ปี 2020 อาจไม่ใช่เพียงอีกปีหนึ่งที่ผ่านพ้น หาก มนุษย์เรา ไม่หยุดยั้งความก้าวหน้าด้วยแรงขับทางวิทยาศาสตร์ อะไรคือ Big event สำคัญ 10 ประการที่ ชาวโลกต้องให้ความสำคัญและจับตาเป็นพิเศษในปีนี้  

หากแฟนๆ ไทยรัฐออนไลน์ ท่านใดยังไม่ทราบ วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบ! 

วิทยาศาสตร์ใดที่ย่อยยาก เรามีกูรูขาประจำที่สามารถย่อยสลาย ข้อมูลที่ว่ายากแสนยากนี้ ให้ทุกท่านได้รับทราบแบบเข้าใจง่ายได้เสมอ ด้วย รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล เอกนักวิทยาศาสตร์ขาประจำของเรา 

Big event สำคัญ 10 ประการ ที่ว่านี้มีอะไรกันบ้าง ในวันนี้ เชิญทุกท่าน ค่อยๆ ละเลียดสายตา ลงไปอ่านในตอนแรก กับ 5 Big event สำคัญกันก่อน 

‘อนาคต’ เป็นทั้งที่พยากรณ์ได้และที่คาดไม่ถึง การมองอนาคตเป็นทั้งความจำเป็นและสิ่งที่มนุษย์ควรจะทำ มิใช่เพื่อจะได้มีชีวิตในอนาคตที่ดีเท่านั้น แต่เพื่อความอยู่รอดในอนาคตด้วย เพราะการเดินไปสู่อนาคตอย่างมิได้มีการเตรียมตัว ก็เหมือน ‘คนตาบอด’ ที่เดินไปบนถนนที่เต็มไปด้วยกับดัก

ปี 2563 มีเรื่องราวใหญ่ๆ หลายเรื่องของ ‘โลกวิทยาศาสตร์’ ที่เกี่ยวข้องกับมนุษย์และที่กำลังถูกจับตามองอย่างตั้งใจ อวกาศมีทั้งความน่าพิศวง ท้าทาย และการคุกคามสรรพชีวิตบนโลก เทคโนโลยีใหม่ๆ ให้ทั้ง ‘HOPE’ (ความหวัง) และ ‘DISRUPTION’ (การสะดุด) ที่คาดไม่ถึงและรุนแรง (สำหรับคนหรือองค์กรที่ไม่เตรียมการรับมือ) แต่ที่สำคัญก็คือ ศักยภาพของมนุษย์ที่สามารถ "เอาชนะ" สิ่งที่ยุ่งยากแสนสาหัสได้ ถ้าถูกนำออกมาใช้อย่างถูกต้องและทันเวลา

...

ในการส่องกล้องวิทยาศาสตร์ดูโลกปี 2563 ผู้เขียนคัดเลือกออกมา 10 เรื่อง แบ่งเล่าสู่ท่านผู้อ่าน 5 เรื่องในตอนแรกนี้ และอีก 5 เรื่องในตอนที่ 2 โดยเรื่องใหญ่ทั้ง 10 เรื่อง มิได้ถูกจัดอันดับความสำคัญแต่อย่างใด ตรงๆ ก็คือ ทั้ง 10 เรื่อง เป็นเรื่องใหญ่เรื่องสำคัญทัดเทียมกัน

รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กูรูวิทยาศาสตร์ชื่อดัง
รองศาสตราจารย์ ดร.ชัยวัฒน์ คุประตกุล กูรูวิทยาศาสตร์ชื่อดัง

(1) ดาวเคราะห์น้อยอาจชนโลก

คำเตือน : ดาวเคราะห์น้อยขนาดประมาณ 2 เมตร อาจชนโลกต้นเดือนพฤศจิกายน 2563 แต่ดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่หลายกิโลเมตร ก็อาจชนโลกได้ปลายเดือนเมษายน 2563

ปี 2563 ก็ดังเช่นทุกปี ในขณะที่ โลกโคจรไปในอวกาศรอบดวงอาทิตย์ก็จะมีวัตถุในอวกาศชนโลกมากมาย แต่ส่วนใหญ่จะเป็นอุกกาบาตขนาดเล็ก ซึ่งเมื่อเข้าสู่บรรยากาศของโลกก็จะเสียดสีกับบรรยากาศของโลก เผาไหม้สลายตัวไปเป็นดาวตก หรือเป็นอุกกาบาตขนาดเล็กที่ตกลงมาถึงพื้นโลก โดยที่ส่วนใหญ่ก็จะไม่ปรากฏให้เห็นเป็นแม้กระทั่งดาวตก

