ต้อนรับน้องใหม่ SSF เข้าสู่วงการกองทุนออมระยะยาว มันแตกต่างกับ RMF อย่างไร? ใครเหมาะลงทุน? ควรลงทุนแบบไหน? มาทำความรู้จักและเรียนรู้ใน "กองทุน SSF ฉบับเข้าใจง่าย" ไปพร้อมๆ กัน

โบกมือลาปี 2562 โบกมือลาสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ LTF (Long Term Equity Fund) หรือ "กองทุนรวมหุ้นระยะยาว" แล้วมาเริ่มต้นกับน้องใหม่ที่ชื่อว่า ‘SSF’ ย่อมาจาก Super Saving Fund หรือ "กองทุนรวมเพื่อการออม" ที่มีลักษณะบางอย่างคล้ายกับพี่ใหญ่ RMF (Retirement Mutual Fund) หรือ "กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ"

‘LTF’, ‘SSF’ และ ‘RMF’ 3 กองทุนนี้แตกต่างกันอย่างไร?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ขออธิบายคร่าวๆ ให้ ‘นักออมหน้าใหม่’ ได้ทำความเข้าใจกันก่อนสักเล็กน้อย

"สิทธิหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา" ที่เดิมนั้น LTF กับ RMF สามารถหักลดหย่อนได้ 15% เท่ากัน แต่นับจากพ้นปี 2562 เป็นต้นไป สิทธิหักลดหย่อนภาษีของ LTF จะสิ้นสุดทันที ส่วนสิทธิหักลดหย่อนภาษีของ RMF นั้นปรับเพิ่มเป็น 30% เมื่อรวมกับวงเงินลดหย่อนกองทุนอื่นเพื่อการเกษียณต้องไม่เกิน 500,000 บาท เช่นเดียวกับน้องใหม่ SSF แต่สิทธิหักลดหย่อนภาษีของ SSF นั้น แม้ได้ 30% แต่ต้องไม่เกิน 200,000 บาท

...

อีกอันที่ ‘นักออมหน้าใหม่’ ให้ความสนใจไม่แพ้กัน คือ "ระยะเวลาการถือครอง" ซึ่ง LTF กำหนดถือครอง 7 ปี นับตามปีปฏิทิน หมายความว่า ระยะเวลาการถือครองจริงๆ อาจไม่ถึง 7 ปี อย่างสั้นสุดอาจอยู่ที่ 5 ปีกว่าๆ แต่สำหรับ SSF แล้ว กำหนดระยะถือครองยาวนานขึ้น เป็น 10 ปีเต็มๆ นับแบบวันชนวัน ขณะที่ RMF การขายคืนหน่วยลงทุนทำได้เมื่อผู้ลงทุนอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี

ดังนั้น เมื่อ LTF สิ้นสุดสิทธิประโยชน์หักลดหย่อนภาษีในปี 2562 และ ‘นักออมหน้าใหม่’ พอเห็นความแตกต่างคร่าวๆ ของ SSF และ RMF กันบ้างแล้ว ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ จะพาไปทำความรู้จักและเรียนรู้ 2 กองทุนที่ได้รับสิทธิหักลดหย่อนภาษี ใน "กองทุน SSF ฉบับเข้าใจง่าย" กับ รศ.ดร.พรอนงค์ บุษราตระกูล หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

SSF VS RMF ความเหมือนที่แตกต่าง

รศ.ดร.พรอนงค์ เริ่มต้น "กองทุน SSF ฉบับเข้าใจง่าย" กันด้วยความเหมือนของ 2 กองทุน SSF กับ RMF ที่การออมเป็นแบบระยะยาวและได้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเหมือนกัน คือ 30% ของรายได้ แต่วงเงินรวมต้องไม่เกิน 500,000 บาท อีกอันหนึ่ง คือ ไม่จำเป็นต้องลงในหุ้น ลงในอะไรก็ได้ตามนโยบายของกองทุน แตกต่างกับ LTF ที่หลักๆ ต้องลงในหุ้น

