มีหลายๆ อาชีพที่ต้องทุ่มเททำงาน ใช้แรงกาย แรงใจ เสี่ยงเป็นเสี่ยงตาย และไม่ได้หยุดช่วงเทศกาล โดยเฉพาะช่วงเทศกาลปีใหม่ 2563 ที่ผ่านมา พวกเขาและเธอก็ไม่ได้หยุดพัก ต้องทำงานหนักขึ้น และต้องแข่งกับเวลา เพราะทุกวินาทีนั้นหมายถึงชีวิตที่จะดับหรือต่อลมหายใจให้กับผู้คนที่ประสบอุบัติเหตุ

อาชีพที่ว่านี้คือ “กู้ภัย” ในทุกๆ ปีในเทศกาลปีใหม่ หรือสงกรานต์ อุบัติเหตุในประเทศไทยมีมากมายติดอันดับโลก ทุกๆ ปีในเทศกาลปีใหม่มีคนตายกว่า 300 คน เขาต้องทำงานหนักกันขนาดไหน...

LIFE STORY โดย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จะพาทุกท่านไปสัมผัสอาชีพ “กู้ภัย” ที่มีอะไรมากมายมากกว่าการส่งศพ ช่วยเหลือคนเจ็บให้ถึงมือแพทย์อย่างปลอดภัย อะไรคือความสุข ความทุกข์ อุปสรรค การเสี่ยงตาย ภาพสยดสยอง การเผชิญหน้ากับความตายในทุกรูปแบบ วันนี้เราจะพาทุกท่านติดตามคนทำงานกู้ภัยใน 1 วันก่อนปีใหม่ จาก 2 เจ้าหน้าที่มูลนิธิร่วมกตัญญู คือ นภัทร กลมเกลี้ยง หรือ เซ็น เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญู เจ้าของรหัส นคร 68 และ อรญา ถ่ายเนียม หรือ แอน พนักงานขับรถพยาบาล มูลนิธิร่วมกตัญญู มาร่วมถ่ายทอดเบื้องหลังอาชีพที่ต้องทำงานกับความตาย คนป่วย แล้วคุณจะรู้ว่าทุกวินาทีมีค่าจริงๆ

...

นายนภัทร หรือ พี่เซ็น เล่าว่า หน้าที่หลักของเขา คือ คนขับรถและเจ้าหน้าที่กู้ภัยที่ใช้เครื่องตัดถ่าง ปีใหม่ทุกๆ ปีจะมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นมากมาย ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบริเวณถนนสายรอง รถจักรยานยนต์คือรถที่เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด ส่วนสาเหตุนั้นไม่ต้องพูดถึง เพราะรู้ๆ กันอยู่แล้วก็คือ “เมาแล้วขับ”

ที่ผ่านมา นายนภัทร ได้ผ่านการฝึกอบรมมาแล้วหลายอย่าง แต่จะเชี่ยวชาญอยู่ 2 อย่าง คือ กู้ภัยอาคารถล่ม และกู้ภัยใต้น้ำ มีอยู่ครั้งหนึ่งทำให้เขาต้องจดจำไปทั้งชีวิต เพราะหวิดสิ้นชื่ออยู่ใต้บาดาล โดยเขาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังในระหว่างการเดินทางไปช่วยคนเจ็บจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ในพื้นที่บางพลี

เล่าประสบการณ์เฉียด.. “เป็นกู้ภัยทางน้ำต้องไม่ตายใต้น้ำ”

พี่เซ็นเล่าเรื่องนี้ระหว่างเดินทางไปช่วยคนเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนน เราได้ขึ้นรถพยาบาลกู้ภัยติดตามไปด้วย ซึ่งพี่เซ็นเล่าว่า.. เสี่ยงตายที่สุด ก็มีเคสงมผู้เสียชีวิตเป็นเด็กสองคนไปเล่นน้ำ ที่ท่าน้ำวัดสะพาน ตรงนั้นจะมีท่าเรือทราย เด็กไปเล่นน้ำแล้วจมหายไป ไปถึงก็วางแผนลงค้นหา แบ่งออกเป็น 3 ชุด ผมลงคนหาในชุดแรกลง 4 คน ในจังหวะที่ค้นหาไป เราต้องค้นหาไปใต้เรือทรายหน้าประตูระบายน้ำจะมีลักษณะน้ำขึ้น น้ำลงเรือจะลอยขึ้น ต่ำลง ลอยขึ้น ต่ำลง..

