"...โบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ และโบราณสถานทั้งหลาย เป็นของมีคุณค่าและจำเป็นแก่การศึกษาค้นคว้าในทางประวัติศาสตร์ศิลป์โบราณคดี เป็นการแสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทยที่มีมาแต่อดีต ควรสงวนรักษาไว้ให้คงทนถาวรเป็นสมบัติส่วนรวมของชาติไว้ตลอดกาล..." พระราชดำรัส ในหลวง รัชกาลที่ 9 ในพิธีเปิดพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เจ้าสามพระยา จ.พระนครศรีอยุธยา วันที่ 26 ธันวาคม 2504
ศิลปะไทยโบราณ เรียกได้ว่าเป็นศิลปะที่เป็นเอกลักษณ์ที่มีคุณค่าและควรแก่การอนุรักษ์ไว้ โดยเฉพาะศิลปะชั้นสูง "การลงรักปิดทอง" ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว คือ ลวดลายที่มีความอ่อนช้อย งดงาม ผลงานที่น่าภูมิใจ คือ การลงรักปิดทอง "ตู้พระธรรมในสมัยอยุธยาตอนปลาย" โดยจัดแสดงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร ศิลปะของบรรพบุรุษไทยที่ได้ถ่ายทอดความงามผ่านลวดลายวิจิตรศิลป์จนมาถึงปัจจุบัน
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้เข้าไปชื่นชมความงดงามของศิลปะไทยในยุคสมัยอยุธยา ภายในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร และได้พบ "ตู้พระธรรมในสมัยอยุธยา" ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นตู้ที่มีความงามมากที่สุดในผืนแผ่นดินไทย ซึ่งหลังจากได้เพ่งพิจดูรายละเอียดของลวดลายบนผืนแผ่นไม้บานประตูตู้พระธรรม ก็สมดั่งที่มีการกล่าวขาน แต่น่าเสียดายยิ่งนักที่ลวดลายอันวิจิตรนี้กลับถูกบดบังด้วย ‘ฝ้าขาว’ ลักษณะคล้ายเชื้อรา ทำให้มองไม่เห็นลวดลาย "ลงรักปิดทอง" ที่เป็นดั่งศิลปะชั้นสูงได้อย่างชัดเจน
...
ด้วยความกังวลว่า ศิลปะที่บรรพบุรุษสร้างมาเกือบ 300 ปี อย่าง ‘ตู้พระธรรม’ จะเสื่อมสลายจาก ‘ฝ้าขาว’ ที่คล้ายเชื้อรา ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ จึงไม่อาจรอช้าที่จะไปสนทนากับผู้เชี่ยวชาญเพื่อไขคำตอบ
แต่ก่อนอื่นนั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ จะพาไปทำความรู้จักกับการ "ลงรักปิดทอง" ว่า เหตุใดถึงได้รับการกล่าวขานว่าเป็นศิลปะชั้นสูง
• ศิลปะร่วมชั้นสูง “ลงรัก”
อาจารย์สนั่น รัตนะ ภาคีสมาชิกสาขาจิตรกรรม สำนักงานราชบัณฑิตยสภา ผู้ซึ่งอยู่คู่กับศิลปะอันทรงคุณค่าของไทยมาอย่างยาวนาน ได้ให้ความรู้กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ถึงวัฒนธรรมการใช้ ‘ยางรัก’ กับพื้นไม้ ว่า ศิลปะการใช้ ‘ยางรัก’ เป็นวัฒนธรรมร่วมของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีมาตั้งแต่อดีตกาล ซึ่ง ‘จีน’ ทำศิลปะประเภทนี้มา 4,000 กว่าปี ส่วนไทยก็ได้รับอิทธิพลวัฒนธรรมมาจากจีนถึง 700 ปี จากหลักฐานการ "ลงรักปิดทอง" พระพุทธรูปในสมัยสุโขทัย เมื่อส่งต่อมาถึงสมัยอยุธยาก็ได้มีการนำ ‘ยางรัก’ นั้นมาเคลือบตู้สิ่งของเครื่องใช้ พร้อมกับการนำศิลปะดั้งเดิมของไทย คือ "การเขียนลายรดน้ำ" ผสมผสานกันได้อย่างลงตัวและสวยงาม
"ศิลปะประเภทนี้จึงมีการเรียกขานต่อกันมาจากการตกแต่งว่า ‘ตู้ลายทองเขียนตกแต่ง’ เป็นการเขียนตกแต่งศิลปะบนสิ่งของเครื่องใช้พระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยา..."
