วาระร้อน ประเด็นโต้แย้ง ทุกแง่มุมที่เกิดขึ้นในปี 2562 ‘2SIDED’ ไม่พลาดที่จะหยิบจับมาดีเบตโดยไม่ขัดแย้ง ฟังความ 2 ด้าน จาก 2 ฝั่ง รอบปีที่ผ่านมาคนไทยถกอะไรกันบ้าง? มาย้อนดูกันอีกสักครั้งใน เพลย์ลิสต์ "2SIDED OF THE YEAR"
• ทุ่ม 40 ล้าน เทคฮอร์โมน 3 ประเทศ
กว่าจะเป็น "สตรีข้ามเพศ" นั้นไม่ใช่เรื่องง่าย หลายคนอาจยังไม่เข้าใจและอาจไม่รู้ ว่า อาวุธสำคัญที่ช่วยส่งเสริมให้ร่างกายเพศชายพัฒนาไปในทางเพศหญิง คือ "การเทคฮอร์โมน" ดั่งเธอคนนี้ หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ ‘แอน JKN’ สตรีข้ามเพศพันล้านชื่อดังของเมืองไทย ที่จะมาบอกเล่าทุกขั้นตอน ตั้งแต่ความรู้สึกแรกของการเปลี่ยนแปลงตัวเอง จนถึง "การเทคฮอร์โมน" ที่เธอบอกกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ในครั้งนั้นว่า กว่าจะเป็นอย่างวันนี้ เธอทุ่มเงินกว่า 40 ล้านบาท เพื่อเนรมิตร่างให้เป็น ‘ผู้หญิง’ แบบเต็มร้อย ด้วยการผ่าตัดศัลยกรรมทั้งหน้า แปลงเพศ และ ‘เทคฮอร์โมน’ กับแพทย์ผู้เชี่ยวชาญถึง 3 ประเทศ (ไทย, อเมริกา และเกาหลีใต้)
...
แต่เดี๋ยวก่อน! อย่าเพิ่งคิดทำตาม "การเทคฮอร์โมน" ไม่ได้ง่ายดายขนาดนั้น มีเงินใช่ว่าจบ ฟังมุมมองอีกด้านจาก ‘นายแพทย์อัมรินทร์ สุวรรณ’ อาจารย์ประจำสาขาเวชศาสตร์ฮอร์โมนและสุขภาพเพศ และสาขาเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ย้ำกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ถ้ายังไม่ผ่าตัด ยังกลับลำทัน แต่ถ้าผ่าตัดแปลงเพศแล้ว บางอย่างย้อนกลับไม่ได้ ต้องมีการวินิจฉัยยืนยันว่าเป็น ‘สตรีข้ามเพศ’ จริงๆ อีกทั้ง "การเทคฮอร์โมน" ต้องทำระยะยาวไปตลอดชีวิต
ฟังความ 2 ด้าน 2 มุมมอง ใน 2SIDED ตอน ทุ่ม 40 ล้าน เทคฮอร์โมน 3 ประเทศ อาวุธเหล็ก แอน JKN สตรีข้ามเพศพันล้าน
• ‘นักบิน’ ตกงาน เตะฝุ่น ติดในกะลา
ใครๆ ก็อยากเป็น ‘นักบิน’ อาชีพอันหอมหวานน่าดึงดูด หลายคนที่มีความฝันต่างพาเหรดเดินลากกระเป๋า หวังขึ้นนั่งประจำการขับเคลื่อนอากาศยานสู่ท้องฟ้า แต่สุดท้าย กว่า 600 ชีวิต ต้อง "ตกงาน" เดินเตะฝุ่น ไม่แม้แต่จะมีโอกาสได้ทำตามฝัน
ปัญหาเหล่านี้ วิกฤติที่ว่านี้ มันเกิดจากอะไร?
