24 ปี แห่งความก้าวหน้า ลดการติดเชื้อ HIV จากแม่สู่ลูก โรคเรื้อรังที่ไม่มีวันหายขาด แต่จัดการได้ แนะวิธีวางแผน พ่อแม่ติดเชื้อมีลูกได้

HIV หนึ่งในโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เมื่อเกิดขึ้นกับใครแล้วต้องกินยารักษาไปตลอดชีวิต หลายครอบครัวที่พ่อแม่ติดเชื้อเอชไอวีแต่อยากมีลูก ในอดีตอาจจะรู้สึกหมดหวัง วิตกกังวล ถ้ามีลูกๆ ก็กลัวว่าลูกจะติดเชื้อ HIV ไปด้วย

ปัจจุบัน ด้วยวิธีจัดการทางการแพทย์สมัยใหม่ พ่อหรือแม่ติดเชื้อ HIV สามารถมีลูกได้ โดยที่ลูกไม่ติดเชื้อ ดังเรื่องราว 18 ปีที่รอคอย คุณแม่อายุ 43 มีลูก ปาฏิหาริย์รักแท้ ชนะ HIV ที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้นำเสนอถึงเรื่องราวของสาวใหญ่ท้องแรกได้ 5 เดือน ซึ่งสามีติดเชื้อ แต่ทั้งตัวเธอและลูกสุขภาพแข็งแรง ไม่มีใครติดเชื้อ HIV

...

เรื่องราวของครอบครัวเธอแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางการแพทย์และเป็นแรงบันดาลใจให้กับผู้ที่ติดเชื้อ HIV คนอื่นๆ ที่อยากมีลูก พวกเขาควรต้องทำอย่างไรบ้าง ทีมข่าวฯ มีคำตอบจาก ศ.พญ.กุลกัญญา โชคไพบูลย์กิจ อาจารย์สาขาวิชาโรคติดเชื้อภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเชื้อเอชไอวีในเด็ก ประธานอนุกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย และที่ปรึกษาของกระทรวงสาธารณสุขด้านวัคซีน และเอชไอวีในเด็ก

• ไวรัส HIV เมื่อรักษาจะเหมือน "กบจำศีล" ควบคุมมันได้ แต่มันพร้อมแพร่เชื้อ หากไม่ควบคุมด้วยยา

ศ.พญ.กุลกัญญา ยืนยันว่า พ่อหรือแม่ที่ติดเชื้อ HIV มีลูกได้อย่างปลอดภัย ไม่ติดเชื้อได้ นั่นเป็นเพราะยาที่ใช้รักษาการติดเชื้อ HIV ที่ช่วยป้องกันการส่งผ่านเชื้อไปยังคู่ของตน โดยให้เหตุผลทางการแพทย์ว่า การติดเชื้อ HIV ไม่ว่าทาง 1.การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ป้องกัน 2.การใช้ของมีคมหรือใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน 3.การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก เอชไอวีไม่ใช่โรคที่น่ารังเกียจ เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรักษาด้วยการกินยาไปตลอดชีวิต และถึงจะไม่มีวันหาย กลายเป็นโรคเรื้อรัง แต่สามารถควบคุมและจัดการให้มีชีวิตยืนยาวใกล้เคียงคนปกติได้

วิวัฒนาการการรักษา HIV เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2524-2538 เป็นช่วงที่ยังไม่มียาต้านไวรัสที่ได้ผล ทำได้เพียงรักษาโรคติดเชื้อแทรกซ้อน ส่งผลให้ผู้ติดเชื้อ HIV อายุสั้น ต่อมานับตั้งแต่ปี 2538 จนถึงปัจจุบัน มียาต้านไวรัสที่ได้ผล ผู้ป่วยมีภูมิต้านทานกลับมาเป็นปกติ ทำงานหรือทำกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับคนปกติได้โดยไม่มีอันตราย

กรณีการติดเชื้อจากแม่สู่ลูก เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. 2559 ประเทศไทยเป็นประเทศที่ 2 ในโลกที่ได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลก ว่า สามารถบรรลุเป้าหมายลดอัตราการติดเชื้อเอชไอวีจากแม่สู่ลูก จากร้อยละ 10.3 ในปี 2546 เหลือเพียงร้อยละ 1.68 ในปี 2560 และกระทรวงสาธารณสุขมีแผนที่จะดำเนินการให้อัตราลดลงต่ำกว่าร้อยละ 1 ในปี 2563

