‘ทุนจีน’ ตบเท้าบุกไทยต่อเนื่อง จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ แห่ซื้อคอนโดฯ รุกคืบยันวงการ "การศึกษาไทย" เนียนเข้า "ถือหุ้น" มหาวิทยาลัยเอกชน จนกลายเป็นเรื่องร้อนถึงเก้าอี้ รมว.การอุดมศึกษาฯ ต้องรีบออกมาตรวจสอบ

"ไม่ผิดกฎหมาย" คำกล่าวจาก ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่บอกกับนักข่าว หลังตรวจสอบแล้วพบว่า มี ‘ทุนจีน’ เข้ามา "ถือหุ้น" มหาวิทยาลัยเอกชนในไทยจริง ประมาณ 2-3 แห่ง

และที่ รมว.การอุดมศึกษาฯ บอกว่า "ไม่ผิดกฎหมาย" ก็เพราะว่า นิติบุคคลที่ขอรับใบอนุญาตจัดตั้งสถาบันการศึกษาเป็น "บริษัทของไทย" กรรมสิทธิ์ถือครองที่ดินก็ยังคงเป็นของ "มหาวิทยาลัย" ทุนจีนแค่เข้ามา "ถือหุ้น" เท่านั้น

ซึ่งหากมองเข้าไปในรั้วมหาวิทยาลัยหลายๆ แห่งในไทยแล้ว คงไม่แปลกใจนัก หาก ‘ทุนจีน’ จะเข้ามารุกคืบ "ถือหุ้น" สถาบันการศึกษาไทย ยิ่งช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่า ตัวเลขนักศึกษาต่างชาติที่เข้ามาเรียนในไทย อันดับ 1 คือ ‘นักศึกษาจีน’ แต่ละปีสูงถึงหลักหมื่นคน

...

ดังนั้น มันคงจะดีไม่น้อยในมุมมองของ ‘ทุนจีน’ หากว่าการเข้ามา "ถือหุ้น" มหาวิทยาลัยในไทย จะช่วยเปิดทางให้ ‘นักศึกษาจีน’ เคลื่อนทัพมาเรียนที่เมืองไทยเพิ่มมากขึ้น โดยที่ตัวเองเป็นฝ่ายร่วมลงทุนด้วย เรียกว่ามีแต่ได้กับได้

แล้วในมุมมองของ "แวดวงการศึกษาไทย" คิดเห็นอย่างไรกับการรุกเข้ามาของ ‘ทุนจีน’

• ‘ทุนจีน’ รุกคืบสถาบันการศึกษาไทย มา "ดี" หรือ "ร้าย"

หนึ่งในบุคลากรแวดวงการศึกษาไทยที่คลุกคลีกับ ‘นักศึกษาจีน’ มานานกว่า 20 ปี อย่าง ผศ.ดร.สหัทยา สิทธิวิเศษ คณบดีคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย มองการรุกคืบของ ‘ทุนจีน’ ว่า มีทั้ง "ข้อดี" และ "ข้อเสีย" แต่สำหรับเมืองไทยอาจจะมองว่ามีผลเสียมากกว่า

ซึ่ง ผศ.ดร.สหัทยา เปิดมุมมองในแง่ดีกับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า การเข้ามารุกคืบวงการการศึกษาไทยของ ‘ทุนจีน’ จะส่งผลให้การยกระดับการศึกษาไทยดียิ่งขึ้น เพราะนักศึกษาจีนจะช่วยเสริมจำนวนนักศึกษาให้กับมหาวิทยาลัยที่กำลังจะต้องปิดตัวลง สืบเนื่องจาก "นักศึกษาไทยขาดแคลน"

ในปัจจุบัน มีนักศึกษาจีนเข้ามาเพิ่ม บางมหาวิทยาลัยอาจปรับตัวให้เข้ากับนักศึกษาจีนไม่ได้ เพราะแต่ละชาติมีความแตกต่างทางด้านวัฒนธรรม ซึ่งนักศึกษาจีนก็เช่นเดียวกัน ทำให้บางมหาวิทยาลัยปรับตัว หรือบริหารจัดการให้เข้ากับนักศึกษาจีนไม่ได้ ซึ่งการที่ ‘ทุนจีน’ เข้ามารุกวงการการศึกษาไทยจะช่วยแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ เพราะคนชาติเดียวกันจะทราบเกี่ยวกับความต้องการของนักศึกษาตัวเองและแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้ดีกว่า

"ถ้ามหาวิทยาลัย หรือหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้ามาดูแลควบคุมเกี่ยวกับปัญหาตรงนี้ จะทำให้การบริหารจัดการดีขึ้น"

...

