หากเอ่ยถึง ‘ฉลาม’ ก็คงนึกถึงความดุร้าย ปลาและสัตว์ทะเลต่างรู้สึกหวาดกลัว หรือแม้แต่คนเองก็หวาดหวั่น แต่ ณ เวลานี้ ใครเลยจะนึกว่า "นักล่าสูงสุด" แห่งท้องทะเลและมหาสมุทรอันกว้างใหญ่จะตกเป็นผู้ถูกล่า
ในห่วงโซ่อาหารใต้ท้องทะเลและมหาสมุทรนั้น ‘ฉลาม’ เป็นสายพันธุ์นักล่าชั้นบนสุดที่มีความจำเป็นยิ่งต่อระบบนิเวศ แต่ ณ ปัจจุบัน กลับพบว่า ‘ฉลาม’ กำลังถูกคุกคามอย่างหนักจากการทำ "ประมง" จนนำไปสู่ความวิตกกังวลว่า ในอนาคต ‘ฉลาม’ คงไม่แคล้วจะสูญพันธุ์
อายุของ ‘ฉลาม’ นั้นขึ้นอยู่กับสายพันธุ์ ซึ่งเท่าที่มีการบันทึกไว้พบว่า ‘ฉลาม’ มีอายุนานราวๆ 50 ปีเลยทีเดียว
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้สัมภาษณ์และสนทนากับ นายอุกกฤต สตภูมินทร์ ผู้อำนวยการกองอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล ถึงสถานการณ์ ‘ฉลาม’ ณ ขณะนี้ ที่หลายๆ คนอาจไม่คาดคิดว่า ประชากร ‘ฉลาม’ ที่ลดลง ส่วนหนึ่งนั้นเกิดมาจากความ "ไม่ตั้งใจ"
...
ก่อนอื่นนั้น คุณผู้อ่านคิดว่า ‘ฉลาม’ มีลักษณะการออกลูกอย่างไร?
คำตอบ คือ 2 รูปแบบ คือ ออกลูกเป็นตัว ออกลูกเป็นไข่
"ปล่อยไข่ที่มีเปลือกไว้ในธรรมชาติ ให้ตัวอ่อนข้างในเจริญเติบโตเอง นึกถึง ‘ไข่ไก่’ ก็ได้"
โดย นายอุกกฤต ขยายความเพิ่มในส่วนของการออกลูกเป็นตัวและเป็นไข่ของ ‘ฉลาม’ ให้ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ฟังว่า บางชนิด ‘ฉลาม’ จะดูแลลูกอ่อนไว้ในตัว เมื่อโตจึงขับตัวลูกออกมา แต่บางชนิด หลังมีการผสมพันธุ์แล้ว ตัวเมียจะปล่อยสิ่งที่คล้ายๆ กับไข่ ซึ่งภายในไข่มีตัวอ่อนอยู่ จากนั้นจะนำไข่ไปยึดไว้กับกัลปังหาหรือวัสดุใต้น้ำ เพื่อให้ตัวอ่อนพัฒนาเอง เมื่อตัวอ่อนแก่ก็จะกัดตัวถุงไข่ออกมา ภาษาอังกฤษเรียกว่า Mermaid’s Purse หรือ ‘กระเป๋านางเงือก’
"ตัวลูกใช้เวลาในการออกจากไข่ไม่นาน ขึ้นอยู่กับชนิด ถ้าเป็นชนิดตัวใหญ่ๆ อาจจะตั้งท้องหลายเดือน ก่อนที่จะออกเป็นตัว"
สำหรับสถานการณ์ประชากร ‘ฉลาม’ ในประเทศไทยและโลกนั้น นายอุกกฤต ยอมรับว่า "แนวโน้มลดลง"
พร้อมอธิบายว่า ‘ฉลาม’ เป็นสัตว์ที่อยู่ในกลุ่มอายุยืน ออกลูกน้อย ซึ่งเป็นข้อจำกัดด้านชีววิทยาทางด้านการสืบพันธุ์ ส่วนหนึ่งถูกนำมาทำการประมง หรือ Fishing Mortality (การตายโดยประมง) ทำให้สถานการณ์โดยรวมมีประชากรลดลง ในระดับสากลถือว่า กลุ่ม ‘ฉลาม’ หรือกลุ่มปลากระดูกอ่อนทั้งหลายมีความน่ากังวล ซึ่งทั่วโลกก็มีมาตรการออกมาเพื่อช่วยคุ้มครองและอนุรักษ์ แต่มาตรการบางอันก็ยังไม่ได้เป็นกฎหมาย เป็นเพียงเงื่อนไขในข้อบังคับ
จากการตรวจสอบปริมาณสัตว์น้ำเค็มทั้งหมด (รวมเพาะเลี้ยงชายฝั่ง) ในช่วงปี 2556-2560 ของกรมประมง ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ พบว่า ปริมาณ ‘ฉลาม’ มีสัดส่วนลดลงต่อเนื่อง จากปี 2556 ที่มี 2.4 พันตัน ในปี 2560 เหลือเพียง 1 พันตัน หากเทียบกับสัตว์น้ำเค็มทั้งหมดก็มีสัดส่วนเพียง 0.06% เท่านั้น หรือหากคิดเทียบกับค่าเฉลี่ยน้ำหนักฉลามสีน้ำเงิน หรือ Blue Shark ที่ 1 ตัว เท่ากับ 0.11 ตัน ก็อาจมีฉลามประมาณ 9,091 ตัว
แต่หากมาดูข้อมูลปริมาณการจับสัตว์น้ำเค็ม จำแนกตามชนิดสัตว์น้ำและแหล่งทำการประมง ปี 2560 ของกรมประมง พบว่า ในภาพรวมมีการจับ ‘ฉลาม’ สูงถึง 1,039 ตัน แบ่งเป็น อ่าวไทย 738 ตัน และมหาสมุทรอินเดีย 301 ตัน คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 50 ล้านบาท
...
