กลายเป็นวาระร้อนส่งท้ายปี ‘ข้าวหอมมะลิไทย’ พลาดท่าแพ้ม้ามืดมาแรง ‘ข้าวเวียดนาม’ ถูกโค่นแชมป์ 2 ปีซ้อน หลายฝ่ายรุมบี้ ‘พันธุ์ข้าวไทย’ ไม่พัฒนา ผ่านหลายสิบปีก็ยังเหมือนเดิม เหมือนถูกปล่อยเคว้งตามยถากรรม
"ข้าวหอมมะลิไทยไม่ได้แพ้"
เสียงก้องกังวานมาไกลจากศูนย์วิจัยข้าวขอนแก่น กองวิจัยและพัฒนาข้าว กรมการข้าว ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ขอนแก่น เมื่อครั้ง นายประภัตร โพธสุธน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่
ส่วนที่เป็นวาระร้อนสะเทือนท้องทุ่ง ท่าน รมช.เกษตรฯ ก็เอื้อนเอ่ยบอกว่า ข้าวหอมมะลิที่ส่งประกวดครั้งนี้ ผู้ที่ส่งข้าวไปทดสอบนั้นไม่ตรงตามสเปกที่ตกลงกับกรมการข้าว จึงถือว่า กองประกวดข้าวโลกยังไม่ได้รับข้าวที่ได้มาตรฐานของกรมการข้าวที่ตรงสเปก และเชื่อว่า คุณภาพของ ‘ข้าวหอมมะลิไทย’ ไม่ได้ลดลง
เมื่อท่าน รมช.เกษตรฯ ว่ามาอย่างนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้สอบถามไปยังกรมการข้าว ว่า ‘สเปก’ ที่ท่าน รมช.เกษตรฯ ว่านั้น มีลักษณะอย่างไร เหตุไฉนถึงผิดพลาดส่งข้าวไปประกวดผิดสเปกได้กันเล่า ซึ่งกรมการข้าวก็ได้ให้คำตอบกลับมาสั้นๆ ว่า "คนที่ส่งก็ส่งไป ไม่ทราบรายละเอียดในเรื่องนี้ ทางสมาคมเชฟฯ และผู้ประกอบการข้าว หรือ เทรดเดอร์ เป็นผู้ส่งผ่านไปยังผู้ส่งออก"
...
จากประเด็นส่ง ‘ข้าวหอมมะลิ’ เข้าประกวดบนเวที World’s Best Rice Contest ของ The Rice Trader จนมาถึงวาระร้อนเสียแชมป์ให้ ‘ข้าวเวียดนาม’ ลามไปถึงส่งข้าวประกวดไม่ตรงสเปก แถมไม่ได้มาตรฐานของกรมการข้าว
กลายเป็นมีคำถามตามมา แล้ว ‘ข้าวหอมมะลิไทย’ ที่ส่งประกวดนั้นมาจากไหน?