• “ตู้ลายทองเขียนตกแต่ง” อยุธยาสู่ความงามผ่านฝีมือ "ช่างวัด เซิงหวาย"
"คนในแวดวงศิลปกรรมลายรดน้ำนั้นต้องรู้จักตู้ใบนี้เป็นอย่างดี ตู้พระธรรมชิ้นนี้เป็นตู้ที่งดงามที่สุดในบรรดาตู้พระธรรมที่เรามีอยู่ในประเทศไทย"
อาจารย์สนั่น ถ่ายทอดความรู้สึกถึง ‘ตู้พระธรรม’ ที่ถูกรังสรรค์ผ่านช่างฝีมือชั้นครูวัดเซิงหวาย ซึ่งหลายคนอาจจะสงสัยว่า "วัดเซิงหวายอยู่ที่ไหน?"
แท้จริงแล้ว "วัดเซิงหวายนั้นไม่ทราบว่าอยู่ที่ไหน" แต่ที่ใช้คำว่า "ตู้พระธรรมช่างวัดเซิงหวาย" นั้น อาจารย์สนั่น ย้อนเล่าความเป็นมาให้ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ฟังว่า สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ได้ระบุ ‘ตู้พระธรรม’ นี้เป็นลักษณะลวดลายซ้อนเป็นชั้นเหมือนกับ ‘เซิงหวาย’ ที่อยู่ในป่า ในส่วนของคำว่า ‘ช่างวัด’ ในอดีตช่างฝีมือชั้นครูจะอยู่ที่สำนักในวัดต่างๆ ซึ่งในเวลาต่อมาก็มีการเล่าต่อกันมาว่า "ฝีมือช่างวัด เซิงหวาย" จึงมีการสับสนและรวบ 2 เรื่อง เป็นเรื่องเดียวกันต่อๆ กันมาว่า "ฝีมือครูวัดเซิงหวาย"
...
• ความงามลวดลาย “ตู้พระธรรม” กระจกสะท้อนชาติบ้านเมือง
"การเขียนลวดลาย การออกแบบลวดลายทั้งหมดของตู้ชิ้นนี้ จะออกมาจาก ‘เถาวัลย์’ ต้นเดียวกัน จึงเป็น ‘ลายกนกเครือเถาวัลย์’ ออกมาจากต้นเดียวที่พื้นใต้ตัว ‘สิงห์’ แล้วเลื้อยคดเคี้ยวซ้ายขวาขึ้นไปจนถึงยอดพุ่มไม้ มันคือ การจำลองสภาพผืนแผ่นดินไทยที่มีผืนป่าไม้อุดมสมบูรณ์โดยผ่านสายตาช่าง"
...
อาจารย์สนั่น เล่าว่า ‘ตู้พระธรรม’ ชิ้นนี้เป็นไม้บรรทัดวัดให้เห็นว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยา สมัยนั้นมีความรุ่งเรื่องอย่างมาก จนสามารถมีทองมากมายที่จะนำมาปิดในชิ้นงาน สามารถวัดได้ถึงสังคมในขณะที่ช่างฝีมือกำลังนั่งประดิษฐ์ชิ้นงานอยู่ แผ่นดินตอนนั้นมีความอุดมสมบูรณ์อย่างมาก วัดจากตัวลวดลายจะมีสัตว์ต่างๆ อยู่บนยอดพุ่มไม้ บ้านเมืองมีความสงบสุข ช่างศิลปะไม่ต้องเตรียมซ้อมออกรบ ไม่ต้องออกทัพเพื่อรบกับต่างชาติบ้านเมือง สามารถมีเวลาเหลือที่จะแสดงฝีมือออกมาได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ การประณีตศิลป์จึงเกิดขึ้น เหมือนกับการเล่าความงามของ "ศิลปะตู้ลายรดน้ำฝีมือครูวัด เซิงหวาย" ไว้ในบทศักรวาบทหนึ่งในหนังสือ ‘ประตูใหม่’ ฉบับวันที่ 1 ธันวาคม รัตนโกสินทรศก 129
"ศักรวาตู้ทองวัดเซิงหวาย
แลลวดลายดูเด่นเหมือนเส้นเหลา
สิงหราลดาดอกออกพรายเพรา
ปักษาเจ่าจับจิกผกากิน"
ความงามล้วนสร้างสรรค์ขึ้นมาได้เพราะความอดทนของคนที่ขึ้นชื่อว่า ‘ช่าง’
...
