ทางรอด "ต้นไม้" สู้วิกฤติ "น้ำประปาเค็ม" เผยรายชื่อต้นไม้ทนความเค็ม พร้อมทำความเข้าใจใหม่ น้ำบรรจุขวดขายยังมีความเค็ม หากไม่ใช่ RO
“น้ำประปาเค็ม” จากสภาวะระดับน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาลดระดับลงอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้น้ำทะเลหนุนสูงกว่าปกติเป็นบางเวลา ทำให้น้ำประปามีค่าความเค็มสูงเกินมาตรฐานของน้ำดิบที่นำมาผลิตน้ำประปา แม้จุดได้รับผลกระทบจากน้ำทะเลหนุนอยู่ที่ จ.ปทุมธานี แต่ชาว กทม.ก็ได้รับผลกระทบเกือบทั้งหมด เนื่องด้วยน้ำประปาที่ใช้ส่วนใหญ่มาจากสถานีประปาสำแล จ.ปทุมธานี
สถานการณ์เช่นนี้ อาจเกิดขึ้นยาวนานถึงเดือนกรกฎาคม 63 เนื่องจากน้ำจืดไม่เพียงพอที่จะไปดันน้ำทะเลที่หนุนเข้ามาทางแม่น้ำเจ้าพระยา อีกทั้งระบบการผลิตประปาไม่มีระบบทำให้ค่าความเค็มเจือจางลง ทางออกที่ดีที่สุด คือ งดบริโภคน้ำประปา หรือนำมาทำอาหาร โดยเฉพาะบ้านที่มีผู้ป่วยเป็นโรคประจำตัว ไต หัวใจ หรือผู้ป่วยที่แพทย์ให้ควบคุมอาหารประเภทรสเค็ม
น้ำประปาเค็มนอกจากมีผลกระทบคนแล้ว ต้นไม้ต่างๆ ที่ปลูกในบ้าน ซึ่งช่วยให้บรรยากาศรอบบ้านน่าอยู่ เย็นสบาย แถมยังช่วยฟอกอากาศก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน น้ำประปาเค็ม หากนำมารดน้ำต้นไม้ พืชไร่ พืชสวน จะมีผลกระทบอย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์มีคำตอบจาก ผศ.ดร.ศิริพร ศรีพิบูลย์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมสิ่งแวดล้อม วิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้อธิบายตามหลักวิทยาศาสตร์ไว้อย่างน่าสนใจ
...
ต้นไม้ "ตายผ่อนส่ง" ความเค็มคือ "ตัวร้าย"
ผศ.ดร.ศิริพร เริ่มอธิบายกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่าต้นไม้ พืชจะเจริญเติบโตได้ก็ด้วยการดูดนํ้าและธาตุอาหารมาใช้ ตามหลัก “ออสโมซิส” (osmosis) เป็นการแพร่ของน้ำจากบริเวณที่มีน้ำมากเข้าสู่บริเวณที่มีน้ำน้อยกว่า ผ่านเยื่อหุ้มเซลล์ หรือเยื่อเลือกผ่าน (semipermeable membrane) หรือที่เข้าใจได้ง่ายๆ ว่า "ราก" การรดน้ำต้นไม้ด้วยน้ำประปาที่เค็มจะส่งผลให้ต้นไม้ค่อยๆ ตายไปอย่างช้าๆ การสังเกตง่ายๆ ที่ตรงไหนมีความเค็มให้ดูที่ขอบของใบไม้จะมีลักษณะไหม้
“ปกติในรากไม้จะมีความเข้มข้นน้ำน้อย เมื่อรดน้ำนอกรากไม้จะมีความเข้มข้นน้ำมาก น้ำก็จะไหลเข้าไปในรากไม้ตามหลักออสโมซิส ในทางกลับกัน หากรดต้นไม้ด้วยน้ำเค็ม นอกรากไม้จะมีความเข้มข้นน้ำน้อยส่วนข้างในรากจะมีความเข้มข้นน้ำมากกว่า น้ำเข้าสู่ข้างในรากได้ แต่จะไหลออกมาข้างนอก พร้อมทั้งน้ำที่อยู่ในรากแต่แรกออกมาด้วย จึงทำให้ต้นไม้ขาดน้ำ และจะค่อยๆ ตายไปในที่สุด” ผศ.ดร.ศิริพร อธิบาย
ทำความเข้าใจใหม่ น้ำบรรจุขวดในท้องตลาด ยังมีความ "เค็ม"