ที่ต้องจับตาเฝ้าระวังกัน คือ ดาวเคราะห์น้อยขนาดหลายเมตรขึ้นไปถึงระดับเป็นหลายกิโลเมตร เพราะดาวเคราะห์น้อยขนาด 1 กิโลเมตร ถ้าชนโลกจะมีอำนาจทำลายพอๆ กับระเบิดนิวเคลียร์ที่ฮิโรชิมามากกว่า 1 ล้านลูกเลยทีเดียว

นอกเหนือไปจากดาวเคาระห์น้อยคุกคามโลกแล้ว ‘ดาวหาง’ ก็คุกคามโลกได้เช่นกัน แต่ภัยจากดาวหางชนโลกมีน้อยกว่าดาวเคราะห์น้อย เพราะดาวหางที่คุกคามโลกมีน้อยกว่าดาวเคราะห์น้อย ที่สำคัญดาวหางที่คุกคามโลกจริงๆ จะถูกตรวจจับได้ล่วงหน้านานเป็นปี

สำหรับปี 2563 มีคำเตือนจากนาซาและเครือข่ายเฝ้าระวังวัตถุใกล้โลกที่ต้องจับตามองแล้วอย่างน้อย 2 ดวง

หนึ่งคือ ‘2018 VP1’ จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดวันที่ 2 พฤศจิกายน 2563 โดยมีโอกาสชนโลกประมาณ 0.4% หรือ 1 ใน 240 ส่วน แต่จะไม่มีอันตรายต่อชีวิตบนโลก เพราะมีขนาดเล็กประมาณ 2 เมตร ถ้าชนโลกจริงก็จะเผาไหม้ไปในบรรยากาศทั้งหมด

ดวงที่ 2 คือ ‘1998 OR2’ จะเข้าใกล้โลกมากที่สุดวันที่ 29 เมษายน 2563 ซึ่งถ้าชนโลกจริงก็อันตรายถึงขั้นเกิดการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่บนโลกได้ เพราะมีขนาดประมาณ 4 กิโลเมตร ถ้าชนโลกจะเกิดหลุมอุกกาบาตอย่างน้อย 50 กิโลเมตร

...

แต่ถึงขณะนี้ โอกาสที่ ‘1998 OR2’ จะชนโลกจริงๆ นั้น นาซาแจ้งว่าจะไม่เกิดขึ้น เพราะจะเข้าใกล้โลกมากที่สุดวันที่ 29 เมษายน 2563 ที่ระยะห่างจากโลกประมาณ 6 ล้านกิโลเมตร ยกเว้นเสียแต่ว่า ดาวเคราะห์น้อย ‘1998 OR2’ เปลี่ยนเส้นทางการเดินทาง เพราะถูกรบกวนด้วยแรงบางอย่าง

นอกเหนือไปจากดาวเคราะห์น้อย 2 ดวงนี้ ก็ยังมีสิ่งที่คุกคามโลกจากอวกาศอีกมากที่ต้องเฝ้าระวังตรวจจับกันอยู่ตลอดเวลา

(2) เทคโนโลยีตรวจหาคนป่วยก่อนแสดงอาการ

ปี 2563 ความคาดหวังที่อยากเห็นกันมากขึ้น คือ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะช่วยตรวจหาคนป่วยได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ

ปัญหาใหญ่และก็เป็นทั้งความทุกข์กับภาระด้านการเงินกับงบประมาณภาครัฐของประเทศส่วนใหญ่ทั่วโลก รวมทั้งประเทศไทยด้วย คือ การตรวจพบสาเหตุการป่วยเมื่อ "สายเกินไป" ดังเช่นมะเร็งหลายชนิดและอัลไซเมอร์

ในระยะไม่กี่ปีมานี้ มีความก้าวหน้าจากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่จะช่วยตรวจจับหาคนป่วยด้วยโรคบางโรคได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ด้วยวิธีการที่ทำได้ง่าย ดังเช่น การตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะ แทนที่จะต้องไปตรวจโคยเครื่องตรวจหรือสแกนร่างกายและสมองชนิดไฮเทค ดังเช่น เครื่องเอ็มอาร์ไอ (MRI), เครื่องฟังก์ชันนอลเอ็มอาร์ไอ (FMRI), เครื่องซีทีแสกน (CT SCAN), เครื่องพีอีทีสแกน (PET SCAN) ซึ่งต้องไปที่โรงพยาบาล ต้องเตรียมร่างกาย ยุ่งยาก ใช้เวลา และราคาแพง

...