ทำไม ‘นักบิน’ ที่จ่ายเงินเรียนหลักล้าน ถึงไม่ได้บิน
บ้างว่า ‘นักบินต่างชาติ’ เข้ามาแย่งงาน บ้างหาว่า ‘นักบินไทย’ เลือกงาน ไกลไม่ทำ เล็กไม่ทำ บ้างว่า ‘นักบินไทย’ ออกไปบินต่างประเทศไม่ได้ เหมือนติดอยู่ใน ‘กะลา’
ฟังความ 2 ด้าน 3 มุมมองผู้คร่ำหวอดแวดวงการบิน ‘จุฬา สุขมานพ’ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย, ‘กัปตันสนอง มิ่งเจริญ’ นายกสมาคมนักบินไทย และ ‘ปิยะ เคลือบมาศ’ Flight Operations Director (Thai Summer Airways) ใน 2SIDED ตอน "นักบิน" ตกงาน เตะฝุ่น ติดในกะลา "เลือกมาก" หรือ "ต่างชาติไม่รับ"
• หนังไทยซ้ำซาก "ผี ตลก กะเทย พระ"
ผ่านมาไม่รู้กี่ปีต่อกี่ปี วงการภาพยนตร์ไทยก็ยังคงวนเวียนอยู่กับพล็อตเดิมๆ จนกลายเป็นคำถามเสียดแทงใจ เหตุไฉน? ถึงหลุดจากกรอบนี้ไปไม่ได้สักที อยู่แต่กับแค่ "ผี ตลก กะเทย พระ" อะไรคือ ปมปัญหาที่กดทับ?
...
"คนไทยชอบตลก ไม่ชอบเครียด หนังที่เครียดๆ ไม่ค่อยได้ตังค์" หนึ่งทัศนะจาก ‘พชร์ อานนท์’ ผู้กำกับหนังชื่อดัง
และอีกหนึ่งทัศนะจาก ‘นันทขว้าง สิรสุนทร’ นักวิจารณ์ภาพยนตร์ชื่อดัง ที่สะท้อนว่า มุมมองหนังของคนไทยยังแคบ
ฟังความ 2 ด้าน 2 มุมมอง ใน 2SIDED ตอน ปมหนังไทยซ้ำซาก "ผี ตลก กะเทย พระ" คนนิยม หรือไม่พัฒนา?
• ‘ชานมไข่มุก’ แก้วนี้ซ่อนอะไร?
ไม่ว่าจะมองทางซ้ายแลทางขวา ใครๆ ก็ถือ "แก้วชานมไข่มุก" แล้วอะไรที่ทำให้ ‘ชานมไข่มุก’ เป็นที่นิยมได้ขนาดนี้?
คำตอบที่ได้คงหนีไม่พ้น ความอร่อย สดชื่น แถมยังกินรองท้องแทนข้าวได้
แต่บนโลกนี้ทุกอย่างมักมี 2 ด้านเสมอ ‘ชานมไข่มุก’ ก็ไม่ใช่ข้อยกเว้นเช่นกัน
‘ชานมไข่มุก’ ดื่มแล้วสดชื่น
‘ชานมไข่มุก’ ดื่มแทนข้าวได้ ช่วยอิ่มท้อง
ฟังความ 2 ด้าน 2 มุมมอง จาก ‘พชร แกล้วกล้า’ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค และสาวกชานมทุกเพศ ทุกวัย ใน 2SIDED ตอน "ชานมไข่มุก" แก้วนี้ซ่อนอะไร กินแทนข้าว ช่วยให้อิ่มหรือยิ่งอยาก?
...
• 7 วันแดงเดือด ‘ผ้าอนามัย’ ไยแพง?
รู้กันหรือไม่? ‘ผ้าอนามัย’ ที่ผู้หญิงใช้กันอยู่ทุกเดือนจัดอยู่ในหมวด ‘เครื่องสำอาง’
หรือนี่คือ ต้นเหตุที่ทำให้ ‘ผ้าอนามัย’ มีราคาแพง?
‘จิตติมา ภานุเตชะ’ ที่ปรึกษาแผนงานสุขภาวะผู้หญิงและความเป็นธรรมทางเพศ สมาคมเพศวิถีศึกษา ขอยืนข้างเรียกร้องให้นำ ‘ผ้าอนามัย’ ออกจากหมวด ‘เครื่องสำอาง’ ชี้เป็นต้นเหตุทำให้มีราคาสูงเกินกว่าที่ควรจะเป็น และแม้จะมีการควบคุม แต่ก็ไม่ได้มีการบังคับกำหนดราคาที่ชัดเจน
ขณะที่ ‘เภสัชกรหญิง สุภัทรา บุญเสริม’ รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้เหตุผลชัดๆ ทำไมต้องจัด ‘ผ้าอนามัย’ ในหมวด ‘เครื่องสำอาง’ ย้ำหนักแน่น ‘เครื่องสำอาง’ ไม่ใช่เงื่อนไขทำให้ ‘ผ้าอนามัย’ ราคาแพง ที่สำคัญ ‘ผ้าอนามัย’ ไม่ใช่สินค้าอุปโภคบริโภคทั่วไป
ฟังความ 2 ด้าน 2 มุมมอง ใน 2SIDED ตอน 7 วันแดงเดือด "ผ้าอนามัย" ไยแพง? ไร้แจกฟรี เป็นเครื่องสำอาง?