"เชื้อ HIV เมื่อใช้ยาต้านไวรัสจะกำจัดเชื้อได้จนตรวจไม่พบในเลือดแล้ว แต่เชื้อจะยังอยู่เหมือนกบจำศีล จะซ่อนเร้นอยู่ในดีเอ็นเอของผู้ป่วย ถ้าหยุดกินยาต้าน เชื้อไวรัสก็จะแบ่งตัวเพิ่มจำนวน และสามารถกลับมาและแพร่ต่อไปได้ แต่ถ้าคนติดเชื้อ รู้เร็ว รักษาไว กินยาต้านเชื้ออย่างมีวินัย ตรงเวลาทุกวันๆ เพื่อให้ร่างกายมียาควบคุมไวรัสไว้ตลอด 24 ชั่วโมงโดยตลอด ปริมาณของเชื้อก็จะลดลงเหลือต่ำกว่า 40-50 ตัว (ก๊อปปี้) ต่อหนึ่งซีซีของเลือด หรือตรวจวัดไม่ได้ คนคนนั้นก็จะไม่แพร่เชื้อ สามีที่มีเชื้อปริมาณต่ำกว่า 40-50 ตัว (ก๊อปปี้) ต่อหนึ่งซีซีของเลือดนี้ แม้จะร่วมเพศกับภรรยาโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย ภรรยาก็ไม่ติดเชื้อ และหากมีลูกๆ ก็จะไม่ติดเชื้อ ทั้งนี้ทั้งนั้น ถ้าต้องการมีลูกอย่างปลอดภัย ต้องปรึกษาแพทย์และอยู่ในความดูแลของแพทย์"

...

• หมอแนะรีบฝากท้อง แม่หลายรายเพิ่งรู้ว่าติดเชื้อ "ตอนฝากครรภ์"

การเข้ารับ "ยาต้านไวรัสเอชไอวี" ศ.พญ.กุลกัญญา เปิดเผยกับทีมข่าวฯ ว่า ปัจจุบัน ยาต้านมีคุณภาพสูง ราคาไม่แพง ทุกคนมีโอกาสเข้าถึงยาสูงมากในสถานบริการสุขภาพภาครัฐ รับยาต้านไวรัส HIV ฟรีทุกสิทธิรักษาพยาบาล ทั้งบัตร 30 บาท ผู้มีสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือบัตรทอง สำหรับผู้ติดเชื้อ HIV ไม่ว่าฝ่ายหญิงหรือชายเป็น หากอยากมีลูก สามารถไปวางแผนการตั้งครรภ์ได้ที่ รพ.รัฐ เกือบทุกที่ หากพบว่าติดเชื้อจะได้รับ "ยาต้านไวรัสเอชไอวี" ก่อนที่จะตั้งครรภ์

หากแม่ไม่ได้กินยาต้านเชื้อจะส่งผลให้ลูกมีโอกาสติดเชื้อ HIV ได้ 3 ช่วง คือ 1.ระหว่างตั้งครรภ์ ตั้งแต่ลูกยังเป็นตัวอ่อนในครรภ์ กรณีนี้การติดเชื้อเกิดขึ้นไม่มาก 2.ระหว่างคลอดหรือใกล้ๆ คลอด เพราะมดลูกบีบเกร็งเพื่อให้ทารกออกมา ทารกมีโอกาสสัมผัสเลือดแม่ และสารคัดหลั่งในช่องคลอด ก็มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีผ่านเข้าทางเยื่อบุอ่อนของทารก เช่น เยื่อบุตา เยื่อบุทางเดินอาหาร 3.ช่วงหลังคลอดที่ทารกดูดนมแม่ ถึงแม้ในน้ำนมจะมีเชื้อเอชไอวีไม่มาก แต่ทารกกินนมแม่ในปริมาณมากเป็นเวลานานก็มีความเสี่ยงในการรับเชื้อเอชไอวี ทั้งนี้ ศ.พญ.กุลกัญญา เน้นย้ำว่า ทารกจะไม่ได้รับเชื้อ HIV เลย ถ้าหญิงตั้งครรภ์ที่ติดเชื้อได้รับการดูแลสุขภาพและยาต้านไวรัสแต่เนิ่นๆ รวมทั้งงดนมแม่

...

