เกษตรกร ชาวบ้านตาดำๆ ถึงกับสะท้าน น้ำท่าเริ่มแห้งเหือด หน้าหนึ่งสื่อหลายสำนักพาดหัวตัวโตๆ ปีนี้ ‘ภัยแล้ง’ มาแน่ แถมอาจลากยาวกันจนถึงกลางปี

จากความวิตกสถานการณ์ ‘ภัยแล้ง’ ที่เกิดขึ้น ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ตรวจสอบสภาพน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ทั่วประเทศไทย ณ ปัจจุบัน (10 ม.ค. 63) ซึ่งพบว่า ระดับน้ำในเขื่อนขนาดใหญ่ที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤติ คือ ต่ำกว่าหรือเท่ากับ 30% มีจำนวน 14 แห่ง น้อยกว่าช่วงภัยแล้งในเดือนกันยายน 2562 ที่มีจำนวนถึง 18 แห่ง

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ใช่ว่าจะไม่น่าห่วง ใช่ว่าจะเบาใจได้ เพราะจากการตรวจสอบ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล, สิริกิติ์, แควน้อยฯ และป่าสักชลสิทธิ์) ที่มีปริมาตรน้ำรวมกัน 10,859 ล้าน ลบ.ม. (44%) แต่กลับมีปริมาตรน้ำใช้การได้เพียงแค่ 4,163 ล้าน ลบ.ม. (23%) เท่านั้น

...

แม้ตัวเลขอาจไม่เทียบเท่าในช่วงวิกฤติภัยแล้งปีก่อน แต่สถานการณ์ก็เกือบใกล้เคียง ที่มีความเป็นไปได้ว่า อาจไปถึงจุดเดียวกันกับปี 2562 ก็เป็นได้

นายทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีฝ่ายบำรุงรักษา กรมชลประทาน ให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ถึงสถานการณ์น้ำ ณ ปัจจุบัน ที่พ่วงมาด้วยความกังวลและคำเตือน

เกษตรกร ชาวบ้านตาดำๆ จะรอดพ้นวิกฤติภัยแล้งหรือไม่?

นายทวีศักดิ์ เริ่มต้นบทสนทนาด้วยคำอธิบาย "ช่วงเวลาการบริหารจัดการน้ำ" ให้ได้เข้าใจกันก่อน

"ในช่วงนี้เป็นช่วงฤดูแล้ง เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนจนถึงเดือนเมษายนของปีถัดมา (พ.ย. 62 ถึง เม.ย. 63) ส่วนช่วงฤดูฝนตั้งแต่เดือนพฤษาคมถึง 31 ตุลาคม"

ช่วงฤดูฝนที่ผ่านมา 6 เดือน ได้มีการบริหารจัดการน้ำให้กับพี่น้องเกษตรกรทำนาปี โดยให้ใช้น้ำฝนให้มากที่สุด ส่วนน้ำฝนที่ตกลงมาก็พยายามเก็บไว้ในฤดูแล้ง ปรากฏว่า ในช่วงปี 2562 ที่ผ่านมา (ตั้งแต่ 1 ม.ค. - 31 ธ.ค. 62) ฝนที่ตกลงมาต่ำกว่าค่าเฉลี่ย 34% โดยภาพรวมแล้วประมาณ 16% ทั้งประเทศ ทีนี้เมื่อแยกแยะตามภาคต่างๆ อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็ก ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ โดยเฉพาะภาคเหนือ ฝนตกต่ำกว่า 15-16% ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่ไหลเข้าเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแม่กวง เขื่อนแม่งัด ตลอดจนเขื่อนแควน้อยฯ มีน้ำน้อยกว่าปกติ โดยเฉพาะกลาง ฝนตกต่ำกว่า 27-28% ทำให้น้ำในเขื่อนหลักๆ เช่น เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ เขื่อนทับเสลา เขื่อนเสลียว มีน้ำน้อยกว่า แต่ภาคอีสานก็ตกต่ำกว่า 13-14% จริงๆ แล้วภาคอีสานจะตกต่ำกว่า 16% ถึง 20% เนื่องจากมีช่วงนึงที่พายุโมดุลเข้ามา ทำให้ปริมาณน้ำฝนขยับขึ้นมา ตรงนี้เป็นภาพรวม ส่วนภาคตะวันออกก็เช่นกัน ฝนตกต่ำกว่า 15-16% ภาคใต้ฝั่งอันดามันประมาณ 8% ส่วนภาคใต้ฝั่งตะวันออกหรือฝั่งอ่าวไทย ฝนตกต่ำถึง 18% ในส่วนตรงนี้เองที่ส่งผลให้ปริมาณน้ำในเขื่อน ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน (เริ่มต้นฤดูแล้ง) และน้ำที่เก็บไว้ใช้ในฤดูแล้ง ทั้งประเทศมีน้ำใช้การ (สามารถนำมาใช้การได้) ในแต่ละเขื่อนต่างๆ มีเพียง 29,239 ล้าน ลบ.ม.