ไยถึงพ่ายท่าเสียแชมป์ถึง 2 ปีซ้อน
• แพ้ก็แพ้ ประกวด 11 ปี มีข้าวพันธุ์เดียว
ร.ต.ท.เจริญ เหล่าธรรมทัศน์ ในฐานะนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เริ่มต้นให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ด้วยน้ำเสียงหนักแน่น โต้กลับถึงวาระร้อน "ข้าวไทยส่งประกวดไม่ตรงสเปก" ว่า ข้าวที่ส่งประกวดเวที World’s Best Rice Contest นั้นเป็น ‘ข้าวหอมมะลิ’ โดยทางสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทยเป็นผู้รวบรวมตัวอย่างข้าว ซึ่งล้วนแต่เป็นยี่ห้อดังๆ ทั้งสิ้น
"ใครบอกไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเราไปประกวด เขาก็มีคณะกรรมการ ทั้งเชฟจากไทยและต่างประเทศ เราแพ้ก็แพ้ เมื่อปีที่แล้ว ‘กัมพูชา’ ก็ได้ไป เราไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าว แต่หากจะพัฒนาข้าวก็ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-5 ปี"
ส่วนในปีหน้าไทยจะกลับมาได้แชมป์ข้าวอีกหรือไม่นั้น นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวฯ ก็ยังไม่มั่นใจเท่าใดนัก เพราะตลอดเวลาที่มีการประกวดข้าวมา 11 ปี ไทยมีเพียง ‘ข้าวหอมมะลิ’ พันธุ์เดียว ที่ส่งเข้าประกวด ไม่ได้มีการพัฒนาพันธุ์ข้าวใดมาเพิ่มเติม ซึ่งในส่วนนี้เป็นหน้าที่ของกระทรวงเกษตรฯ ขณะเดียวกัน ‘เวียดนาม’ หรือชาติคู่แข่งอื่นๆ กลับมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวใหม่ๆ ตลอดเวลา จนสามารถคว้าแชมป์ข้าวได้ในปีนี้ จึงอยากจะให้มีการเข้ามาดูแล
ขณะที่ มุมมองอีกด้าน ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย (TDRI) ที่เห็นว่า ‘ข้าวไทย’ แพ้ ‘ข้าวเวียดนาม’ ไม่ได้แปลกอะไร
"คุณภาพในสายตาของแต่ละคนต่างกัน ยกตัวอย่าง คนอินเดียชอบกิน ‘ข้าวบาสมติ’ มากกว่า ‘ข้าวหอมมะลิ’ เป็นเรื่องของรสนิยม การนำ ‘ข้าวหอมมะลิ’ ไปรับประทานกับแกงกะหรี่ก็อาจสู้ ‘ข้าวบาสมติ’ ไม่ได้ดีเท่าที่ควร ส่วนคนไทยก็นิยมรับประทาน ‘ข้าวหอมมะลิ’ ฉะนั้น ใครได้รับรางวัลมันไม่ได้แปลกอะไร"
...
ซึ่ง ดร.วิโรจน์ ชี้ให้ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ได้เห็นข้อสำคัญของกรณี ‘ข้าวไทย’ พ่าย ‘ข้าวเวียดนาม’ ที่สิ่งนั้นเป็นตัวทำให้ไทยต้องเสียตลาด นั่นคือ ‘ราคาข้าวหอมของเวียดนาม’ ที่มีราคาลดลงมากเมื่อเทียบกับข้าวไทยแล้วถูกกว่า ซึ่งผู้บริโภคไม่ได้มีการยึดติดกับข้าวไทยเท่าใดนัก จึงไม่แปลกใจหากว่า ไทยจะเสียตลาดหลายๆ ที่ไปให้กับเวียดนาม
มาถึงตรงนี้ ทำให้นึกย้อนถึงรายงานพิเศษ เวียดนามแซง กัมพูชาไล่บี้ ‘ข้าวไทย’ แพง แถมไม่พัฒนา ชาวนาขาดทุนยับเยิน ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ มีโอกาสได้สนทนากับ นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ที่ชี้ให้เห็นถึง "ต้นตอ" ที่ทำให้ ‘ข้าวไทย’ ถูกโค่นแชมป์โดย ‘ข้าวเวียดนาม’ นั้นมาจาก "คุณภาพข้าว" ซึ่งแม้จะไม่ได้แย่ลง แต่ก็ไม่ได้พัฒนาขึ้นกว่าเดิม ขณะเดียวกัน คู่แข่งอย่าง ‘เวียดนาม’ หรือ ‘กัมพูชา’ กลับมีการพัฒนาจนสามารถตีคู่ มีคุณภาพข้าวที่เท่าเทียมกับไทยได้
...
