หลักทดลองวิทย์ง่ายๆ สแกนเครื่องสำอาง ยาสีฟัน ปลอดภัยต่อสุขภาพผู้สูงอายุให้ "สุขสมวัย" ห่างไกลโรคซึมเศร้า อัลไซเมอร์

หากเอ่ยถึงคำว่า “วิทยาศาสตร์” เชื่อว่าหลายคนคงไม่สนใจและเบือนหน้าหนี ด้วยคิดว่าเป็นเรื่องเข้าใจได้ยาก แต่ในความเป็นจริง รู้หรือไม่ว่า “วิทยาศาสตร์” เป็นเรื่องใกล้ตัวที่มีประโยชน์สำคัญ สามารถทำให้สุขภาพดีขึ้นได้อย่างยั่งยืน

แล้ว “วิทยาศาสตร์” กับ “สุขภาพ” กลายเป็นเรื่องเดียวกันได้อย่างไร? ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์มีคำตอบจากนายเจริญศักดิ์ ดีแสน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง ซึ่งเป็นศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาคที่ประสบความสำเร็จในการย่อโลกวิทยาศาสตร์สุขภาพสู่ชุมชน จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตถึงร้อยละ 97 อีกทั้งเกิดแรงบันดาลใจ เกิดการเปลี่ยนแปลงจนมีสุขภาพดี

...

รู้ เข้าใจ หลักวิทย์ฯ ใช้ดำเนินชีวิตอย่าง "สุขสมวัย"

หลักวิทยาศาสตร์เกี่ยวข้องอะไรบ้างกับชีวิต นายเจริญศักดิ์ ดีแสน อธิบายกับทีมข่าวฯ ว่า หลักวิทยาศาสตร์เกิดขึ้นกับทุกคนตั้งแต่แรกเกิดจนเสียชีวิต ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา มีส่วนเกี่ยวข้องในชีวิตประจำวันทั้งสิ้น โดยศูนย์วิทยาศาสตร์ฯ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญสร้างการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ได้นำองค์ความรู้ทางหลักวิทยาศาสตร์ง่ายๆ ไปส่งเสริมสุขภาพให้กับคนในชุมชน 

ผลการดำเนินงานตั้งแต่ปีงบประมาณ 59 พบว่า มีผู้รับรู้องค์ความรู้สุขภาวะผ่านช่องทางต่างๆ 350,000 คน มีผู้ได้รับประโยชน์จากการเข้าร่วมเรียนรู้ 139,273 คน ในจำนวนนี้ร้อยละ 97 เกิดแรงบันดาลใจในการเปลี่ยนพฤติกรรมเพื่อสุขภาวะ และเกิดเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้านสุขภาวะ 150 คน

“การชวนงดเหล้าเข้าพรรษา นอกจากพูดให้เข้าใจแล้ว ก็จะทำกิจกรรมนำแก้วหนึ่งเป็นน้ำเปล่า แก้วหนึ่งเป็นเหล้าขาวที่ชาวบ้านนิยมดื่ม แล้วนำตับไก่จากตัวเดียวกัน ผ่าซีกแล้วหย่อนลงไปในแก้วทั้งสองใบ ทิ้งไว้ครึ่งชั่วโมง เกิดปฏิกิริยา ตับในแต่ละแก้วมีความเปลี่ยนแปลงต่างกัน ทำให้นำไปสู่การอธิบายต่อให้คนในชุมชนเข้าใจเหตุผล ว่าทำไมจึงควรงดดื่มเหล้า กินแล้วตับเป็นอย่างไร คนในชุมชนรับรู้ เข้าใจ นำไปปฏิบัติและเกิดการบอกต่อ” ผู้อำนวยการศูนย์วิทย์ฯ อธิบายหนึ่งในกิจกรรมที่ขยายผลสู่ชุมชน จากหลักคิดนำความรู้ที่เชี่ยวชาญทั้งด้านวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิตและสังคม มาผนวกกับความรู้ด้านการสร้างเสริมสุขภาพจนออกแบบกิจกรรมการเรียนรู้ต่างๆ ให้สอดคล้องกับบริบทและความต้องการของคนในพื้นที่ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

