คนไร้บ้าน หรือ Homeless หนึ่งในปัญหาสังคมปัจจุบันเปรียบเสมือนฝุ่นใต้พรมของรัฐบาลที่เป็นปัญหามาอย่างช้านานในประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหนหรือยุคสมัยไหนก็ไม่สามารถแก้ไขให้หมดสิ้นเพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้ และจำนวนผู้ไร้บ้านหรือคนเร่ร่อนยังเพิ่มมากขึ้นด้วย จากสถิติข้อมูลของมูลนิธิอิสรชน ช่วยเหลือคนเร่ร่อน พบว่า ในปี 2560 มีผู้ใช้ชีวิตในที่สาธารณะจำนวน 3,630 คน เป็นชาย 2,203 คน และหญิง 1,427 คน ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าปี พ.ศ. 2559 จำนวน 175 ราย
ในความคิดใครหลายคน แวบแรกที่เห็นคนไร้บ้านใส่เสื้อผ้ามอมแมม ขาดวิ่น เนื้อตัวสกปรก อาจเข้าใจว่าเป็น "คนขอทาน" หรือ "คนเสียสติ" รู้สึกรังเกียจ กลัวอันตราย จนไม่อยากเข้าใกล้ แต่หากรับรู้เรื่องราวชีวิตของ "คนไร้บ้าน" หลังจากเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2562 ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ลงพื้นที่เขตพระนคร ซึ่งเป็น 1 ใน 7 เขตของกรุงเทพมหานคร ที่มีคนเร่ร่อนมากที่สุดในปี 2560 จำนวน 624 คน ซึ่งเพิ่มขึ้นกว่าปี 2559 จำนวน 20 ราย ไปพูดคุยกับคนไร้บ้านพร้อมกับ "อัจฉรา สรวารี" เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน หนึ่งในผู้ดูแลและคลุกคลีกับปัญหาคนเร่ร่อน คนไร้บ้าน คนยากไร้ ที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณะมากว่า 11 ปี ความคิดลบต่อคนไร้บ้านก็จะเปลี่ยนเป็น "เข้าใจ" และ "เห็นใจ"
...
• ปฐมเหตุออกมาเร่ร่อน ไม่ใช่ Homeless แต่ Houseless
"อัจฉรา" เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน เปิดเผยเรื่องราวชีวิตคนไร้บ้านจากที่รับทราบจากการลงพื้นที่ทั้ง 7 เขต คือ เขตพระนคร เขตจตุจัร เขตปทุมวัน เขตสัมพันธวงศ์ เขตบางซื่อ และเขตราชเทวี ที่มีผู้ไร้บ้านมากที่สุดในปี 2560 กับ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า คนไร้บ้านเหล่านั้นไม่ได้เป็น Homeless แต่เป็น Houseless เพราะคนไร้บ้านส่วนมากเป็นคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานหาเงินในกรุงเทพมหานคร หลายคนมีบ้าน มีครอบครัวให้กลับไปหาในต่างจังหวัด แต่เขาเลือกที่จะไม่กลับไป เพราะยังไม่พร้อม