“โดยที่พอลงไป พอเข้าไปใต้เรือทราย ลักษณะเหมือนน้ำมัน ขึ้นๆ ลงๆ เพราะอยู่หน้าประตูระบายน้ำ พอน้ำลดตัวผม 3 คนที่เป็นคนจับตัวหัวออกมาถูกเรือทรายกดจมลงไปในเลน จมแบบหน้าแนบลงไปที่ดินใต้น้ำ จังหวะว่าดินตรงนั้นเป็นดินนิ่มเป็นเลน เรารู้สึกว่าตัวเราจมลงไปในทราย ความรู้สึกที่เราคาบสน็อกเกิ้ลอยู่ มันมีแต่โคลนเต็มตัว ถ้าเป็นดินแข็งคือตายหมด 3 คนแน่นอน”

เจ้าหน้าที่กู้ภัยมูลนิธิร่วมกตัญญูหนุ่มคิดในใจระหว่างถูกกดลงบนพื้นใต้น้ำว่า “เป็นนักกู้ภัยทางน้ำ ต้องไม่ตายใต้น้ำ” หลังถูกเรือกดลงจนติดพื้นดินใต้น้ำ แม้เวลาจะผ่านไปไม่นาน แต่ความรู้สึกนั้นเหมือนนานมาก เพราะเราขยับตัวไม่ได้ อยากจะออกจากตรงนั้นก็ทำไม่ได้ ได้ยินเสียงลมหายใจ เพราะเรายังคาบสน็อกเกิ้ลอยู่ กระทั่งพี่คนหนึ่งที่ลงไปพร้อมกัน (ลงไปทีมละ 4 คน โดนเรือทับ 3 คน) เขาพยายามช่วย พอเรือลอยขึ้นเขาก็ค่อยๆ ดึงเราออกมาทีละคน ครั้งนี้ถือเป็นการเฉียดใกล้ความตายที่สุดแล้ว

สู้รบกับเวลา ขับเร็วแต่ไม่ประมาท หลายชีวิตเป็นเดิมพัน

ในขณะที่คุณแอน อรญา สาววัย 34 ปี พนักงานขับรถพยาบาล ที่ต้องขับรถแข่งกับเวลา เผยความรู้สึกว่า มีใจรักในอาชีพนี้ เพราะไม่เช่นนั้นก็คงทำงานแบบนี้ไม่ได้ ทั้งที่ก่อนหน้านี้เคยทำงานเป็นผู้จัดการร้านฟาสต์ฟู้ดชื่อดังมาก่อน แต่ตัดสินใจทิ้งเงินหลายหมื่นมาเริ่มต้นทำงานด้วยเงินเดือนเพียง 9 พันบาท

สาวนักขับรถยอมรับว่า บางครั้งนั้นขับรถด้วยความเร็วสูงมาก เพราะเหตุที่เกิดขึ้นเราต้องการเข้าไปช่วยเขาให้เร็วที่สุด “เราไม่ประมาท ต่อให้เร็วอย่างไรจะต้องเบียดต้องแซง เราก็ต้องรอบคอบ เพราะว่าบนรถเราก่อนจะไปช่วยเขา ตัวเราต้องปลอดภัยก่อน ไหนจะมีลูกน้องบนรถ มีเพื่อนร่วมงานบนรถ มีบ้างบางถนนที่วิ่งไม่ได้ ไปไม่ได้เราก็ไม่ไป

“มีบ้างนะที่มีคนไม่เข้าใจ ก็วิพากษ์วิจารณ์กันต่างๆ นานา ที่เห็นเปิดไฟเปิดเสียงไซเรนไป แล้วอยู่ดีๆ เราปิดไฟ ปิดเสียง สาเหตุที่เป็นแบบนี้ เพราะเรารับแจ้งเหตุมา แต่ระหว่างที่เราไปบางกรณียกเลิกกลางคันเราก็ต้องปิดไฟ ปิดเสียง แล้วก็ขับตามปกติ”

นี่เป็นเพียงบางส่วนเท่านั้น สามารถชมเรื่องราวกู้ภัยเต็มๆ ได้ในคลิป เพราะนี่คือชีวิตที่น่าค้นหาและเรียนรู้ เราไปเรียนรู้พร้อมๆ กัน เพราะนี่คือ LIFE STORY  

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

ชมสกู๊ป LIFE STORY เรื่องอื่นๆ 

...