สิ่งที่กำลังจะเอ่ยถึงนี้ ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นเรื่องที่เรารับรู้และได้ยินได้ฟังกันมาตลอดหลายยุคหลายสมัย ที่ ณ เวลานี้ ได้กลับมาเป็นประเด็นการขับเคลื่อนทางสังคมอีกครั้ง กับคำว่า "สังคมปิตาธิปไตย" หรือ "สังคมชายเป็นใหญ่"

คำคำนี้กลับมาหลังเกิดเหตุการณ์ความสูญเสียศิลปินไอดอลหญิง วัย 28 ปี ‘คู ฮารา’ สมาชิกเกิร์ลกรุ๊ป ‘KARA’ ที่เลือกจบชีวิตตัวเองหลังต้องเผชิญกับสภาวะความบอบช้ำทางจิตใจมาอย่างยาวนาน นับตั้งแต่การถูกอดีตแฟนหนุ่มทำร้ายร่างกาย จนกระทั่งการแบล็กเมล์ด้วย Sex Tape ที่เป็นการแอบถ่ายโดยเธอไม่รู้ตัว และการข่มขู่ทำลายอาชีพในวงการบันเทิงของเธอ แม้สุดท้าย อดีตแฟนหนุ่มจะถูกตัดสินโทษในข้อหาทำร้ายร่างกายและข่มขู่คุกคาม แต่เป็นการรอลงอาญา และมีการยื่นอุทธรณ์เพื่อขอลดโทษ

จากเหตุการณ์ที่ว่านี้ จึงเกิดการตั้งคำถามของสังคมเกาหลี ที่มองว่า "สุดท้ายแล้วผู้หญิงก็ยังไม่ได้รับความเป็นธรรมอย่างที่ควรจะเป็น" และนี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่มีจุดจบแบบนี้ ...

ย้อนกลับไปไม่นาน ช่วงต้นเดือนตุลาคม 2562 สื่อเกาหลีใต้ได้รายงานการเสียชีวิตของหญิงรายหนึ่งที่เลือกปลิดชีพตนเอง หลังมีคลิปที่เธอถูกแอบถ่ายภายในห้องเปลี่ยนชุดของโรงพยาบาลหลุดออกมา เหตุการณ์เหล่านี้สะท้อนถึงตัวเลขการถูกคุกคามทางเพศของ "ผู้หญิงเกาหลี" ผ่านการตั้งกล้องแอบถ่าย ที่เพิ่มขึ้นจาก 2,400 เคส ในปี 2555 เป็น 6,400 เคส ในปี 2560 เพียง 5 ปี เพิ่มขึ้นเกือบ 3 เท่า

...

สังคมปิดตา สังคมปิตาธิปไตย

แปลเป็นภาษาชาวบ้าน หมายความว่า "ผู้ชายเป็นใหญ่"

ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร อานันทศิริเกียรติ นักวิจัยสถาบันคลังปัญญาด้านยุทธศาสตร์ชาติ อธิบายความหมายของสิ่งที่เรียกว่า ปิตาธิปไตย ให้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ฟังแบบเข้าใจง่ายๆ ว่า "ชายเป็นใหญ่" เป็นใหญ่ในแง่ของการใช้อำนาจ ถ้าโยงเข้ากับสังคมเกาหลีจะเห็นว่า ในอดีต มีกรณีของนักแสดงที่ชื่อว่า ‘อี บยองฮอน’ ซึ่งมีภรรยาอยู่แล้ว แต่มีเรื่องอื้อฉาวกับนักแสดงหญิง 2 คน ปรากฏว่า ผู้พิพากษาตัดสินให้ผู้หญิงมีความผิด คนในสังคมจึงคิดว่า "นี่เป็นอคติทางเพศหรือเปล่า" หากว่าเหตุการณ์อย่างนี้เกิดขึ้นอีก ผู้หญิงต้องเป็นฝ่ายผิด ทั้งๆ ที่ความผิดต้องเป็นผู้ชายหรือเปล่าที่เข้าไปยุ่งกับผู้หญิงก่อน จึงเกิดคำถามที่หลายคนสงสัย แต่กลับไม่มีอะไรเกิดขึ้นหรือเปลี่ยนแปลง

"ก่อนนั้น สังคมเกาหลีเป็นสังคมที่มีความเชื่อลัทธิขงจื๊อ โดยมีความคิดที่ว่า ‘ผู้ชายเป็นใหญ่กว่าผู้หญิง’ ผู้ชายจึงมีบทบาทมากในสังคม"