จากมุมมองของ ผศ.ดร.สหัทยา มีส่วนที่น่าสนใจในประเด็นที่ว่า "นักศึกษาไทยขาดแคลน"

ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ได้ตรวจสอบข้อมูลสถิตินักศึกษาใหม่ ระดับปริญญาตรี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ของศูนย์ข้อมูลวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) พบว่า "ลดลงต่อเนื่อง" จากจำนวน 474,410 คน ในปี 2558 เป็น 404,581 คน ในปี 2561

"หลายประเทศก็เกิดปัญหานี้เหมือนกัน" ผศ.ดร.สหัทยา เกริ่นกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ก่อนจะคลายความสงสัยถึงต้นตอ "นักศึกษาไทยขาดแคลน" ให้ฟังว่า ตอนนี้ประชากรโลกลดลง อัตราการเกิดก็ลดลง ทำให้นักศึกษาหรือนักเรียนที่จะป้อนเข้าสู่โรงเรียนมีน้อย จนส่งผลกระทบต่อระดับอุดมศึกษา ซึ่งในระดับอุดมศึกษานั้น ตัวของนักศึกษาเองมีทางเลือกที่หลากหลายในการศึกษาต่อ บางส่วนก็ไม่ได้ศึกษาต่อ จึงส่งผลทำให้นักศึกษาไทยนั้นขาดแคลน

• ‘จีน’ ส่งนักศึกษาเคลื่อนทัพ เรียนต่อในต่างแดน

การที่ ‘ทุนจีน’ รุกคืบเข้ามาในแวดวงการศึกษาไทย จุดเริ่มต้นก็มาจาก ‘นักศึกษาจีน’ ที่เคลื่อนทัพออกนอกจีน เพื่อมุ่งสู่รั้วมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ถ้านับตั้งแต่ปี 2521 จนถึงสิ้นปี 2561 หรือกว่า 40 ปีที่ผ่านมา ก็มีจำนวนมากถึง 5.86 ล้านคนทีเดียว และในปี 2561 เพียงปีเดียว ก็มีจำนวนมากถึง 662,100 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 8.83% ซึ่งในจำนวนนี้มีที่เรียนจบแล้วกลับไปยังจีน 519,400 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 8% และส่วนใหญ่แล้วกว่า 90% เป็นการไปศึกษาต่อด้วยทุนของตัวเอง มีเพียง 65,800 คนเท่านั้น ที่ไปในนามนักศึกษาทุน แน่นอนว่า หมุดหมายการศึกษาที่ ‘นักศึกษาจีน’ นิยมก็คงหนีไม่พ้น ‘สหรัฐอเมริกา’ คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 3 ทีเดียว

...

อะไรเป็นสาเหตุให้ ‘นักศึกษาจีน’ เลือกเคลื่อนทัพออกไปศึกษาต่อต่างประเทศ ในเมื่อปัจจุบัน อัตราการรับนักศึกษาใหม่ของมหาวิทยาลัยในจีนมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิมหลายเท่าตัว?

"นักศึกษาจีนส่วนมากที่หันมาศึกษาในต่างประเทศ คือ กลุ่มที่เอนทรานซ์ไม่ติดในมหาวิทยาลัยในจีน"

ผศ.ดร.สหัทยา อธิบายถึงข้อจำกัดที่สร้างความกดดันของการสอบเอนทรานซ์ในจีน หรือที่เรียกว่า ‘เกาเข่า’ ซึ่งแต่ละปีมีนักเรียนจีนเข้าสอบเกือบ 10 ล้านคน ให้ทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ได้ฟัง เพื่อที่จะได้เข้าใจถึงปัญหาที่เป็นหนึ่งปัจจัยให้ ‘นักศึกษาจีน’ เลือกที่จะก้าวเท้าออกมาศึกษานอกประเทศตนเอง

"ในเมืองจีน ‘ระบบเอนทรานซ์’ (เกาเข่า) หรือ ระบบการสอบเข้ามหาวิทยาลัยค่อนข้างเข้มงวดและค่อนข้างมีจำกัดเยอะ ถึงแม้ว่ามหาวิทยาลัยในจีนจะเยอะก็ตาม แต่ประชากรจีนก็มีเยอะเช่นกัน จึงทำให้นักศึกษาที่สอบเอนทรานซ์ไม่ติดก็มีเยอะ พอสอบไม่ได้ ผู้ปกครองก็จะเริ่มมองหาแนวทางในการส่งลูกเรียนต่อในต่างประเทศ เพราะสังคมชาวจีนจะมีการห่วงเรื่องหน้าตา"

...