• By-Catch จับไม่ตั้งใจ ทะเลป่วน ‘ฉลามสูญพันธุ์’
นายอุกกฤต อธิบายถึงสถานการณ์การจับ ‘ฉลาม’ ณ ขณะนี้ ให้ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ฟังว่า ทั่วโลกมีความพยายามต่อต้านและรณรงค์ในเรื่องของ Shark Fisheries (การทำประมงฉลามโดยเฉพาะ) หมายถึงว่า ชาวประมงตั้งใจที่จะไปจับ ‘ฉลาม’ โดยเฉพาะ ซึ่งรูปแบบการทำประมงแบบนี้ในบ้านเราไม่มี
"ในบ้านเรา ส่วนใหญ่ ‘ฉลาม’ ที่จับได้ เรียกว่า By-Catch คือ กลุ่มสัตว์น้ำที่ไม่ได้เป็นกลุ่มเป้าหมายในการจับ หรือเป้าหมายในการทำประมง แต่ว่าเผอิญติดขึ้นมา"
จากคำว่า By-Catch ที่บังเอิญจับ ‘ฉลาม’ แบบไม่ตั้งใจนั้น ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลปริมาณสัตว์น้ำเค็มจากการทำประมงพาณิชย์ จำแนกตามเครื่องมือทำการประมงและชนิดสัตว์น้ำ ปี 2561 ของกรมประมง พบว่า เครื่องมือที่จับ ‘ฉลาม’ ได้มากที่สุดนั้นเป็น ‘อวนลากแผ่นตะเฆ่’ จับ ‘ฉลาม’ ได้ปริมาณถึง 254 ตัน และนอกจากเครื่องมือประเภทอวนแล้ว ยังมี ‘เบ็ดราว’ ที่จับ ‘ฉลาม’ ได้ปริมาณถึง 10 ตัน
...
ซึ่งจากตัวเลขเหล่านี้ อาจดูไม่สูงนักหากเทียบกับประเทศอื่นๆ ในโลก ซึ่งนับตั้งแต่ปี 2550-2560 นั้น จากข้อมูลของ TRAFFIC ที่รายงานเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา พบว่า อินโดนีเซีย มีการจับ ‘ฉลาม’ มากที่สุดเป็นอันดับ 1 ปริมาณมากถึง 110,737 ตัน หรืออย่างสหรัฐอเมริกา ที่อยู่อันดับ 5 ก็มีการจับ ‘ฉลาม’ ปริมาณกว่า 37,389 ตัน สูงกว่าบ้านเรามากเกินกว่า 10 เท่า
รวมๆ แล้วทั่วโลกมีการประมาณการกันว่า ‘ฉลาม’ ถูกฆ่าตายปีละกว่า 100 ล้านตัวทีเดียว
"มันเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์"
นายอุกกฤต อธิบายถึงความร่วมมือที่เกิดจากข้อกังวล ‘ฉลาม’ เสี่ยงสูญพันธุ์ กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ณ วันนี้ ประเทศไทยในฐานะที่เป็นสมาชิกขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือที่เรียกว่า FAO ซึ่ง FAO ได้ให้แต่ละประเทศทำ Plan of Action for Sharks (แผนปฏิบัติการสำหรับฉลาม) เป็นกรอบว่า เราจะมีการบริหารจัดการ ‘ฉลาม’ อย่างไร พอมีแนวทางมาแล้ว FAO ก็ให้ประเทศสมาชิกไปทำแผนระดับชาติ หรือ National Plan of Action Sharks (Shark-Plan) ซึ่งในแผนจะครอบคลุมทั้งหมด อาทิ การติดตามศึกษาสภาพประชากร ‘ฉลาม’, มาตรการลดการตายของ ‘ฉลาม’ จากการจับโดยบังเอิญ ซึ่งกรมประมงเป็นหน่วยประสานงานกลางของประเทศ เพื่อที่จะพัฒนา National Plan of Action for the Conversation and Management of Sharks ออกมา ซึ่งเป็นภาคสมัครใจ ยังไม่ได้เป็นกฎหมายระหว่างประเทศ แต่เป็นข้อเสนอแนะแล้วให้ช่วยกันทำ ร่วมกันทำ
...