แต่ในแง่ของความแตกต่าง คือ SSF มีระยะเวลาของการลงทุน 10 ปี ไม่ใช่ 10 ปีปฏิทิน แต่เป็น 10 ปีแบบวันชนวัน ส่วน RMF ต้องอยู่ในกองทุนจนถึงวันเลิกทำงาน ซึ่งขีดไว้ที่อายุ 55 ปี แน่นอนว่า ตัวความยืดหยุ่นในเรื่องของการได้เงินต้นพร้อมผลประโยชน์มาใช้จ่ายตัว SSF น่าจะดีกว่า อาจจะตอบสนองไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบันที่อาจจะออมด้วยวัตถุประสงค์อื่น ไม่ได้หวังออมเพื่อรองรับการเกษียณเพียงอย่างเดียว แต่อาจจะเป็นการออมเพื่อเก็บเป็นเงินทุนในการเริ่มต้นประกอบธุรกิจของตัวเอง

จากในแง่ที่ว่า "ไม่ได้ออมเพื่อรองรับการเกษียณเพียงอย่างเดียว" ฉะนั้น จึงตอบโจทย์กับ "นักออมอายุน้อย"

...

"หากอายุ 50 ปีขึ้นไป
ควรเลือก RMF ดีกว่า"

รศ.ดร.พรอนงค์ ยกตัวอย่างง่ายๆ ว่า คนอายุ 50 ปีขึ้นไป จะเหลืออายุการออมอีกประมาณ 5 ปี ถ้าไปออม SSF ต้องโดนล็อกถึง 10 ปี และอาจเลยอายุการเกษียณก็ได้ ดังนั้น SSF จึงไม่น่าสนใจเลยสำหรับคนอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่แน่นอนว่า ถ้าอายุการทำงานเหลือเกิน 10 ปี พิจารณาทางเลือกของ SSF ดีกว่า RMF

• ถือครองยาว 10 ปี ลดแรงจูงใจคนฐานภาษีต่ำ?

"ผลดีหรือผลเสียขึ้นอยู่กับการมอง" หมายความว่าอย่างไร?

รศ.ดร.พรอนงค์ ให้คำตอบที่เข้าใจง่ายๆ ว่า ถ้ามองในเรื่องของเม็ดเงินลงทุนที่ใช้เป็นส่วนหนึ่งที่จะเข้าไปสู่ตลาดหุ้น อาจมองว่ากระทบ เพราะ SSF ไม่ได้โดนบังคับให้ลงในหุ้น แต่ถ้ามองในมุมของ ‘นักออม’ ที่หวังแค่ประโยชน์ทางภาษีกับเรื่องวินัยการออม ก็จะไม่กระทบกระเทือน เพราะคนส่วนใหญ่ออมอยู่ในสินทรัพย์ที่ไม่เสี่ยงอยู่แล้ว

...

"การออมต้องอาศัยความสม่ำเสมอ"

เมื่อไรที่เรามีพฤติกรรมการออมที่สม่ำเสมอระยะยาว วันหนึ่งจะติดเป็นนิสัย ถ้าสร้างให้คนอยู่กับ SSF ได้ในระดับ 10 ปี น่าจะก่อให้เกิดพฤติกรรมการออมที่ดีขึ้น แต่ว่าปัญหาส่วนใหญ่ของ SSF คือ เขาจะไม่ออมเลยตั้งแต่ต้น เข้ามาเลย ซึ่งต้องมานั่งดูว่า ถ้านักออมกลุ่มนี้เข้า RMF อยู่แล้ว SSF มันดีกว่า

ยกตัวอย่าง นาย ก. ไม่เคยออมทั้ง RMF หรือ LTF เลย เป็น ‘นักออมหน้าใหม่’ ไม่เคยมีเงินออมเลย ตัว SSF อาจเป็นอะไรที่ดึงดูดยากนิดนึง เพราะ 10 ปี ค่อนข้างยาว และตลอด 10 ปี ก็เอาเงินต้นออกไม่ได้เลย แต่อาจได้เงินปันผลบ้าง (ขึ้นกับเกณฑ์ละเอียด)

สรุปเทียบ คือ RMF เอาออกไม่ได้เลย (จนถึงขีด 55 ปี) ส่วน SSF เอาออกไม่ได้เลย 10 ปี แต่อาจเอาเงินปันผลออกได้

