สัญญาณเตือนสะเทือนวงการ ‘ข้าวไทย’ ถูกบ้านใกล้เรือนเคียง ‘เวียดนาม’ เบียดขึ้นแชมป์ "หอมมะลิแสนอร่อย" เดินคอตกหล่นชั้น 2 ปีซ้อน ฟากชาวนาไทยก้มหน้าดำนาหลังหัก ขายข้าวได้เพียงหยิบมือ ... มันเกิดอะไรขึ้น ‘ข้าวไทย’ ไม่หอมแล้วหรือ?
กลิ่นหอมสมดั่งชื่อ ความนุ่มละมุนยามเคี้ยว ความหวานที่ออกมาแตะปลายประสาทลิ้น รูปทรงเมล็ดเรียวยาวสวยงาม สีขาวครีมอ่อนๆ โดดเด่นกว่าข้าวพันธุ์ไหนในโลก นั้นคือ ‘ข้าวหอมมะลิไทย’ ซึ่งหลายปีที่ผ่านมา ผงาดขึ้นแชมป์ เฉิดฉายบนเวทีประกวดข้าวโลกมาโดยตลอด
แต่แล้วก็ถึงคราวถูก "โค่นแชมป์" ร่วงหล่นจากเบอร์ 1 ในทันใดถึง 2 ปีซ้อน!!
ซึ่งม้ามืดมาแรงที่แซงเบียด ‘ข้าวไทย’ ตกขอบก็ไม่ใช่ใครไหนไกล เพื่อนบ้านเรานี้เอง เรียงกันมาเลยตั้งแต่ปี 2561 ‘กัมพูชา’ และปี 2562 ‘เวียดนาม’ ที่เวลานี้เป็นคู่แข่งไทยในทุกๆ ด้าน
อย่างที่ถามตอนต้นนั้นว่า "มันเกิดอะไรขึ้น ‘ข้าวไทย’ ไม่หอมแล้วหรือ?" ทำไมถึงหล่นตุ๊บจากแชมป์ 2 ปีซ้อนขนาดนี้
...
แต่ขอย้ำอีกครั้งว่า "ไทยเคยได้แชมป์ 5 ปี จากการประกวด 11 ปี"
นายเกรียงศักดิ์ ตาปนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ให้สัมภาษณ์กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ถึงสถานการณ์การแข่งขันข้าวในตลาดการค้าโลก ณ ขณะนี้ ซึ่งยอมรับว่า "รุนแรงและดุเดือดมาก" โดยเฉพาะคู่แข่งอย่าง ‘เวียดนาม’ และ ‘กัมพูชา’ ที่พยายามพัฒนาและผลิตข้าวให้มีความนุ่ม เพื่อเทียบเคียงกับ ‘ข้าวหอมมะลิไทย’
หากย้อนดูอันดับแชมป์ World’s Best Rice Contest ในช่วง 11 ปีที่ผ่านมา ของ The Rice Trader จะเห็นได้ว่า คู่แข่งที่ขับเคี่ยวกับไทยมาตลอด คือ ‘กัมพูชา’ สลับกันได้แชมป์กันคนละ 2 ปี บดเบียดกันไปมา มีบ้างที่ถูกสหรัฐอเมริกาและเมียนมาคั่นกลางขยับขึ้นแชมป์แทน อย่างในปี 2557 ไทยกับ ‘กัมพูชา’ ก็ครองแชมป์ข้าวหอมมะลิร่วมกัน ส่วน ‘เวียดนาม’ นั้นเพิ่งจะได้แชมป์กับเขาก็ปีนี้เอง แต่ถือว่าเป็นคู่แข่งที่น่ากลัวทีเดียว
"เวียดนามมีการพัฒนา ความรู้สึกของแชมป์กับความรู้สึกของการไต่ระดับแชมป์ มันมีความความรู้สึกมุ่งมั่นที่ต่างกัน"
หลังฟังถ้อยความของนายเกรียงศักดิ์จบ ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ก็ต้องพยักหน้าเห็นด้วยในทันใด แล้วหากไทยอยากกลับไปสู่จุดสูงสุดของการเป็นแชมป์ข้าวหอมมะลิอีกครั้งเล่า?