รู้สึกไม่สบายใจ เพราะพ่อแม่บางคนคาดหวังว่า เมื่อลูกเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครแล้วต้องได้ดิบได้ดี บางคนหากกลับไปแล้วกลัวพ่อแม่เสียหน้า ก็เลือกเป็น "คนไร้บ้าน" ดีกว่ากลับไปแล้วถูกชาวบ้านดูถูกดูแคลน หรือบางคนก็ไม่มีความสุขที่ได้อยู่ร่วมกับครอบครัว รู้สึกว่าตัวเองไม่เป็นส่วนหนึ่งของครอบครัว ซึ่งแตกต่างจากคนไร้บ้านในประเทศอื่นๆ เช่น อเมริกา ที่เป็นคนไร้บ้านจริงๆ คือ ไม่มีบ้าน ไม่มีครอบครัวให้กลับไปอยู่ด้วย
"ไม่เด่นไม่ดัง ฉันจะไม่หันหลังกลับไป" อัจฉราถ่ายทอดบทเพลงนักร้องบ้านนอกของราชินีลูกทุ่ง "พุ่มพวง ดวงจันทร์" เพื่อบอกเล่าเรื่องราวถึงสาเหตุที่คนในต่างจังหวัดกลายมาเป็นคนไร้บ้านในเมืองหลวง ว่า
"เมื่อเกิดความผิดหวังกับอะไรสักเรื่อง แล้วจำเป็นต้องกลับบ้าน เรื่องราวทั้งหมดจะรู้ถึงหูคนในหมู่บ้านทุกคน นี่จึงเป็นสาเหตุหลักของคนต่างจังหวัดที่เป็นคนไร้บ้าน ไม่คิดที่จะกลับไปอาศัยอยู่ที่บ้านของตน"
เสียงจากหญิงไร้บ้านชาวอีสานที่สะท้อนความรู้สึกข้างในจิตใจพร้อมหยาดน้ำตาและเสียงสั่นเครือ ผ่านทีมข่าวฯ ในอดีตเธอนั้นต้องหอบลูก 3 คน นั่งรถมาจากภาคอีสานเข้ามาสู่เมืองกรุงเพื่อหางานทำ ขณะนั้นด้วยปัจจัยหลายๆ อย่างรุมเร้า ทำให้เธอต้องเลือกเส้นทางที่ผิด นั้นก็คือ การขายบริการ เพื่อนำเงินมาจุนเจือค่าใช้จ่ายและเลี้ยงดูลูกน้อยทั้ง 3 คน เธอสามารถเลี้ยงลูก 3 คน เติบโตมีอาชีพที่มั่นคงและสามารถเลี้ยงดูเธอให้อยู่อย่างสุขสบายได้ แต่เธอนั้นขอเลือกที่จะออกมาเป็นคนไร้บ้าน เพราะความชอบอยากมีชีวิตโดยการอยู่คนเดียวและไม่อยากรบกวนลูกทั้ง 3 คน
...
"ทำไมตัวเองนั้นต้องมาตกอยู่ในจุดนี้สภาพนี้ด้วย ทั้งที่เมื่อก่อนลูกก็เลี้ยงอย่างดี มีที่พักให้อยู่อย่างสุขสบาย"
• ยึดมั่นศักดิ์ศรี ดำรงชีวิตสุดแกร่ง คนไร้บ้าน ไม่ใช่ "ผีชนตังค์"
หลายคนคงสงสัย คนไร้บ้านดำรงชีวิตให้รอดในแต่ละวันได้อย่างไร เลขาธิการมูลนิธิอิสรชนให้ข้อมูลว่า ในเขตกรุงเทพฯ มักพบคนไร้บ้านอาศัยหลับนอนตามป้ายรถเมล์หรือสถานที่มีแสงสว่าง คนไร้บ้านจะไม่สร้างความเดือดร้อนให้ใคร ดำรงชีวิตได้เก่ง หาเงินใช้เองจากการเก็บขวดหรือของเก่าขาย เป็นแรงงานรับจ้างรายวันทั่วไป หรือค้าขายๆ
คนไร้บ้านไม่ใช่ขอทานและจะไม่แบมือขอเงินคนอื่น ซึ่งต่างจาก "ผีชนตังค์" ที่วันๆ ไม่ทำอะไร นอกจากเดินขอเงินจากคนทั่วไป ซึ่งหลายคนนั้นมักตีภาพเหมารวมว่าคนไร้บ้านคือคนกลุ่มนี้ สำหรับการกินอาหารคนไร้บ้านบางมื้ออาจเลือกกินเศษอาหารเหลือตามท้องถนนหรือตามถังขยะ บางคนยอมอด (หลาย) มื้อ ให้ได้กินมื้อ (หนึ่ง) เพื่อประหยัดเงินให้มากที่สุด
...