• อายุน้อยลงทุน SSF หรือ RMF

อีกหนึ่งตัวอย่างง่ายๆ จาก รศ.ดร.พรอนงค์ ที่ช่วยในการตัดสินใจ คือ ถ้าเป็นคนมีวินัยลง SSF ก็ได้ ออมต่อเนื่องไปจนครบ 10 ปี แต่ถ้าคิดว่า วินัยเกิดยาก ก็ไปที่ RMF แต่ด้วยเงื่อนไขอื่นไม่ต่างกัน ถ้ามองเป็นสินค้า 2 ตัว อันหนึ่งมีความยืดหยุ่นกว่า ก็น่าจะเลือกที่ตัวที่มีความยืดหยุ่น แต่ความยืดหยุ่นในด้านหนึ่งมีผลทางลบด้วย คือ อาจทำให้เราไม่มีวินัย

...

"ถ้ามั่นใจว่า มีวินัยการออมที่ดี
SSF ตอบโจทย์มากกว่า RMF"

ประโยชน์ทางภาษีเหมือนกัน นโยบายการลงทุนก็สามารถเหมือนกันได้ เลือกกันได้ ไม่ได้ล็อกที่ตัวหุ้นอย่างเดียว มันมีความยืดหยุ่น ลองเทียบดูหากว่า อายุ 20 ปี แล้วต้องอยู่ถึง 55 ปี

• SSF ลงทุนแบบไหนดี?

รศ.ดร.พรอนงค์ แนะนำง่ายๆ ว่า SSF ไม่ได้เกี่ยวกับตลาดหุ้นเหมือน LTF ที่เป็นกองทุนที่ลงทุนในหุ้น ซึ่งหุ้นจะมีจังหวะที่ตอนปลายปีหรือบางเดือนลงแรงๆ อาจใช้วิธีการจับจังหวะแล้วเข้าตอนที่ตลาดลงแรงๆ

"ต้องคิดวงเงินก่อนว่า สิ่งที่จะได้ประโยชน์จากสิทธิทางภาษี คุณต้องลงเงินเท่าไร เงินตรงนี้เป็นก้อนใหญ่ ถ้ามองถึงก้อนใหญ่ เงิน 30% ของรายได้ทั้งปี ถ้าเราลงตู้มเดียวตอนปลายปี เราจะไม่มีเงินเหลือ แต่ถ้าเราได้สัก 20% ขยายมาจาก 15% ออมสม่ำเสมอทุกเดือน มันจะบรรลุได้ง่ายกว่า"

มาถึงตรงนี้ ‘นักออม’ ทั้งหลายคงจะพอเข้าใจ กองทุน SSF กันแล้ว และหากคิดอยากออมระยะยาวก็คงตัดสินใจได้แล้วว่า SSF หรือ RMF แบบไหนที่เหมาะสมกับคุณมากกว่ากัน

แต่ก่อนจะกดปิดหน้า "กองทุน SSF ฉบับเข้าใจง่าย" นี้ลง ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ขอทิ้งท้ายอีกหนึ่งคำตอบของคำถามที่แวดวงตลาดหุ้นเขากังวลกันว่า "SSF จะเป็นผลเชิงลบต่อสภาพคล่องตลาดหุ้นหรือไม่?"

ผ่านมุมมองของ รศ.ดร.พรอนงค์ หัวหน้าภาควิชาการธนาคารและการเงิน

ทางจิตวิทยาต้องยอมรับว่า ช่วงปลายปีส่วนใหญ่เงินของ LTF จะเข้าไปในกระแสบวกกับตลาดหุ้น แต่พอ LTF มันหายไป หรือหายแน่ๆ ในปีหน้า ซึ่งปี 2562 เป็นปีสุดท้าย ก็อาจมีการชะลอการเข้ามา มีผลเชิงจิตวิทยา แต่ด้วยเม็ดเงินจริงๆ เชื่อว่า ไซส์ของมันเมื่อเทียบกับไซส์ตลาดจริงๆ ของ LTF ที่จะหายไป ไม่ได้มากมายจนทำให้เกิดปัญหา.

ข่าวอื่นๆ :