"ถ้าต้องการรักษาแชมป์ ต้องเปลี่ยนรูปแบบในการส่งประกวด และภาครัฐต้องให้ความสำคัญมากกว่านี้"
นายเกรียงศักดิ์ กล่าวกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ พร้อมอธิบายเพิ่มเติมให้เข้าใจว่า ต้องจับมือร่วมกันจากหลายๆ ฝ่าย ทำเป็นทีม ทั้งภาครัฐ ผู้ประกอบการโรงสี อุตสาหกรรมส่งออก ในการพัฒนาคุณภาพข้าวให้ดียิ่งขึ้น มีการวางแผนในการสรรหาชนิดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพและเหมาะสมสำหรับการส่งเข้าเวทีประกวด พยายามคัดสรรพันธุ์ภายในประเทศแล้วส่งประกวดจะได้ผลมากยิ่งขึ้น หากคิดว่า การประกวดข้าวหอมมะลิมีความหมายต่อสินค้า มีความสำคัญต่อชื่อชั้นบนตลาดการค้าโลก สมมติได้รับแชมป์ก็ต้องมีการโปรโมทจริงจัง ต้องให้ความสำคัญมากกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ณ ขณะนี้ อยู่ที่ว่า "เราให้ความสำคัญมากแค่ไหน"
...
• ปริศนา "ตลาดข้าวไทยหายไปไหน?"
นายเกรียงศักดิ์ ตั้งข้อสังเกตกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า จากความต้องการในตลาดการค้าข้าวโลกที่อยู่ที่ 40 ล้านตันนั้น ไทยมีการส่งออกข้าวสารเฉลี่ย 9.5-10 ล้านตัน แต่ปีนี้ไม่น่าเกิน 8 ล้านตัน หมายความว่า สัดส่วนในการส่งออกข้าวหายไปล้านถึง 2 ล้านตัน ทั้งๆ ที่ปริมาณการค้าข้าวโลกยังคงที่ แต่สัดส่วนการส่งออกไทยกลับลดลง
"ตลาดตรงนี้ของเราหายไปไหน ต้องวิเคราะห์ได้ว่า ส่วนแบ่งตลาดการส่งออกที่หายไปเกิดจากอะไร และอะไรเป็นปัจจัย"
จากปริศนา "ตลาดข้าวไทยหาย?" ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ จึงได้ตรวจสอบข้อมูลของสมาคมการค้าข้าว พบว่า ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (2559-2561) คู่แข่งสำคัญของไทยอย่าง ‘เวียดนาม’ และ ‘กัมพูชา’ กลับมีปริมาณการส่งออกข้าวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แตกต่างกับไทยที่หลังเพิ่มขึ้นในปี 2559-2560 ก็กลับมาลดลงช่วงปี 2560-2561 และคาดว่า ในปี 2562 ก็จะลดลงอีกเช่นกัน จาก 11 ล้านตัน ในปี 2561 อาจเหลือเพียง 10 ล้านตัน ในปี 2562 ซึ่งจากข้อมูลล่าสุด ณ เดือนสิงหาคม ปริมาณการส่งออกข้าวไทยอยู่ที่ 5.4 ล้านตัน มูลค่า 8.7 หมื่นล้านบาท (8 เดือน เพิ่งถึงครึ่งทางของเป้าหมาย) ด้าน ‘เวียดนาม’ ปี 2561 มีปริมาณส่งออก 6.7 ล้านตัน ส่วนปี 2562 (ส.ค.) ส่งออกไปแล้ว 4.5 ล้านตัน มูลค่า 6 หมื่นล้านบาท
...