สำหรับภาพรวมการวางแผนใช้น้ำสำหรับฤดูแล้ง (พ.ย. 62 - 30 เม.ย. 63) นั้น นายทวีศักดิ์ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า มีการเตรียมไว้ 17,700 ล้าน ลบ.ม. (โดยประมาณ) แบ่งเป็น อุปโภคบริโภค 3,800 ล้าน ลบ.ม. หรือ 13%, รักษาระบบนิเวศ 7,000 ล้าน ลบ.ม., อุตสาหกรรม 500 ล้าน ลบ.ม. หรือ 3%, เกษตรฤดูแล้ง 7,000 กว่าล้าน ลบ.ม. (ข้าวนาปรัง) ในพื้นที่ชลประทานหรืออ่างเก็บน้ำเพียงพอ เช่น อ่างเก็บน้ำลำปาว ในส่วนเขื่อนที่มีน้ำน้อยต่างๆ ก็จะมีการวางแผนการเพาะปลูกพืช เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ มีน้ำเพียงพอสำหรับการอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ สำรองน้ำไว้ใช้ในต้นฤดูฝน

สำหรับสถานการณ์นำ้บริเวณลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด นายทวีศักดิ์ ยอมรับว่า "ค่อนข้างที่จะหนักหนาสากรรจ์"

...

หมายความว่าอย่างไร?

นายทวีศักดิ์ อธิบายว่า น้ำในช่วงต้นฤดูแล้ง (เดือน พ.ย.) มีน้ำเพียง 5,377 ล้าน ลบ.ม. ตรงนี้เองที่มีเพียงพอสำหรับอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ และเกษตรต่อเนื่องกับสำรองน้ำไว้ในต้นฤดูฝนหน้า ช่วงฝนทิ้งช่วง ซึ่งในลุ่มเจ้าพระยาไม่เพียงพอ ต้องผันน้ำมาจากเขื่อนลุ่มน้ำแม่กลอง 850 ล้าน ลบ.ม. โดยผันมาช่วยในเรื่องของอุปโภคบริโภค รักษาระบบนิเวศ (พ.ย.-เม.ย. 63) ประมาณ 500 ล้าน ลบ.ม.

"ท่านนายกรัฐมนตรีห่วงใย ซึ่งได้สั่งการว่า ต้องมีการสำรองน้ำไว้สำหรับต้นฤดูฝนหน้าด้วย ฤดูแล้งมีการจัดการน้ำถึงวันที่ 30 เมษายน ฉะนั้น ในเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมต้องมีการสำรองน้ำไว้ใช้ เขื่อนใหญ่ๆ ทุกเขื่อนต้องสำรองไว้สำหรับถึงเดือนกรกฎาคม 2563"

• น้ำน้อย แล้งลาม 20 จังหวัด

จากช่วงเดือนช่วงภัยเดือนกันยายน 2562 - 10 มกราคม 2563 มีการประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว 18 จังหวัด (เชียงราย, น่าน, เพชรบูรณ์, อุทัยธานี, นครพนม, มหาสารคาม, บึงกาฬ, หนองคาย, บุรีรัมย์, กาฬสินธุ์, นครราชสีมา, กาญจนบุรี, ฉะเชิงเทรา, สุโขทัย, ชัยนาท, อุตรดิตถ์, นครสวรรค์ และสุพรรณบุรี) และยังอยู่ในขั้นตอนรอลงนามประกาศเขตฯ เพิ่มอีก 2 จังหวัด คือ ขอนแก่นและสกลนคร นั้นเท่ากับว่า ภัยแล้ง ณ เวลานี้ ลุกลามกินพื้นที่กว่า 20 จังหวัดแล้ว

...