จากตรงนี้ สอดคล้องกับ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ที่บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า "พันธุ์ข้าวไทยไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย"
โดย นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ได้อธิบายเพิ่มเติมถึงปัญหา ‘พันธุ์ข้าวไทย’ ให้เห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นว่า หากคุณอยากเอาของไปขายในตลาด คุณต้องดูว่าเป็นที่ต้องการของตลาดหรือไม่ ต้องเอาตลาดนำการผลิต แต่ที่ผ่านมา 20-30 ปี ‘พันธุ์ข้าวไทย’ กลับไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย เมื่อก่อนไม่มีคู่แข่งก็ไม่ค่อยมีปัญหา แต่ตอนนี้มีคู่แข่งแล้ว อย่างทุกวันนี้ ‘อินเดีย’ ส่งออกชนะไทยไปแล้ว ขึ้นเป็นที่ 1 ส่วนไทยเป็นที่ 2 และ ‘เวียดนาม’ อยู่ที่ 3 ในปัจจุบัน ทุกประเทศมีการพัฒนาปรับปรุงพันธุ์ข้าวให้เป็นที่ต้องการของตลาด ขณะเดียวกัน ‘ข้าวไทย’ กลับไม่มีการพัฒนามานานแล้ว
ทั้งนี้ หลังจากทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ตรวจสอบข้อมูลการส่งออกข้าวโลกของสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย พบว่า ‘อินเดีย’ และ ‘ไทย’ ซึ่งเป็นอันดับ 1 และ 2 ที่ส่งออกข้าวมากที่สุด ในช่วงปี 2560-2561 มีปริมาณการส่งออกที่ลดลง แต่คาดการณ์ปริมาณการส่งออกในปี 2562 ‘อินเดีย’ คงที่ ส่วนไทยนั้นลดลง โดยปี 2561 ‘อินเดีย’ มีปริมาณการส่งออก 12.50 ล้านตันข้าวสาร ส่วนไทยมีปริมาณการส่งออก 11 ล้านตันข้าวสาร ขณะที่ ‘เวียดนาม’ ที่มาแรงเตรียมแซงโค้งไทย ปริมาณการส่งออกข้าวกลับเป็นไปในทิศทางบวก เพิ่มขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2559-2561 ซึ่งในปี 2562 ก็คาดการณ์ว่าจะสามารถส่งออกได้ถึง 7 ล้านตันข้าวสาร (ปี 2561 ส่งออก 6.7 ล้านตันข้าวสาร)
...
"ข้าวหอมมะลิไทยคุณภาพแย่ลงทุกวัน อย่างที่พูดมาตลอด ‘ข้าวหอมมะลิไทยไม่หอมแล้ว’ ความหวานก็ด้อยลงไป โอเคว่าอาจมีการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิอากาศ แต่ทุกอย่างต้องมีการปรับปรุง ไม่อย่างนั้นการส่งออกข้าวมีปัญหา ถ้าทำไปอย่างนี้ 3-4 ปี หมดอนาคต" นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวย้ำกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ
สำหรับ ‘ข้าวไทย’ ไม่ได้มีแค่เรื่องของ "พันธุ์ไม่พัฒนา" เท่านั้น ยังมีอีกหนึ่งสิ่งที่เป็นปัญหาเช่นกัน คือ ‘ข้าวไทย’ ไม่ตรงกับความต้องการของตลาด
ซึ่ง นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย อธิบายถึงเรื่องนี้ว่า ไทยปลูก ‘ข้าวพื้นแข็ง’ ส่วน ‘ข้าวพื้นนิ่ม’ มีน้อยมาก อย่าง ‘จีน’ นำเข้าข้าวจาก ‘เวียดนาม’ ซึ่งเป็นข้าวพื้นนิ่ม ขณะที่ ‘ฟิลิปปินส์’ ก็นำเข้าข้าวพื้นนิ่ม แต่ไทยไม่มี มีแต่ข้าวพื้นแข็ง ข้าวพื้นนิ่มไม่พอสำหรับการส่งออก ส่วนใหญ่เป็นการรับประทานในประเทศ