แนวทางสุขภาพ "คนสูงวัย" ห่างไกลโรคซึมเศร้า อัลไซเมอร์

“ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาค” ในศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปางแห่งนี้ ไม่ได้มีบทบาทก่อเกิดการเรียนรู้วิทยาศาสตร์สุขภาพตอบโจทย์เฉพาะชุมชนในพื้นที่เท่านั้น ยังเป็นพื้นที่เรียนรู้ด้านสุขภาวะแก่เด็ก เยาวชน นักเรียน รวมถึงสุขภาพของผู้สูงอายุ

โดยหลังได้รับข้อมูลจากเขตสุขภาพที่ 1 จ.ลำปาง ในปีงบประมาณ 2563 ระบุสาเหตุการตาย 10 อันดับแรก คือ โรควัยชราและโรคไม่ติดต่อเรื้อรังอย่างไตวายเรื้อรัง หัวใจล้มเหลว ความดันโลหิตสูง โรคปอด และมะเร็งหลอดลม จึงคิดแนวทางส่งเสริมความรู้ให้กับกลุ่มผู้สูงอายุในการปรับพฤติกรรมการออกกำลังกายและการกินจนนำไปสู่การห่างไกลโรค และมีสุขภาพที่ดีขึ้น

นายเจริญศักดิ์ ดีแสน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง
นายเจริญศักดิ์ ดีแสน ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง

...

“กิจกรรมของผู้สูงวัยที่จัดขึ้นในแต่ละครั้ง ทั้งการออกกำลังกาย การจัดกิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะสัญจรสู่ชุมชน เหล่านี้เหมือนเป็นการบำบัดโรคไปในตัวของผู้สูงอายุ เพราะสติปัญญาเกิดการพัฒนา ไม่เกิดความเหงา ป่วยโรคซึมเศร้า อัลไซเมอร์ก็จะลดลงด้วยการใช้หลักวิทยาศาสตร์พื้นฐานเบื้องต้นนี่แหละเข้าช่วย ตั้งแต่การสังเกต กระทั่งไปถึงการทดลองที่จะรู้ผลต่างๆ เช่น การทดสอบสารปนเปื้อนในอาหาร เครื่องสำอาง ยาสีฟัน พอรู้วิธีคนในชุมชนก็จะเฝ้าระวังเองต่อได้” ผอ.ศูนย์วิทยาศาสตร์เผยการทำงาน

เปิดกระบวนการย่อโลกวิทยาศาสตร์สุขภาพ สู่ชุมชน 

การขับเคลื่อนระบบการทำงานเฝ้าระวังด้านสุขภาวะสู่ชุมชนได้อย่างไรนั้น ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปาง เผยข้อมูลกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะภูมิภาคตามพันธกิจของ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แห่งนี้ นับเป็นแบบอย่างของการขับเคลื่อนสู่ชุมชนใน จ.ลำปาง เพราะได้พัฒนาจากเดิม ต้องรอรับเด็กๆ เข้ามาใช้บริการ เป็นฐานตั้งรับในการให้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ กลายเป็นนำหลักวิทยาศาสตร์ออกไปสู่ชุมชน เพื่อเชื่อมโยงความรู้ร่วมกัน 

...

พัฒนาบุคลากรที่มีไม่ถึง 20 คนให้เป็นนักจัดการเรียนรู้สุขภาวะ และแกนนำสร้างเสริมสุขภาวะให้สามารถถ่ายทอดหลักทดลองวิทยาศาสตร์พื้นฐานสู่คนในชุมชนโดย เน้นการร่วมมือกับเครือข่าย อาทิ หน่วยงานรัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรศาสนา แล ะ NGOs นอกจากนี้ยังพัฒนาหลักสูตร “วิทยาศาสตร์สุขภาวะผู้สูงอายุ” จัดสอนให้แก่กลุ่มครู กศน. ในจังหวัดลำปางและพื้นที่บริการ 8 จังหวัดภาคเหนือตอนบน