เดนตีสแกน นวัตกรรมสุดล้ำ เอกซเรย์พบโรค ทั้งที่คนไข้ไม่รู้ว่าป่วยอยู่
เดนตีสแกน นวัตกรรมสุดล้ำ เอกซเรย์พบโรค ทั้งที่คนไข้ไม่รู้ว่าป่วยอยู่

ที่ก้าวหน้าค่อนข้างมาก คือ การตรวจเลือดที่สามารถตรวจหาคนป่วยเป็นมะเร็งบางชนิดได้ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ แล็บการตรวจเลือดหาคนป่วยเป็นอัลไซเมอร์ตั้งแต่ยังไม่แสดงอาการ ดังเช่น รายงานความก้าวหน้าจาก Washington University School Of Medicine เมื่อต้นเดือนสิงหาคม 2562

สำหรับการตรวจปัสสาวะ มีรายงานความก้าวหน้าจาก Imperial college London และ MIT ความสำเร็จการตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหามะเร็งลำไส้ใหญ่โดยใช้หนูทดลอง เมื่อต้นเดือนกันยายน 2562

สำหรับปี 2563 คาดหวังกันได้ว่าจะได้เห็นรายงานความก้าวหน้าการพัฒนากระบวนการตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจหาคนป่วยเป็นมะเร็งหรือเป็นโรคเกี่ยวกับระบบประสาทดังเช่นอัลไซเมอร์มากขึ้น และเมื่อพัฒนาถึงขั้นออกมาใช้ได้จริงอย่างทั่วไป ก็จะช่วยทั้งคนป่วยและลดภาระด้านการเงินทั้งของคนป่วยและงบประมาณได้อย่างมาก เพราะโดยทั่วๆ ไป การตรวจเลือดและการตรวจปัสสาวะเป็นเรื่องที่รู้จักและคุ้นเคยกันทั่วไปอยู่แล้ว

...

(3) ประเทศไทยกับการสื่อสาร 5จี

วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2563 กสทช. (กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ) จะเปิดประมูลคลื่นความถี่สำหรับการสื่อสาร 5จี (5G) เปิดประตูประเทศไทยเข้าสู่ระบบการสื่อสารไร้สายรุ่นที่ 5 อย่างเป็นทางการ หลังจากที่รัฐบาลได้กำหนดเป็นนโยบายสนับสนุนเทคโนโลยีไรสายรุ่น 5จี เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ Thailand 4.0

ในระดับโลก ‘เกาหลีใต้’ เป็นประเทศแรกเปิดตัวใช้งานการสื่อสาร 5จี เดือนเมษายน 2562 ตามมาติดๆ ด้วยสหรัฐอเมริกาและประเทศอื่นๆ ดังเช่น อังกฤษ, เยอรมนี ฯลฯ ส่วนประเทศจีน (ที่มี Huawei เป็นหนึ่งในผู้นำการพัฒนา 5จี ร่วมกับอีก 2 ประเทศ คือ เกาหลีใต้และสหรัฐอเมริกา) ได้เปิดตัวใช้งาน 5จี อย่างเป็นทางการวันที่ 1 พฤศจิกายน 2562 และกลายเป็นประเทศมีเครือข่าย 5จี ใหญ่ที่สุดของโลก (ตามสื่อทางการของประเทศจีน)

โดยทั่วไป "เทคโนโลยี 5จี" ก็ให้บริการด้านการสื่อสารคล้าย 4จี คือ ให้การสื่อสารทั้งเสียง, ภาพ, ข้อมูล, วิดีโอ และอินเทอร์เน็ต เช่นเดียวกับ 4จี แต่ของ 5จี เร็วกว่า, ราบรื่นกว่า, ต่อเนื่องกว่า และมากกว่า เช่น ใช้อินเทอร์เน็ตได้อย่างไม่มีการสะดุด การโหลดภาพยนตร์ 1 เรื่อง ใช้เวลาเพียง 6 วินาที ในขณะที่ 4จี จะใช้เวลา 6 นาที รับส่งข้อมูลเพิ่มขึ้น 20 เท่าของ 4จี ส่งข้อมูลต่อพื้นที่ได้มากกว่า (4จี) 100 เท่า ให้บริการเชื่อมต่อผู้ใช้ได้มากถึง 1 ล้านคน (หรือเครื่อง) ต่อพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร ในขณะที่ของ 4จี ให้บริการได้มากที่สุด คือ 1 แสนคน (1 เครื่อง)

