลี่ย 24 ชั่วโมง ในพื้นที่กรุงเทพมหานคร โดย กรมควบคุมมลพิษ
  • องค์การอนามัยโลก (WHO)