• ‘ไทย’ ขุมทรัพย์ความรู้ ‘นักศึกษาจีน’

ในส่วนไทยเอง ปี 2561 มี ‘นักศึกษาจีน’ มาศึกษาต่อสูงถึง 10,766 คน หากเทียบกับนักศึกษาชาติอื่นๆ ก็มากกว่าเกือบ 10 เท่า

ผศ.ดร.สหัทยา มองว่า การที่ ‘นักศึกษาจีน’ เลือกมาศึกษาต่อที่ไทย นอกเหนือจากสหรัฐอเมริกาและโซนยุโรป นั่นเพราะมองว่า "ไทยมีศักยภาพการศึกษาสูง" จึงเป็นอีกทางเลือกหนึ่ง และเหมาะสมกับกำลังทรัพย์

"มีกลุ่มที่สนใจอยากเรียนเกี่ยวกับ ‘ภาษาไทย’ เนื่องจากไทยมีชื่อเสียงในเรื่องการท่องเที่ยวอันดับต้นๆ ทำให้มีนักศึกษาจีนสนใจในเรื่องการท่องเที่ยวและภาษามากขึ้น"

และอีกหนึ่งเหตุผลที่ ผศ.ดร.สหัทยา หยิบยกมาอธิบาย คือ "ชาวจีนเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย และไทยมีความปลอดภัยสูง หากเทียบกับประเทศอื่นในอาเซียน และค่าครองชีพในไทยก็ถูกกว่า"

ขณะที่ ข้อมูลของ Ten Digital Marketing พบสถิติที่น่าสนใจหลายอย่างเกี่ยวกับการเลือกศึกษาต่อต่างประเทศของ ‘นักศึกษาจีน’ อาทิเช่น ปัจจัยในการตัดสินใจเลือกสถาบันการศึกษาในต่างประเทศ ที่เลือกจาก "ชื่อเสียง" มาเป็นอันดับแรก โดยดูจาก World University Rankings and the Academic Ranking of World Universities และส่วนใหญ่แล้วจะเลือกเรียนหลักสูตรกลุ่มธุรกิจและ STEM (วิทยาศาสตร์, เทคโนโลยี, วิศวกรรม และคณิตศาสตร์) ในปี 2561 มี ‘นักศึกษาจีน’ ที่เลือกเรียนในกลุ่ม STEM กว่า 363,341 คน หรือคิดเป็น 36% เนื่องจากหลักสูตรนี้มีโอกาสสูงที่จะได้งานทำในจีน

การศึกษาไทยถ้ายังไม่ปรับตัว ถูก ‘ดิสรัปชัน’

แม้แต่ "วงการการศึกษาไทย" ก็อาจไม่รอด หากยังไม่มีการปรับเปลี่ยน ยังเรียน ยังสอน กันแบบเดิมๆ ก็เสี่ยงที่จะถูกเทคโนโลยีกลืนกินได้

ดั่งคำเตือนของ อาจารย์พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่ย้ำผ่านทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ว่า "ถ้ายังให้นักศึกษามัวแต่ท่องจำอยู่ วงการศึกษาไทยถูกดิสรัปชันแน่นอน"

อาจารย์พรวิทย์ อธิบายให้เห็นภาพเพิ่มเติมถึงสิ่งที่เรียกว่า ‘ดิสรัปชัน’ ว่า ปัจจุบัน ‘เอไอ’ (AI) หรือ ‘ดิจิตอล’ นั้น ดิสรัปชันหมดทุกวงการ นักศึกษาสามารถศึกษาค้นคว้าหาความรู้ได้เองในโลกออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็น เฟซบุ๊ก, ไลน์ และยูทูบ เป็นต้น แต่วงการการศึกษาไทยจะทำอย่างไรไม่ให้ AI มาดิสรัปชัน คือ ต้องค่อยๆ เปลี่ยนระบบการเรียนการสอน ครูต้องเป็นคนแนะนำแนวทางต่างๆ ให้กับนักเรียน ต้องเป็นพี่เลี้ยง เป็นคนพัฒนาคนได้ดี เป็นคนที่ให้ความสะดวกในการคิดต่อยอดของนักเรียน การพูดเชิงชี้แนะให้นักเรียนได้ใช้ความคิดมากกว่าการจำ