"ฝากพี่น้องประชาชนตระหนักให้ใช้น้ำอย่างประหยัด"

นายทวีศักดิ์ ย้ำกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า โดยเฉพาะในช่วงฤดูฝนหน้า อีกไม่กี่เดือน เพียง 3 เดือนกว่า ต้องฝ่าวิกฤติในฤดูฝนหน้า (เริ่ม พ.ค.) แต่การคาดหมายพยากรณ์ของกรมอุตุนิยมวิทยานั้น คาดการณ์ว่า ฝนจะตกต่ำกว่าคาด เฉลี่ย 30 ปี ค่าปกติ เช่น ปี 2562 ต้องตระหนักถึงการใช้น้ำอย่างยิ่งยวดเลย

"ในส่วนเรื่องเพาะปลูกก็อยากให้พี่น้องเกษตรกรทำตามแผนที่ราชการแจ้ง การใช้น้ำมากไม่ควรเลย ในพื้นที่ที่ขาดแคลนน้ำ ทางโครงการชลประทานหรือทางผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศ ต้องขอความร่วมมืออย่างยิ่งยวดเลย"

...

จากการสำรวจเบื้องต้น นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 จนถึงปัจจุบัน (10 ม.ค. 63) มีเกษตรกรได้รับความเสียหายแล้วกว่า 99,402 ราย และพื้นที่เสียหาย 985,344 ไร่ (ข้าว 873,303 ไร่, พืชไร่ 111,546 ไร่, พืชสวนและอื่นๆ 495 ไร่) แต่ทั้งนี้ มีการคาดการณ์ว่า อาจมีพื้นที่เสียหายสูงถึง 2,264,104 ไร่

และความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากภัยแล้ง คิดเป็นวงเงินแล้วก็สูงถึง 1,100.88 ล้านบาท

พื้นที่น่าห่วงที่สุด
"ลุ่มเจ้าพระยา 22 จังหวัด"

แม่น้ำเจ้าพระยาวิกฤติ?

แม่น้ำโขงหายนะ?

ต้องบอกว่า สถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงนั้นแสนจะน่าห่วง 6 สถานี มีระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งทั้งสิ้น แม้แต่แม่น้ำเจ้าพระยาเองระดับน้ำยังลดลงจนคนวิตกกังวลถึงวิกฤติและหายนะภัยแล้งที่จะมาถึง

นายทวีศักดิ์ ให้คำตอบชัดๆ ถึงสถานการณ์ดังกล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า แม่น้ำเจ้าพระยามีการบริหารจัดการโดยการปล่อยน้ำ 4 เขื่อนหลัก ประกอบด้วย เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยฯ เขื่อนป่าสัก ปล่อยวันละ 18 ล้าน ลบ.ม. ระดับน้ำลดลงตามที่ปล่อยน้ำมา ซึ่ง 18 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน แบ่งเป็น อุปโภคบริโภค 7 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศ 8 ล้าน ลบ.ม. เกษตรต่อเนื่อง (พืชผลที่เป็นไม้ยืนต้น เช่น ส้มโอ มะม่วง ที่ปลูกแถวภาคกลาง) ต้องมีการหล่อเลี้ยง

ส่วนแม่น้ำโขงเป็นแม่น้ำนานาชาติ หลายประเทศตั้งแต่จีนลงมา เป็นลักษณะเกี่ยวกับเรื่องภัยแล้งเช่นเดียวกัน การบริหารจัดการน้ำของประเทศเพื่อนบ้าน

ส่วนข้อกังวลว่า ผลกระทบจากเขื่อนที่ตั้งอยู่ทางเหนือ (จีน, ลาว) จะเป็นต้นเหตุภัยแล้งในไทยและแม่น้ำโขงเหือดแห้งนั้น นายทวีศักดิ์ ยืนยันกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า

"ทางสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ได้ประสานไปทางประเทศที่อยู่เหนือน้ำ ก็ได้มีการแจ้งกลับมาว่าจะมีการระบายน้ำตามแผน ทางไทยก็ต้องมีการเฝ้าระวังหรือติดตามข่าวสารจากทางราชการ".

ข่าวอื่นๆ :

อ้างอิง :

  • รายงานสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร วันที่ 10 มกราคม 2563 (เวลา 15.00 น.) โดย ศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
  • รายงานสรุปศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ เรื่อง สถานการณ์น้ำและการเฝ้าระวัง ประจำวันศุกร์ที่ 10 มกราคม 2563 โดย กรมชลประทาน