หลายคนที่ได้ดู "ซีรีส์เกาหลี" แนวพีเรียดโบราณ คงจะพอนึกภาพออก ซึ่ง ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร เปรียบเทียบให้เห็นชัดว่า เราจะเห็นบทบาทตัวละครที่เป็นพระราชา ตัวละครสังคมของชาวบ้าน เราจะเห็นว่า ผู้ชายนั้นมีบทบาทในทุกๆ เรื่อง ต่างกับผู้หญิงที่มีบทบาทน้อยลงมาและอยู่ในบ้านเป็นส่วนใหญ่

ตัดภาพมาที่ในปัจจุบัน การเรียกร้องความเสมอภาคทางเพศของ "ผู้หญิงเกาหลี" นั้นมีบทบาทมากขึ้น และนำไปสู่การชุมนุมที่เรียกว่า ‘ME TOO’ (มีทู)

สังคมเกาหลี สังคมผู้ชาย สังคม ‘ผู้หญิงไร้เสียง’

ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร อธิบายถึงการชุมนุม ‘ME TOO’ ของสังคมเกาหลีใต้ ที่มีความแตกต่างกับประเทศอื่น ให้ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ได้ฟังว่า ME TOO เกิดมาพร้อมกับเรื่องการคุกคามทางเพศ ในอดีต มีการนำกล้องไปติดในห้องน้ำผู้หญิง ซึ่งผู้หญิงรู้สึกเหมือนกำลังโดนคุกคาม แต่คนในสังคมเกาหลีใต้กลับเพิกเฉยกับปัญหานี้ สังคมจึงออกมาเรียกร้องต่อสู้ให้ผู้หญิงมีเสียงในสังคมมากขึ้น

...

"มหาวิทยาลัยที่ผมจบมา คือ มหาวิทยาลัยแห่งชาติโซล ซึ่งเดือนมีนาคมที่ผ่านมา มีกรณีอาจารย์ผู้ชายลวนลามทางเพศนักศึกษาหญิง ทำให้เกิดการเดินขบวนและชุมนุมทุกวันอังคารหน้าสำนักงานอธิการบดี เพื่อต้องการให้ผู้บริหารทราบว่า แม้แต่ในมหาวิทยาลัยยังมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเลย และเพราะเหตุนี้ นักศึกษาจึงลุกขึ้นมาต่อสู้"

จากเหตุการณ์ที่ ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร บอกเล่าข้างต้น ได้เป็นตัวกระตุ้นและเปิดโอกาสให้คนในสังคมเกาหลีที่รู้สึกอึดอัด โดยเฉพาะ "ผู้หญิง" กล้าที่จะลุกออกมาส่งเสียงและแสดงพลังเรียกร้อง นับเป็นการชุมนุมที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เกาหลีใต้เลยก็ว่าได้

ซึ่งสิ่งที่ "ผู้หญิงเกาหลี" ออกมาเรียกร้องนั้น ว่าที่ร้อยตรี เสกสรร บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า สิ่งที่ "ผู้หญิงเกาหลี" ต้องการ คือ พื้นที่ให้ตัวเองมีบทบาทในสังคม เพราะสังคมเกาหลีมีอะไรก็จะเป็นสังคมผู้ชาย เวลาทำงานหรือในที่ทำงานผู้ชายก็จะเป็นใหญ่ แต่ปัจจุบัน ผู้หญิงเกาหลีใต้เริ่มที่จะมีบทบาทในสังคมมากขึ้น และประธานาธิบดี ‘มุน แจอิน’ ยังกล่าวด้วยว่า "อยากจะสร้างสังคมเกาหลีที่มีความเป็นธรรมมากขึ้น"

...

โดยจากรายงานของ World Economic Forum’s Gender Gap ปี 2561 ชี้ให้เห็นว่า โอกาสการมีส่วนร่วมของผู้หญิงเกาหลีใต้ในเชิงระบบเศรษฐกิจยังน้อยนัก อยู่อันดับที่ 124 จาก 149 ประเทศ สอดคล้องกับรายงานขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD) ที่บอกว่า เกาหลีใต้มีช่องว่างทางรายได้ระหว่างเพศสูงถึง 35% ขณะที่ ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 13.8% เท่านั้น

ในแง่ของบทบาททางการเมือง "ผู้หญิงเกาหลี" เองก็มีสัดส่วนที่น้อยมากเช่นกัน โดยมีผู้หญิงเป็นสมาชิกรัฐสภาเพียง 17% เท่านั้น ขณะที่ ภาคเอกชนเองก็มีผู้หญิงนั่งตำแหน่งผู้บริหารเพียงแค่ 2% ด้วยสัดส่วนผู้หญิงที่มีจำนวนนี้ ทำให้เกิดการตั้งคำถามถึง "สังคมชายเป็นใหญ่" ทางประธานาธิบดี ‘มุน แจอิน’ จึงเกิดความมุ่งหวังที่จะแก้ปัญหาช่องว่างระหว่างเพศ ที่ตั้งเป้าว่าภายในปี 2565 จะต้องมี "ผู้หญิง" นั่งตำแหน่งอาวุโสทางการเมือง คิดเป็นสัดส่วน 10% และตำแหน่งผู้บริหารในบริษัทเอกชนที่สัดส่วน 20%

ซีรีส์เกาหลี ภาพจำใหม่ของสังคมปิตาธิปไตย

...