การแก้ปัญหาไม่ให้ต้นไม้ตายเพราะน้ำเค็ม เบื้องต้นต้องใช้น้ำที่ไม่เค็มที่บรรจุขวดขายมารด หรือในระยะยาวก่อนตัดสินใจปลูกต้นไม้ พืชไร่ พืชสวน ควรเลือกชนิดที่ทนความเค็ม ข้อมูลจากกรมพัฒนาที่ดิน ผักกาดหัวจัดเป็นพืชทนเค็มปานกลาง ไม่ทนเค็มในระยะงอก ข้าวโพดจัดอยู่ในพวกทนเค็มน้อย แต่งอกได้ดีกว่าผักกาดหัว ดังนั้นจึงไม่ควรปลูกพืชไม่ทนเค็ม เช่น ถั่ว แครรอท หอมใหญ่เป็นต้น ควรปลูกบรอกโคลี่ มะเขือเทศ ซึ่งเป็นพืชทนเค็มน้อย หรือพืชทนปานกลาง เช่น หัวไชเท้า แตงกวาญี่ปุ่นซูกินี
ไม้ดอกที่เหมาะสำหรับในการเลือกมาปลูกประดับบ้านที่ทนเค็มมาก ได้แก่ บานบุรี บานไม่รู้โรย เล็บมือนาง ชบา เฟื่องฟ้า และทนเค็มจัด ได้แก่ คุณนายตื่นสาย เข็ม เขียวหมื่นปี แพรเซี่ยงไฮ้ ส่วนไม้ผลและต้นไม้ควรเลือกปลูก ละมุด พุทรา มะขาม มะพร้าว อินทผลัม สน สะเดา
“ต้นไม้บางต้นตายเร็ว ตายช้าไม่เหมือนกัน ต้นที่ทนความเค็ม อีกสักพักพอได้น้ำจืดก็มีชีวิตต่อได้ แต่น้ำไม่เค็มก็ราคาแพง ใช่ว่าน้ำขวดที่ขายจะไม่มีความเค็ม เพราะกระบวนการอื่นๆ ไม่สามารถเอาความเค็มออกได้ นอกจากน้ำที่ใช้ระบบการกรองแบบ RO”
...
.00001 เล็กกว่านาโน ชำแหละ RO ขจัดเกลี้ยงความเค็ม
น้ำดื่มระบบ RO หรือ Reverse Osmosis ผศ.ดร.ศิริพร อธิบายต่อว่า เป็นระบบกรองน้ำที่มีความละเอียดสูงซึ่งแผ่นไส้กรองพิเศษ มีรูพรุนขนาดเล็กมาก แม้แต่จุลินทรีย์ หรือโมเลกุลของความเค็มก็ผ่านไม่ได้ จึงเป็นระบบกรองน้ำที่มีความบริสุทธิ์สูง จนแทบไม่มีสารใดๆ ตกค้าง แม้กระทั่ง แร่ธาตุสำคัญที่มีอยู่ในน้ำซึ่ง จำเป็นต่อการซ่อมแซมและเสริมสร้างกระดูกและฟัน รวมถึงระบบภูมิคุ้มกันต่างๆ ให้ร่างกาย อาทิ แมกนีเซียม แคลเซียม ซิลิก้า ฟลูออไรด์ และซิงค์
“คำว่า Reverse Osmosis ใช้หลักตรงกันข้ามกับออสโมซิสของต้นไม้ เป็นการกรองน้ำที่สะอาดมากๆ ไม่มีอะไรผ่าน ยกเว้นน้ำ โดยน้ำจะไหลผ่านจากความเข้มข้นของน้ำน้อยผ่านเยื่อเข้าไปในที่น้ำมาก จากการบังคับให้น้ำวิ่งเข้าไปด้วยการใช้ปั๊มน้ำดัน RO มีความเล็กมากๆ เท่ากับ .00001 เล็กกว่านาโน เพราะฉะนั้นโมเลกุลที่ใหญ่กว่านี้เล็ดลอดไม่ได้ แม้แต่ความเค็ม ยกเว้นน้ำ ”
...
สภาวะ “น้ำประปาเค็ม” ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ รวบรวมข้อมูลจากการประปานครหลวง (กปน.) จากโรงงานผลิตน้ำ ธนบุรี ระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2562-7 มกราคม 2563 พบว่า ค่าความเค็มเฉลี่ยเกินมาตรฐาน 18 วัน และเริ่มเกินมาตรฐานตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2562 โดยค่าความเค็มเฉลี่ยสูงสุด คือ วันที่ 26 ธันวาคม 2562 อยู่ที่ 1.66 กรัมต่อลิตร และ ค่าความเค็มต่ำสุด 0.36 กรัมต่อลิตร สูงสุด 4.33 กรัมต่อลิตร ซึ่งค่าความเค็มมาตรฐานในการผลิตน้ำประปานั้นต้องไม่เกิน 0.25 กรัมต่อลิตร
การป้องกันไม่ให้เกิด "น้ำประปาเค็ม" นั้น ผศ.ดร.ศิริพร ศรีพิบูลย์ ระบุสั้นๆ ทิ้งท้าย ต้องระวังไม่ให้เกิดความแล้ง กันไม่ให้น้ำทะเลเข้า แต่คงเป็นการยาก ซึ่งขึ้นอยู่กับระดับแรงดันระหว่างน้ำทะเลกับน้ำจืดที่โคจรมาเจอกัน น้ำฝั่งใดมีแรงดันมากกว่าก็จะสามารถรุกล้ำไปยังอีกน้ำอีกฝั่งได้
...
ข่าวน่าสนใจ
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