สำหรับคนทั่วไป เทคโนโลยี ‘5จี' ก็จะไม่แตกต่างไปจาก '4จี’ นัก แต่ที่ดีกว่ามาก คือ สามารถดูหนัง ฟังเพลง เล่นเกม เปิดอินเทอร์เน็ตหรือเว็บไซต์บนมือถือได้เร็ว ไม่สะดุด จึงเหมาะสำหรับคนที่ "ทันยุคเสมอ" แต่ศักยภาพของ 5จี ที่จะมีความสำคัญอย่างยิ่ง คือ ต่อองค์กรใหญ่, บริษัท, หน่วยงานระดับประเทศ, การบริหารประเทศในส่วยนเกี่ยวข้องกับเรื่องความมั่นคง, การบริหารจัดการแผนเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ และในภาวะเกิดเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติ

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยี 5จี ก็ดังเช่นเทคโนโลยีอื่นๆ ที่เป็นเหมือนมีดสองคม มีทั้งคมด้านดีและด้านร้าย เพียงแต่จาก 5จี จะทั้งดีและร้ายกว่า 4จี ได้อย่างมาก จึงเป็นเรื่องที่จะต้องจับตาดูกันต่อไปว่า 5จี จะทำให้ประเทศไทยและสังคมไทยดีขึ้น? ปลอดภัยขึ้นหรือไม่? อย่างไร?

(4) มองฟ้าหาผู้มาเยือนจากนอกระบบสุริยะปี 2563

นักดาราศาสตร์ทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นจะจับตามองท้องฟ้าค้นหาแขกผู้มาเยือนจากนอกระบบสุริยะอย่างจริงจังมากกว่าที่เคยเป็นมา

ถึงแม้จะเป็นความเข้าใจโดยทั่วไปในวงการดาราศาสตร์ ว่า ในระบบสุริยะมี "แขกผู้มาเยือน" จากนอกระบบสุริยะเป็นจำนวนมากทีเดียว เพราะสรรพสิ่งในกาแล็กซีทางช้างเผือกที่มีโลกเราเป็นสมาชิกอยู่ด้วย ไม่มีอะไรที่อยู่นิ่ง ระบบสุริยะของเราทั้งดวงอาทิตย์และบริวารทั้งหมดล้วนกำลังหมุนรอบตัวเองและโคจรไปในอวกาศรอบใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก เช่นเดียวกับดาวฤกษ์เป็นจำนวนนับแสนล้านดวง ซึ่งเป็นบริวารของใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก ก็กำลังโคจรไปในอวกาศรอบใจกลางกาแล็กซีทางช้างเผือก พร้อมๆ กับบรรดาบริวารของดาวฤกษ์ที่มีทั้งดาวเคราะห์น้อยและดาวหาง และเป็นไปได้ที่บริวารของดาวฤกษ์บางดวงจะกระเด็นหรือหลุดออกมา กลายเป็นวัตถุท่องไปในอวกาศระหว่างดวงดาว แล้วก็หลุดเข้าสู่ภายในระบบสุริยะของเรา แต่จนกระทั่งถึงกลางเดือนตุลาคม 2560 จึงมีการค้นพบวัตถุแรกที่ได้รับการยืนยันแล้วว่าเป็น "ผู้มาเยือน" จากนอกระบบสุริยะของเราจริงๆ คือ ดาวเคราะห์น้อยอูมัวมัว (OUMUAMUA)

หลัง ‘อูมัวมัว’ ถึงเดือนสิงหาคม 2562 จึงมีการค้นพบ "ผู้มาเยือน" อันดับที่ 2 จากนอกระบบสุริยะเป็นดาวหาง ชื่อ ‘โบริซอฟ’ (BORISOV)

การค้นพบผู้มาเยือนจากนอกระบบสุริยะถึงสอง (ดวง) ภายในเวลาไม่ถึง 2 ปี เป็นการยืนยันความเข้าใจในวงการดาราศาสตร์ ว่า ในระบบสุริยะมี "ผู้มาเยือน" เป็นจำนวนมากจริง จึงเป็นแรงกระตุ้นให้นักดาราศาสตร์เร่งการค้นหาผู้มาเยือนจากนอกระบบสุริยะ

การค้นพบผู้มาเยือนจากนอกระบบสุริยะมีความสำคัญอย่างไร?