• ทนทรมาน ‘ตัด’ แล้ว ‘ทิ้ง’
จากการจับ ‘ฉลาม’ แบบ By-Catch หรืออาจจะไม่ By-Catch นำไปสู่วิกฤตการณ์ที่เรียกว่า Food Loss ที่มาที่ไปเป็นอย่างไร?
Sharks Finning หมายถึงอะไร?
นายอุกกฤต ให้คำตอบกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ที่ทำให้นึกภาพตามได้อย่างชัดเจน ว่า การแบน Sharks Finning คือ กิจกรรมในลักษณะที่เมื่อได้ ‘ฉลาม’ มาแล้วตัด ‘ครีบ’ ทิ้ง เป็นการทรมาน ‘ฉลาม’ และทำให้ทรัพยากรสูญเสีย ตัดแต่ครีบ ตัวไม่เอาไปใช้ ซึ่งในยุโรปมีการผลักดันในเรื่องนี้ เรียกว่า Conversation on Migratory Species, CMS คือ อนุสัญญาว่าด้วยชนิดพันธุ์ที่มีการเคลื่อนย้ายถิ่น
"คำว่า ‘แบน’ ไม่ใช่การแบนจับ ‘ฉลาม’ แต่เป็นการแบนกิจกรรม Sharks Finning การตัดครีบแล้วปล่อยทิ้ง เขามองว่ามันเป็นการสูญเสียทรัพยากร แค่เอาครีบมาใช้ สมมติว่า เป็น By-Catch จริง มีการจับมาใช้เพื่อการบริโภค เราก็สามารถนำเอาตัวมาใช้ให้เป็นประโยชน์ให้เต็มที่ เพื่อลดการสูญเสียอาหารของโลก"
สำหรับสถานการณ์ในยุโรปที่กังวลต่อ Sharks Finning นั้น นายอุกกฤต อธิบายอีกว่า ในยุโรปมองว่า ควรใช้ทรัพยากรเหล่านั้นให้คุ้มค่า แทนที่จะตัดแต่ครีบ แล้วเอาตัวทิ้ง ซึ่งมันเป็นการสูญเสีย
"ต้องมองว่า สัตว์น้ำเวลาจับขึ้นมา เป็น By-Catch การเอาเขามาใช้ประโยชน์ นึกออกไหมว่า เราไม่ได้ตั้งใจจับ การตั้งใจจับที่จะทำให้เขามีความเสี่ยงที่จะลดประชากร แต่ถ้ามันถูกจับขึ้นมาแล้ว แล้วเอามาใช้ในรูปแบบที่เหมาะสม ใช้ให้คุ้มค่า ก็จะเป็นอีกประเด็นหนึ่ง เรียกว่า การลดการสูญเสียอาหารของโลก เป็น Food Loss Reduction เป็นอีกมิติหนึ่ง ที่พูดว่า บางประเทศเขาอดอยากจะตายแล้ว แต่ประเทศที่มีใช้ทิ้งอาหาร ทิ้งให้เป็นเศษอาหาร อันนี้ก็จะเป็นข้อกังวลอีกอันที่จะเป็นกลไกในการจัดการในภาพรวม" นายอุกกฤต ทิ้งท้าย
จากทั้งหมดทั้งมวล แม้ไทยจะไม่ใช่ประเทศที่จับ ‘ฉลาม’ มากที่สุด แต่ก็น่าตระหนักและต้องหันมาใส่ใจ จากสัตว์ที่คาดว่ามีอายุยาวนานดึกดำบรรพ์ กลับตกอยู่ในสถานะเสี่ยงสูญพันธุ์ในยุคนี้ เพียงเพราะการจับโดยไม่ตั้งใจ และกำลังกลายเป็นวิกฤตการณ์ที่เรียกว่า Food Loss.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- เส้นทาง "รถไฟฟ้า" ปี 2020 ปลุกทำเลทอง ท่องเที่ยวเมืองเก่า สู่แหล่งช็อปปิ้ง
- เวียดนามแซง กัมพูชาไล่บี้ "ข้าวไทย" แพง แถมไม่พัฒนา ชาวนาขาดทุนยับเยิน
- วังเวง "ข้าวไทย" หอมน้อย หวานด้อย 30 ปี No Change!
- "ซีรีส์" สิ่งปรุงแต่งซุกสังคมบิดเบี้ยว "หญิงเกาหลี" ไร้เสียง ชายเป็นใหญ่กดทับ
- "ทุนจีน" รุกมหา’ลัยไทย เปิดทางหนีสอบกดดัน เคลื่อนทัพเรียนนอก 6 แสนคนต่อปี
ข้อมูลอ้างอิง :
- สถิติการประมงแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2560 (FISHERIES STATISTICS OF THAILAND) โดย กองนโยบายและยุทธศาสตร์พัฒนาการประมง กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เอกสารฉบับที่ 9/2562
- SHARKS IN CRISIS | EVIDENCE OF POSITIVE BEHAVIOURAL CHANGE IN CHINA AS NEW THREATS EMERG ; WILDAID
- Almost 600,000 metric tonnes of Sharks and Rays caught each year by world’s top 20 catchers : 11th September 2019 ; TRAFFIC