"แม่บางคนรู้ว่าติดเชื้อก็ต่อเมื่อมาฝากครรภ์ เพราะต้องเจาะเลือดตรวจหาเชื้อซิฟิลิส เชื้อเอชไอวี ซึ่งเป็นมาตรฐานการตรวจเลือดของหญิงตั้งครรภ์ทุกคน เมื่อไหร่ที่ตรวจพบว่ามีการติดเชื้อ ก็จะต้องให้กินยาต้านไวรัสทันที เพื่อไม่ให้ลูกในท้องติดเชื้อด้วย หากมาฝากท้องเร็ว รู้ผลไวโอกาสที่ลูกจะติดเชื้อน้อยกว่า 1% ในบางครั้งเด็กรอดพ้นจากการติดเชื้อระหว่างอยู่ในท้อง แต่มาติดเชื้อช่วงใกล้คลอดหรือระหว่างคลอด เพราะมาฝากท้องช้า บางคนมาฝากตอนใกล้คลอด กินยาต้านไม่ทันแล้ว เพราะอย่างน้อยต้องกิน 4 สัปดาห์ จึงจะลดปริมาณไวรัสในแม่ และทำให้ลูกคลอดอย่างปลอดภัย หลังคลอดหมอจะไม่ให้กินนมแม่ เพื่อป้องกันการติดเชื้อจากนมแม่ กระทรวงสาธารณสุขจะมีนมผงให้กินฟรีจนอายุขวบครึ่ง"

• HIV ไม่น่ากลัว ที่จริงรักษาง่ายกว่าโรคเบาหวานด้วยซ้ำไป

ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติและลูกที่เกิดแทบไม่ติดเชื้อ หากได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสฯ โดยต้องกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอ เป็นวิธีป้องกันที่ดีที่สุด ศ.พญ.กุลกัญญา เน้นย้ำกับทีมข่าวฯ แนะให้แม่รีบมาฝากครรภ์โดยเร็ว เพื่อจะได้รู้ว่ามีความเสี่ยงที่จะติดเชื้ออยู่หรือไม่ หากพบว่าติดเชื้อ ไม่ต้องกังวล ตกใจ รีบกินยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอตามคุณหมอสั่ง ทารกก็จะปลอดภัยไม่ติดเชื้อและครอบครัวก็จะแข็งแรงมีความสุข โรค HIV ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด ที่จริงรักษาง่ายกว่าโรคเบาหวานเสียอีก แต่ก็ไม่อยากให้ใครเป็นเอชไอวี แนะนำป้องกันด้วยการใส่ถุงยางอนามัยขณะมีเพศสัมพันธ์ ซึ่งจะป้องกันกามโรคอื่นๆ ได้ด้วย หรือ กินยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันก่อนการมีเพศสัมพันธ์ที่มีความเสี่ยงหรือเพร็บ (Pre-Exposure Prophylaxis: PrEP)

...

"พอรู้ว่าติดเชื้อ อย่าคิดมาก อย่าอาย ให้รีบรักษา ปัจจุบัน ยาต้านไวรัสดีขึ้นมาก กินยาต้านอย่างดีอย่างเดียว กดไวรัสไว้จนตรวจหาเชื้อไม่มี ก็ไม่สามารถแพร่เชื้อให้คนอื่นได้ และใช้ชีวิตได้ปกติเหมือนคนทั่วไป แต่งงาน มีคู่ครอง มีลูกได้ คนที่ยังไม่แต่งงาน ควรป้องกันตัวเองไม่ให้ติดเชื้อด้วยการสวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ และอย่าตีตราคนติดเชื้อ เพราะบางคนติดโดยไม่รู้ตัวจริงๆ" ศ.นพ.กุลกัญญา ผู้เชี่ยวชาญเอชไอวีในเด็กชี้แนะ

ข่าวน่าสนใจ

สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่