ขณะที่ ดร.วิโรจน์ ชี้อีกเหตุผลที่ทำให้ ‘เวียดนาม’ แซง ‘ไทย’ ว่า ‘ภาครัฐ’ ของเวียดนามเข้ามาสนับสนุนเยอะกว่าของไทย ซึ่งประเด็นสำคัญของตลาดข้าวไม่ใช่เรื่องของกลยุทธ์เท่านั้น เช่น หงษ์ทอง มีการวางกลยุทธ์ในการรักษาคุณภาพข้าวให้ดี มีการเก็บไว้ในห้องที่มีอุณหภูมิต่ำ มีแพ็กเกจคุณภาพสูง โดยทั่วไป ข้าวเป็นสินค้าสำหรับคนจนเสียด้วยซ้ำ อย่างที่เราขายไปที่แอฟริกาก็หลายล้านตัน ส่วนใหญ่การแข่งขันจะแข่งขันในเรื่องราคา วันนี้ ‘ข้าวหอม’ ก็เริ่มมีแข่งกันที่ราคามากขึ้นแล้วเช่นกัน
"ตลาดข้าวของเราครึ่งหนึ่งนั้น เป็นข้าวขาว ส่วนมากขายทวีปแอฟริกา ทวีปเอเชีย ที่เหลือก็กระจายไปที่อื่นบ้าง ตลาดข้าวขาวนั้นเป็นตลาดที่แข่งด้วยราคาล้วนๆ ใน ‘ข้าวหอมมะลิ’ ส่วนใหญ่เป็นตลาดพรีเมียม คือ ทวีปเอเชีย ฮ่องกงหรือจีน การที่เรามีข่าวเรื่องเสียตลาดให้กับเวียดนามนั้น ก็คือ เสียตลาดฮ่องกง ข้าวหอมมะลิปริมาณไม่ได้มีเยอะและไม่ได้เป็นที่นิยมไปทั่วโลก เราส่งไปทั่วโลกก็จริง แต่ส่งไปแต่ละที่ปริมาณไม่ได้เยอะ ที่เยอะจริงก็คือ ตลาดของเอเชีย"
สำหรับมาตรการของภาครัฐนั้น ในฐานะนายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย มีมุมมองเป็นไปในทิศทางเดียวกับนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ครั้งให้สัมภาษณ์กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า มาตรการภาครัฐมุ่งแค่จุดเดียว แต่ ‘ข้าว’ ต้องดูทุกด้าน ไม่ใช่ด้านใดด้านหนึ่ง
โดย นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย เห็นว่า มาตรการภาครัฐมีแต่การดูแลราคาข้าวเปลือก ดูแลแต่ชาวนา วนเวียนแค่ประกันราคากับจำนำข้าว แต่ไม่มีการพัฒนาพันธุ์ข้าว ความเป็นจริง คือ ต้องแข่งขันกับตลาด การส่งออกต้องแข่งขันกับตลาด ปัจจุบัน ปลูกข้าว 24 ล้านตันต่อปี ซึ่งข้าวสารต้องส่งออก 8 ล้านตันต่อปี ต้องมีการคิดว่า จะทำยังไงถึงจะสู้คู่แข่งได้
"ถ้าไม่มีก็ปล่อยตามยถากรรมไปเรื่อยๆ สู้เรื่องราคา ยิ่งขายยิ่งถูก คุณภาพยิ่งนานยิ่งแย่ ไม่ได้เป็นแค่ตัวเดียว แต่อุตสาหกรรมพืชไร่ทุกตัวจะมีปัญหาในอนาคต" นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย ทิ้งท้าย.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- เวียดนามแซง กัมพูชาไล่บี้ "ข้าวไทย" แพง แถมไม่พัฒนา ชาวนาขาดทุนยับเยิน
- "ซีรีส์" สิ่งปรุงแต่งซุกสังคมบิดเบี้ยว "หญิงเกาหลี" ไร้เสียง ชายเป็นใหญ่กดทับ
- "ทุนจีน" รุกมหา’ลัยไทย เปิดทางหนีสอบกดดัน เคลื่อนทัพเรียนนอก 6 แสนคนต่อปี
- ทุ่ม 7 หลัก เจาะลึกเทคโนโลยีพิศวง คืนชีพ “บิ๊ก ดีทูบี” ร้อง เต้น ราวกับมีชีวิต
- เส้นทาง "รถไฟฟ้า" ปี 2020 ปลุกทำเลทอง ท่องเที่ยวเมืองเก่า สู่แหล่งช็อปปิ้ง