...
• เปิดโลกความชอบของ ‘โอตะคุ’
‘โอตะคุ’ คำคำนี้ไม่ได้ถูกใช้เรียกแค่เฉพาะกลุ่มคนที่ชื่นชอบไอดอล แต่รวมไปถึงการชื่นชอบการ์ตูน เกม หรือแม้แต่หุ่นยนต์ เป็นดั่งคำตัวแทนคนที่มีความคลั่งไคล้ในสิ่งหนึ่งสิ่งใดแบบมากล้น จากที่ว่ามาชีวิตดูสวยหรู แต่จริงๆ แล้วหลายคนในสังคมไทยยังไม่เข้าใจ เกิดความรู้สึก "ด้านลบ" และมองว่า "ไร้สาระ"
จริงๆ แล้ว พวกเขาเป็นแบบนั้นหรือไม่?
ฟังความ 2 ด้าน 2 มุมมอง จาก ‘อมร วิวัฒน์สุนทร’ หรือ ‘เซียนโอ๊ตโตะ’ นักสะสมของเล่นที่คลุกคลีในวงการเกมมาหลายสิบปี และ ‘ภูกิจณัฐ กิจมณีมาศ’ หรือ ‘CreativeKim’ ผู้ที่กล้าพูดอย่างหนักแน่นว่า "ผมเป็นโอตะ" ใน 2SIDED ตอน เปิดโลก "โอตะคุ" ความชอบ ที่ถูกสังคมตราหน้า "ไร้สาระ"
• ปัญหาและทางออก GAME
‘เกม’ ไม่ต่างจากยาเสพติด?
‘เกม’ เป็นต้นเหตุของอาชญากรรม?
ที่ว่ามานี้ คือ ข้อเท็จจริง หรือ ข้อกล่าวหา?
"เกมเป็นสารเสพติดสำหรับเด็ก" หนึ่งมุมมองจาก ‘พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์’ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล
"ปัญหาไม่ได้อยู่ที่เกม แต่อยู่ที่คน" นี่ก็อีกมุมมองจาก ‘กุมภฤทธิ์ พุฒิภิญโญ’ หรือ Coolerist จาก Thaigamewiki และแชนแนล Joystick
ฟังความ 2 ด้าน 2 มุมมอง ใน 2SIDED ตอน ปัญหาและทางออก GAME ศิลปะ หรือ อาชญากรรม
• เบื้องหลัง ‘บัตรประชาชน’ คมชัด
หลายคนคงมีปัญหาและหัวเสียกับ "รูปบัตรประชาชน" ที่ตัวจริงกับในภาพแทบจะเหมือนเป็นคนละคน และไม่ได้เป็นปัญหาแค่กับความรู้สึกเท่านั้น ผลของการถ่ายบัตรประชาชนแล้วรูปไม่เหมือนตัวจริงกระทบไปถึงการลงทะเบียน ‘ชิม ช้อป ใช้’ หลายคนสแกนไม่ผ่าน จนร้อนถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ต้องฝากฝังให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับผิดชอบ ปรับปรุงด่วน
ฟังความ 2 ด้าน จากอีกมุมมองที่นอกเหนือจากผู้บริโภค ‘น.ส.อัมพันธ์ เนกขัมม์’ เจ้าพนักงานปกครอง ชำนาญการพิเศษ หัวหน้าฝ่ายทะเบียน สำนักงานเขตบางพลัด กทม. ที่พร้อมตอบทุกข้อสงสัยแบบจัดเต็ม ใน 2SIDED ตอน ปรับใหม่แล้ว เบื้องหลังบัตรประชาชนคมชัด แนะเทคนิค "สวยตรงปก"
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- 5 ที่สุดปาฏิหาริย์รักแท้ปี 62 สุข ซึ้ง เศร้า แม่ยอมตายให้ลูกเกิด
- ปิดฉากปี 62 มหากาพย์ "รัฐสภา" ทำสถิติยืดรอบ 4 "เจ้าสัวไทย" รวยเพิ่ม
- "กองทุน SSF" ฉบับเข้าใจง่าย ตอบโจทย์ อายุต่ำกว่า 50 มั่นใจวินัยออมเป๊ะ
- "ฉลาม" นักล่าแห่งท้องทะเล ที่ถูกล่าโดยไม่ตั้งใจ สู่วิกฤตการณ์ "Food Loss"
- เวียดนามแซง กัมพูชาไล่บี้ "ข้าวไทย" แพง แถมไม่พัฒนา ชาวนาขาดทุนยับเยิน