• ข้าวไทยขายแพง คุณภาพไม่ต่าง ชาวนาหลังหัก กัดฟันสู้
"คุณภาพต่างกันไม่เยอะ แต่ราคาต่างกันเยอะ"
นายเกรียงศักดิ์ หยิบยกตัวอย่างเปรียบเทียบราคา ‘ข้าวหอมมะลิ’ ให้กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ฟังว่า ราคา ‘ข้าวหอมมะลิ’ ในปัจจุบันมีการปรับตัวสูงขึ้นจากปัญหาภัยแล้งและเงินบาทแข็ง ดังนั้น ข้าวหอมมะลิที่เสนอขายในต่างประเทศจึงอยู่ที่ตันละ 1,100-1,200 เหรียญฯ (ราว 3.3-3.6 หมื่นบาท/ตัน) แต่ประเทศคู่แข่งเสนอขายต่ำกว่า ต่างกันเยอะ อยู่ที่ประมาณ 800-900 เหรียญฯ (ราว 2.4-2.7 หมื่นบาท/ตัน) เห็นได้ว่า ความต่างในด้านราคามีค่อนข้างเยอะ แต่หากมองในด้านคุณภาพกลับไม่ต่างกัน
อีกหนึ่งที่น่าเป็นห่วง คือ ‘ข้าวขาว’ ซึ่ง นายเกรียงศักดิ์ บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า "อาการสาหัส"
"เราแพ้เขาตันละ 50 เหรียญ (1,500 บาท/ตัน) ทำให้การขายเรายากขึ้น เพราะต่างประเทศขายถูกกว่า"
ส่วนปริมาณการส่งออก ‘ข้าวเหนียว’ นั้นอยู่ที่ประมาณ 300,000 ตัน ที่เหลือเป็นการบริโภคในประเทศ ซึ่งนายเกรียงศักดิ์มองว่า ไม่ค่อยได้รับผลกระทบเท่าไรนัก เพียงแต่บางช่วงที่สต๊อกลดลง เลยทำให้ราคาสวิงรุนแรง
...
ขณะที่ ผลกระทบของผู้ประกอบการ ‘โรงสี’ นั้น นายเกรียงศักดิ์ ในฐานะนายกสมาคมโรงสีข้าวไทย ก็ยอมรับว่า ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะตลาดส่วนใหญ่มีแต่ผู้ซื้อ โรงสีรับมาเป็นข้าวเปลือกแล้วจำหน่ายเป็นข้าวสารออกสู่ท้องตลาด ปัญหาที่เกิดจาก ‘ตลาดข้าวสาร’ ทั้งผู้ซื้อภายในประเทศหรือผู้ซื้อต่างประเทศ อำนาจในการต่อรองมันกระทบต่อโรงสี ไม่ว่าจะเป็นด้านปริมาณหรือมูลค่า
สำหรับกลุ่มข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียว ช่วงนี้เป็นปลายฤดู อีกไม่กี่วันจะเริ่มลาทุ่ง ซึ่งราคาหน้าโรงสีที่รับซื้อ หากเป็นเกี่ยวสดอยู่ที่ 12,000 บาทขึ้นไป ถ้าเป็นข้าวแห้งไม่เกิน 14,000-15,000 บาท โดยเฉลี่ย แต่ข้าวเหนียวจะราคาดี เกี่ยวสดราคาอยู่ที่ 13,000-13,500 บาท
ฟากฝั่ง ‘ชาวนาไทย’ ที่ก้มหน้าดำนาหลังสู้ฟ้า ส่งเสียงสะท้อนมาจากท้องทุ่ง ตอนนี้ "ขาดทุนยับเยิน"