หรืออาจไปต่อแถวรับของกินแจกตามงานบุญ หรือกลุ่มคนช่วยเหลือที่นำอาหารมาแจกฟรี เช่น มูลนิธิอิสรชน ที่มักลงพื้นที่ทุกวันอังคาร คนไร้บ้านมักปฏิเสธการให้ความช่วยเหลือจากคนแปลกหน้า ดังนั้นการให้การช่วยเหลือต้องมีลักษณะเป็นมิตร เนื่องจากคนไร้บ้านบางคนจะมีอาการจิตผิดปกติไม่มากก็น้อยที่เกิดจากความเครียดต่อสภาพแวดล้อมที่โหดร้าย
• โรคร้ายคุกคามระบาดไว ป่วยมากถึง 90% ในหนึ่งพื้นที่
คนไร้บ้านมอมแมม สกปรก ไม่อาบน้ำ นั่นเป็นเพราะการอาบน้ำของคนไร้บ้านในที่สาธารณะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 15-20 บาทต่อครั้ง ซึ่งเป็นราคาพอๆ กับค่าอาหาร 1 มื้อ คนไร้บ้านจึงเลือกที่จะเก็บเงินตัวเองไว้ซื้อกินมากกว่าการอาบน้ำ ซึ่งหากจะให้ไปอาบน้ำจากน้ำในคูคลอง กทม. นั้นก็ไม่ได้สะอาดเท่าที่ควร หากลงไปอาบก็อาจเสี่ยงติดเชื้อโรคที่มาพร้อมกับน้ำได้ แถมยังถูกจับในข้อหาอนาจารในที่สาธารณะ
อีกปัญหาหนึ่งของคนไร้บ้านที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เลย คือ "ปัญหาสุขภาพ" อัจฉราเผยข้อมูลล่าสุดกับทีมข่าวฯ ในพื้นที่หนึ่งพบคนไร้บ้าน 5 คน ป่วยเป็นวัณโรคถึง 4 คน เนื่องจากผู้ที่เป็นวัณโรคมาอาศัยอยู่ร่วมกับคนปกติ ทำให้เชื้อวัณโรคติดกันได้ง่าย เพราะมีการสัมผัสตัวกันอย่างใกล้ชิด และการกินอาหารที่ไม่ถูกสุขลักษณะเท่าที่ควร ซึ่งมูลนิธิอิสรชนได้มีการพยายามพาคนเร่ร่อนที่ป่วยวัณโรคเข้ารับการรักษากับทางโรงพยาบาล แต่ก็ยังไม่หายป่วย เนื่องจากหลังถูกรักษาจนออก รพ. แล้วไม่ได้กลับไปพบหมอเพื่อรับประทานยารักษาอย่างต่อเนื่องเพราะรู้สึกกังวลกับสายตาคนอื่นที่มองมา
...