ด้าน ผศ.ดร.สหัทยา ก็ยอมรับว่า มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงรายก็ได้รับผลกระทบจากปัญหานักศึกษาลดลงเช่นกัน แต่ไม่ได้กระทบมากนัก โดยมีการจัดยุทธศาสตร์เพื่อวางแผนรับนักศึกษาต่างชาติ ด้วยการพัฒนาหลักสูตรให้หลากหลาย และข้อสำคัญที่ ดร.สหัทยา บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ คือ การบริหารจัดการที่จะต้องไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำระหว่างนักศึกษาไทยและต่างชาติ

"เมื่อก่อนเป็นการแลกเปลี่ยนนักศึกษากันและกัน ต่อมาได้ทำหลักสูตรร่วมกัน ที่เรียกว่า "หลักสูตร 2+2" หรือหลักสูตรระยะสั้น เพื่อต่อยอดในการศึกษาสาขาอื่นๆ มีการสอนภาษาไทยเพื่อเตรียมตัวก่อนเข้าสู่การเรียนในมหาวิทยาลัย"

สอดคล้องกับ อาจารย์พรวิทย์ ที่บอกกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ถึงการปรับตัวของมหาวิทยาลัยเอกชน ว่า วิธีการปรับตัวของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ คือ ให้นักศึกษาที่เรียนได้ไปเจอประสบการณ์จริงจากการฝึกงาน ไม่ใช่เพียงแค่จำหลักสูตรจากหนังสือเพียงอย่างเดียว มหาวิทยาลัยทำให้ตัวนักศึกษามีการปรับตัวกับการทำงานอยู่ตลอดเวลา นี่จึงเป็นการผลิตนักศึกษาให้ตอบโจทย์กับตลาดการทำงานด้วย ไม่ใช่เพียงแค่ให้มหาวิทยาลัยปรับตัวเพื่อตอบโจทย์กับนักศึกษาเพียงอย่างเดียว

"เราไม่ใช่มหาวิทยาลัยที่เรียนหนังสืออย่างเดียว เราพัฒนาคนด้วย เราฉีกแนวการศึกษาเดิม ๆ ทำให้เราตอบโจทย์นักเรียนมากขึ้น"

มาถึงตรงนี้แล้ว ใครจะคาดคิดว่า "วงการการศึกษาไทย" ก็กำลังเกิดวิกฤติเหมือนกับธุรกิจอื่นๆ เช่นกัน ทั้งจำนวนนักศึกษาที่ลดลง ทั้งการรุกคืบของ ‘ทุนจีน’ ทั้งเสี่ยงจะถูกดิจิตอลกลืนกิน หากมองในมุมธุรกิจก็น่าคิดว่า "วงการการศึกษาไทยในปี 2563 จะรุ่งหรือร่วง?"

"การศึกษาก็เหมือนกับธุรกิจอย่างหนึ่ง ถ้าสินค้าไม่ดี เจ้าของธุรกิจก็จะล่ม" อาจารย์พรวิทย์ ให้มุมมองกับทีมข่าวเฉพาะกิจฯ ที่แฝงแง่คิดอันน่าสนใจ ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมส่งท้ายว่า ถ้าเปรียบนักศึกษาไทย คือ สินค้า เจ้าของธุรกิจ คือ ครู ถ้าครูไม่สามารถทำให้นักศึกษาไทยเชื่อมั่นในตัวครูได้ หรือ ทำให้นักศึกษาไทยไม่มีแรงบันดาลใจที่จะเรียน หรือ บัณฑิตที่จบไปจะเป็นตัวชี้วัดมหาวิทยาลัยเองเหมือนกัน ว่า มหาวิทยาลัยนั้นมีคุณภาพดีหรือเปล่า ถ้ามีคุณภาพก็จะเกิดการแนะนำปากต่อปาก แสดงว่า มหาวิทยาลัยนั้นรอดแน่นอน

เห็นอย่างนี้ "วงการการศึกษาไทย" คงจะต้องใช้ "วิกฤติ" เปลี่ยนให้เป็น "โอกาส" พัฒนาหลักสูตร รวมถึงระบบการเรียนการสอนให้ตอบโจทย์ ซึ่งไม่ได้มีผลดีแค่กับ ‘นักศึกษาจีน’ หรือชาติอื่นๆ ที่จะเข้ามาเท่านั้น แต่ยังเป็นผลดีต่อ ‘นักศึกษาไทย’ เองด้วย.

ข่าวอื่นๆ :

ข้อมูลอ้างอิง :

  • MINISTRY OF EDUCATION THE PEOPLE’S REPUBLIC OF CHINA
  • สำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (Office of the Higher Education Commission)