นางมะที เอี่ยมรัมย์ ชาวนาในเขตอำเภอลำปลายมาศ จังหวัดบุรีรัมย์ บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า ราคาข้าวปีนี้ตกและยังไม่มีท่าทีจะดีขึ้น หากเทียบกับปีที่แล้วตกลงมา 2-3 บาท อย่างข้าวสดจากรับซื้อ 12-13 บาท ปีนี้เหลือแค่ 10 บาท ส่วนข้าวแห้งจาก 15-16 บาท ก็เหลือ 13 บาท และแม้ว่า ราคาข้าวจะตกสักแค่ไหนก็จำเป็นต้องขาย เพราะต้องเอาเงินมาใช้จ่ายยังชีพ จ่ายค่าไถ ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าปุ๋ย ค่ารถเกี่ยว เมื่อเทียบออกมาแล้ว "ไม่มีกำไรเลย"
หากเพียงแค่ราคาข้าวตกก็เจ็บหนักมากพออยู่แล้ว ‘ชาวนา’ กลับต้องทุกข์ทนเจอมรสุม "ศัตรูพืชลงข้าว" ทำข้าวตาย เป็นดอกหญ้าคา เจ็บซ้ำอีกแผล
"ข้าวราคาก็ตก พอมาปลายเดือนตุลาคม ดันเจาสภาพข้าวเป็นโรค ชาวนาก็รวมกลุ่มกันถ่ายรูปแล้วรวบรวมส่งผู้ใหญ่บ้าน ยื่นไปทางเกษตร เพื่อส่งเข้าจังหวัด แต่ก็เงียบจนเก็บเกี่ยวเสร็จ ส่งไปทางรัฐบาล แต่ก็ยังไม่มีการตอบรับ"
นางมะที ยอมรับว่า ปีนี้ "หนัก" แต่ก็ต้องสู้ ไม่มีอาชีพอื่น มีอาชีพเดียว คือ ‘ชาวนา’
• มาตรการรัฐ ไม่มีอะไรที่ 100%
ในส่วนของมาตรการภาครัฐ ณ ขณะนี้ ทั้งการช่วยค่าเก็บเกี่ยว ช่วยเหลือเงินกู้ หรือแม้มาตรการ ‘ประกันรายได้’ ที่ออกมาหวังบรรเทาความเจ็บปวด ‘ชาวนา’ แต่นายเกรียงศักดิ์มองว่าเป็นมาตรการที่มุ่งแค่จุดเดียวเท่านั้น
"มาตรการรัฐไม่มีอะไรที่เป็น 100% เราใช้มาหลายยุคหลายสมัยจนกระทั่งถึงปัจจุบัน ถามว่า ช่วยได้ 100% ไหม มันก็ช่วยได้ เพียงแต่เน้นไปที่ ‘รายได้เกษตรกร’ แต่ข้าวต้องดูทั้งโครงสร้าง ดูด้านใดด้านหนึ่งไม่ได้"
นายเกรียงศักดิ์ อธิบายเพิ่มเติมทิ้งท้ายว่า รัฐบาลส่วนใหญ่เน้นที่รายได้เกษตรกรเป็นหลัก ให้เกษตรกรมีกำไร แต่การทำให้ราคาสินค้าเพิ่มเป็นเรื่องของ ‘กลไกตลาด’ ถ้าตลาดต้องการมาก ก็จะขายได้กำไรมาก แต่ถ้าตลาดซบเซา กำไรก็จะไม่ได้
จากทั้งหมดทั้งมวลนั้น ‘ข้าวหอมมะลิไทย’ ไม่ได้แพ้หรือน้อยหน้าชาติอื่น ติดอยู่เพียงที่แชมป์เก่าอย่างเราไม่ยอมขยับ ขณะคู่แข่งเร่งพัฒนาจนเท่าเทียม ถึงเวลาตื่น ทำให้ทั่วโลกได้เห็นอีกครั้งว่า "ข้าวหอมมะลิไทยไม่แพ้ข้าวชาติใดในโลก".
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
ข่าวอื่นๆ :
- "ซีรีส์" สิ่งปรุงแต่งซุกสังคมบิดเบี้ยว "หญิงเกาหลี" ไร้เสียง ชายเป็นใหญ่กดทับ
- "ทุนจีน" รุกมหา’ลัยไทย เปิดทางหนีสอบกดดัน เคลื่อนทัพเรียนนอก 6 แสนคนต่อปี
- เส้นทาง "รถไฟฟ้า" ปี 2020 ปลุกทำเลทอง ท่องเที่ยวเมืองเก่า สู่แหล่งช็อปปิ้ง
- "สงครามสตรีมมิ่ง" เริ่มขึ้นแล้ว ยักษ์ใหญ่โดดแจม ตัดราคา ชิงคอนเทนต์
- "แม่มณี" ดอกเบี้ย 93% ผลตอบแทนเหนือ "แบงก์ & Apple" ล่อ "แมงเม่า" ติดกับ