จากแง่มุม "สังคมปิตาธิปไตย" ของเกาหลีใต้ คงมีหลายจุดที่เราอาจไม่คุ้นเคย เพราะตลอดหลายปีที่ผ่านมา ในบ้านเรามักจะรับรู้วัฒนธรรมและความเป็นไปของสังคมเกาหลีใต้ผ่านทาง "ซีรีส์" เป็นส่วนใหญ่ จึงมักเห็นภาพ "ผู้ชายเกาหลี" ในอีกรูปแบบหนึ่ง

"พระเอกจะอบอุ่น ผู้ชายจะโรแมนติก เป็นภาพของซีรีส์ยุคเก่า"

คุณ ‘bluesherbet’ บุคคลที่คลุกคลีกับแวดวงบันเทิงเกาหลีใต้มายาวนานและเป็นที่รู้จักกันดีในโลกโซเชียล (เพจ : คุยบันเทิงเกาหลีกับ bluesherbet และทวิตเตอร์ @bluesherbet_) เท้าความย้อนถึง ‘ซีรีส์’ ในยุค 30 ปีที่แล้ว ก่อนจะวิวัฒนาการปรับเปลี่ยนตามแต่สมัย กับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า กลุ่มคนดูหลักๆ ของซีรีส์เกาหลีเป็นผู้หญิง เช่น แม่บ้าน ในยุคนั้นซีรีส์จะเป็นแนวสะท้อนสังคม พอมาอีกยุคหนึ่ง ‘แดจังกึม’ เรียกได้ว่าเป็นยุคแรกๆ เลยที่ผู้หญิงมีงานทำ ซึ่งถ้าตามประวัติของ ‘แดจังกึม’ จริงๆ ไม่ได้เป็นแม่ครัว แต่เป็นหมอยา ซึ่งในยุคนั้น การเกิดขึ้นของหมอหญิงในราชสำนักไม่ได้มาจากความเก่งกาจ แต่เกิดขึ้นเพราะต้องมาตรวจโรคนางสนม ซึ่งนางสนมของพระราชา ผู้ชายอื่นแตะต้องไม่ได้ ดังนั้น ในมุมมองคนที่ทำ ‘แดจังกึม’ เลยมีการคิดว่า ถ้าจะเอาซีรีส์นี้ส่งออกไปทั่วโลก การทำเรื่องหมอในวังมันเข้าใจยาก จึงทำเรื่องอาหารเกาหลี เป็นการเปิดศักราชใหม่ว่า ผู้หญิงมีงาน แล้วก็ค่อยๆ เพิ่มบทบาทของผู้หญิงเข้ามาเรื่อยๆ

"ถ้ามองยุคเก่าที่พระเอกโรแมนติกและเป็นการชี้นำสังคม ก็ตัวอย่างเช่น ‘เบ ยองจุน’ ที่แสดงเรื่อง Winter Love Song เป็นยุคแรกๆ เลยของพระเอกโรแมนติก ซึ่งเป็นซีรีส์ที่ทำให้ผู้หญิงดู สมัยก่อนผู้ชายเกาหลีทำงานหนัก ไม่มีเวลามาจู๋จี๋ อ้อนภรรยา พอแม่บ้านดูซีรีส์ก็ทำให้มีความสุข พอมันดังมากๆ ยุคแรกๆ ผู้ชายจะรู้สึกเพ้อเจ้อ แต่ก็มีวิจัยออกมาว่า ผู้ชายเกาหลีอ่อนโยนและโรแมนติกมากขึ้น ช่วงอายุ 20-30 ปีที่เติบโตกับซีรีส์ มีแนวโน้มว่าจะโรแมนติกมากขึ้น"