ข้อมูลของเว็บไซต์ช่างสิบหมู่ ได้ระบุขั้นตอนการ "เตรียมพื้นลงรัก" ในพื้นไม้ไว้ว่า จะมีการทารักน้ำเกลี้ยงลงไปบนผิวไม้ที่ขัดให้เรียบและแห้งสนิท โดยใช้แปรงแตะที่รักน้ำเกลี้ยงแล้วทาพื้นไม้บางๆ แล้วปล่อยให้แห้ง จากนั้นจะมีการทา ‘สมุก’ คือ การนำผงถ่านใบตองแห้งกับรักน้ำเกลี้ยงผสมจนเหนียวทาลงพื้นอีกชั้นตามโบราณวิธีว่าไว้ ในขั้นตอนการบ่มสมุกให้แห้ง 2-3 วัน เมื่อแห้งดีแล้วจะนำมาขัดปราบหน้าสมุกให้เรียบดีแล้วล้างน้ำสะอาดผึ่งให้แห้ง นำมาทารักน้ำเกลี้ยงปล่อยให้แห้งสนิทแล้วนำกลับมาทาซ้ำอยู่หลายรอบ จึงนำมาปอกหน้ารักนั้น คือ การนำแผ่นไม้ที่ลงรักน้ำเกลี้ยงไปมาอยู่หลายรอบมาขัดด้วยหินฟองน้ำให้เรียบจนปล่อยให้แห้ง แล้วนำกลับมาทำซ้ำเหมือนเดิมอีกหลายรอบ จนพื้นไม้นั้นไม่มีรอยตำหนิถึงนำมาทำขั้นตอนสุดท้าย นั่นคือ การ "เช็ดรักชักเงา" คือ การนำสำลีห่อด้วยผ้านุ่มๆ เป็นลูกประคบแตะที่รักน้ำเกลี้ยงเล็กน้อยแล้วเช็ดบางๆ ทั่วผิวพื้นไม้ จึงบ่มแห้งไว้ 1 คืนจึงแล้วเสร็จ
"ทาทับเยอะมาก ส่วนมากหนาเป็นมิลลิเมตร ผมทำประมาณ 20 ชั้น แต่ละชั้นกว่าจะแห้งในอากาศดีๆ คือ หน้าที่มีความชื้นเยอะ รักชอบทาในหน้าฝน หรือไม่เมื่อทาแล้วก็เข้าตู้อบที่มีน้ำเลี้ยง เพราะรักนั้นจะชอบความชื้น จะแห้งในความชื้น ฉะนั้น ความชื้นที่อย่างน้อยจะทาทับได้ต้องใช้เวลา 5-7 วัน ในยางรักที่มีคุณภาพดี ถ้าเราทา 20 ชั้น ก็นำเลข 7 มาคูณ ก็จะทราบระยะเวลาในการแห้ง แต่ถ้าอยู่ในหน้าหนาวอาจจะ 15-20 วันกว่าจะแห้ง"
จากคำกล่าวทิ้งท้ายของอาจารย์สนั่น จะเห็นได้ว่า เพียงแค่การเตรียมพื้นรักนั้นใช้ระยะเวลาที่ยาวนานมาก แสดงถึงความประณีต ความเอาใจใส่ของช่างที่มีความอดทน เพื่อผลิตชิ้นงานที่มีคุณค่าและเป็นประโยชน์อย่างมากต่อคนรุ่นหลัง ดังนั้น เราคนรุ่นหลังก็ควรที่จะรักษาศิลปะบรรพบุรุษไว้และให้กับลูกหลานอีกทอดสืบไป
ดั่งกรณีตู้พระธรรมโบราณเกิดลักษณะ ‘ฝ้าขาว’ ซึ่งอาจารย์สนั่นได้ตั้งข้อสังเกตที่น่าสนใจยิ่งว่า
"ตู้พระธรรมที่มีตู้กระจกครอบไว้อยู่นั้น หมายความว่า เราเร่งความร้อนให้กับยางรัก นึกถึงการปิดประตูรถยนต์ อุณหภูมิในและนอกรถยนต์ย่อมต่างกันอยู่แล้ว"
แท้จริงแล้ว ‘ฝ้าขาว’ ที่ปรากฏบดบังลวดลาย "ลงรักปิดทอง" บนบานประตูตู้พระธรรมจะเป็น ‘เชื้อรา’ หรือไม่? ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ จะพาผู้อ่านทุกท่านไปไขคำตอบและหาแนวทางอนุรักษ์ในสกู๊ปตอนถัดไป.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- "ฉลาม" นักล่าแห่งท้องทะเล ที่ถูกล่าโดยไม่ตั้งใจ สู่วิกฤตการณ์ "Food Loss"
- เวียดนามแซง กัมพูชาไล่บี้ "ข้าวไทย" แพง แถมไม่พัฒนา ชาวนาขาดทุนยับเยิน
- วังเวง "ข้าวไทย" หอมน้อย หวานด้อย 30 ปี No Change!
- "ซีรีส์" สิ่งปรุงแต่งซุกสังคมบิดเบี้ยว "หญิงเกาหลี" ไร้เสียง ชายเป็นใหญ่กดทับ
- "ทุนจีน" รุกมหา’ลัยไทย เปิดทางหนีสอบกดดัน เคลื่อนทัพเรียนนอก 6 แสนคนต่อปี