แรกสุด จะทำให้มนุษย์ได้ข้อมูลความรู้เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับดวงดาวที่เป็น ‘ดวงอาทิตย์’ ของผู้มาเยือน รวมทั้งอาจพบหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับ "โอกาสการมีสิ่งมีชีวิต" ในระบบสุริยะอื่นด้วย แต่ที่จะเกิดผลต่อผู้ค้นพบโดยตรง คือ ชื่อเสียงที่จะเป็นอมตะ เพราะผู้มาเยือนจะถูกตั้งชื่อตามชื่อของผู้ค้นพบ ดังเช่น GENNADIY BORISOV ผู้ค้นพบดาวหางโยริซอฟ

(5) งานใหญ่งานยากปี 2563 เรื่องโลกร้อน

การประชุมภาคีสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 25 หรือ COP ที่กรุงมาดริด ประเทศสเปน ระหว่างวันที่ 2-13 ธันวาคม 2562 สิ้นสุดลงแล้ว ชี้ให้เห็นงานใหญ่และยากของความพยายามนานาชาติในการต่อสู้ภัยภาวะโลกร้อนปี 2563

สรุปผลโดยภาพรวมของ COP25 มีทั้งส่วนเป็นความหวังและส่วนเป็นความผิดหวัง โดยส่วนเป็นความผิดหวังจะมากกว่า

ส่วนเป็นความหวัง คือ ความพยายามของหลายประเทศที่เป็นสมาชิกของภาคีสหประชาชาติ ยืนยันจะเดินตามแผนเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศ แต่ส่วนใหญ่เป็นประเทศที่กำลังพัฒนาและไม่ใช่ประเทศต้นเหตุใหญ่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศ ส่วนประเทศที่เป็นต้นเหตุใหญ่ถึงแม้จะยืนยันความร่วมมือเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก แต่ไม่มีแผนปฏิบัติที่ชัดเจนสนับสนุนเจตนารมณ์

ประเทศที่ถูกจับตามองด้วยความหวังมากเป็นพิเศษ คือ จีน ซึ่งเป็นประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกเข้าสู่บรรยากาศมากที่สุดของโลก และได้แสดงเจตนารมณ์ชัดเจนในการช่วยแก้ปัญหาโลกร้อนตามข้อตกลงปารีส ปี พ.ศ. 2558 หรือ ค.ศ. 2015 (Paris Agreement 2015) โดยมีแผนชัดเจนจะช่วยประเทศกำลังพัฒนาที่ร่วมมืออย่างจริงจังในการแก้ปัญหาโลกร้อน แต่ขณะเดียวกันประเทศจีนเองก็ยังเดินหน้าในการใช้พลังงานจากเชื้อเพลิง ฟอสซิล ถ่านหิน ในระดับใหญ่อยู่

สำหรับสหรัฐอเมริกา วันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 ก็จะถึงกำหนดที่สหรัฐฯ จะยืนยันว่า จะถอนตัวออกจากข้อตกลงปารีสตามที่ประธานาธิบดี ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ได้แสดงเอาไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มต้นเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีหรือไม่ อีกทั้งปลายปี 2563 ก็จะเป็นวาระการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนต่อไป ซึ่ง ‘โดนัลด์ ทรัมป์’ ก็ยืนยันจะสมัครเข้าชิงตำแหน่งเป็นวาระที่ 2

ผลการเลือกตั้งจะมีผลอย่างสำคัญต่อการแก้ปัญหาโลกร้อน เพราะพรรคตรงกันข้าม (เดโมแครต) สนับสนุนข้อตกลงปารีส

จุดสว่างอย่างหนึ่งของการประชุม COP25 คือ บทบาทของเยาวชนคนรุ่นใหม่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ดังเช่น ‘เกรตา ธันเบิร์ก’ (Greta Thunberg) อายุ 16 ปี ผู้ได้รับการยกย่องโดยนิตยสาร TIME เป็น "บุคคลแห่งปี 2019"

‘เกรตา ธันเบิร์ก’ (Greta Thunberg) อายุ 16 ปี ผู้ได้รับการยกย่องโดยนิตยสาร TIME เป็น
‘เกรตา ธันเบิร์ก’ (Greta Thunberg) อายุ 16 ปี ผู้ได้รับการยกย่องโดยนิตยสาร TIME เป็น "บุคคลแห่งปี 2019"

ข่าวอื่นๆ :