นั่นคือ ซีรีส์ที่สร้างภาพจำในยุคเก่า แต่ปัจจุบันนั้นมีการเปลี่ยนแปลง ซึ่งคุณ ‘bluesherbet’ ชี้ให้เห็นว่า ซีรีส์เกาหลีไม่ได้เน้นไปที่ความโรแมนติกของพระเอกเหมือนในยุคก่อนๆ แล้ว แต่มีการเพิ่มบทบาทของผู้หญิงในซีรีส์ให้มากขึ้น เช่น นางเอกเป็นหมอ เป็นตำรวจ เป็นอัยการ หรือบทบาทที่สามารถออกความคิดเห็นได้

"ซีรีส์สมัยนี้ไม่ได้โฟกัสว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง ในยุคก่อนมีบทบาทผู้หญิงผู้ชายค่อนข้างชัดเจน แต่ปัจจุบัน ไม่ได้มีแบบนั้นแล้ว ผู้หญิงและผู้ชายล้วนทำอาชีพได้เหมือนกันทั้งนั้น แต่มันก็ยังมีบางอย่างที่ออกมาจากปากตัวละครสูงวัยที่ยังมีแนวคิดเก่าๆ อยู่ แต่คนเขียนบทก็ค่อนข้างเข้าใจสังคม เช่น เรื่องที่เพิ่งจบใป When the Camellia Blooms นางเอกอายุเกือบ 40 แล้ว เป็นแม่ม่ายลูกติด พบรักกับพระเอกอายุน้อยกว่าหลายปี ถ้าเป็นสมัยก่อนแม่ม่ายเกาหลีจะโดนกีดกันจากสังคม อย่างยุคโซชอนแม่ม่ายก็ต้องตายตามสามี หรือกฎหมายที่อนุญาตให้หญิงม่ายแต่งงานใหม่ได้ก็เพิ่งมีไม่นาน โดนประนามโดนเหยียดว่า ‘เธอแต่งงานกับผู้ชายคนนี้แล้ว เธอต้องห้ามไปเป็นภรรยาของคนอื่น’ ซึ่งปัจจุบัน ดีขึ้นแล้ว แต่ก่อนมีกฎหมายก็ยังโดนอยู่ แต่ด้วยเรตติ้งซีรีส์ที่สูงมาก ฉะนั้นแสดงว่า สังคมเปิดใจกว้างกับเรื่องนี้มากขึ้น การที่ละครแมสก็เป็นไปได้ที่จะทำให้คนสนใจมากขึ้น"

คุณ ‘bluesherbet’ ยอมรับว่า สำหรับสังคมเกาหลีแล้ว ‘เฟมินิสต์’ ยังเป็นเรื่องใหม่ เพราะสังคมชายเป็นใหญ่นั้นใหญ่มาก ดังเช่นกรณีของการเกณฑ์ทหาร ที่กลุ่มแฟนคลับผู้หญิงของศิลปินไอดอลมีการแชร์เรื่องตารางฝึก ซึ่งในสังคมเกาหลีมองว่า ไม่ใช่เรื่องของผู้หญิง หรือเช่นว่า ผู้ชายที่ผ่านการเกณฑ์ทหารออกมา จะรู้สึกว่าตัวเองเจ๋งกว่าผู้หญิง เจ๋งกว่าผู้ชายที่ไม่ได้เกณฑ์

จากปัญหา "สังคมชายเป็นใหญ่" หรือ ‘ปิตาธิปไตย’ นำมาสู่การใช้ซีรีส์เปลี่ยนแปลงภาพจำ สร้างภาพลักษณ์ใหม่ "ผู้ชายเกาหลี" จนถึงการเพิ่มบทบาทของ "ผู้หญิงเกาหลี" ... ความพยายามขับเคลื่อนนั้นคงทำไม่ได้ง่ายนัก เพราะสิ่งนี้มันฝังรากลึกในสังคมเกาหลีมายาวนานเกินกว่าจะถอนให้หมดจดได้ในเร็ววัน

ดั่งหนังสือ ‘คิม จียอง เกิดปี 1982’ ที่ถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ บอกเล่าเรื่องราวของหญิงวัยกลางคนที่แต่งงานออกมาเป็นแม่บ้านแบบฟูลไทม์ ใช้ชีวิตปกติ จนในวันหนึ่ง มีบางส่วนที่เป็นจิตใต้สำนึกบอกกับตัวเองว่า ถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมในสังคมที่ "ชายเป็นใหญ่" มาโดยตลอด

เหมือนอย่างประโยคหนึ่งที่คุณ ‘bluesherbet’ พูดกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ และทำให้คิดตามต่อได้ ว่า "บางอย่างมัน TOXIC มานานแล้ว และผู้หญิงก็ไม่ได้รู้ว่า สิ่งนั้นมัน ‘TOXIC’ ...".

ข่าวอื่นๆ :