"โรงพยาบาลไม่ได้เต็มใจ จึงทำให้คนเร่ร่อนไม่ไปหาหมอ แค่การแต่งตัวเดินเข้าไปโรงพยาบาลด่านแรกก่อนที่จะถึงหมอหรือพยาบาลก็จะโดนมองแล้ว" คุณอัจฉราถ่ายทอดความรู้สึกของคนไร้บ้าน
• คนไร้บ้านต่างชาติ มูลเหตุจากหญิงไทย จี้รัฐหาทางดูแล พบคนชราเร่ร่อนสูง
คนไร้บ้านที่ใช้ชีวิตในที่สาธารณในปี 2561 มีทั้งหมดจำนวน 3,993 ราย และปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 4,392 ซึ่งจากตัวเลขสถิติในปี 61-62 นั้น พบว่ามีเพศหญิงมากกว่าเพศชาย นอกจากคนไร้บ้านที่เป็นคนไทยแล้ว ยังมีชาวต่างชาติที่เป็นคนไร้บ้านด้วย "อัจฉรา" เผยว่า ปัจจุบันมีคนต่างชาติเร่ร่อนในพื้นที่กรุงเทพฯ จำนวน 21 คน พบบ่อยๆ คือ ชาวเยอรมันและอังกฤษ คนไร้บ้านต่างชาติจะดูยากกว่าคนไหนเป็นคนเร่ร่อน เนื่องจากการแต่งกายของคนไร้บ้านต่างชาติจะแต่งกายเหมือนคนทั่วไป
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ไร้บ้านเกิดจากการนำเงินสวัสดิการของตัวเองที่อยูในประเทศมาลงทุนกับหญิงไทยแล้วโดนหลอกจนหมดตัว และพาสปอร์ตหมดอายุจึงไม่สามารถกลับประเทศตัวเองได้ ทางมูลนิธิอิสรชนให้ความช่วยเหลือได้เพียงสิ่งเดียว คือ แบ่งอาหารให้กินข้างถนน ไม่สามารถช่วยเหลือด้านอื่นๆ จะกลายเป็นการทำผิด เพราะให้ที่พักพิงคนหลบหนีเข้าเมือง
"อัจฉรา" เปิดเผยอีกว่า ปัจจุบันยังไม่มีองค์กรไหนที่ดูแลคนไร้บ้านโดยตรง และพบอีกว่าคนไร้บ้านส่วนมากเป็นคนชรา หากหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนยังไม่ได้ช่วยเหลือบุคคลเหล่านี้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ปัญหาคนชราไร้บ้านก็จะเพิ่มมากขึ้นๆ เพราะไทยเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุแล้ว รัฐควรออกมาให้ความรู้ในการจัดตั้งกระบวนการดูแลผู้สูงอายุ หรือเกิดสถานสงเคราะห์ผู้สูงอายุของรัฐที่ไม่เสียค่าใช้จ่าย
"วันนึงเราอาจจะเป็นคนไร้บ้านก็ได้ เราไม่รู้หรอกว่า หากแก่ตัวมากๆ เราอาจเป็นอัลไซเมอร์เดินออกจากบ้าน หายตัวไปไหนก็ไม่รู้ ณ วันนี้มันไม่มีสวัสดิการอะไรดูแล จะไปอยู่บ้านพักคนชราก็ต้องมีค่าใช้จ่าย คนทั่วไปที่ไม่มีเงินเดือนก็ไม่สามารถเข้าถึงได้ มีข่าวคนชราถูกทิ้งให้เห็นร่ำไป สิ่งนี้สะท้อนถึงสวัสดิการของภาครัฐแล้วว่าสุดท้ายแล้วมันไม่ได้ตอบโจทย์อะไรเลยให้กับประชาชน" อัจฉรา บอกกล่าวกับทีมข่าวฯ ซึ่งหวังว่าจะทำให้หลายคนตระหนักถึงสิ่งนี้ได้บ้าง.
ข่าวน่าสนใจ
- 3 เดือนคืนทุน 5 แสน อดีตหนุ่มออฟฟิศ ปลูกผักขาย โกยเงินเดือนละครึ่งล้าน
- พลังต้นทุนชีวิตน้อย จากลูกชาวนา สู่แพทย์ทุนแรก รพ. บุกเบิกคลินิกเด็กชนบท
- แม่บ้านใจกล้า ขัดคำสั่งสามี ซุกความผิดนับปี ดัดนิสัยสำเร็จ
- 3 นาทีคดีดัง : เรื่องจริง “กิ่งแก้ว” นักโทษประหารหญิง ยิงเป้าไม่ยอมตาย (คลิป)
- ปรับใหม่แล้ว เบื้องหลังบัตรประชาชนคมชัด แนะเทคนิค “สวยตรงปก” (คลิป)
สืบเสาะข่าว รับเรื่องราวร้องทุกข์ สามารถส่งเรื่องราว หรือประเด็นปัญหาของท่านมาได้ที่
reporter.thairath@gmail.com หรือช่องทาง Facebook : ทีมข่าวเฉพาะกิจ