“ทำอย่างไรให้คนได้รู้ ได้เข้าใจ และสามารถนำหลักการทางวิทยาศาสตร์ไปใช้ในการดำเนินชีวิต สุขอนามัย สุขภาวะของคนในชุมชนจึงเข้ามารวมอยู่ในหลักวิทยาศาสตร์ ถือเป็นภาระหน้าที่ให้ความรู้ว่าอาหารการกินมีอะไรเป็นสิ่งปนเปื้อน ก่อให้เกิดโรคนั้นโรคนี้บ่อยๆ ก็นำหลักเคมีมาประยุกต์ใช้ มาสอนให้ชาวบ้านรู้วิธีตรวจหาอาหารที่ปลอดภัย ซึ่งเป็นหลักการทดลองง่ายๆ ทางวิทยาศาสตร์” ผู้อำนวยการศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษาลำปางกล่าว

หลักทดลองวิทย์ง่ายๆ สแกนเครื่องสำอาง ยาสีฟัน ปลอดภัยต่อสุขภาพ

...

กิจกรรมสร้างเสริมสุขภาวะสัญจรสู่ชุมชนด้วยหลักการทดลองง่ายๆ ทางวิทยาศาสตร์ดังกล่าว ทีมข่าวฯ ลงพื้นที่ตรวจสอบพบว่าประกอบด้วย การทดสอบเครื่องสำอางมีสารห้ามใช้หรือไม่ ซึ่งที่พบบ่อย คือ ไฮโดรควิโนน ปรอท แอมโมเนีย สเตียรอยด์ วิธีการตรวจสอบทำง่ายๆ ด้วยการนำผงซักฟอกผสมน้ำ หรือโซดาไฟผสมน้ำ นำไปหยดบนครีมที่จะใช้ รอผลสัก 5 นาที หากเนื้อครีมเริ่มเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาล นั่นแสดงว่า เครื่องสำอางมีสารปรอท ไม่ควรใช้

สำหรับยาสีฟันที่มีมากมายหลายชนิดให้เลือกซื้อ บางคนไม่เคยคำนึงถึงส่วนผสมว่าหากมีแป้งซึ่งเป็นส่วนผสมหนึ่งในยาสีฟันมีปริมาณมากเกินไปจะมีผลทำให้ฟัน ไม่สะอาด มีกลิ่นปาก เพื่อให้คนในชุมชนทราบและเลือกซื้อยาสีฟันที่มีปริมาณแป้งน้อย สามารถทดสอบตามหลักวิทยาศาสตร์ได้ด้วยตัวเองด้วยการ นำไอโอดีน สารทางวิทยาศาสตร์มาละลายยาสีฟัน หากเปลี่ยนเป็นสีนำ้เงินเข้มๆ ขึ้น นั่นแปลว่า ยาสีฟันยี่ห้อนั้นมีส่วนผสมแป้งเยอะ

ส่วนการทดสอบน้ำปลาว่าเป็นน้ำปลาแท้หรือไม่ มี 3 วิธี คือ 1. นำน้ำปลาหยดลงบนถ่านไฟแดง หากได้กลิ่นเหมือนปลาไหม้ นั่นคือน้ำปลาแท้ 2. กรองด้วยกระดาษกรอง สีเหมือนกระดาษกรองนั่นคือน้ำปลาแท้ และ 3. ตั้งน้ำปลาทิ้งไว้ให้นานในที่นิ่งสงบ หากใส ไม่ตกตะกอน คือน้ำปลาแท้

“ปกติลุงก็ไม่เคยคิดจะทดสอบ พอนำยาสีฟันมาลองทำดู ต่อไปลุงคงไม่มีวันซื้อยี่ห้อนี้มาใช้แล้วแหละเพราะทดสอบแล้วแป้งเยอะมาก หลงใช้มาตั้งนานหลายปี” ผู้สูงอายุรายหนึ่งในชุมชนบ้านเด่นพัฒนา ต.พิชัย อ.เมือง จ.ลำปาง สะท้อนผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการใช้เครื่องมือและการเรียนรู้เรื่องสุขภาวะสู่การนำไปใช้จริง

ข่าวน่าสนใจ

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่